stadium

เรื่องเล่า 4 ยุค ทีม 4x100 ไทย ทวงบัลลังก์เอเชียนเกมส์ ที่หางโจว

3 สิงหาคม 2566

นับตั้งแต่เอเชียนเกมส์ ปี 1970 คู่แข่งสำคัญตลอดกาลของทีมผลัด 4x100 เมตร ชายไทยก็คือทัพลมกรดทีมชาติญี่ปุ่น และจีน สลับกันขึ้นเป็นที่ 1 มาตลอดเวลากว่า 50 ปี จากเอเชียนเกมส์กรุงเทพมหานคร ปี 1970 สู่เอเชียนเกมส์หางโจว ปี 2023 ...นี่คือเรื่องราว ตำนานและเส้นทางของทีมไต้ฝุ่นไทย ณ ช่วงเวลาที่ถือว่าพีคที่สุดอีกครั้งของทัพกรีฑาไทย  

 

อาณัติ รัตนพล

 

"พลตรี อาณัติ" ผู้บุกเบิกทีม 4x100 ชายไทยในเอเชียนเกมส์

 

ย้อนกลับไปเมื่อปี 1970 เอเชียนเกมส์ในความทรงจำของคนไทยรุ่น 80 ก็คือการแข่งขันที่กรุงเทพมหานคร ประเทศไทย นับเป็นปีที่สร้างชื่อให้กับทีมผลัด 4x100 เมตรชายไทยมากที่สุด สร้างชื่อให้กับ พลตรี อาณัติ รัตนพล ที่นำทีม 4x100 เมตรชายไทย ผงาดขึ้นเป็นที่ 1 แห่งเอเชีย กลายเป็นเหรียญทองแรกของทัพกรีฑาไทยในเอเชียนเกมส์

 

โดยในตอนนั้น ทีมผลัด 4x100 ชายไทย ประกอบด้วย พลตรี อาณัติ, พนัส อริยะมงคล, กนกศักดิ์ เจตสานนท์ และสมศักดิ์ ทองสุข ...หลังจากนั้นเป็นต้นมา ถือเป็นช่วงเวลาทองของพลตรี อาณัติ ด้วยการบันทึกประวัติศาสตร์ได้ผ่านเข้าร่วมโอลิมปิก ในปี 1972 แม้สุดท้ายจะบาดเจ็บไม่ได้ลงแข่งก็ตาม

 

ในการแข่งขันเอเชียนเกมส์ ปี 1974 ที่อิหร่าน พลตรี อาณัติ ยังนำทัพไต้ฝุ่นไทยคว้าเหรียญทอง ย้ำแค้นทีมชาติญี่ปุ่นได้อีกครั้ง นับเป็นชัยชนะเหนือทัพซามูไร 2 ครั้งติดต่อกันที่สง่างามของทีมไต้ฝุ่นชายไทย

 

ถัดมาในปี 1976 พลตรี อาณัติ นำทีม 4X100 เมตรชายไทย สร้างตำนานด้วยการได้ร่วมแข่งโอลิมปิก ที่แคนาดา โดยผ่านไปได้ถึงรอบคัดเลือก ซึ่งการคืนสังเวียนโอลิมปิกครั้งนี้ พลตรี อาณัติ ได้แข่งเดี่ยวระยะ 100 เมตร และกลายเป็นนักวิ่งจากเอเชียเพียงคนเดียวที่ได้ผ่านรอบแรก เพราะสุชาติ แจสุรภาพ ที่ไปด้วยกันทำเวลาได้ไม่ดีพอ

 

กระทั่งปี 1978 เอเชียนเกมส์กลับมาจัดที่กรุงเทพฯ อีกครั้ง พลตรี อาณัติ และสุชาติ กอดคอกันนำทีม 4X100 ชายไทย เฉือนทีมชาติญี่ปุ่น 0.01 วินาที คว้าทองสมัยที่ 3 เป็นเอเชียนเกมส์ครั้งสุดท้ายของพลตรี อาณัติ และแจ้งเกิดสุชาติอย่างเต็มตัว

 

4 ปีต่อมา ทีมชาติไทย เดินทางไปอินเดีย เพื่อป้องกันแชมป์ 4x100 เมตรเอเชียนเกมส์สมัยที่ 4 แต่ก็ต้องพลาดท่าให้ทีมชาติจีน ได้เพียงเหรียญเงินเท่านั้น

 

ทีมผลัด 4x100 ม. เหรียญทองเอเชียนเกมส์ 2002 (จากซ้ายไปขวา) สิทธิชัย สุวรประทีป, เอกชัย จันทะนะ, วิษณุ โสภานิช, เหรียญชัย สีหะวงษ์ 

 

สู่ยุครุ่งเรืองของ "เหรียญชัย สีหะวงษ์"

 

เมื่อสิ้นสุดยุคทองของพลตรี อาณัติ และสุชาติ ได้เปลี่ยนสู่ยุคของสุเมธ พรหมณะ แต่ไทยยังไม่สามารถทวงเจ้าเหรียญทองกลับมาได้ โดยเอเชียนเกมส์ปี 1982-1986-1990 จีนครองแชมป์ 3 สมัยรวด และปี 1994 เป็นญี่ปุ่น โดยไต้ฝุ่นไทยไม่ได้เหรียญเอเชียนเกมส์ตลอดช่วงเวลา 12 ปี

 

กระทั่งปรากฏชื่อ "เหรียญชัย สีหะวงษ์" ขวัญใจแฟนกรีฑาไทยยุค 90 เขาสามารถสร้างสถิติประเทศไทยได้ และพาทีม 4x100 ชายไทยกลับมามีเหรียญคล้องคออีกครั้ง ใน เอเชียนเกมส์ที่กรุงเทพ ปี 1998 เหรียญชัย วิษณุ โสภานิช เอกชัย จันทะนะ และสิทธิชัย สุวรประทีป คว้าเหรียญเงินมาได้ ส่วนแชมป์คือทีมชาติญี่ปุ่นที่ทำได้เป็นสมัยที่ 2 ติดต่อกัน  

 

จนกระทั่งปี 2002 ที่ปูซาน เหรียญชัยที่เผชิญปัญหารอบด้านก็กลับมานำเพื่อนร่วมทีมผงาดทวงบัลลังก์แห่งเอเชียได้สำเร็จ เป็นเหรียญทองเอเชียนเกมส์เหรียญแรกและเหรียญเดียวของเหรียญชัย  

 

แต่ปลุกไฟให้กับนักวิ่งรุ่นต่อมา คือ ทีมของ เสกสรร วงศ์สละ, วัชระ สอนดี, เอกชัย จันทะนะ และสิทธิชัย สุวรประทีป ทำเวลาได้ 39.21 วินาทีเท่ากับนักวิ่งจากแดนอาทิตย์อุทัย แต่ตัดสินด้วยภาพถ่าย ที่สิทธิชัยใช้อกแตะเส้นชัยได้ก่อนไม้สุดท้ายของญี่ปุ่น ทำให้ไทยคว้าเหรียญทองได้ในเอเชียนเกมส์ ปี 2006 ที่กรุงโดฮา ประเทศกาตาร์ กลับมาย้ำแค้นทีมซามูไร ขึ้นเป็นแชมป์แห่งเอเชีย 2 สมัยได้อีกครั้ง

 

 

การผลัดเปลี่ยนในยุค "มิ้ว จิระพงษ์"

 

ทีม 4x100 ทีมชาติไทยถึงยุคผลัดเปลี่ยนอีกครั้ง เมื่อ "มิ้ว" จิระพงษ์ มีนาพระ ปรากฏตัว โดยเอเชียนเกมส์ครั้งแรกของมิ้วคือเอเชียนเกมส์ กว่างโจว 2010 ร่วมทีมกับ ทวีศักดิ์ พุลทอง, พูมมนัส จันทร์เข็ม, วัชระ สอนดี ได้เหรียญทองแดง แพ้จีน และไต้หวัน

 

ส่วนอินชอน 2014 มิ้ว นำทีมใหม่ ที่ประกอบด้วยรัตนพล โสวัน, อภิสิทธิ์ พรมแก้ว และ ณัฐพงศ์ วีระวงศ์รัตนศิริ ทำผลงานได้เป็นอันดับ 4 โดยมีคู่แข่งใหม่อย่างฮ่องกงเบียดขึ้นมาแทรก และเป็นการขึ้นแท่นแชมป์ 4x100 ชาย 2 สมัยซ้อนของทัพมังกรทีมชาติจีน

 

ถัดมาเข้าสู่ยุคของ กฤษฎา นามสุวรรณ์, บัณฑิต ช่วงไชย, ศิริพล พันธ์แพ และ จรัญ สะเทิงรัมย์ ทำผลงานดีที่สุดไว้ที่อันดับ 6 ในเอเชียนเกมส์ที่อินโดนีเซีย ปี 2018

 

เข้าสู่ช่วงเวลาที่โลกซบเซาจากการระบาดของโควิด-19 โลกแห่งกีฬาเหลือแต่ความเงียบเหงา เพราะนอกจากจะไร้การแข่งขัน ก็ยังฝึกซ้อมร่วมกันไม่ได้ ปี 2019-2020 ได้กลายเป็นช่วงเวลาที่มืดมนที่สุดของโลกใบนี้

 

มหกรรมกีฬาทุกอย่างถูกเลื่อน ส่วนโอลิมปิกที่โตเกียวยังแข่งขันต่อแบบปิด ไร้ผู้ชม ส่วนเอเชียนเกมส์ก็ถูกเลื่อนอย่างไม่มีกำหนด ทีมผลัด 4x100 เมตรชายไทยยังคงเหลือ ชยุตม์ และบัณฑิต ที่ยังเก็บตัวต่อ รอวันแจ้งเกิดอีกครั้ง

 

 

การปรากฏตัวของ "บิว ภูริพล"

 

และประวัติศาสตร์ครั้งใหม่ก็เกิดขึ้นผ่านการแจ้งเกิดอย่างยิ่งใหญ่ของ บิว ภูริพล บุญสอน ในปี 2021 กับผลงาน 3 เหรียญทองซีเกมส์ และสถิติใหม่ประเทศไทยทั้งประเภทเดี่ยวและทีม

 

ทีมผลัดเลือดผสมที่มี "บิว", ต้า สรอรรถ ดาบบัง, ก๊วย ชยุมต์ และใบพัน ศิริพล พันธุ์แพ ได้กลายเป็นทีมผลัดที่ดีที่สุดของประเทศไทย แม้จะต้องผิดหวังในซีเกมส์ 2023 ที่พนมเปญ แต่ก็กลับมาผงาดอีกครั้งที่กรีฑาชิงแชมป์เอเชีย 2023 ที่ประเทศไทย โดยมีตัวเติมเต็มคนใหม่คือ "ไฟท์เตอร์ ณธวรรธ เอี่ยมอุดม" เข้ามาเสริมทีม

 

“แฝดใหญ่” พล.ต.ต.สุรพงษ์ อาริยะมงคล อุปนายกและเลขาธิการสมาคมกีฬากรีฑาแห่งประเทศไทยฯ กล่าวว่า บิว และไฟท์เตอร์ รวมถึงนักกีฬาระดับเยาวชนไทยมีพัฒนาการที่ดีขึ้น เห็นได้ชัดจากชิงแชมป์เอเชีย และทั้ง 4 คน จะกลับมาฝึกซ้อมต่อเนื่องเพื่อเตรียมลุยศึกเอเชียนเกมส์ ที่ประเทศจีนในเดือนกันยายน  

 

พล.ต.ต.สุรพงษ์ บอกว่า ทีมชายทีมนี้จะต้องไปลุ้นเหรียญรางวัลศึกเอเชียนเกมส์กับทีมผลัด จีนและญี่ปุ่น ที่เป็นคู่แข่งกันมาตลอดหลายสิบปี

 

การปรากฏตัวของบิว ภูริพล และผลงานของทีมผลัด 4x100 ชุดปัจจุบันในชิงแชมป์เอเชีย จุดประกายความฝันที่ไทยจะกลับมาทวงแชมป์ในเอเชียนเกมส์อีกครั้ง ในการกลับไปลงสนามที่ประเทศจีน ณ เมืองหางโจว


stadium

author

ทีมงานเพจนักวิ่งมีหนวด

เพจเรื่องวิ่งที่แอดมินมีหนวด ทำข่าววิ่ง ชอบป้ายยา ขิงรองเท้าเสื้อผ้าวิ่ง