stadium

ฮีทสโตรก โรคร้ายที่นักวิ่งมองข้าม

8 เมษายน 2564

ฤดูร้อนเริ่มต้นขึ้นแล้ว สำหรับนักวิ่งในประเทศเมืองร้อนแบบไทย การวิ่งท่ามกลางสภาพอากาศที่ร้อนระอุ แดดเปรี้ยง หรืออบอ้าว อาจส่งผลกระทบและปัญหาต่อร่างกายมากกว่าเสริมสร้างสุขภาพให้แข็งแรง ตั้งแต่เรื่องที่ไม่รุนแรงเช่น เสียเหงื่อมากเกิน อาการขาดน้ำ ตะคริว และรุนแรงถึงขั้นเสียชีวิต นั่นก็คือ “ฮีทสโตรก”

 

Heat Stroke คืออะไร?

 

แม้จะเป็นคำที่ได้ยินกันบ่อยในหมู่นักวิ่ง แต่น้อยคนนักที่จะรู้ถึงสาเหตุ ปัญหา และอาการที่แท้จริงของภาวะฮีทสโตรก หรือ โรคลมแดด จนมองข้ามไปคิดว่ามันเป็นเรื่องปกติ แค่พักก็หาย แต่พอกลับมาทำใหม่ด้วยความรู้ผิดๆ จะเกิดวงจรอุบาทว์ขึ้นซ้ำๆ และหากร้ายแรงนั่นคืออันตรายถึงแก่ชีวิตได้

 

ภาวะฮีทสโตรก คืออาการเจ็บป่วยที่เกิดจากภาวะอุณหภูมิร่างกายสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว อาจเกิดจากปัจจัยภายนอก เช่น สภาพอากาศ การดื่มน้ำไม่เพียงพอ หรือ ศูนย์การควบคุมอุณหภูมิในร่างกายผิดปกติ (ภายใน) โดยในหมู่นักวิ่งมักเกิดจากการออกกำลังกายหนักเกินไป ร่วมกับภาวะร่างกายขาดน้ำ (dehydration) ทำให้ร่างกายไม่สามารถควบคุมอุณหภูมิภายในให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม ถือเป็น ภาวะเร่งด่วนทางการแพทย์ ที่ต้องได้รับการรักษาทันที

 

งานวิจัยที่ตีพิมพ์ในวารสารวิชาการทางการแพทย์เกี่ยวกับโรคหัวใจและหลอดเลือด Journal of the American College of Cardiology หรือ JACC เมื่อปี 2557 พบว่าจากการสำรวจนักวิ่งระยะกลางและระยะไกลมีโอกาสเสียชีวิตจากโรคลมแดด หรือ ฮีทสโตรก (Heat Stroke) มากกว่าภาวะหัวใจหยุดเต้นเฉียบพลัน (Sudden Cardiac Arrest) ถึง 10 เท่า1

 

 

 

 

สัญญาณเตือนภัยฮีทสโตรก

 

เมื่ออุณหภูมิร่างกายสูงเกิน 40 องศาเซลเซียส จะเสี่ยงต่อการเกิดภาวะนี้ได้ รู้สึกว่าร่างกายร้อน แต่ไม่มีเหงื่อออก โดยมีอาการดังนี้

 

  • ปวดหัว มึนงง
  • ภาวะขาดเหงื่อ แม้อยู่ในอากาศร้อน (เหงื่อไม่ออก)
  • ผิวแห้งและร้อน
  • เวียนหัว คลื่นไส้ อาเจียน
  • กล้ามเนื้ออ่อนแรง วิ่งไม่ออก ขาเปลี้ย
  • อัตราเต้นของหัวใจผิดปกติ หายใจเร็ว
  • สับสน เพ้อ
  • ชัก หายใจหอบ
  • หมดสติ

 

แพทย์เฉพาะทางโรคหัวใจ Lior Yankelson เผยว่า “Heat Stroke สามารถเกิดขึ้นได้ง่ายกับทุกคนและทุกสภาพอากาศ โดยมักเกิดขึ้นกระทันหันแบบที่ไม่ทันได้คาดคิดมาก่อน” นอกจากนั้น Ph.D. Brent Ruby ผู้อำนวยการ Montana Center for Work Physiology and Exercise Metabolism ยังกล่าวเพิ่มเติมว่า โรคฮีทสโตรกสามารถเกิดขึ้นได้แม้ในวันที่คุณออกกำลังกายปกติ แต่ฝืนตัวเอง และมักจะมองข้ามมันไปหากคุณเป็นนักวิ่งที่ชอบการแข่งขัน และไม่อยากแพ้ในรายการนั้นๆ

 

 

 

กลุ่มไหนเสี่ยงบ้าง

 

ปกติแล้วภาวะนี้เกิดขึ้นกับผู้สูงอายุได้ง่ายกว่าวัยรุ่นหรือเด็ก โดยเฉพาะถ้าอยู่ในพื้นที่แออัด คับแคบ อากาศไม่ถ่ายเท รวมไปถึงคนที่ดื่มน้ำไม่เพียงพอในสภาพอากาศร้อนจัด เพราะเมื่อเสียเหงื่อมากเกินแต่น้ำเข้าไปชดเชยไม่พอ ร่างกายจะดึงน้ำที่เหลือมาใช้โดยลดการสร้างเหงื่อ ในขณะที่ปกติร่างกายจะลดอุณหภูมิความร้อนภายในด้วยกระบวนการขับเหงื่อออกมา ทำให้วงจรระบายความร้อนเสียและหากคุณเป็นคนที่เหงื่อออกยาก อาจมีความเสี่ยงด้วยเช่นกัน

 

 

 

แม้แต่นักวิ่งระดับโลกก็หนีไม่พ้น

 

อย่างที่บอกว่าภาวะฮีทสโตรกสามารถเกิดขึ้นได้กับทุกคนและทุกระยะวิ่ง แม้แต่นักวิ่งแนวหน้าระดับโลกก็ไม่เว้น เช่น Gabriela Andersen-Schiess นักมาราธอนหญิงทีมชาติสวิตเซอร์แลนด์วัย 39 ปี ลงแข่งขันมาราธอนหญิงแรกในประวัติศาสตร์โอลิมปิก เมื่อปี 1984 ที่กรุงลอสแองเจลิส ประเทศสหรัฐอเมริกา ท่ามกลางอุณหภูมิที่สูงถึง 30 องศาเซลเซียส เธอพลาดจุดให้น้ำที่ 5 และจุดสุดท้าย ทำให้เผชิญภาวะขาดน้ำและมีอาการฮีทสโตรกร่วมด้วย จนไม่สามารถวิ่งแบบปกติได้ แต่กลับปฏิเสธที่จะถอนตัว และลากขาที่อ่อนเปลี้ยโรยราเดินบนลู่วิ่งมุ่งหน้าสู่ชัย เพื่อจบมาราธอนโอลิมปิกแรกและสุดท้ายในชีวิต เข้าเป็นอันดับ 37 จาก 44 ด้วยเวลา 2:48:42 ตามหลัง Joan Benoit แชมป์จากสหรัฐอเมริกาประมาณ 20 นาที

 

Callum Hawkins นักมาราธอนทีมชาติสกอตแลนด์วัย 25 ปี สถิติที่ดีที่สุด ณ ตอนนั้น คือ 2:10:17 ชั่วโมง ขึ้นเป็นผู้นำ ในการแข่งขันมาราธอน Commonwealth Games 2018 ที่ Gold Coast ประเทศออสเตรเลีย ทิ้งห่างอันดับ 2 ถึง 2 นาที กับระยะทางอีกเพียง 2 กิโลเมตร จู่ๆ เขาก็ล้มฟุ่บลงข้างถนนต่อหน้าผู้ชมที่ยืนปรบมืออยู่ เขาพยายามลุกขึ้นแต่ก็ล้มลงไปอีก จนในที่สุด Michael Shelley นักมาราธอนเจ้าภาพที่ตามหลังเป็นอันดับ 2 ขึ้นแซงเข้าเส้นชัยคว้าเหรียญทองไป โดยเขาต้องรอสักพักถึงจะมีหน่วยแพทย์เข้าปฐมพยาบาล กลายเป็นประเด็นถกเถียงในวงการวิ่งว่าเหตุใดผู้ที่อยู่บริเวณนั้นถึงไม่เข้าช่วยปฐมพยาบาลแต่กลับยืนถ่ายภาพและคลิปแทน

 

“สิ่งนี้ไม่ควรเกิดขึ้น” พอลล่า เรดคลิฟฟ์ อดีตเจ้าของสถิติโลกมาราธอนหญิงกล่าว

 

 

 

คำแนะนำเพื่อเลี่ยงภาวะฮีทสโตรก

 

ฮีทสโตรคสามารถเกิดได้กับนักวิ่งทุกระยะทางการแข่งขัน แต่พบบ่อยในการวิ่งระยะยาว เช่น มาราธอน หรือระยะอัลตร้า รวมทั้งการวิ่งเทรลที่ต้องใช้เวลาวิ่งตลอดวัน เนื่องจากนักวิ่งต้องเผชิญกับการวิ่งในช่วงอากาศร้อนอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ การป้องกันสามารถทำได้โดย

 

  1. ไม่ออกกำลังกายหนักเกินไปในวันที่อากาศร้อน
  2. วิ่งช้าลงเมื่อรู้สึกว่าอุณหภูมิในร่างกายสูงขึ้น
  3. รู้ข้อจำกัดของร่างกายตัวเอง จำไว้ว่า “ไม่ไหวอย่าฝืน”
  4. ดื่มน้ำให้เพียงพอก่อนวิ่ง และหมั่นจิบระหว่างวิ่งทุกๆ 15-20 นาที แม้ไม่รู้สึกกระหายน้ำก็ตาม
  5. เลือกเสื้อผ้าสีสว่าง บางเบา ระบายอากาศดี อาจใส่หมวกและแว่นกันแดดร่วมด้วย
  6. ทาครีมกันแดด SPF30+++ ขึ้นไป
  7. ราดน้ำเหนือศีรษะเพื่อช่วยลดอุหณภูมิเมื่อรู้สึกร่างกายเริ่มร้อน
  8. เลี่ยงการวิ่งบนคอนกรีตในวันที่อากาศร้อนจัด
  9. เลี่ยงการกินยาที่มีผลในการลดปริมาณน้ำในร่างกายก่อนแข่งหรือก่อนวิ่งในวันที่อากาศร้อนจัด
  10. ควรงดดื่มแอลกอฮอล์หรือเครื่องดื่มที่มีคาเฟอีนก่อนวิ่ง
  11. สังเกตสีปัสสาวะ ถ้าเข้มคือร่างกายขาดน้ำ ควรดื่มน้ำเพิ่ม
  12. หากมีอาการเจ็บป่วยก่อนแข่งขัน เช่น มีไข้ หรือพึ่งหายป่วย ควรงดหรือเลื่อนออกไปก่อน เพราะร่างกายจะไวต่อความร้อนได้ง่ายกว่าปกติ
  13. เลือกการออกกำลังกายในร่มแบบอื่นแทน เช่น โยคะ ฟิตเนส ว่ายน้ำ

 

การรักษาภาวะฮีทสโตรก

 

ก่อนอื่นเมื่อเริ่มรู้สึกว่าอุหณภูมิร่างกายสูงขึ้นจนผิดปกติ ควรลดอุณหภูมิร่างกายและชดเชยน้ำเข้าไปให้เพียงพอ หากคุณเริ่มมีอาการคลื่นไส้ อาเจียน ให้หยุดวิ่งและดื่มน้ำ แต่ถ้าอาการไม่ดีขึ้นควรพบหน่วยพยาบาล ในกรณีที่เริ่มมีอาการสับสน วูบวาบเหมือนจะเป็นลม ต้องหยุดวิ่งแล้วเรียกหน่วยแพทย์เพื่อปฐมพยาบาลโดยเร็วที่สุด

 

หากคุณไปซ้อมวิ่งหรือวิ่งแข่งแล้วเจอเพื่อนนักวิ่งเริ่มมีอาการภาวะฮีทสโตรก ควรทำปฐมพยาบาลเบื้องต้นโดยอันดับแรกคือลดอุณหภูมิร่างกายให้เร็วที่สุด นำผู้ป่วยไปในที่มีอากาศเย็นและถ่ายเท จากนั้นใช้น้ำแข็งประคบคอ หลัง เพราะพื้นที่เหล่านี้มีการไหลเวียนของเลือดสูง กระตุ้นให้ร่างกายลดอุณหภูมิลง และเช็ดตัวผู้ป่วยด้วยน้ำเย็น ในกรณีที่เริ่มมีอาการหนักหรือหมดสติให้รีบติดต่อหน่วยแพทย์ นำส่งโรงพยาบาล หรือแจ้งสายด่วนฉุกเฉิน 1669

 

การบาดเจ็บจากความร้อนสามารถป้องกันได้ 100% สิ่งที่สำคัญคือการลดอีโก้ลง อย่าฝืนถ้าไม่ไหว เพราะสุดท้ายอาจจบลงด้วยความเสียใจก็เป็นได้

 

 

อ้างอิง

 

1. https://www.jacc.org/doi/10.1016/j.jacc.2014.05.025?articleid=1891605&

 

 

หากคุณเป็นรักในการวิ่งหรือชอบเชียร์กีฬาไทย ไม่ว่าคุณจะเป็นใคร หรืออยู่มุมไหนของประเทศ คุณก็สามารถเข้าร่วมกิจกรรม วิ่งครั้งประวัติศาสตร์ 1,000,000 กิโลเมตร

“Flag of Nation Virtual Run” กิจกรรมการวิ่งสะสมระยะทางที่คุณสามารถวิ่งที่ใดก็ได้ เพียงส่งบันทึกผลการวิ่งเข้าระบบให้ครบตามระยะทางที่กำหนด คุณก็จะได้รับของรางวัลสุดพิเศษสำหรับคนรักการวิ่ง แถมยังได้เป็นส่วนหนึ่งในการช่วยสนันสนุนให้กับเหล่าทัพนักกีฬาไทย ไปสู้ศึกโอลิมปิกครั้งที่ 32 ณ กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่นอีกด้วย

.

ผู้ที่สนใจสามารถสมัครได้ที่ : https://bit.ly/webcheckraceOlympic2020


stadium

author

Chalinee Thirasupa

StadiumTH Content Creator / เจ้าของเพจช่างภาพมีกล้าม

La Vie en Rose