20 สิงหาคม 2564
เป้าหมายในการฝึกซ้อมของนักกีฬาทุกคนคือคว้าชัยชนะในการแข่งขัน แต่ความสำเร็จของนักกีฬาแต่ละคนนั้นมีปัจจัยเข้ามาเกี่ยวข้องมากมายทั้งภายในและภายนอก
ปัจจัยภายใน เช่น เพศ อายุ สมรรถภาพทางกาย ทักษะกีฬา สมรรถภาพทางจิตใจ ฯลฯ
ปัจจัยภายนอก เช่น สมรรถนะของผู้ฝึกสอน สภาพแวดล้อม ภาวะทางเศรษฐกิจ หรือแม้แต่การได้รับความสนับสนุนจากคนในครอบครัว คนใกล้ชิด
สำหรับนักกีฬาระดับเยาวชน กว่าจะพัฒนาฝึกฝนจนมีความสามารถอยู่ระดับแนวหน้า หรือเป็นนักกีฬาชั้นนำ อาจต้องวางแผนการซ้อมระยะยาวไม่น้อยกว่าสิบปี ต้องฟันฝ่าอุปสรรคขวากหนามนานัปการกว่าจะก้าวข้ามช่วงชีวิตวัยเด็กเข้าสู่วัยผู้ใหญ่
เราอาจเข้าใจว่าเหตุผลหลักๆ ที่นักกีฬาระดับเยาวชนสักคนหนึ่งต้องก้าวเท้าออกจากเส้นทางสายกีฬาคืออาการบาดเจ็บ หรือมีความจำเป็นที่จะต้องให้ความสำคัญกับการเรียนหนังสือมากกว่า แต่เหตุผลสำคัญอีกข้อหนึ่งคือความกดดันจากสภาพแวดล้อมขณะเล่นกีฬา
ความกดดันในทีนี้อาจจะเป็นความเหนื่อยยาก หรือ “ความหนัก” ในการฝึกซ้อม “ความเครียด” ทั้งช่วงฝึกซ้อมและลงแข่งขัน
เอกสารงานวิจัยฉบับเผยแพร่ เรื่อง คุณลักษณะทางจิตใจของนักกีฬาเยาวชนไทย : ทักษะการจัดการความเครียดทางการกีฬา (Psychological characteristics of Thai youth athletes : The coping skills) ของกลุ่มวิจัยและพัฒนา สำนักวิทยาศาสตร์การกีฬา กรมพลศึกษา กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ปี 2560 ระบุว่า “ความเครียดเป็นปัจจัยสำคัญที่ส่งผลต่อการแสดงความสามารถทางการกีฬาของนักกีฬาเยาวชนไทย ซึ่งพบว่าความแตกต่างของเพศ และจำนวนชั่วโมงการฝึกซ้อมกีฬามีผลต่อทักษะการจัดการความเครียด...”
ในต่างประเทศมีงานวิจัยศึกษาพฤติกรรมของนักกีฬาระดับเยาวชนพบว่า ความเครียดเป็นปัจจัยสำคัญที่ส่งผลต่อการแสดงความสามารถทั้งในช่วงฝึกซ้อมและแข่งขัน และพบว่านักกีฬาที่มีอายุอยู่ในช่วง 10-17 ปี มีแนวโน้มของอัตราการเลิกเล่นกีฬาสูงสุด
เมื่อปี ค.ศ. 2007 Weinberg, R.S และ Gould, D. สำรวจพบว่า นักกีฬาว่ายน้ำระดับมหาวิทยาลัยชั้นปีที่ 1 ร้อยละ 91 จะเกิดอาการเบื่อหน่ายเมื่อขึ้นสู่ชั้นปีที่ 2 โดยมีเพียงร้อยละ 30 เท่านั้นที่ไม่เคยมีความรู้สึกเบื่อหน่ายเลย
ในประเทศสวีเดน นักกีฬาในสถาบันการกีฬาจำนวนร้อยละ 37 รู้สึกว่าตัวเองประสบปัญหาการฝึกซ้อมมากเกินไป แบ่งเป็นนักกีฬาประเภทบุคคล ประมาณร้อยละ 48 และประเภททีมประมาณร้อยละ 30
แม้แต่นักกีฬาระดับทีมชาติก็พบว่า นักกีฬาว่ายน้ำทีมชาติออสเตรเลียร้อยละ 21 คิดว่าตัวเองต้องเผชิญสภาวะการฝึกซ้อมมากเกินไป ในช่วงกึ่งกลางระหว่างการฝึกซ้อมรายปี
ในปี ค.ศ. 2013 Boris Milavic ศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างทักษะการจัดการความเครียดทางการกีฬา กับความแตกต่างของสถานการณ์ในนักกีฬาวอลเลย์บอลวัยรุ่นเพศหญิง อายุประมาณ 16 ปี จำนวน 180 คน พบว่านักกีฬาวอลเลย์บอลวัยรุ่นเพศหญิงที่ประสบความสำเร็จมีทักษะการจัดการความเครียดทางการกีฬาด้านการแสดงความสามารถภายใต้ความกดดันสูงสุด และมีความเชื่อมั่นในตนเองและแรงจูงใจใฝ่สัมฤทธิ์สูง ในทางตรงข้ามนักกีฬาวอลเลย์บอลวัยรุ่นเพศหญิงที่ประสบความสำเร็จน้อยกว่ามีความกังวลเกี่ยวกับการทำผิดพลาด และกังวลว่าคนอื่นจะคิดอย่างไรกับตนเองเมื่อตนเองทำผิดพลาด
การพัฒนาความสามารถทางร่างกาย รวมทั้งทักษะทางกีฬา จึงไม่ใช่โจทย์เดียวในการพัฒนานักกีฬาระดับเยาวชน ความเข้มแข็งทางร่างกายไม่เพียงพอที่จะทำให้นักกีฬาระดับเยาวชนสักคนก้าวขึ้นไปประสบความสำเร็จ แต่จะต้องให้ความสำคัญกับการฝึกซ้อมที่ประกอบด้วยการเสริมสร้างสมรรถภาพทางจิตใจด้วย
โดยทั่วไปแล้วคุณลักษณะทางจิตใจที่นักกีฬาทุกคนพึงมี และควรสร้างเสริมเสียตั้งแต่ยังเป็นนักกีฬาตัวน้อยๆ ประกอบด้วย การมีเจตคติทางบวก การมีแรงจูงใจภายใน การมีความเชื่อมั่นหรือมั่นใจในตัวเอง การควบคุมความวิตกกังวล การควบคุมความสนใจ การควบคุมการถูกกระตุ้นจากสิ่งเร้า และการตระหนักรู้ตนเอง
แต่หากลงรายละเอียดจะพบว่ากีฬาแต่ละชนิด เรียกร้องคุณลักษณะทางจิตใจแตกต่างกันอยู่บ้าง อาทิ
กีฬาหรือการออกกำลังกายที่จัดอยู่ในหมวดแอนแอโรบิก มีลักษณะที่ต้องใช้ “พลังระเบิด” เช่น วิ่งระยะสั้น ว่ายน้ำ เทนนิส ต้องการการกระตุ้น (Intensity) และการมุ่งสนใจ (Focus)
กีฬาที่ใช้ระยะเวลาในการแข่งขันยาวนาน เช่น วิ่งมาราธอน ไตรกีฬา ต้องการความเชื่อมั่นในตนเอง (Confidence) และการกระตุ้น (Intensity)
กีฬาที่ใช้เวลาเตรียมตัวนานและหนักก่อนการแข่งขัน เช่น ขว้างจักร มักต้องการการกระตุ้น (Intensity) และการจูงใจ (Motivation)
ปัจจุบันผู้เชี่ยวชาญด้านจิตวิทยา ผู้ซึ่งจะเข้ามาคอยเติมเต็มความเข้มแข็งทางจิตใจให้กับนักกีฬาในประเทศไทยยังมีจำนวนจำกัด นักจิตวิทยาอาชีพเท่าที่มีก็มักจะรับหน้าที่เป็นผู้เชี่ยวชาญด้านจิตวิทยาให้กับองค์กรกีฬาใหญ่ๆ เช่น การกีฬาแห่งประเทศไทย รับหน้าที่เตรียมความพร้อมให้กับนักกีฬาชั้นนำเพื่อเข้าร่วมแข่งขันกีฬาระดับซีเกมส์ เอเชียนเกมส์ โอลิมปิก รวมถึงรายการกีฬาอื่นๆ ตามที่ได้รับการขอความร่วมมือจากสมาคมกีฬาต่างๆ หรือไม่ก็ประกอบอาชีพเป็นอาจารย์ในสถาบันการศึกษา อยู่ในบทบาทของการเป็นผู้ให้ความรู้ ไม่ได้ประกอบอาชีพเป็นนักจิตวิทยาการกีฬาโดยตรง
ภาระในการนำความรู้ด้านจิตวิทยาการกีฬาไปใช้กับนักกีฬาจึงมักตกอยู่กับผู้ฝึกสอนเสียเป็นส่วนใหญ่
ด้วยข้อจำกัดดังกล่าว โอกาสที่นักกีฬาระดับเยาวชนจะได้รับการฝึกฝนและเตรียมพร้อมด้านสภาพจิตใจกับผู้เชี่ยวชาญเรื่องจิตวิทยาการกีฬาโดยตรงจึงมีน้อยมาก เท่าที่มีก็ถูกจำกัดอยู่ในกลุ่มนักกีฬาทีมชาติ
หากความรู้ด้านจิตวิทยาการกีฬาได้รับการถ่ายทอดออกไปในวงกว้างจะนับเป็นคุณูปการกับวงการกีฬาไทยมากทีเดียว โดยเฉพาะถ้านักกีฬาระดับเยาวชนได้รับโอกาสเติมเต็มความเข้มแข็งด้านจิตใจ ให้มีความมุ่งมั่นกับการฝึกซ้อม พร้อมที่จะฟันฝ่าอุปสรรค ก็จะช่วยป้องกันและรักษาอาการเบื่อหน่าย หรือความรู้สึก “หมดไฟ” และมีทั้งสมรรถภาพร่างกายและจิตใจที่เข้มแข็งเพื่อก้าวไปประสบความสำเร็จบนเส้นทางสายนี้
TAG ที่เกี่ยวข้อง