stadium

ไขคำตอบ ติดโควิด-19 ออกกำลังกายได้หรือไม่ ?

26 สิงหาคม 2565

ว่ากันเรื่อง COVID-19 หลายคนที่รอดมาทุกซีซั่นก็ต้องหยุดสถิติลงเมื่อเจอ โอมิครอน สายพันธุ์ย่อยล่าสุด BA.4 / BA.5 ซึ่งเป็นเชื้อกลายพันธุ์จากโอมิครอนที่เริ่มแพร่ระบาดตั้งแต่เดือนมกราคม 2565 โดยองค์กรอนามัยโลก (WHO) ได้ประกาศให้เป็นสายพันธุ์ย่อยที่ต้องเฝ้าระวัง (VOC) และคาดจะกลายเป็นสายพันธุ์หลักของการแพร่ระบาดทั่วโลก

 

เนื่องจากสายพันธุ์ BA.4/BA.5 นี้กลายพันธุ์ในตำแแหน่ง L452R ซึ่งเป็นตำแหน่งเดียวกับสายพันธุ์เดลต้า (Delta) แพร่ระบาดได้ง่ายและรวดเร็ว เชื้อไวรัสสามารถแบ่งตัวเพิ่มจำนวนในเซลล์ปอดได้ดี อาจทำให้ปอดติดเชื้อ แตกต่างจากสายพันธุ์ BA.1/BA.2 ที่เชื้อแบ่งตัวได้ดีในเซลล์ของเยื่อบุระบบทางเดินหายใจส่วนบน อีกทั้งยังหลบเลี่ยงภูมิคุ้มกัน ดื้อต่อแอนติบอดี้ของมนุษย์ ทำให้เกิดการติดเชื้อซ้ำ (Re-infection) แม้เคยติดเชื้อหรือฉีดวัคซีนแล้วก็ตาม โดยอาการหลักคือ อ่อนเพลีย, เหนื่อย, ไอแห้ง, เจ็บคอ, มีน้ำมูก, ปวดศีรษะ, เวียนศีรษะ, คลื่นไส้, ปวดเมื่อยตามร่างกาย และ ถ่ายเหลว ในผู้ป่วยบางรายอาาจสูญเสียการได้กลิ่นและรับส หายใจถี่ หายใจลำบาก

 

ในเมื่อการแพร่ระบาดยังกระจายตัวอย่างต่อเนื่อง แต่หลายประเทศเดินหน้าเปิดประเทศเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจที่ซบเซาเกือบ 2 ปี รวมถึงเปิดให้นั่งรับประทานอาหาร ใช้บริการฟิตเนส และสวนสาธารณะแล้ว หากคุณเริ่มมีอาการที่เข้าข่าย แล้วตรวจ ATK เป็นบวก หรือตรวจแล้วยังเป็นลบ (เพราะปริมาณเชื้อไม่มากพอ) ให้สังเกตอาการและกินยารักษาตามอาการ พร้อมทั้งปฏิบัติตัวตามที่แพทย์แนะนำ

 

 

 

ถ้าติดโควิด-19 แล้วจะออกกำลังกายได้มั้ย?

 

แน่นอนว่าสายเฮลตี้มันคันไม้คันมืออยากออกกำลังกาย อยากวิ่ง อยากฟิตเหมือนเดิม แต่อย่าลืมว่าในช่วงที่ร่างกายเริ่มติด โควิด-19 เป็นช่วงที่ภูมิร่างกายตกหรือร่างกายอ่อนแอที่สุด ควรสังเกตอาการให้แน่ชัดก่อนออกกำลังกาย กรณีไม่มีอาการควรพักผ่อนให้เพียงพอก่อนออกกำลังกาย 

 

ไม่แนะนำให้ออกกำลังกายในช่วง 7-10 วันแรกของการติดเชื้อ หากคุณไม่มีอาการแต่ตรวจเป็นบวกสามารถเริ่มออกกำลังกายหลังจาก 7-10 วันที่มีอาการ และหมั่นสังเกตอาการผิดปกติ เช่น แน่นหน้าอก, ใจสั่น หรือเหงื่อออกมากผิดปกติหรือเปล่า อีกทั้งไม่ควรหักโหมจนเกินไป เน้นออกกำลังกายประเภทที่เบาที่สุด และไม่ควรเกิน 20 นาทีต่อวัน

 

ที่สำคัญคือไม่ออกกำลังกายในที่สาธารณะเพราะเสี่ยงแพร่กระจายเชื้อให้ผู้อื่นเนื่องจากสายพันธุ์นี้แพร่เร็วมาก ควรออกกำลังกายในบ้านหรือที่พักอาศัยของตัวเองเพื่อความปลอดภัยของส่วนรวม

 

 

 

ประเภทของการออกกำลังกายที่แนะนำ

 

นายแพทย์ อี๊ด ลอประยูร แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านเวชศาสตร์ การกีฬาและออกกำลังกาย โรงพยาบาลสมิติเวชแนะนำว่า เมื่อเราติดเชื้อโควิด-19 การออกกำลังกายจะช่วยลดความรุนแรงลงได้ โดยเน้นประเภทแอโรบิค ครั้งละ 30 นาที ประมาณ 5 ครั้งต่อสัปดาห์ โดยเน้นการออกกำลังกายประเภท Breathing Exercise เพื่อฟื้นฟูและเช็คประสิทธิภาพของร่างกาย

 

1. ทดสอบ : ถอดหน้ากาก แล้วลุกยืน-นั่งช้าๆ บนเก้าอี้ให้เต็มก้น ใช้เวลา 1 นาที ไม่ต้องฝืนหรือเร่งจนเกินไป ให้วัดระดับออกซิเจนในเลือดก่อนออกกำลังกายและเปรียบเทียบระหว่างก่อนออกกำลังกายกับหลังออกกำลังกาย ไม่ควรลดเกิน 3%

2. ออกกำลังกายเบาๆ เช่น เดินรอบห้อง เดินช้า โยคะ ในกรณีหายใจไม่ทันหรือจะเป็นลมให้หยุดออกกำลังกายทันที

3. ยืดเหยียดแทนหากคุณไม่สามารถออกแรงได้เยอะ อย่างน้อยก็ได้คลายเส้นและกล้ามเนื้อเป็นประจำสม่ำเสมอ เพื่อสร้างความยืดหยุ่นให้กับร่างกาย

4. ควรพกนาฬิกาวัดออกซิเจนในเลือดหรือตัวหนีบออกซิเจนในเลือด เพื่อวัดค่าขณะออกกำลังกาย

 

 

 

การออกกำลังกายขณะเป็นโควิด-19 สามารถทำได้แต่ต้องดูปัจจัยแวดล้อมและสภาพร่างกายของแต่ละคน หากคุณมีอาการหนักหรือไม่ไหวการเว้นวรรคและพักผ่อนให้เพียงพอนั้นสำคัญกว่า แต่หากไม่มีอาการสามารถค่อยๆ เพิ่มความเข้มข้นได้ สุดท้ายควรรับประทานอาหารให้ครบ 5 หมู่ ดื่มน้ำเยอะๆ พักผ่อนเพียงพอ กินยาให้ครบ ทำจิตใจให้สบาย … จำไว้ว่าถ้าไม่ไหวก็อย่าฝืน เรายังมีเวลาได้ออกกำลังกายอีกนาน

 

 

ข้อมูลอ้างอิง

 

https://tsmactive.com/blog/exercise-with-covid

https://youtu.be/lBhH2jLjPwo

https://www.sikarin.com/health/covid19/โอมิครอน-ba-4-ba-5-สายพันธุ์ที่


stadium

author

Chalinee Thirasupa

StadiumTH Content Creator / เจ้าของเพจช่างภาพมีกล้าม

La Vie en Rose