13 สิงหาคม 2564
หลายคนคงเคยได้ยิน “สุขภาพดีไม่มีขาย อยากได้ต้องทำเอง” ไม่ว่าจะเป็นสุขภาพกายหรือสุขภาพจิต ซึ่งการที่เราจะมีสุขภาพดีได้นั้น เราต้องเลือกรับประทานอาหารที่ดีมีประโยชน์ครบทั้ง 5 หมู่ ดูแลเอาใจใส่ร่างกาย ทำจิตใจแจ่มใส นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ และออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ
แต่คงไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะทำได้ทุกอย่างครบถ้วน ดังนั้นจึงต้องมีศาสตร์อื่นมาเป็นตัวช่วย และหนึ่งในนั้นก็คือ “กายภาพบำบัด”
เมื่อได้ยินคำว่า “กายภาพบำบัด” หลายคนอาจนึกถึงการฟื้นฟูร่างกายหลังอาการบาดเจ็บเท่านั้น แต่แท้ที่จริงแล้ว กายภาพบำบัดเป็นศาสตร์ที่ครอบคลุมการดูแลสุขภาพอีกหลากหลายด้าน
“เจมส์” ภาณุวัฒน์ ชุติโชติลิ่มสกุล นักกายภาพบำบัดประจำสมาคมกีฬาฟุตบอลแห่งประเทศไทยฯ ขยายความให้ฟังว่า “กายภาพบำบัด” คือ ศาสตร์ที่ให้การดูแล ป้องกัน รักษา ฟื้นฟู และส่งเสริมสุขภาพด้วยวิธีการต่างๆ เช่น การออกกำลังกาย การรักษาผ่านทางเครื่องมือ และการใช้มือในการรักษา ซึ่งนักกายภาพบำบัดในบ้านเราจะต้องสอบใบประกอบวิชาชีพกับสภากายภาพบำบัดแห่งประเทศไทย
เจมส์บอกอีกว่า กายภาพบำบัดในประเทศไทยมีมานานแล้ว แต่ในช่วงหลังๆ เริ่มเป็นที่รู้จักมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งตามหลัก “กายภาพบำบัด” ไม่ใช่ “การนวด” แต่คือการรักษาและฟื้นฟูอาการบาดเจ็บของร่างกายตามกระบวนการที่ถูกต้อง
อย่างในกรณีที่มีนักกีฬาบาดเจ็บ นักกายภาพจะเข้าประเมินอาการเบื้องต้นว่าสามารถซ้อมได้หรือไม่ หรือจะต้องหยุดการฝึกซ้อมนานแค่ไหน รวมไปถึงขั้นตอนการรักษาฟื้นฟู นักกายภาพบำบัดจะเป็นคนรักษาและกำหนดกระบวนการรักษาให้อย่างเหมาะสมและถูกต้อง โดยการรักษาจะต้องทำงานแข่งกับเวลาเพื่อให้โค้ชสามารถใช้นักกีฬาได้อย่างสมบูรณ์ที่สุด
ในการทำกายภาพบำบัดสำหรับนักกีฬากับบุคคลทั่วไปนั้นไม่ค่อยแตกต่างกันมาก แต่ในส่วนของนักกีฬาจะใช้ความเข้มข้นในการรักษาสูง เนื่องจากนักกีฬาจำเป็นต้องใช้ร่างกายในการแข่งขันตลอด
ขณะที่คนส่วนใหญ่จะพบนักกายภาพบำบัดก็ต่อเมื่อมีอาการเจ็บในร่างกายที่อาจส่งผลต่อการใช้ชีวิตประจำวัน โดยเฉพาะช่วงนี้หลายคนต้องทำงานที่บ้าน หรือ “Work From Home” เพื่อหลีกเลี่ยงการแพร่ระบาดอย่างหนักของโรคโควิด-19 ทำให้มีอาการปวดหลังซึ่งถือว่าเป็นโรคฮิตในขณะนี้
วันนี้ “เจมส์” ภาณุวัฒน์ ชุติโชติลิ่มสกุล นักกายภาพบำบัดประจำสมาคมกีฬาฟุตบอลแห่งประเทศไทยฯ ได้แนะนำ 5 ท่าบริหารง่ายๆ ที่ไม่ต้องมีอุปกรณ์ช่วย
1. ประสานมือกัน เหยียดแขนสุดด้านหน้า กระดกข้อมือขึ้นให้เปิด และเหยียดไปด้านหลังให้สุด พร้อมยืดอก ค้างไว้ 15-20 วินาที ทำ 3-4 ครั้ง
2. มือประสานกันเหนือหัว ยืดจนสุดตัว ค้างไว้ 15-20 วินาที ทำ 3-4 ครั้ง
3. แขนไขว้หลังจับข้อมือไว้ ก้มหน้าลง หลังจากนั้นเอียงคอไปด้านขวาพร้อมดึงมือซ้ายไปด้านขวา ทำสลับกันฝั่งละ 3-4 ครั้ง ค้างไว้ 15-20 วินาที
4. นั่งหลังตรง เอามือทิ้งข้างลำตัว ก้มคอลงเล็กน้อย เอามือซ้ายจับข้างศรีษะด้านขวา ออกแรงดึงศรีษะมาด้านซ้าย ทำสลับกัน 2 ข้าง ข้างละ 3-4 ครั้ง ค้างไว้ 15-20 วินาที
5. นั่งหลังตรง เอามือจับที่หลังส่วนล่าง ดันหลังส่วนล่างพร้อมแอ่นอกไปข้างหน้า ทำค้างไว้ 15-20 วินาที ทำ 3-4 ครั้ง
เจมส์สรุปทิ้งท้ายถึงประโยชน์ของ “กายภาพบำบัด” นอกจากเป็นการรักษาฟื้นฟูสภาพร่างกายหลังได้รับบาดเจ็บตามขั้นตอนได้อย่างถูกต้อง รวมถึงผู้ที่มีอาการบาดเจ็บสามารถกลับมาใช้ชีวิตประจำวันได้อย่างปกติที่สุดแล้ว
“กายภาพบำบัด” ยังสามารถช่วยประเมิน วิเคราะห์ สภาพร่างกาย เพื่อเสริมสร้างและป้องกันอาการบาดเจ็บที่อาจเกิดขึ้นได้ในอนาคตอีกด้วย
TAG ที่เกี่ยวข้อง