16 เมษายน 2564
สงครามลูกหนัง “โตโยต้า ไทยลีก” หยุดบรรเลงเพลงแข้งยาวถึง 4 เดือนเต็มๆ หลังฝ่าโควิด-กรำศึกมาราธอนข้ามปี กว่าจะกลับมาเปิดฤดูกาลใหม่อีกที 31 กรกฎาคม 2564 ซึ่งช่วงเวลานี้แต่ละสโมสรได้ปล่อยขุนพลพักผ่อนกันอย่างเต็มที่
แต่ในการเป็นนักฟุตบอลอาชีพนั้น เรื่องสภาพร่างกายถือเป็นสิ่งสำคัญที่สุด โดยเฉพาะการรักษาความฟิตต่อเนื่อง
น.อ. (พิเศษ) นพ. ไพศาล จันทรพิทักษ์ ประธานฝ่ายแพทย์สมาคมกีฬาฟุตบอลแห่งประเทศไทยฯ ให้สัมภาษณ์ว่า นักกีฬาที่ออกกำลังกายฟิตมาจนถึงจุดพีค ถ้าหยุดไปเลย ไม่ได้ออกกำลังกายต่อเนื่อง กล้ามเนื้อและความคล่องตัวก็จะลดลงไป ดังนั้นจึงต้องมีการออกกำลังกายเป็นประจำ เหมือนคนทั่วไปที่ออกกำลังกายเพื่อรักษาความสมบูรณ์ของร่างกาย
เพราะสิ่งที่จะเกิดตามมาโดยไม่รู้ตัวก็คือ เมื่อเรารับประทานอะไรได้ตามปกติ แต่ว่าการฝึกซ้อมไม่เหมือนในระหว่างซีซั่น เพราะฉะนั้นจะต้องมอนิเตอร์เรื่องอาหารและน้ำหนักตัวด้วย เพื่อไม่ให้โอเวอร์เวทหลังจากฝึกซ้อมน้อยลง
ดังนั้นการรักษาความฟิตในช่วงปรีซีซั่นจึงเป็นสิ่งสำคัญ โดย “ความฟิต” หรือ “ฟิตเนส” นั้น แน่นอนว่าต้องออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ ซึ่งประเด็นหลักๆ มีอยู่ 2-3 เรื่อง
1. ความฟิตของระบบหัวใจ
คือการออกกำลังกายแบบแอโรบิกเพื่อช่วยให้ระบบหัวใจ หลอดเลือด และระบบหายใจ ทำงานได้ดี เช่น วิ่ง, ว่ายน้ำ, ปั่นจักรยาน, เต้นแอโรบิก รวมทั้งการปั่นหรือวิ่งบนเครื่อง เพื่อเพิ่มระดับอัตราการเต้นของหัวใจ อีกทั้งยังช่วยในเรื่องการเผาผลาญไขมัน หรือลดน้ำหนักอีกด้วย โดยในช่วงที่แข่งขันอาจทำ 100% แต่ในช่วงหยุดพักอาจทำสัก 60-80%
2. ความฟิตของระบบกล้ามเนื้อ
เมื่อฝึกซ้อมอย่างสม่ำเสมอ กล้ามเนื้อก็จะมีความแข็งแรง มีความฟิต แต่ถ้าเราหยุดแล้วมาใช้ชีวิตอย่างคนทั่วๆ ไป ความแข็งแรงของกล้ามเนื้อย่อมลดน้อยลง เพราะฉะนั้นการบริหารกล้ามเนื้อก็ต้องทำควบคู่กันไปกับแอโรบิก บางคนก็อาจเข้าเวทเทรนนิ่งเพราะทำได้ไม่ยาก ที่สำคัญหลังการเล่นเวท ควรยืดกล้ามเนื้อทุกครั้งเพื่อป้องกันกล้ามเนื้อบาดเจ็บ
3. อาหาร
เมื่อไม่ได้ฝึกซ้อมหรือมีการแข่งขัน นักกีฬาอยู่บ้าน การใช้พลังงานก็จะลดน้อยลงไป ดังนั้นหากรับประทานอาหารเท่าเดิม เหมือนเดิม และไม่ระมัดระวัง น้ำหนักก็จะเพิ่มขึ้น หลายๆ สโมสรจึงใช้เรื่องนี้เป็นตัววัด เมื่อกลับเข้าแคมป์จะมีการชั่งน้ำหนักเพื่อดูว่านักกีฬาระมัดระวังในการกินหรือไม่ ใครที่ไม่ระมัดระวังกลับมามีน้ำหนักเกิน กว่าจะรีดลงได้ย่อมมีผลต่อการฝึกซ้อม เพราะในซีซั่น เราซ้อมวันหนึ่งเป็นชั่วโมง แข่งขันสัปดาห์ละ 2 เกม จึงมีการใช้พลังงานเต็มที่ แต่ถ้าอยู่ในช่วงปิดซีซั่น ไม่ได้ซ้อมแบบเต็มที่ ปริมาณอาหารจึงต้องปรับลดลงมา เพราะถ้ารับประทานมากไปจนน้ำหนักตัวเพิ่มขึ้นก็จะส่งผลกระทบต่อการฝึกซ้อม
นายแพทย์ไพศาลยังบอกอีกว่า ในช่วงปิดซีซั่นนี้นักฟุตบอลควรออกกำลังกายแบบแอโรบิกและเวทเทรนนิ่ง 3-5 ครั้งต่อสัปดาห์ อาจไม่จำเป็นต้องทำทุกวัน สำหรับบางคนติดเป็นนิสัยที่ต้องทำทุกวันก็เป็นเรื่องดีต่อตัวเอง แต่โดยหลักการ ถ้าจะรักษาสภาพในเรื่องของความแข็งแรง ความสมบูรณ์ ฟิตเนสต่างๆ เชื่อว่าการออกกำลังกาย 3-5 ครั้งต่อสัปดาห์ ก็น่าจะเพียงพอ
นอกจากนั้นประธานฝ่ายแพทย์สมาคมกีฬาฟุตบอลแห่งประเทศไทยฯ ย้ำว่า สิ่งสำคัญคือเรื่อง “วินัย”
กว่าที่นักกีฬาจะฟิตสูงสุดต้องใช้เวลาไต่ขึ้นไป หากช่วงปิดซีซั่นไม่ทำอะไรเลย ไม่ออกกำลังกาย ความฟิตก็จะลดลง และเมื่อกลับมาฝึกซ้อมอีกครั้งก่อนจะเปิดซีซั่น คงต้องใช้เวลามากกว่าคนอื่น หรือบางคนกว่าจะลดน้ำหนักลงมาได้ก็ต้องใช้เวลานาน แต่ถ้ามีวินัย นักกีฬาก็จะรู้ว่าควรต้องบริหารจัดการเรื่องอะไรบ้าง เพราะฉะนั้นการที่จะกลับมาฟิตอีกก็ไม่ยาก
โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงโควิดระบาด นักกีฬาต้องฝึกซ้อมอยู่ที่บ้าน จึงจำเป็นต้องมีวินัยเพื่อรักษาสภาพร่างกาย สร้างความแข็งแกร่ง และสร้างภูมิคุ้มกัน
ณ วันนี้ อาชีพนักฟุตบอล ถึงแม้ว่าจะมีฝีเท้าเก่งกาจขนาดไหน แต่หากไม่มีวินัยหรือสภาพร่างกายไม่อำนวย โอกาสที่จะยืนระยะก็เป็นไปได้ยาก เพราะจะมีคลื่นลูกใหม่เกิดขึ้นมาเสมอ
TAG ที่เกี่ยวข้อง