14 พฤษภาคม 2564
อย่างที่ทุกคนทราบกันดี “การไม่มีโรค คือลาภอันประเสริฐ” แม้จะมีเงินทองมากมายมหาศาลเพียงใด ก็ไม่อาจซื้อสุขภาพดีให้อยู่กับเราได้อย่างถาวร แต่รู้หรือไม่ว่า เราทุกคนสามารถสร้างมันขึ้นมาได้ด้วยตัวเราเอง
ยิ่งในช่วงวิกฤต “โควิด” แพร่ระบาด ยิ่งทำให้เราต้องตระหนักถึงการเสริมสร้างภูมิคุ้มกัน เพื่อให้สุขภาพกายและสุขภาพใจแข็งแรง
วันนี้เรามีข้อแนะนำดีๆ จาก น.อ. (พิเศษ) นพ. ไพศาล จันทรพิทักษ์ ประธานฝ่ายแพทย์ สมาคมกีฬาฟุตบอลแห่งประเทศไทยฯ ด้วยหลัก 10 อ. หรือ “Ten For Heath” ที่สามารถนำไปใช้ดูแลตัวเองในชีวิตประจำวันได้
นพ. ไพศาล บอกว่า หลัก 10 อ. ที่ว่านี้ ใช้ “ทฤษฎีเพื่อน (ตาย)” หมายถึง เพื่อนที่เกิดมาพร้อมเราและจะตายไปพร้อมกับเรา ไม่ว่าจะเป็น ตับ ไต หัวใจ ปอด สมอง และอวัยวะอื่นๆ ในร่างกาย ซึ่งถือเป็นสิ่งสำคัญ หากดูแลให้ดี เราก็จะมีสุขภาพที่ดีตามไปด้วย
โดยหลัก 10 อ. มีดังนี้
1. อ. อาหาร เราต้องรู้จักรับประทานอาหารที่ถูกต้องเหมาะสม และมีประโยชน์ครบทั้ง 5 หมู่ รวมทั้ง น้ำ เพื่อให้เพื่อน (ตาย) ได้รับอาหารที่ดีต่อสุขภาพ และน้ำที่เพียงพอต่อความต้องการของร่างกายในแต่ละวัน
2. อ. ออกกำลังกาย เราต้องออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ หรืออย่างน้อย 3 ครั้งต่อสัปดาห์ เพื่อให้เพื่อน (ตาย) มีระบบการทำงานที่ดี มีความแข็งแรง สมบูรณ์ สามารถอยู่กับเราไปนานๆ เพราะการออกกำลังกายมีประโยชน์นานัปการต่อสุขภาพของคนเรา ซึ่งเป็นเรื่องที่ใครๆ ก็ทราบดี แต่คนส่วนใหญ่กลับละเลยที่จะรักษาสุขภาพด้วยการออกกำลังกาย บ้างก็บอกว่าเหนื่อย บ้างบอกว่าไม่มีเวลา หรือแม้กระทั่งหาสถานที่ออกกำลังกายไม่ได้ ยิ่งกว่านั้นบางคนบอกว่าแก่เกินจะออกกำลังกายแล้ว ซึ่งทั้งหมดนั้นล้วนเป็นข้ออ้างแทบทั้งสิ้น เพราะไม่ว่าช่วงวัยไหนๆ ก็สามารถออกกำลังกายได้ แค่เพียงเลือกแบบที่เหมาะสมกับวัยเท่านั้นเอง
3. อ. เช็กอัพ เราควรตรวจสุขภาพเป็นประจำทุกปี เพราะเพื่อน (ตาย) เปรียบเสมือนเครื่องยนต์กลไกทำงานรับใช้เรามาตลอด จึงอาจต้องแก้ไขซ่อมแซม
4. อ. ไม่อดนอน เพราะการนอนเป็นช่วงเวลาสำคัญของร่างกาย เพื่อที่จะให้เพื่อน (ตาย )ได้พักผ่อน ซ่อมแซมส่วนที่สึกหรอ ฟื้นฟูระบบการทำงาน ซึ่งควรนอนอย่างน้อย 6-8 ชั่วโมงต่อวัน
5. อ. ไม่อ้วน เพราะการมีน้ำหนักมากจนเกินไป ทำให้เพื่อน (ตาย) ต้องรับภาระหนักเพิ่มมากขึ้น และที่สำคัญ ความอ้วน มักเป็นตัวการนำโรคต่างๆ มาสู่เพื่อน (ตาย) ไม่ว่าจะเป็น ความดัน เบาหวาน เส้นเลือด เข่าเสื่อม
6. อ. อันตรายจากสารพิษ เราต้องระมัดระวังไม่รับสารอันตรายเข้าสู่ร่างกาย ทั้งทาง ปาก หู ตา จมูก และผิวหนัง โดยเฉพาะช่วงโควิด เราอาจติดเชื้อได้ง่าย และเพื่อน (ตาย) ก็จะรับเคราะห์ตามไปด้วย
7. อ. อันตรายจากพฤติกรรม เราต้องหลีกเลี่ยงและป้องกันไม่ให้เกิดอุบัติเหตุ หรือทำกิจกรรมที่สุ่มเสี่ยงอันตราย เพราะจะทำให้เพื่อน (ตาย) ได้รับบาดเจ็บ รวมไปถึงได้รับเชื้อโรค โดยเฉพาะในช่วงการแพร่ระบาดของโควิด เราควรอยู่กับบ้าน เพื่อจะได้ไม่ไปติดเชื้อและแพร่กระจายสู่คนอื่น
8. อ. อาวุธ ในที่นี้หมายถึง การติดอาวุธให้กับร่างกาย หรือ อิมมูไนเซชั่น (Immunization) คือ การฉีดวัคซีน เพื่อสร้างภูมิต้านทานและคุ้มกันให้กับร่างกาย
9. อ. อารมณ์ เพราะในปัจจุบันคนทั่วไปมีความเครียดสะสม วิตกกังวล ก่อให้เกิดปัญหาสุขภาพจิต และส่งผลกระทบต่อสุขภาพกายตามมา เราจึงควรทำให้อารมณ์ดี สุขภาพจิตดีอยู่เสมอ
10. อ. อาสา เมื่อมีสุขภาพกายและใจที่ดีแล้ว เราควรเสริมกิจกรรมเพื่อสังคม กิจกรรมอาสา เพื่อส่งเสริมทั้งสุขภาพของเราและพัฒนาชุมชนให้มีคุณภาพชีวิตที่ยั่งยืน เพราะการเป็นคนที่เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่นั้น นอกจากจะดีต่อตนเองแล้ว ยังส่งผลให้เพื่อน (ตาย) ของคนที่ท่านไปช่วย ได้รับอานิสงส์ไปด้วย
นี่คือหลัก 10 อ. ที่ นพ. ไพศาล เน้นย้ำว่า สามารถนำไปใช้เป็นทักษะชีวิตในการที่จะอยู่ในสังคมอย่างสุขภาพดีได้ ทั้งในช่วงที่มีโควิดและไม่มีโควิด
ดั่งคำพูดที่ว่า “สุขภาพดีไม่มีขาย อยากได้ต้องทำเอง” ครับ
TAG ที่เกี่ยวข้อง