12 มีนาคม 2564
อุปสรรคอย่างหนึ่งที่มักจะเข้ามาขัดขวางระหว่างเล่นกีฬาหรือออกกำลังกายคือ “ตะคริว” มันช่างน่าหงุดหงิดหากขณะที่เรากำลังออกกำลังเรียกเหงื่ออย่างเพลิดเพลิน หรือการแข่งขันอยู่ในช่วงเข้าด้ายเข้าเข็มแล้วแข้งขาเกิดเป็นตระคริวขึ้นมา
สำหรับนักฟุตบอลที่ผ่านการทดสอบความฟิตลงสนาม ไม่ง่ายนักที่ผู้ชมทางบ้านจะเห็นพวกเขาเป็นตระคริวในช่วงเวลา 90 นาที แต่สำหรับฟุตบอลบางรายการหรือบางนัดที่เปิดให้มีการตัดสินแพ้ชนะกันในช่วง “ต่อเวลาพิเศษ” เพิ่มอีก 30 นาที อย่างทัวร์นาเมนต์ที่มีเดิมพันสูงทั้งหลาย นักเตะต้องโหมสุดกำลังแรงกาย หลายครั้งที่เราเห็นยอดนักเตะเกิดเป็นตะคริวช่วงท้ายเกม
รายการสำคัญอย่างซีเกมส์ ฟุตบอลยูโร ฟุตบอลโลก ฟุตบอลยูฟ่า แชมเปียนส์ลีก ตะคริวกัดกินแข้งขานักเตะเอกของโลกมาแล้วนักต่อนัก
ตะคริว (cramp, Muscle Cramp) คือ อาการหดเกร็งไม่คลายตัวของกล้ามเนื้อบางมัด กล้ามเนื้อที่เป็นตะคริวบ่อยๆ เช่น กล้ามเนื้อน่อง กล้ามเนื้อต้นขาทั้งด้านหน้าและด้านหลัง กล้ามเนื้อบริเวณหน้าท้องและหลัง
ย้อนกลับไปในมหกรรมกีฬาซีเกมส์ ครั้งที่ 29 เมื่อปี 2560 ที่กรุงกัวลาลัมเปอร์ ประเทศมาเลเซีย
ระหว่างการแข่งขันฟุตบอลชายรอบแรก นัดที่ 4 ของกลุ่ม B ซึ่งทีมชาติไทยบดเอาชนะฟิลิปปินส์ไปได้ 2-0 ประตู เหตุการณ์ที่สร้างความประหลาดใจให้กับผู้ชมและสตาฟโค้ช คือมีนักฟุตบอลทีมชาติไทยเป็นตะคริวมากถึง 5 คน โดย 3 ใน 5 คนต้องถูกเปลี่ยนตัวออกจากสนาม
นายแพทย์อี๊ด ลอประยูร ผู้อำนวยการอาวุโสสถาบันวิทยาศาสตร์การกีฬา โรงพยาบาลกรุงเทพ ได้ออกมาให้ความรู้ในเวลาต่อมาว่าสาเหตุที่นักฟุตบอลเป็นตะคริวอาจเกิดจากเหตุผลหลายประการ เช่น ภาวะขาดน้ำเนื่องจากอากาศร้อนจัด, การขาดเกลือแร่, การบริโภคยาหรืออาหารเสริมบางชนิดที่สร้างกล้ามเนื้อแต่อาจทำให้เกิดตะคริวได้ง่าย ตลอดจนสภาพความฟิตของตัวนักเตะ โดยที่ไม่ได้ฟันธงชี้ชัดว่าตะคริวของนักเตะทีมชาติเกิดจากสาเหตุใด เพียงแต่สันนิษฐานว่าน่าจะเกิดจากข้อใดข้อหนึ่งข้างต้น
ขณะที่การแข่งขันซีเกมส์รายการเดียวกันยังมีนักวิ่งมาราธอนไทย 3 คน เป็นตะคริวทั้ง 3 คน หนึ่งในนั้นเป็นตัวเต็งเหรียญทอง ซึ่งต้อง “DNF” หรือ Do not finish ไปไม่ถึงจุดหมาย ทั้งที่ช่วงเก็บตัวมีสมรรถภาพร่างกายดีเยี่ยมมาโดยตลอด จนมีผู้ตั้งข้อสังเกตว่าอาจเกิดจากสภาพอากาศ
หนังสือคู่มือวิ่งเพื่อสุขภาพ เขียนโดยนายแพทย์ กฤษฎา บานชื่น ระบุถึงสาเหตุของปัญหาที่นักกีฬาแทบทุกคนเคยประสบว่าอาจเกิดจากร่างกายขาดเกลือแร่ หรือขาดแร่ธาตุอื่นๆ เช่น โปแตสเซียม แมกนีเซียม หรือไม่ก็กล้ามเนื้อบาดเจ็บหรือใช้งานมากเกินไป การขาดเลือดไปเลี้ยงกล้ามเนื้ออันเนื่องจากการเกร็งอยู่นานๆ จนตัดทางเดินของเลือดก็อาจเป็นสาเหตุหนึ่ง หรือแม้แต่การหายใจเข้าหายใจออกที่มากเกินไป แม้ไม่มีความจำเป็น แต่บางคนหายใจมากเกินกว่าร่างกายต้องการ ยกตัวอย่างหลังวิ่งไปนานๆ จนเกิดอาการเหนื่อย หรือรู้สึกตื่นเต้นเกินไป แทนที่จะหายใจลึกๆ ยาวๆ กลับหายใจตื้นๆ สั้นๆ ถี่กระชั้น แบบนี้จะยิ่งทำให้เกิดตะคริวได้ง่าย
เมื่อตะคริวคืออาการหดเกร็งไม่คลายตัวของกล้ามเนื้อ หากสัมผัสจะพบว่ามีก้อนเนื้อบริเวณนั้น การรักษาเฉพาะหน้าจึงมุ่งไปที่การยืดและบีบให้กล้ามเนื้อคลายตัว ยกตัวอย่างถ้าเป็นตะคริวที่น่อง ให้นั่งลงเหยียดเข่าข้างนั้นออกให้ตรง ใช้มือข้างหนึ่งบีบกล้ามเนื้อบริเวณที่เป็นตะคริว มืออีกข้างหนึ่งดึงเท้าขึ้นเพื่อยืดกล้ามเนื้อน่อง ถ้ามีเพื่อนอยู่ด้วย ให้ช่วยจับบริเวณกระดูกข้อเท้าข้างนั้นแล้วยกขึ้นเท่าที่จะทำได้ ก็สามารถแก้อาการปวดจากตะคริวได้ หรือถ้าไม่มีใครช่วยอาจโน้มตัวไปแล้วดึงปลายเท้าเข้าหาลำตัว อาจใช้เวลาตั้งแต่ 1-2 นาที หรือเรื่อยไปจนถึง 15 นาที หลังจากนั้นประเมินอาการว่ายังหดเกร็งหรือไม่ ถ้ายังเป็นอยู่ให้ทำซ้ำอีกจนหายเกร็ง ในบางรายอาจมีอาการปวดเรื้อรังอยู่และจะกินเวลาเป็นวันก่อนจะหายอย่างสมบูรณ์
ข้อควรระวังสำหรับผู้ที่ใช้วิธี บีบนวด หรือกระดกเท้าขึ้นๆ ลงๆ แบบกระตุก อาจทำให้เกิดการเกร็งรุนแรงมากขึ้น ควรกระดกเท้าขึ้นลงแล้วค้างไว้ 1-2 นาที จนกว่าอาการเกร็งจะหายไป
ส่วนการแก้ไขระยะยาวหรือป้องกันก่อนเกิดตะคริวนั้นต้องพิจารณาตามสาเหตุ ถ้าเกิดจากการใช้กำลังมากไปก็ให้ลดลง ถ้าร่างกายขาดแร่ธาตุก็หาโอกาสกินชดเชย อบอุ่นร่างกายก่อนออกกำลังกายและเล่นกีฬาให้ติดเป็นนิสัย พยายามออกกำลังกายและหมั่นฝึกซ้อมให้สม่ำเสมอ แม้แต่การดื่มน้ำให้เพียงพอ งดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ก็เป็นเรื่องพึงกระทำ เพื่อให้การแข่งขันไม่ถูกดิสรัปชั่นด้วยตะคริว
TAG ที่เกี่ยวข้อง