stadium

ความเสี่ยงจากการ “โหม่ง” สู่โรคสมองเสื่อม

3 เมษายน 2564

ความเสี่ยงจากการ “โหม่ง” สู่โรคสมองเสื่อม

โดย ช้างศึก x Play Now Thailand

 

การโหม่งฟุตบอล เสี่ยงสมองเสื่อมจริงหรือ?

 

คำถามนี้ไม่ใช่คำถามใหม่ เพราะก่อนหน้านี้เคยมีการเรียกร้องให้ศึกษาวิจัยกันอย่างจริงจัง เพื่อเป็นแนวทางป้องกัน แต่กระนั้นก็เป็นเพียงข้อสันนิษฐานที่ยังไม่มีคำตอบยืนยันชัดเจน

 

ผลวิจัยของมหาวิทยาลัยคอลเลจลอนดอน ร่วมกับมหาวิทยาลัยคาร์ดิฟฟ์ ของสหราชอาณาจักร พบว่า นักฟุตบอลอาชีพที่โหม่งบ่อยๆ ระหว่างแข่งขัน โดยเฉพาะลูกบอลที่มีน้ำหนักมาก มีโอกาสที่จะเป็นโรคสมองเสื่อมเมื่อแก่ตัวลงมากกว่าคนทั่วๆ ไป

 

อย่างไรก็ตามทีมวิจัยของมหาวิทยาลัยคอลเลจลอนดอนและมหาวิทยาลัยคาร์ดิฟฟ์ยอมรับว่า ผลวิจัยนี้ยังไม่รวมถึงความเป็นไปได้เรื่องการกระทบกระเทือนทางสมองตั้งแต่วัยเด็ก และยังเป็นแค่งานวิจัยแรกที่ต้องต่อยอดและขยายผลให้ตรงประเด็นและเพิ่มเติมกลุ่มตัวอย่างให้มากขึ้น

 

ขณะที่ผลวิจัยของมหาวิทยาลัยกลาสโกว์ ประเทศสกอตแลนด์ ระบุว่า อดีตนักฟุตบอลอาชีพมีอัตราการเสียชีวิตจากโรคสมองเสื่อม มากกว่าคนปกติในช่วงอายุเดียวกันถึง 3 เท่าครึ่ง

 

งานวิจัยนี้เริ่มต้นขึ้นหลังการเสียชีวิตของ เจฟฟ์ แอสเติล อดีตกองหน้าเวสต์บรอมวิช ซึ่งได้ชื่อว่าเป็นจอมโหม่งคนหนึ่งของวงการในยุคที่ลูกบอลยังทำจากหนังหนักๆ เมื่อปี 2002 ก่อนจะทำการสอบสวนอีกครั้งในปี 2014 พบว่า การโหม่งฟุตบอลที่ทำจากหนังหนักๆ ซ้ำๆ มีส่วนทำให้สมองของเขาได้รับการกระทบกระเทือนจนเป็นโรคเนื้อเยื่อสมองเสื่อมรุนแรงเรื้อรัง (Chronic Traumatic Encephalopathy)

 

อย่างไรก็ตาม ดร. เดวิด เรย์โนลด์ส แห่งศูนย์วิจัยอัลไซเมอร์ สหราชอาณาจักร ชี้ว่า แม้จะเริ่มมีงานวิจัยมารองรับเกี่ยวกับผลกระทบของการโหม่งลูกฟุตบอลแล้ว แต่ยังเร็วเกินไปที่จะสรุปว่า กีฬาฟุตบอลส่งผลให้เกิดปัญหาสุขภาพในระยะยาว เพราะอาการสมองเสื่อมนั้นมีสาเหตุค่อนข้างซับซ้อน และเกิดจากปัจจัยหลายอย่างรวมกัน ทั้งอายุ ไลฟ์สไตล์ และยีน ผู้วิจัยจึงจำเป็นต้องศึกษาให้ลึกลงไปว่านักฟุตบอลเหล่านี้ใช้ชีวิตอย่างไร และเป็นการกระตุ้นให้เกิดอาการเหล่านี้ตามมาหรือไม่

 

อีกหนึ่งรายงานจาก “บีบีซี” อธิบายไว้ว่า การโหม่งฟุตบอลส่งผลให้สมองซึ่งลอยตัวในโพรงกะโหลก เคลื่อนไปกระแทกกับกะโหลกด้านหลัง ทำให้เกิดรอยช้ำ แม้ว่าการโหม่งลูกบอลครั้งเดียวอาจไม่ทำให้เกิดอาการบาดเจ็บที่ส่งผลต่อร่างกายแบบมีนัยสำคัญ แต่เมื่อผ่านไปในระยะยาวอาจมีแนวโน้มทำให้เกิดผลร้ายได้ 

 

ประเด็นซึ่งเป็นที่พูดถึงคือ อาการเกี่ยวกับโรคทางระบบประสาทอาจไม่ได้มีอาการทันทีทันใด แต่เชื่อว่าเป็นอาการสะสม จากนั้นค่อยปรากฏอาการอย่างช้าๆ สะสมในระยะยาว และไปปรากฏช่วงบั้นปลายของชีวิต

 

เมื่อเดือนพฤศจิกายน ปี 2020 มีการเปิดเผยว่า เซอร์ บ็อบบี ชาร์ลตัน ตำนานลูกหนังผู้ยิ่งใหญ่ของแมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด และทีมชาติอังกฤษ กำลังเผชิญกับอาการป่วยเป็นโรคสมองเสื่อม ซึ่งมีคำถามกลับมาอีกครั้งว่า เป็นอาการที่สะสมมาจากการโหม่งหรือไม่?

 

เลดี้ นอร์มา ชาร์ลตัน ภรรยาของตำนานกองหน้าวัย 83 ปี เปิดเผยเรื่องนี้ต่อสาธารณะ เพื่อให้สังคมตระหนักถึงโรคความจำเสื่อมที่มีส่วนคร่าชีวิตนักฟุตบอลในระดับตำนานหลายคน โดยหวังเป็นประโยชน์และกระตุ้นเตือนให้ผู้อื่นดูแลใส่ใจตนเองมากขึ้น

 

สืบเนื่องจากอาการป่วยของเซอร์ บ็อบบี้ เกิดขึ้นหลังการเสียชีวิตของแจ๊ค พี่ชาย เมื่อเดือนกรกฎาคม 2020 ด้วยวัย 85 ปี ตามด้วย น็อบบี สไตล์ เพื่อนร่วมทีมชาติอังกฤษชุดแชมป์โลกปี 1966 ที่จากไปเมื่อเดือนตุลาคม ปีเดียวกัน ในวัย 78 ปี ซึ่งการเสียชีวิตของทั้งคู่ได้รับการวินิจฉัยว่ามีภาวะสมองเสื่อมแทรกซ้อนเช่นเดียวกัน

 

นอกจากนี้ยังมี เรย์ วิลสัน อดีตแบ็กซ้าย ฮัดเดอร์สฟิลด์ ทาวน์ และ มาร์ติน ปีเตอร์ อดีตกองกลาง เวสต์แฮม ยูไนเต็ด ที่โรคสมองเสื่อมได้คร่าชีวิตของทั้งคู่ในปี 2018 และ 2019 เช่นกัน

 

หากรวบรวมข้อมูลสถิติอาการเจ็บป่วยของนักฟุตบอลจะพบว่า อดีตนักเตะที่ลงเล่นยาวนานหลายรายมีอาการทางสมองร่วมกันอย่างน่าตกใจ ตั้งแต่อาการสมองเสื่อมจนถึงอัลไซเมอร์ 

 

อย่างไรก็ตามการปะทะในกีฬาเป็นเรื่องหลีกเลี่ยงไม่ได้ หากไม่ได้โหม่งลูกบอล การปะทะทางศีรษะอย่างรุนแรงก็อาจเกิดขึ้นได้ อย่างกรณี ไรอัน เมสัน ที่ต้องแขวนสตั๊ดในวัยเพียง 26 ปี เนื่องจากกะโหลกร้าวจากจังหวะขึ้นโหม่งปะทะกับ แกรี เคฮิลล์ กองหลังเชลซี เมื่อวันที่ 22 มกราคม ปี 2017

 

อดีตนักเตะฮัลล์ ซิตี้ เล่าว่า นั่นเป็นช่วงเวลาที่ชีวิตเขาแขวนอยู่บนเส้นดายอย่างแท้จริง เพราะหากทีมแพทย์ของสโมสรไม่สามารถส่งตัวเขาไปยังโรงพยาบาลที่มีเครื่องมือเพียบพร้อมได้ทันเวลา เขาอาจถึงขั้นเสียชีวิตหรือพิการไปแล้ว

Ryan Mason reveals extent of horror head injury which forced retirement  including 14 metal plates in skull

 

จากวันนั้นถึงวันนี้ ยังมีอีกหลายกรณีจนพรีเมียร์ลีก อังกฤษ ตัดสินใจทดลองใช้กฎการเปลี่ยนตัวพิเศษ โดยทุกทีมสามารถเปลี่ยนตัวผู้เล่นเพิ่มได้ 2 คนต่อเกมในกรณีที่นักเตะมีปัญหากระทบกระเทือนทางสมองจากการปะทะกันที่ศีรษะจนไม่สามารถแข่งต่อไปได้ โดยการเปลี่ยนตัวพิเศษนี้จะไม่เกี่ยวกับการเปลี่ยนผู้เล่นตามกฎปกติ ซึ่งได้เริ่มใช้ไปเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมาจนจบซีซั่น และอาจจะขยายต่อในฤดูกาลหน้า

 

“เปาโค้ช” ศิวกร ภูอุดม ผู้ตัดสินระดับฟีฟ่าอีลิตของไทยบอกว่า หากเกิดการปะทะที่ศีรษะของนักฟุตบอล ผู้ตัดสินจะเป่าหยุดเกมทันทีเพื่อให้แพทย์เข้ามาปฐมพยาบาลอย่างเร่งด่วนจนกว่าอาการจะดีขึ้น ส่วนกฎการเปลี่ยนตัวพิเศษนั้น ส่วนตัวคิดว่าเป็นผลดี เพราะหากทีมที่เปลี่ยนตัวปกติไปครบแล้วมีนักเตะเจ็บจากการปะทะที่ศีรษะ นักเตะคนนั้นอาจต้องฝืนเล่นจนจบ ซึ่งเป็นเรื่องที่อันตรายอย่างยิ่ง

 

อย่างน้อยกฎนี้ก็ช่วยเซฟตัวนักกีฬา และป้องกันไม่ให้เกิดภาวะความเสี่ยงที่นักฟุตบอลอาชีพจะป่วยด้วยโรคสมองเสื่อมในอนาคต


TAG ที่เกี่ยวข้อง

stadium

author

Play Now Thailand

Play Now Content Creator

La Vie en Rose