stadium

“เสิร์ฟ” แบบไหนให้ได้แต้ม ! 5 เทคนิคเสิร์ฟตะกร้อจี้เกมรับกดดันคู่แข่ง

4 ธันวาคม 2563

พูดถึงกีฬาตะกร้อแล้ว หลาย ๆ คนคงจะนึกถึงลีลาการกระโดดขึ้นฟาดหน้าเน็ตที่ดูแล้วสวยงาม เร้าใจ แต่อีกหนึ่งสิ่งที่น่าสนใจไม่แพ้กันและถือเป็นอีกหนึ่งเสน่ห์ของกีฬาชนิดนี้ ก็ต้องยกให้ “ลูกเสิร์ฟ” ซึ่งปัจจุบันหลาย ๆ คนก็คงได้เห็นการเสิร์ฟด้วยหลังเท้าที่หนักหน่วงที่สร้างชื่อมาจาก “โจ้” สืบศักดิ์ ผันสืบ ในยุคก่อน จนมาถึงปัจจุบันที่ต้องยกให้ “ยาวปืนใหญ่’ สิทธิพงศ์ คำจันทร์ ที่ยกเท้าเสิร์ฟแต่ละทีมีคะแนนให้ได้ลุ้นกันตลอด วันนี้เราจะพาทุกท่านไปดูกันว่า “การเสิร์ฟตะกร้อ” นอกจากหลังเท้าแล้ว มีอะไรอีกบ้าง

 

ลูกเสิร์ฟข้างเท้า - (แม่นยำ - ลูกหมุนรับยาก!)

 

ในยุคก่อนที่จะมีการคิดค้นการเสิร์ฟลูกหลังเท้า ตัวเสิร์ฟทุกคนจะใช้ข้างเท้าในการเสิร์ฟเป็นส่วนใหญ่ และถือว่าเป็นการเสิร์ฟที่มีความหลากหลาย อาจจะไม่ได้หนักหน่วงมากนัก แต่การเสิร์ฟด้วยข้างเท้า ถือว่าเป็นอาวุธเด็ดในการใช้ความแม่นยำจู่โจมจุดอ่อนคู่แข่งได้ดี ซึ่งตัวเสิร์ฟที่ใช้ข้างเท้าเสิร์ฟนั้น หากสามารถฉีกขาได้มาก ๆ ก็สามารถเสิร์ฟได้หนักหน่วงไม่แพ้ลูกหลังเท้า แต่สิ่งสำคัญที่สุดที่นักตะกร้อหลายคนต่างไม่อยากเจอลูกเสิร์ฟข้างเท้า นั้นคือลูกเสิร์ฟที่ทั้งพุ่งตรง รวมถึงความปั่นของลูกตะกร้อ ก็เป็นสิ่งที่รับยากด้วยเช่นกัน

 

 

 

 

ตัวเสิร์ฟที่ใช้ลูกข้างเท้าในยุคปัจจุบัน ถือว่าหายากแล้ว เนื่องจากเด็กยุคใหม่ๆ หันไปฝึกเสิร์ฟลูกด้วยหลังเท้ากันหมด หากยุคก่อนคนที่เสิร์ฟด้วยข้างเท้าจนเป็นอาวุธเด็ด ก็ต้องไล่มาตั้งแต่ ภักดี แดงวัฒนไพบูลย์ , สมพร แสนยบุตร , กำพล ทัศสิทธิ์ , สกล จันทร์ดวง ซึ่งเป็นอดีตทีมชาติไทย ส่วนปัจจุบันที่ยังโลดแล่นบนเวทีตะกร้ออาชีพ เหลือเพียงหนึ่งเดียว คือ วีรวุฒิ รักเสมอวงษ์ 

 

ลูกเสิร์ฟหลังเท้า - (หนักหน่วง - รวดเร็ว - รุนแรง!)

 

หากพูดถึงลูกเสิร์ฟหลังเท้า หลายๆคนคงจะนึกถึง “โจ้” สืบศักดิ์ ผันสืบ จอมเสิร์ฟหลังเท้าหน้าหยกที่ใช้ลูกเสิร์ฟหลังเท้าปราบคู่แข่งพาทีมตะกร้อกวาดแชมป์มาทุกสนามแข่งขัน แต่แท้จริงแล้ว “ต้นฉบับ” การเสิร์ฟหลังเท้าเริ่มต้นมาจาก “จ่อย” กิตติภูมิ นามสุข อดีตนักตะกร้อทีมชาติไทย ที่พลิกโฉมการเสิร์ฟตะกร้อไปตลอดกาล 

 

โดยจุดเริ่มต้นการเสิร์ฟหลังเท้าคนแรกของโลก เกิดขึ้นในปี พ.ศ.2538 โดย กิตติภูมิ นามสุข คนที่สามารถเสิร์ฟหลังเท้าได้เป็นคนแรกของโลก และเอามาใช้เป็นอาวุธเด็ดให้กับทีมตะกร้อไทย ใช้ปราบคู่แข่งตลอดกาลอย่าง "เสือเหลือง" มาเลเซีย ได้อย่างราบคาบ ทั้งในคิงส์ คัพ และ ซีเกมส์ ครั้งที่ 19 ที่ กรุงจากาตาร์ ประเทศอินโดนีเซีย ในปี 2540 อีกครั้งที่ตะกร้อไทยคว้าแชมป์ทั้งทีมเดี่ยวกับทีมชุด

 

กิตติภูมิ นามสุข

 

หลังจากนั้นก็ส่งต่อมาถึงยุคของ “โจ้” สืบศักดิ์ ผันสืบ ที่เพิ่มเติมมาด้วยความแม่นยำและเฉียบขาด เนื่องจากสรีระของ สืบศักดิ์ ที่ตัวสูงและมีความยืดหยุ่นของร่างกายที่ดี ทำให้ลูกเสิร์ฟหลังเท้าของ สืบศักดิ์ มีทั้งความหนักหน่วง และเมื่อคู่ต่อสู้เริ่มจับทางลูกหนักได้ ก็จะเจอการเปลี่ยนจังหวะเสิร์ฟด้วยหลังเท้าแต่ใช้การเสิร์ฟแบบ “ครึ่งใบ” คือ ไม่ได้เน้นหนัก แต่เสิร์ฟเพื่อให้ลูกโค้งลงแถวหน้าตาข่าย ซึ่งคล้ายกับการปั่นหยอด แต่คู่ต่อสู้รับยาก เพราะลูกโค้งลงเร็วกว่าปกติ

 

 

 

ในขณะที่ยุคปัจจุบัน ด้วยความก้าวหน้าและหลากหลายตำราที่นำลูกเสิร์ฟหลังเท้าไปดัดแปลงเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพ ในยุคนี้ ตัวเสิร์ฟหลังเท้าที่ขึ้นชื่อว่าเป็นเบอร์ 1 คงต้องยกให้ “ยาว ปืนใหญ่” สิทธิพงศ์ คำจันทร์ ที่มีส่วนสูงถึง 191 เซนติเมตร และสามารถฉีกขาได้ 180 องศา ทำให้การเสิร์ฟหลังเท้าของเจ้าตัว มีความหนักหน่วงที่หากได้เสิร์ฟแบบเข้าข้อ ก็แทบจะเป็นไปไม่ได้เลยที่คู่แข่งจะสามารถรับได้ ซึ่งในปัจจุบันกลายเป็น “ไอดอล” ของนักตะกร้อเยาวชนของไทย รวมไปถึงต่างประเทศอีกด้วย

 

 

 

นอกจากการเสิร์ฟด้วยลูกหลังเท้าและข้างเท้าที่ถือเป็นท่ามาตรฐานแล้ว ในกีฬาตะกร้อยังมีการเสิร์ฟด้วยฝ่าเท้า แต่อาจจะไม่ได้รับความนิยมเนื่องจากไม่ได้มีความหนักหน่วงมากนัก แต่ก็ถือเป็นท่าที่ตัวเสิร์ฟควรมีไว้ติดตัว เพราะในบางสถานการณ์ก็ถือเป็นทางเลือกที่ดี 

 

ขณะที่แปลกที่สุดเท่าที่เคยมีมาคงต้องยกให้การเสิร์ฟด้วยหลังเท้าด้านนอก คล้ายๆการเตะซันแบ็ค โดยการเสิร์ฟต้องหันหลังให้กับตาข่าย ซึ่งถือว่ายากและขาดความแม่นยำ (แต่ถ้าจะขำๆก็พอได้)

 

 

 

ในกีฬาตะกร้อ หากมีตัวเสิร์ฟดี คุณก็มีโอกาสชนะไปแล้วครึ่งหนึ่ง เพราะเป็นการได้แต้มที่ยิงทำได้เท่าไหร่ ก็ยิ่งจะฉีกหนีคู่แข่งมากเท่านั้น แล้วเสิร์ฟแบบไหนล่ะ? ถึงจะมีโอกาสทำแต้มได้สูง เรามีสรุปให้คร่าว ๆ ดังนี้

 

ลูกซ้ายสุด-ขวาสุด

 

ตามตำราการเสิร์ฟ ยิ่งคุณเสิร์ฟไปพื้นที่ว่างมากเท่าไหร่ คุณยิ่งมีโอกาสได้แต้มมากเท่านั้น ลักษณะการเสิร์ฟแบบนี้ก็ถือว่าเสี่ยงพอสมควร เพราะเป็นการเสิร์ฟไปยังเส้นข้างสนาม ซึ่งเป็นพื้นที่ที่ผู้เล่นต้องขยับไปเอา และส่วนใหญ่จะเป็นพื้นที่ที่เป็นเท้าไม่ถนัดของผู้เล่นฝั่งตรงข้ามอีกด้วย (อาทิ ตัวชงที่ยืนหน้าซ้าย ส่วนใหญ่จะถนัดขวา หากเสิร์ฟซ้ายสุด ลูกตะกร้อจะไปทางเท้าซ้ายข้างไม่ถนัด)

 

ลูกปั่นหยอด

 

คิดอะไรไม่ออกบอกลูกหยอด! ทฤษฐีเหมือนกับ ลูกซ้ายสุด-ขวาสุด แต่เปลี่ยนมาเล่นงานพื้นที่ว่างด้านหน้า การเสิร์ฟลักษะนี้ต้องอาศัยการฝึกฝนจนชำนาญ เพราะต้องใช้ฝ่าเท้าปั่นลูกตะกร้อให้หมุนมากที่สุด ยิ่งหมุนมากเท่าไหร่ ลูกก็ยิ่งมุดลงเร็วมากขึ้น จนทำให้คู่ต่อสู้มารับไม่ทัน อย่างไรก็ตามหากเลือกใช้การปั่นหยอด แต่ไม่ชำนาญ ลูกก็เดินทางไปไกลมากขึ้น และทำให้คู่แข่งรับได้อย่างง่ายดาย

 

ลูกคล้อง

 

ถือเป็นอาวุธเด็ดของตัวเสิร์ฟสมัยใหม่ที่เสิร์ฟลูกด้วยหลังเท้า แทนที่จะเสิร์ฟหนักๆไปหาคู่แข่ง ก็เปลี่ยนมาเป็นการยกขาเสิร์ฟคล้ายๆกับการเสิร์ฟหลังเท้า แต่จังหวะที่เท้ากระแทกลูกจากที่ต้องเสิร์ฟแบบกระแทก ก็เปลี่ยนมาเป็นเสิร์ฟแบบเฉือนๆ ซึ่งลักษณะของลูกเสิร์ฟคล้อง ลูกจะโค้งข้ามตาข่ายก่อนจะตกลงพื้นที่ว่างด้านหน้าอย่างรวดเร็ว และถือเป็นทีเด็ดหนึ่งที่ตัวเสิร์ฟยุคนี้ใช้กัน ส่วนคนที่ใช้จนเป็นอาวุธเด็ดเลย คือ “สาวน้อยมหัศจรรย์” ปริมประภา แก้วคำไสย์ ที่ใช้จนปราบนักตะกร้อทีมชาติไทยมาอย่างราบคาบ

 

 


stadium

author

ศิรกานต์ ผาเจริญ

StadiumTH Content Creator // ผู้ก่อตั้งเพจสนามตะกร้อ

โฆษณา