28 มิถุนายน 2565
คุณอาจเริ่มต้นวิ่งเพราะอยากลดน้ำหนัก หรือตั้งเป้าหมายไม่ว่าจะเป็นสถิติที่ดีขึ้นหรือระยะทางที่ไกลขึ้น ทุกอย่างพัฒนาไปในทางที่ดี ดูมีความหวัง คุณเริ่มวิ่งได้ดีขึ้น เร็วขึ้น แกร่งขึ้น และไกลขึ้นเรื่อยๆ แต่ทันใดนั้นฝันที่อยู่เบื้องหน้าก็พังทลายเพราะเกิดเหตุที่ไม่คาดฝัน อาจเป็นอาการบาดเจ็บ ธุระปะปัง รู้สึกเบื่อหน่ายการวิ่ง หรือที่อุบัติขึ้นแบบไม่คาดฝันคือ โควิด-19 ที่ทำเอานักวิ่งหลายคนเสียศูนย์ วิ่งก็ไม่ได้ ออกนอกบ้านยังไม่กล้า ไปวิ่งสวนแล้วจะติดเชื้อมั้ย เหมือนต่อสู้กับสงครามที่ยังไม่รู้จุดจบ รู้ตัวอีกทีก็หยุดวิ่งไปนานเสียจนไม่รู้จะกลับมาเริ่มต้นใหม่ยังไง
“การเริ่มต้นมันยากแต่การกลับมานั้นยากกว่า”
ประโยคที่นักวิ่งหลายคนอาจได้ยินและอินเพราะมันคือชีวิตจริงในช่วงนี้เลย รองเท้าคู่เก่งที่แทบไม่ได้หยิบออกมาวิ่ง แค่เข็นตัวเองให้ไปวิ่งก็ยากเย็นแสนเข็ญ ผลัดวันประกันพรุ่งไปเรื่อย วันนี้ Stadium TH มีเคล็ดลับที่จะช่วยให้คุณต่อสู้กับช่วงหน่วงของการวิ่งนี้ แล้วฟิตไปด้วยกัน
ทำความเข้าใจถึงสิ่งที่เกิดขึ้น
เมื่อคุณหยุดวิ่งไปนาน สมรรถภาพและความฟิตของร่างกายจะลดน้อยลงกว่าเดิม ทั้งกล้ามเนื้อ ปอด หัวใจ การไหลเวียนโลหิต ค่า Lactate Threshold (LT) ลดต่ำ VO2Max ที่เคยขึ้นไปถึง 55 ลดเหลือแค่ 40 ฯลฯ อันนี้คือความจริงที่คุณต้องยอมรับ แต่ข่าวดีคือยิ่งคุณวิ่งมานานแค่ไหน คุณก็จะกลับไปฟิตได้เร็วขึ้นเท่านั้น ยกตัวอย่างเช่น หากคุณวิ่งมา 10 ปีแล้วหยุดวิ่งไป 1 ปี เมื่อกลับมาวิ่งอีกครั้งจะเรียกความฟิตได้เร็วกว่าคนที่พึ่งเริ่มวิ่ง 1 ปีแล้วหยุดพักไป 1 ปี
ซูซาน พอล นักกายภาพบำบัด อธิบายถึงหลักการนี้ว่า การวิ่งเป็นระยะเวลานานจะทำให้คุณมีพื้นฐานของระบบหายใจที่ดี (aerobic strength) มีระดับของไมโตคอนเดรีย (Mitochondria) สูง ซึ่งเป็นโครงสร้างชนิดหนึ่งภายในเซลล์ (organelles) มีขนาดเล็กและมีอิทธิพลอย่างมากต่อสุขภาพ ทำหน้าที่สร้างพลังงานโดยใช้ออกซิเจนที่หายใจเข้าไปทำปฏิกิริยากับอิเล็คตรอนจากอาหารที่รับประทานเข้าไป ได้เป็นพลังงานในรูปของ Adenosine Triphosphate (ATP) รวมไปถึงมีเซลล์เม็ดเลือดแดงที่ช่วยลำเลียงออกซิเจนไปเลี้ยงตามกล้ามเนื้อสูง และ ระบบเผาผลาญเอนไซม์สูงกว่าคนที่พึ่งเริ่มวิ่งได้ไม่นาน
ดังนั้นแม้ในช่วงที่หยุดพัก ความฟิตจะลดลงอย่างค่อยเป็นค่อยไป แต่ไม่ลดต่ำถึงระดับก่อนที่จะเริ่มวิ่ง แต่สำหรับค่า VO2Max นั้นจะลดตามระยะเวลาที่หยุดพักไป
นอกจากระบบหายใจที่ลดลงแล้ว ยังมีปัญหาเรื่องมวลกล้ามเนื้อที่ลดลง ไม่แข็งแรงเท่าเดิม ซึ่งการเสริมสร้างกล้ามเนื้อนั้นใช้เวลานานกว่ามาก ทำให้หลายคนที่กลับมาวิ่งหลังจากหยุดพักไปนานมักมีอาการบาดเจ็บเพราะกล้ามเนื้อยังไม่พร้อมและขาดความยืดหยุ่น ดังนั้นการเริ่มต้นแบบค่อยเป็นค่อยไป เช่น วิ่งให้ช้าลง, ลดระยะทางให้น้อยลง และพักให้เยอะขึ้นถือเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้กลับมาฟิตได้แบบห่างไกลความบาดเจ็บ
เดินก่อนวิ่ง
ก่อนที่จะกลับมาซ้อมวิ่งแบบจริงจังดั่งเดิม กล้ามเนื้ออาจยังไม่ชินกับแรงกระแทกและไม่สามารถยืนระยะได้ยาวนานเหมือนเดิม ก่อนเริ่มวิ่งควรเดินให้กล้ามเนื้อและร่างกายคุ้นชินเสียก่อน อย่างน้อยครั้งละ 45 นาที โดยไม่รู้สึกบาดเจ็บ เพราะการเดินช่วยเตรียมให้ส่วนต่างๆ ของร่างกาย ทั้ง กล้ามเนื้อ, เอ็น, พังผืด, เนื้อเยื่อเกี่ยวพัน (connective tissues) และข้อต่อเข้าที่เข้าทางก่อน
ฝึกฝนความอดทน
หลายครั้งที่นักวิ่งเร่งรัดซ้อมวิ่งโดยที่ยังไม่ทันหายจากอาการบาดเจ็บ เพราะทุกครั้งที่เกิดอาการบาดเจ็บจากการออกกำลังกาย ร่างกายจะใช้เวลามากกว่าเดิมในการรักษา ซ่อมแซม และฟื้นฟูเพื่อให้กลับมาใช้งานได้ดั่งเดิม หากคุณประสบอาการบาดเจ็บจากการวิ่งให้เริ่มต้นวิ่งแบบง่ายๆ ก่อน (easy run) สลับกับเดิน ลดจำนวนวันที่วิ่งและควรเว้นพักระหว่างการซ้อมวิ่งให้นานขึ้น คุณอาจเลือกโปรแกรมวิ่งสลับเดินด้วยก็ได้ สำคัญคือซ้อมอย่างค่อยเป็นค่อยไป
นักวิ่งส่วนมากใจร้อน อยากรีบกลับไปวิ่งแบบเดิมเพื่อพัฒนาร่างกาย แต่การทำเช่นนี้อาจกลายเป็นถดถอยมากกว่า และยิ่งเมื่อคุณหยุดวิ่งไปนานด้วยแล้วละก็ การค่อยๆ เพิ่มระยะทางและเวลาจะดีกว่าการเพิ่มแบบทันทีทันใด คุณอาจวิ่งจบ 10 กิโลเมตร ได้แต่ตลอดครึ่งทางกลับไม่รู้สึกสนุก เครียด กดดัน อยากเลิก ส่วนหนึ่งเพราะร่างกายและจิตใจยังไม่คุ้นชิน แต่หากคุณเพิ่มความเข้มข้นแบบค่อยเป็นค่อยไป ไต่ระดับขึ้นไปเรื่อยๆ คุณจะสนุกกับการวิ่ง และจบที่ระยะฮาล์ฟ มาราธอน โดยไม่รู้สึกพยายามเลย
เพิ่มเวทเทรนนิ่งบิ้วกล้ามเนื้อ
การออกกำลังกายแบบใช้แรงต้าน (strength training) ช่วยให้คุณวิ่งได้ดีมากขึ้น ไม่ว่าจะเข้ายิมหรือบอดี้เวทที่บ้าน คุณสามารถพัฒนากล้ามเนื้อเฉพาะจุดได้ ซึ่งสำหรับนักวิ่งแล้วที่สำคัญก็คือ แกนกลางลำตัว, ก้น, ขา, หลังล่าง นอกจากเวทเทรนนิ่งเฉพาะจุดแล้วควรออกกำลังกายแบบ Compound Movement ซึ่งเป็นการออกกำลังกายที่ใช้ข้อต่อหลายข้อต่อในท่าเดียว หรือใช้กล้ามเนื้อหลายมัดในการออกแรงช่วยกันต่อหนึ่งครั้ง สามารถทำบอดี้เวทควบคู่กับการใช้อุปกรณ์บางประเภท
รวมไปถึงการฝึก ดริล (Drill) เป็นประจำทุกสัปดาห์เพื่อให้กล้ามเนื้อจดจำการทำงานและบริหารข้อต่อให้ทำงานสอดคล้องกับกล้ามเนื้อและระบบประสาท คุณอาจดริลก่อนเริ่มวิ่ง หรือหลังวิ่งก็ได้
(YouTube insert)
https://www.youtube.com/watch?v=HvH5WZk0f90
https://www.youtube.com/watch?v=Z1IQEK07p_4
อย่าใช้ยามากจนเกินไป
เมื่อวิ่งแล้วเกิดบาดเจ็บ ปวด กล้ามเนื้ออักเสบ การทานยาคลายกล้ามเนื้อ (Muscle Relaxants) อาจเป็นทางเลือกของบางคน เพราะช่วยให้อาการปวดเมื่อยกล้ามเนื้อลดลงและซ้อมวิ่งต่อได้ ทุกชนิดมีอาการข้างเคียงหลากหลาย เช่น ง่วงซึม, อ่อนเพลีย, เวียนศีรษะ, ปากแห้ง, คอแห้ง และหากคุณทานยาในปริมาณสูงเกินกำหนดเป็นระยะเวลานานอาจทำให้ติดยา เมื่อไม่ได้ทานจะอยากอาเจียน, นอนไม่หลับ, วิตกกังวล, กระสับกระส่าย เป็นต้น
สิ่งที่สำคัญกว่าการทานยาเหล่านี้คือการเฝ้าสังเกตอาการตนเอง หากมันปวด เจ็บ ตึง จนวิ่งต่อไม่ไหว นั่นคือสัญญาณที่ร่างกายสื่อสารกับคุณว่าควรพักก่อน หายแล้วค่อยกลับมาวิ่งใหม่ ไม่ใช่ทนวิ่งทั้งที่เจ็บ ทานยา แล้วกลับไปวิ่ง วนลูปไม่จบสิ้น
ลองออกกำลังกายแบบอื่นบ้าง
การเพิ่มประสิทธิภาพของระบบหายใจและปอดไม่จำเป็นต้องวิ่งเสมอไป คุณสามารถออกกำลังกายแบบคาร์ดิโอได้หลายประเภท เช่น ปั่นจักรยาน, ว่ายน้ำ, เต้นแอโรบิค, HIIT เป็นต้น การสลับโปรแกรมออกกำลังกายนอกจากได้ใช้กล้ามเนื้อหลากหลายแล้ว ยังไม่จำเจอีกด้วย หรือจะลองโยคะ พิลาทีส, เวทเทรนนิ่ง, ปีนเขา ฯลฯ เพื่อเสริมสร้างแกนกลางลำตัวซึ่งสำคัญกับการวิ่ง อาจแบ่งโปรแกรมสลับกับการวิ่งในแต่ละสัปดาห์ได้เลย
มองบวกเข้าไว้
การวิ่งไม่ได้ดั่งเดิมมันช่างหงุดหงิดจนไม่อยากจะวิ่งอีกแล้ว เหมือนเป้าหมายมันห่างไกลออกไปเลยๆ แต่การโทษตัวเองไม่ก่อให้เกิดประโยชน์อันใด ซ้ำยังเป็นตัวฉุดรั้งให้คุณย้ำคิดย้ำทำกับเรื่องเดิมๆ ที่มันย้อนกลับไปแก้ไขไม่ได้ ปรับความคิดใหม่โดยการเพิ่มพลังบวกให้กับตัวคุณ ตั้งเป้าหมายที่จับต้องได้และให้กำลังใจตัวเองไปตลอดเส้นทาง การวิ่งคือความสุข คือความสนุก คุณควรเอนจอยมันมากกว่าวิ่งไปแล้วเครียดจริงมั้ย อย่างน้อยเราก็ได้ออกมาวิ่งอีกครั้ง ดีกว่าไม่ได้ทำอะไรเลย
Reference
https://www.runnersworld.com/beginner/a20844220/7-secrets-for-making-a-comeback/
TAG ที่เกี่ยวข้อง