11 มิถุนายน 2564
สิ่งที่โหดร้ายและเจ็บปวดสำหรับนักฟุตบอล นอกจากฟอร์มการเล่นที่ตกต่ำย่ำแย่หรือไม่ได้ดั่งใจแล้ว อาการบาดเจ็บเป็นอีกสิ่งหนึ่งที่ทำให้นักฟุตบอลหลายคนไม่สามารถกลับมาเล่นได้เหมือนเดิม หรือบางรายอาจโชคร้ายถึงขั้นต้อง “แขวนสตั๊ด” กันเลยทีเดียว
โดยเฉพาะอาการบาดเจ็บบริเวณ “เข่า” ที่เกิดขึ้นได้ตั้งแต่เบาไปถึงหนัก อย่างเคสนักเตะกองหลังชื่อดัง เวอร์จิล ฟาน ไดจ์ค ที่ต้องเข้ารับการผ่าตัด “เอ็นไขว้หน้าเข่าฉีกขาด” และพักยาวจนปิดซีซั่น
หรือเคส “เจ” ชนาธิป สรงกระสินธ์ ที่ต้องถอนตัวจากทีมชาติไทย โดยมีรายงานจากทางต้นสังกัด คอนซาโดเล ซัปโปโร ว่า ผลการสแกน MRI อย่างละเอียด พบว่า “เอ็นหัวเข่าซ้ายยึด” แม้อาการจะไม่หนักหนาสาหัส แต่แพทย์ประจำสโมสรชี้ว่า ต้องพักการลงสนามสักระยะ และยังไม่สามารถระบุระยะเวลาในการกลับมาลงสนามที่แน่ชัดได้
อาการบาดเจ็บบริเวณ “เข่า” มีอะไรบ้าง?
“เอ็นด้านข้าง” มักจะพบได้บ่อยในหมู่นักวิ่ง จะมีอาการปวดบริเวณด้านข้าง ทั้งด้านในและด้านนอกหัวเข่า สาเหตุส่วนใหญ่เกิดจากการบิด เช่น ในบางจังหวะเวลาวิ่ง เผลอบิดเข่าผิดจังหวะ ทำให้เกิดอาการอักเสบแล้วปวดขึ้นมาได้
“เอ็นไขว้หน้า” มักพบได้มากในนักฟุตบอล เวลาที่เจอสไลด์เข้ามาหนักๆ หรือบิดท่าไปอย่างรวดเร็ว ซึ่งจะอาจทำให้เอ็นฉีกขาดได้
“กล้ามเนื้อมัดหลังเข่า” หลังออกกำลังกายเสร็จอาจจะมีอาการปวดตึงหลังหัวเข่า เพราะกล้ามเนื้อที่อยู่หลังหัวเข่าลงมาถึงน่องอาจเกิดการหดตัว
สิ่งที่ควรทำเมื่อเกิดการบาดเจ็บ
1. หยุดจนกว่าจะหายขาด
นักฟุตบอลส่วนใหญ่เมื่อรู้ตัวว่าตัวเองบาดเจ็บก็จะหยุดพักช่วงหนึ่ง แต่พอรู้สึกเหมือนจะหาย ก็จะเร่งรีบไปออกกำลังกาย หรือเตะฟุตบอลเช่นเดิม ทั้งที่จริงแล้วยังไม่หายขาด ซึ่งทำให้มีโอกาสบาดเจ็บซ้ำได้
2. ดูแลรักษาอาการเบื้องต้น
นอกจากจะหยุดพักกิจกรรมที่ต้องใช้การเคลื่อนไหวของบริเวณที่บาดเจ็บจนกว่าจะหายดีแล้ว ยังสามารถดูแลรักษาอาการด้วยตัวเองได้ง่ายๆ ดังนี้
-ประคบเย็นด้วยผ้าห่อน้ำแข็งบริเวณที่อักเสบนาน 20 นาที ทำซ้ำทุกๆ 2-3 ชั่วโมง
-ใช้ผ้าพันแผลพันรอบๆ เพื่อรองรับข้อต่อและเอ็นกล้ามเนื้อบริเวณนั้นๆ
-พยายามยกส่วนของร่างกายที่มีอาการให้อยู่ในระดับสูง โดยใช้หมอนหนุนไว้เมื่อนั่งหรือนอนลง
-ป้องกันการบวมของบริเวณที่อักเสบในช่วง 2-3 วันแรกด้วยการหลีกเลี่ยงความร้อน เช่น น้ำอุ่น หรือถุงน้ำร้อน รวมทั้งการดื่มแอลกอฮอล์และการนวดบริเวณดังกล่าว
-เมื่อเริ่มเคลื่อนไหวได้โดยไม่รู้สึกเจ็บ ให้ทำกายภาพบำบัดเพื่อช่วยเพิ่มความยืดหยุ่นและความแข็งแรงของเอ็นกล้ามเนื้อที่อักเสบ รวมถึงกล้ามเนื้อบริเวณรอบๆ ให้กลับฟื้นคืนสภาพ
3. พบแพทย์หรือผู้ชำนาญการเฉพาะทาง
กรณีที่ภาวะอักเสบมีอาการรุนแรงและนำไปสู่การฉีกขาด อาจต้องรักษาด้วยการผ่าตัด ดังนั้นการไปพบแพทย์เฉพาะทางเรื่องของหัวเข่า หรือแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านกระดูกและข้อ จึงเป็นเรื่องที่ดีที่สุด เพราะเราจะได้รู้ว่าอาการบาดเจ็บเกิดขึ้นบริเวณใด และอาการรุนแรงมากน้อยแค่ไหน
วิธีรักษา “เข่า” ให้ยืนยาว
นักฟุตบอลต้องมีข้อเข่าที่แข็งแรง การปั่นจักรยานหรือการเล่นเวทด้วยท่าสำหรับสร้างกล้ามเนื้อหัวเข่าให้แข็งแรงเป็นสิ่งที่ควรทำก่อน ไม่ใช่เกิดอาการบาดเจ็บก่อนแล้วค่อยมาทำ การยืดกล้ามเนื้อให้ดี อาจใช้เวลานาน 30 นาที แต่ก็คุ้มค่า
นอกจากนั้นการออกกำลังกายให้ถูกวิธี และค่อยๆ เพิ่มระยะการออกกำลังกายมากขึ้นอย่างเป็นขั้นตอน จะช่วยหลีกเลี่ยงอาการบาดเจ็บได้ โดยก่อนออกกำลังกายควรมีการ Warm up ยืดเหยียดกล้ามเนื้อ เพื่อช่วยเพิ่มความยืดหยุ่นให้ร่างกาย และการผ่อนคลาย Cool down หลังออกกำลังกายทุกครั้ง
การ Warm up และ Cool down อย่างถูกวิธีย่อมส่งผลดีต่อระบบต่างๆ เช่น ช่วยให้เกิดการไหลเวียนเลือดไปทั่วร่างกาย กระตุ้นการทำงานของกล้ามเนื้อหัวใจ ช่วยเพิ่มปริมาณออกซิเจน สร้างพลังให้กล้ามเนื้อมีความแข็งแรง ยืดหยุ่น และทำให้ระบบการเผาผลาญพลังงานในร่างกายมีประสิทธิภาพมากขึ้น
แต่หากมีอาการบาดเจ็บบริเวณ “เข่า” จากการออกกำลังกาย ปวดนาน เจ็บนาน ควรรีบพบแพทย์เฉพาะทาง เพื่อแนะนำการรักษาได้อย่างทันท่วงที
หากย้อนกลับไปเมื่อ 30 ปีก่อน ถ้าได้รับบาดเจ็บหนักบริเวณ “เข่า” นั่นหมายถึง อาชีพนักฟุตบอลอาจต้องปิดฉากลงก่อนกำหนด แต่ ณ ปัจจุบัน เทคโนโลยีทางด้านวิทยาศาสตร์การกีฬา เทคนิคการผ่าตัดส่องกล้อง และกายภาพบำบัด มีความเจริญก้าวหน้าอย่างมาก ทำให้นักฟุตบอลหลายคนสามารถกลับมาวาดลวดลายบนพื้นหญ้าด้วยฟอร์มอันยอดเยี่ยมอีกครั้ง
อย่างไรก็ตามคงไม่มีนักฟุตบอลคนไหนอยากให้เกิดขึ้น เพราะอาการบาดเจ็บเล่นงาน เป็นสิ่งที่ทรมานใจอย่างที่สุด
TAG ที่เกี่ยวข้อง