stadium

อารมณ์ ความคิด พฤติกรรม ลดภาวะเสี่ยง “โรคซึมเศร้า”

9 กรกฎาคม 2564

อารมณ์ ความคิด พฤติกรรม ลดภาวะเสี่ยง “โรคซึมเศร้า”

โดย ช้างศึก x Play Now Thailand

 

นอกเหนือจากอาการ “วูบคาสนาม” ที่เกือบคร่าชีวิตนักฟุตบอลชื่อดังอย่าง “คริสเตียน อีริคเซน” ในศึก ยูโร 2020 แล้ว “โรคซึมเศร้า” นับเป็นอีกหนึ่งภัยใกล้ตัวของนักกีฬาอาชีพที่ต้องเผชิญกับความเครียดและแรงกดดัน ทั้งในและนอกสนามจนบางคนยากจะรับไหว

 

#นักกีฬากับโรคซึมเศร้า

 

“นาโอมิ โอซากะ” นักเทนนิสสาวดาวรุ่งวัย 23 ปี ลูกครึ่ง ญี่ปุ่น–เฮติ มือวางอันดับ 2 ของโลก คือเหยื่อรายล่าสุดที่ออกมายอมรับว่า ต้องต่อสู้กับ “โรคซึมเศร้า” นับตั้งแต่ได้แชมป์ ยูเอส โอเพ่น 2018 เพราะทนรับแรงถาโถมจากชื่อเสียง เงินทอง และการรุมเร้าของสื่อไม่ไหว ทำให้ประกาศถอนตัวจากการแข่งขันเทนนิสแกรนด์สแลม 2 รายการในปีนี้อย่าง เฟรนช์ โอเพ่น และวิมเบิลดัน เพื่อพักซ่อมแซมสภาพจิตใจ

 

“ไมเคิล เฟลป์ส” นักว่ายน้ำที่เก่งที่สุดในประวัติศาสตร์อเมริกา เจ้าของ 28 เหรียญทองโอลิมปิก จากการแข่งขัน 5 สมัย ก็เคยคิดสั้นฆ่าตัวตาย หลังต้องต่อสู้กับภาวะซึมเศร้ามานาน โดยไม่ได้รับความช่วยเหลือเยียวยา จนต้องออกมาตีแผ่ความรู้สึกนึกคิดผ่านสารคดีของ HBO เรื่อง “The Weight of Gold” ล่าสุด เขายอมรับว่ากลับมาเผชิญภาวะจิตตกอีกครั้งในช่วงที่ต้องกักตัวหยุดเชื้ออยู่กับบ้าน ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่หม่นหมองสุดจนเกือบถึงจุดที่อยากจะฆ่าตัวตาย แต่สิ่งที่ยังฉุดรั้งเอาไว้ได้ ก็คือ ลูกชาย 3 คนของเขานั่นเอง

ไมเคิล เฟลป์ส

 

ส่วนในวงการลูกหนัง ย้อนกลับไปเมื่อปี 2009 ได้เกิดเหตุการณ์สุดช็อก เมื่อ “โรเบิร์ต เอ็งเค” ผู้รักษาประตูดีกรีทีมชาติเยอรมัน ตัดสินใจจบชีวิตตัวเองด้วยการวิ่งตัดหน้าให้รถไฟชน ในช่วงค่ำของวันที่ 10 พฤศจิกายน ชนิดที่ไม่มีใครคาดคิดมาก่อน เพราะช่วงบ่ายของวันนั้น เอ็งเค่ เพิ่งจะลงฝึกซ้อมกับต้นสังกัด ฮันโนเวอร์ แถมในช่วงเวลานั้นเขากำลังแย่งชิงมือหนึ่งทีมชาติเยอรมันในฟุตบอลโลก 2010 กับ มานูเอล นอยเออร์ อยู่ด้วย

 

แต่หลังเกิดเหตุการณ์ เทเรซา ไรม์ ภรรยาของเขา ก็ออกมาเปิดเผยความจริงว่า เอ็งเคมีประวัติในการเข้ารับการรักษา “โรคซึมเศร้า” มานานถึง 6 ปี ซึ่งหนึ่งในสาเหตุมาจากความล้มเหลวในการค้าแข้งกับบาร์เซโลนาที่เจ้าตัวมีโอกาสลงเล่นให้ทีมเพียงแค่นัดเดียวตลอด 2 ปีที่อยู่ที่นั่น ยิ่งไปกว่านั้นการต้องสูญเสียลูกสาวด้วยโรคหัวใจรั่วเมื่อปี 2006 ได้ปลุกความเจ็บปวดในจิตใจของเขาให้กลับมาอีกครั้ง บวกกับความกังวลว่าจะเสียลูกสาวบุญธรรมวัย 8 เดือน หากความเจ็บป่วยของเขาถูกเปิดเผยต่อสาธารณชน จนกลายเป็นความกดดันที่ทำให้เขาตัดสินใจลาโลกไปอย่างน่าเศร้า

 

การจากไปของเอ็งเคทำให้คนในวงการลูกหนังตระหนักถึง “โรคซึมเศร้า” เป็นครั้งแรก แต่นั่นก็ไม่ใช่ครั้งสุดท้าย เพราะ 2 ปีให้หลัง “แกรี สปีด” กุนซือทีมชาติเวลส์ และอดีตนักเตะระดับตำนานของนิวคาสเซิลและลีดส์ ยูไนเต็ด ตัดสินใจลาโลกด้วยการผูกคอตายในวัยเพียง 42 ปี ทั้งที่ก่อนเกิดเหตุ สปีดเพิ่งจะไปออกรายการ Football Focus ทางช่อง BBC และเดินทางไปชมเกมระหว่าง แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ดกับนิวคาสเซิล จากนั้นได้ไปร่วมงานปาร์ตี้ที่บ้านเพื่อนในช่วงค่ำ ก่อนจะมาพบเป็นศพแขวนคอในโรงรถในช่วงเช้าวันต่อมา

 

การเสียชีวิตของสปีดสร้างความตกใจให้กับวงการฟุตบอลอย่างคาดไม่ถึง ด้วยภาพลักษณ์ของนักกีฬาที่สมบูรณ์แบบ ไม่กินเหล้า ไม่สูบบุหรี่ ไม่เล่นการพนัน และเป็นคนที่มุ่งมั่นกับการทำงาน แต่ไม่มีใครรู้ว่าเบื้องลึกในจิตใจเขาต้องเผชิญกับความเจ็บปวดโดยลำพัง และไม่เคยบอกให้ใครได้รับรู้

 

ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา นักฟุตบอลมีแนวโน้มป่วยเป็นโรคซึมเศร้ามากขึ้น อย่างล่าสุดที่ตกเป็นข่าวครึกโครมเมื่อปี 2018 คือกรณีของ อารอน เลนนอน อดีตกองกลางทีมชาติอังกฤษ เมื่อมีคนพบเขาเดินอยู่ริมถนนในเมืองแมนเชสเตอร์ และมีท่าทีแปลกๆ หลังจากได้พูดคุยถึงรู้ว่าเขามีแนวโน้มที่จะฆ่าตัวตาย โชคดีที่มีคนมาเห็น ก่อนที่ตำรวจจะนำตัวเขาส่งสถานบำบัด เช่นเดียวกับ แดนนี โรส แบ็กซ้ายทีมชาติอังกฤษ ที่ประสบปัญหารุมเร้าทั้งอาการบาดเจ็บของตัวเอง ปัญหาครอบครัว จนต้องพบจิตแพทย์

แดนนี โรส

 

สาเหตุหลักที่ทำให้นักฟุตบอลหลายคนต้องเผชิญกับภาวะซึมเศร้า นั่นก็คือ ความเครียดจากความกดดัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในหมู่นักฟุตบอลที่มีชื่อเสียง การเป็นบุคคลสาธารณะ ทำให้พวกเขาต้องแบกรับความคาดหวัง ทั้งจากแฟนบอลและสื่อ ซึ่งบางคนก็ไม่อาจรับมือได้ และเลือกที่จะเก็บไว้ไม่ให้ใครรู้ ก่อนที่มันจะลุกลามจนสายเกินแก้เหมือนกรณีของ โรเบิร์ต เอ็งเค และ แกรี สปีด

 

#จะรู้ได้อย่างไรว่าเป็นโรคซึมเศร้า

 

ข้อมูลจากคณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล ระบุว่า อาการซึมเศร้านั้นมีด้วยกันหลายระดับตั้งแต่น้อยๆ ที่เกิดขึ้นได้ในชีวิตประจำวัน ไปจนเริ่มมีผลกระทบต่อการดำรงชีวิต และบางคนอาจเป็นถึงระดับของโรคซึมเศร้า

 

ทั้งนี้มีแบบสอบถามภาวะซึมเศร้า (Patient Health Questionnaire; PHQ9) เพื่อช่วยในการประเมินว่า ผู้ตอบมีภาวะซึมเศร้าหรือไม่ รุนแรงมากน้อยเพียงใด เป็นมากจนถึงระดับที่ไม่ควรจะปล่อยทิ้งไว้หรือไม่ ซึ่งเกณฑ์การวินิจฉัยคือ หากมีอาการดังต่อไปนี้ 5 อาการหรือมากกว่า

 

1. มีอารมณ์ซึมเศร้าแทบทั้งวัน (ในเด็กและวัยรุ่นอาจเป็นอารมณ์หงุดหงิดก็ได้)

 

2. ความสนใจหรือความเพลินใจในกิจกรรมต่างๆ แทบทั้งหมดลดลงอย่างมากแทบทั้งวัน

 

3. น้ำหนักลดลงหรือเพิ่มขึ้นมาก (น้ำหนักเปลี่ยนแปลงมากกว่าร้อยละ 5 ต่อเดือน) หรือมีการเบื่ออาหารหรือเจริญอาหารมาก

 

4. นอนไม่หลับ หรือหลับมากไป

 

5. กระวนกระวาย อยู่ไม่สุข หรือเชื่องช้าลง

 

6. อ่อนเพลีย ไร้เรี่ยวแรง

 

7. รู้สึกตนเองไร้ค่า

 

8. สมาธิลดลง ใจลอย หรือลังเลใจไปหมด

 

9. คิดเรื่องการตาย คิดอยากตาย

 

* ต้องมีอาการในข้อ 1 หรือ 2 อย่างน้อย 1 ข้อ

 

* ต้องมีอาการมากกว่า 2 สัปดาห์ขึ้นไป และต้องมีอาการเหล่านี้อยู่เกือบตลอดเวลา แทบทุกวัน ไม่ใช่เป็นเพียงแค่วันสองวันหายไป แล้วกลับมาเป็นใหม่

 

#การรักษาและป้องกันโรคซึมเศร้า

 

แม้ว่ายาจะมีบทบาทสำคัญในการจัดการกับสุขภาพจิต อาการป่วย และโรคต่างๆ แต่ก็มีข้อจำกัด เนื่องจากอาจมีผลข้างเคียงในการใช้ยาตามใบสั่งแพทย์ และยาที่ทำให้เกิดการเสพติด ดังนั้นจึงควรมองหาทางเลือกอื่นที่จะช่วยให้ผู้ป่วยมีคุณภาพชีวิตที่ดียิ่งขึ้น

 

มีรายงานการวิจัยจาก MSH Medical School Hamburg ในเยอรมนี พบว่า การออกกำลังกายนั้นสามารถช่วยรักษาคนที่มีปัญหาเรื่องสุขภาพจิตที่รุนแรงได้ โดยงานวิจัยได้ทำการประเมินระดับของโรควิตกกังวลและโรคซึมเศร้าในหมู่นักกีฬาชาวเยอรมนี ภายใต้เงื่อนไขแตกต่างกัน แต่มีระยะเวลาและความเข้มข้นของการออกกำลังกายที่คล้ายคลึงกัน ทั้งยังทำการประเมินผลโดยคัดแยกระหว่างผู้ที่ออกกำลังกายในที่ร่ม และผู้ที่ออกกำลังกายกลางแจ้ง และเปรียบเทียบระหว่างการเล่นกีฬาเป็นทีม กับการเล่นกีฬาเดี่ยว

 

งานวิจัยพบว่า นักกีฬาที่สามารถออกกำลังกายได้ตามแนวทางที่องค์การอนามัยโลก (WHO) แนะนำคือช่วงอายุ 18-64 ปี ออกกำลังกายสัปดาห์ละ 150 นาที จะมีสุขภาพจิตดีกว่าผู้ที่ไม่ได้ออกกำลังกายเป็นอย่างมาก นอกจากนี้งานวิจัยยังพบอีกด้วยว่า ผู้ที่ออกกำลังกายกลางแจ้งจะได้ประโยชน์มากกว่าผู้ที่ออกกำลังกายในที่ร่ม และการเล่นกีฬาไม่ว่าจะเป็นแบบเดี่ยวหรือแบบทีม ต่างก็มีประโยชน์ต่อสุขภาพจิตด้วยกันทั้งนั้น

 

อย่างไรก็ตามการเสียชีวิตของนักกีฬาด้วยโรคซึมเศร้า จึงเป็นอุทาหรณ์อย่างดีสำหรับการใช้ชีวิตว่า นอกจากการออกกำลังกายแล้ว เราควรดูแลตัวเองอย่างรอบด้าน รวมถึงการปฏิบัติตามหลักสุขศึกษา คือ กินอาหารให้ครบ 5 หมู่, พักผ่อนนอนหลับให้เพียงพอ, การทำสมาธิเพื่อผ่อนคลายจิตใจ และฝึกคิดบวกให้กับตัวเองอยู่เสมอ ก็จะช่วยให้ร่างกายและจิตใจมีความสมดุลเพียงพอที่จะเผชิญกับปัญหาต่างๆ ในชีวิตอย่างเข้มแข็ง


TAG ที่เกี่ยวข้อง

stadium

author

Play Now Thailand

Play Now Content Creator

La Vie en Rose