stadium

ก้าวข้ามความกดดัน ฝึกทักษะจิตใจไปพร้อมๆ กับร่างกาย

9 สิงหาคม 2564

ก้าวข้ามความกดดัน ฝึกทักษะจิตใจไปพร้อมๆ กับร่างกาย

#ChangsuekFITandFIRM

โดย ช้างศึก x Play Now Thailand

          

องค์ประกอบสำคัญที่จะส่งผลให้นักกีฬาคนหนึ่งประสบความสำเร็จ นอกเหนือจากสมรรถภาพทางกายและทักษะทางกีฬาแล้ว ยังรวมถึงสมรรถภาพทางจิตใจ

            

สำหรับคนรักสุขภาพโดยทั่วไปอาจให้ความสำคัญกับการฝึกฝนทักษะทางด้านกีฬา คุ้นเคยกับการพัฒนาศักยภาพทางร่างกาย ในขณะที่เรื่อง “สมรรถภาพทางจิตใจ” หรือ “ทักษะทางจิตใจ” มักจะไม่ค่อยให้ความสำคัญ

            

ย้อนกลับไปไม่กี่ปีก่อน แม้แต่ในหมู่ผู้ฝึกสอนหรือนักกีฬา องค์ความรู้ทางด้านทักษะทางจิตใจก็ยังไม่เป็นที่แพร่หลายมากนัก และยังไม่มีรูปแบบการฝึกซ้อมที่ชัดเจน

            

อย่างไรก็ตามทุกวันนี้ทีมกีฬาอาชีพไม่ว่าจะเป็นกีฬาประเภทบุคคลหรือประเภททีมต่างหันมาให้ความสำคัญกับการพัฒนาสมรรถภาพทางจิตใจ นำการฝึกทักษะจิตใจเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของโปรแกรมการฝึกฝน ควบคู่ไปกับการฝึกสมรรถภาพทางกายและทักษะด้านกีฬา เรียกว่าให้ความสำคัญกับแก้ว 3 ประการ คือ สมรรถภาพทางกาย สมรรถภาพทางจิตใจ และทักษะด้านกีฬา เพื่อพัฒนาขีดความสามารถของนักกีฬาให้สูงขึ้น

            

ในทางวิทยาศาสตร์การกีฬา ยอมรับกันโดยทั่วไปว่าสถานการณ์ต่างๆ จะส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงสมรรถภาพทางกายและทักษะด้านกีฬาไม่มากนัก แตกต่างจากสมรรถภาพทางจิตใจที่มีความอ่อนไหวกว่า สามารถเปลี่ยนแปลงไปตามสถานการณ์ต่างๆ อยู่ตลอดเวลา

            

บทความเรื่องจิตวิทยาการกีฬา (sports psychology) ของ ศ.นพ. รณชัย คงสกนธ์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี ระบุว่า “ภาวะจิตใจมีผลต่อการเล่นกีฬาเป็นอย่างมาก เพราะจิตใจ ความคิด อารมณ์ความรู้สึกต่างๆ มีอิทธิพลต่อความสามารถทางกาย ความสามารถทางทักษะกีฬา และการแสดงออกซึ่งความสามารถสูงสุดในการแข่งขัน”

            

ด้วยเหตุนี้นักกีฬาที่ต้องการประสบความสําเร็จจึงต้องสร้างเสริมสมรรถภาพทางจิตใจควบคู่ไปกับสมรรถภาพทางกาย เพื่อให้การแสดงออกซึ่งความสามารถและทักษะทางการกีฬาเป็นไปอย่างสอดคล้อง

            

สมรรถภาพทางจิตใจ หรือทักษะทางจิตใจ (mental skills หรือ Psychological skills) เป็นลักษณะของจิตใจที่จะนำพานักกีฬาไปสู่ความสำเร็จ องค์ประกอบของทักษะจิตใจที่ดี เช่น การมีเจตคติทางบวก การมีแรงจูงใจภายใน การมีความเชื่อมั่นหรือมั่นใจในตัวเอง ความสามารถในการควบคุมความวิตกกังวล การควบคุมการถูกกระตุ้นจากสิ่งเร้า การตระหนักรู้ตนเอง

            

วิธีการฝึกสมรรถภาพทางจิตใจ หรือทักษะทางจิตใจ (mental training techniques หรือ Psychological methods) มีหลายวิธี เช่น การวางเป้าหมาย การจินตภาพ การผ่อนคลายกล้ามเนื้อ การพูดและคิดทางบวก การควบคุมการหายใจ เมื่อนักกีฬาได้เรียนรู้วิธีการต่างๆ และนำไปปฏิบัติจนชำนาญ ทั้งช่วงฝึกซ้อม ระหว่างแข่งขัน และหลังจบการแข่งขัน จะทำให้มีทักษะทางจิตใจที่ดีขึ้น ทั้งนี้จะเลือกใช้วิธีใดก็ขึ้นอยู่กับสถานการณ์ สภาพปัญหา สภาพแวดล้อม ของนักกีฬาแต่ละคน

            

ปริญญานิพนธ์หัวข้อ การใช้เทคนิคทางจิตวิทยาการกีฬาของนักกีฬาเซปักตะกร้อ ของ ภาณุวัฒน์ วชิรธานินทร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ส่วนหนึ่งของการศึกษาตามหลักสูตรปริญญาการศึกษามหาบัณฑิต สาขาวิทยาศาสตร์การกีฬา ปี 2553 ซึ่งศึกษาเทคนิคทางจิตวิทยาที่นักกีฬาเซปักตะกร้อใช้ระหว่างฝึกซ้อมและแข่งขัน กลุ่มตัวอย่างคือนักเซปักตะกร้อทีมชาติไทย เพศชาย อายุระหว่าง 24-35 ปี ซึ่งเข้าแข่งขันกีฬาซีเกมส์ ปี 2552 พบว่าเทคนิคทางจิตวิทยาที่นักกีฬาเซปักตะกร้อใช้มากที่สุด คือ การพูดกับตนเอง การทำสมาธิ และการหายใจ

            

เทคนิคที่นำมาใช้ระดับปานกลาง คือ การจินตภาพ การตั้งเป้าหมาย และการผ่อนคลายกล้ามเนื้อ โดยพบปัญหาเกี่ยวกับการนำเทคนิคทางจิตวิทยามาใช้ คือ การขาดความเชี่ยวชาญในการใช้เทคนิคทางจิตวิทยาการกีฬา และขาดนักจิตวิทยาการกีฬาที่ทำงานร่วมกับทีม

            

ในขณะที่ปริญญานิพนธ์หัวข้อ ความเข้มแข็งทางจิตใจของนักกีฬาบาสเกตบอลหญิง ของ ขนิษฐา ระโหฐาน มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ส่วนหนึ่งของการศึกษาตามหลักสูตรปริญญาวิทยาศาสตร์มหาบัณฑิต สาขาวิทยาศาสตร์การกีฬา ปี 2554 มีจุดมุ่งหมายเพื่อศึกษาความเข้มแข็งทางจิตใจของนักกีฬาบาสเกตบอลหญิงทีมชาติไทย กลุ่มตัวอย่าง คือ นักกีฬาบาสเกตบอลหญิงทีมชาติไทย ปี 2553 อายุระหว่าง 20-35 ปี จำนวน 14 คน พบว่าองค์ประกอบของความเข้มแข็งทางจิตใจ 5 ด้านที่นักกีฬากลุ่มตัวอย่างคิดว่าสำคัญมากสำหรับกีฬาบาสเกตบอล คือ ความมั่นใจในตนเอง การควบคุมทัศนคติ การควบคุมสมาธิ การจินตภาพ และแรงจูงใจ

            

ทั้งนี้นักกีฬากลุ่มตัวอย่างต่างต้องการพัฒนาความเข้มแข็งทางจิตใจให้มากขึ้น

          

ในต่างประเทศ เส้นทางสู่ความสำเร็จของนักกีฬาชื่อดังหลายคนก็มีพื้นฐานมาจากการฝึกทักษะทางจิตใจ

            

ฮาคิม ซิเยค นักเตะตำแหน่งปีกของเชลซี สโมสรฟุตบอลในศึกพรีเมียร์ลีก ประเทศอังกฤษ ยอมรับว่าการลงสนามให้กับทีมใหญ่ที่มีความคาดหวังจากแฟนบอลและเจ้าของทีมสูงย่อมมีความกดดันเป็นเรื่องธรรมดา ประเด็นสำคัญคือซิเยคคิดว่าความกดดันควรเกิดจากตัวเองมากกว่าที่จะมีใครมาโยนให้หรือสร้างให้เรา เคล็ดลับสำคัญในการรับมือความกดดันของซิเย็คคือตัวเราต้องคอยกระตุ้นตัวเอง ไม่ใช่ให้คนอื่นมากระตุ้น นอกจากนี้ต้องพยายามใจเย็น ทำตัวนิ่งๆ เข้าไว้ สร้างความมั่นใจว่าทุกครั้งเวลาก้าวเท้าลงสนามแข่งขันหรือแม้กระทั่งสนามซ้อมเรากำลังมีความสุขกับชีวิต อย่าปล่อยให้บางสิ่งมาพรากความสุขไปจากเราได้ นอกจากนั้นช่วงเวลาขณะใช้ชีวิตอยู่นอกสนามก็มีความสำคัญ ยอดนักเตะชาวโมร็อกโกคิดว่าความสุขยามใช้ชีวิตประจำวันอยู่นอกสนามเชื่อมโยงถึงกันกับความสุขในสนาม

            

ด้าน เคย์ลา ฌอง แฮร์ริสัน นักยูโดหญิงทีมชาติสหรัฐอเมริกาที่เคยคว้าเหรียญทองจากการแข่งขันโอลิมปิก 2012 ที่ลอนดอน ประเทศอังกฤษ นับเป็นเหรียญทองเหรียญแรกในประวัติศาสตร์ของทีมยูโดสหรัฐฯ และเธอคว้าเหรียญทองได้อีกครั้งในโอลิมปิก 2016 ที่รีโอเดจาเนโร ประเทศบราซิล ก็มีวิธีฝึกทักษะจิตใจที่น่าสนใจ ด้วยวิธีจินตนาการถึงชัยชนะ ก่อนเข้านอนเธอจะนึกภาพตัวเองเอาชนะคู่แข่งขัน และก้าวเท้าขึ้นไปรับเหรียญรางวัลบนตำแหน่งสูงสุดของโพเดียม ยิ่งใกล้ถึงวันแข่งขันเธอจะคิดอย่างนี้เป็นประจำทุกคืน แฮร์ริสันมีความเชื่อมั่นอย่างแรงกล้าในพลังแห่งการคิดบวก

            

การพัฒนาสมรรถภาพทางกาย ทักษะทางกีฬา สมรรถภาพทางจิตใจ หมั่นฝึกฝนและวางแผนเพื่อแก้ไขปัญหาคือหลักสำคัญที่ทำให้นักกีฬาชั้นนำก้าวขึ้นไปประสบความสำเร็จ

            

สำหรับการฝึกทักษะทางจิตใจแล้วหากทำเป็นประจำยังช่วยทำให้นักกีฬามีความสุขกับการแข่งขัน รวมถึงการฝึกซ้อมที่บ่อยครั้งกินเวลายาวนานจนกลายเป็นส่วนหนึ่งของชีวิต


TAG ที่เกี่ยวข้อง

stadium

author

Play Now Thailand

Play Now Content Creator

La Vie en Rose