stadium

โอกาสของ "ไฟท์เตอร์" ณฐวรรธ ผลัดไม้หนึ่ง 4x100 ชุดแชมป์เอเชีย

24 กรกฎาคม 2566

"โอกาสจะมาถึง เมื่อเวลาเหมาะสม"...เป็นคำพูดของพ่อและแม่ของไฟท์เตอร์ จ่าอากาศตรีณฐวรรธ เอี่ยมอุดม ที่บอกกับลูกชายในวันที่เริ่มท้อบนเส้นทางการเป็นนักวิ่งทีมชาติไทย และในวันนี้ โอกาสนำความสำเร็จมาถึงไฟท์เตอร์แล้ว ณ สนามศุภชลาศัย ในการแข่งขันวิ่ง 4x100 เมตรชาย ทีมที่บันทึกประวัติศาสตร์ให้กับวงการกรีฑาไทยอีกครั้ง  

 

ตำนานบทใหม่ ถูกบันทึกไว้โดยไฟท์เตอร์, ต้า สรอรรถ ดาบบัง, ก๊วย (ไอซ์) ชยุตม์ คงประสิทธิ์ และบิว ภูริพล บุญสอน บันทึกสถิติใหม่ประเทศไทย ที่เวลา 38.55 วินาที และเป็นการเปิดตัว "ไฟท์เตอร์" แบบเป็นทางการอย่างยิ่งใหญ่...และนี่คือเรื่องราวของเด็กชายจากจังหวัดน่าน ผู้ได้กลายเป็นหนึ่งในฮีโร่ของคนไทย

 

 

สรอรรถ ดาบบัง : แรงผลักดันของอดีตเด็กเกเรที่ต้องวิ่งเพื่ออนาคต

เปิดเส้นทาง ภูริพล บุญสอน ยอดนักวิ่งวัย 16 ปี เพชรเม็ดงามของกรีฑาไทย

ชยุตม์ คงประสิทธิ์ ทายาทไม้ 3 แห่งทีมผลัด 4x100 ม.ไทย

 

เด็กที่ไม่เคยชอบการวิ่ง

 

ไฟท์เตอร์ เกิดที่จังหวัดน่าน ในครอบครัวนักกีฬา พ่อเป็นนักฟุตบอล แม่เป็นนักวิ่ง ไฟท์เล่าว่าเขาเคยวิ่งตั้งแต่อนุบาล แต่ไม่ได้ชอบในกีฬานี้ ในตอนเด็กจึงมุ่งไปทางฟุตบอลจนได้เป็นนักฟุตบอลของจังหวัด แต่พรสรรค์เปรียบเสมือนเพชร แม้จะถูกซ่อนไว้ก็จะมีผู้มองเห็น

 

"ผมเริ่มแข่งวิ่งตั้งแต่อนุบาล เป็นกีฬาอนุบาลของจังหวัดน่าน ผมไม่ได้ชอบวิ่ง แต่ชอบฟุตบอล เล่นบอลมาตั้งแต่ประถม ในตอนนั้นผมเป็นริมเส้นซ้าย เป็นปีก เป็นตำแหน่งที่ต้องวิ่งเร็วอยู่แล้ว ครูก็มาเห็นเลยชวนไปลองวิ่ง ตอนนั้นผมก็ไป แต่ก็ไปเตะบอลอยู่ด้วย"

 

ครูถวัล ไชยยงค์ ครูชมรมกรีฑาโรงเรียนศรีสวัสดิ์วิทยาคาร จังหวัดน่าน อดีตนักวิ่งระยะกลาง คือผู้ที่มองเห็นแววของไฟท์เตอร์ และชักชวนให้เข้ามาวิ่งจริงจัง หลังเริ่มซ้อมกับครูถวัลได้ไม่นานไฟท์เตอร์ก็ได้ลงแข่งครั้งแรก และไปถึงระดับประเทศ  

 

"พอไปวิ่งก็ผลงานดีระดับประเทศ เป็นงาน Sport Hero แข่งที่มหาลัยบูรพา ชลบุรี ชนะ 100 เมตร รุ่นอายุไม่เกิน 15 ปี ดีใจที่ชนะ ตอนนั้นคนพูดว่า คนนี้ใคร? ไม่เคยเห็น ไม่รู้จัก เพราะไม่เคยแข่งมาก่อน แต่ก็ยังไม่ชอบวิ่งอยู่ดีนะ (หัวเราะ)"

 

 

จุดเปลี่ยนสู่แคมป์ทีมชาติ

 

เมื่อถึงช่วงที่ต้องตัดสินใจเรื่องการเรียนต่อระดับมหาวิทยาลัย ไฟท์เตอร์มีความคิดที่อยากยื่นผลงานเพื่อใช้เป็นโควตาเรียนต่อ ในตอนนั้นเขาคิดว่า การเล่นฟุตบอลแม้จะเป็นตัวแทนจังหวัด แต่ยังไม่พอที่จะใช้ยื่นได้ จึงหันไปวิ่งให้มากขึ้น เพราะเชื่อว่ามีโอกาสมากกว่า

 

ในช่วงของความพยายามนั้น ไฟท์เตอร์ที่มีพรสวรรค์อยู่แล้ว และมีครูที่เป็นนักวิ่งคอยดูแล ทำให้สิ่งที่ไฟท์เตอร์ได้รับเป็นมากกว่าผลงานทั่วไป "ตอน ม.5 เทอมสอง สมาคมเปิดคัด 100 เมตร ก็ไปแข่ง แล้วก็ชนะที่ 1 เลย ได้เข้ามาในสมาคม พอเข้ามาก็ได้แข่งชิงแชมป์ประเทศไทย ได้ที่ 1 รุ่นเยาวชน พอขึ้น ม.6 ก็เลยมาวิ่งอย่างเดียว"

 

ความสำเร็จในตอนนั้นสะท้อนชัดเจนว่าไฟท์เตอร์เลือกทางเดินได้ถูกต้องแล้ว ซึ่งครอบครัวทั้งพ่อและแม่ที่เป็นนักกีฬาก็สนับสนุนลูกชายอย่างเต็มที่ "ตอนแรกพ่อก็อยากให้เล่นบอล แต่แม่สนับสนุนให้วิ่ง แต่พอเราคัดติด พ่อก็เห็นด้วย ซึ่งที่บ้านไม่บังคับอยู่แล้ว"

 

และในที่สุดไฟท์เตอร์ก็ได้เข้าเรียน ในคณะสหเวชศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ขณะนี้อยู่ชั้นปีที่ 3 แล้ว ทั้งหมดเกิดควบคู่ไปกับการเก็บตัว เพื่อเป้าหมายในฐานะนักวิ่งทีมชาติไทย

 

 

รอคอยวันที่โอกาสมาถึง

 

แม้จะเป็นที่หนึ่งและประสบความสำเร็จมาตลอดตั้งแต่เข้าสู่วงการวิ่ง แต่เมื่อเดือนมกราคม 2566 ที่ผ่านมา ช่วงการแข่งขันกีฬามหาวิทยาลัยแห่งประเทศไทย ไฟท์เตอร์ก็เจอปัญหาภาวะหมดไฟในการวิ่ง ทำผลงานไม่ได้ตามเป้าหมาย และหลังจากนั้นก็มีอาการบาดเจ็บ

 

"กีฬามหาลัยที่อุดร รู้สึกหมดไฟเลย วิ่งไม่ได้ คัดซีเกมส์ (พนมเปญ 2566) ก็เจ็บ เลยดาวน์ไป ตอนแรกผมคิดกับตัวเองว่ายังไงดี แล้วไปปรึกษารุ่นพี่กับอาจารย์ เขาก็ให้กำลังใจ บอกว่า อายุยังน้อย ยังพัฒนาได้ ให้สู่ต่อไป"  

 

เป็นช่วงเวลายาวนาน 3 เดือนที่ไฟท์เผชิญปัญหานี้ ซึ่งเป็นภาวะที่นักกีฬาที่มีความกดดันสูงจะต้องเจอกันทุกคน แต่คำพูดสำคัญที่สร้างกำลังใจให้เขามากที่สุด ก็คือ พ่อและแม่ "ตอนคัดซีเกมส์ไม่ผ่าน พ่อกับแม่ก็ให้กำลังใจ บอกว่าเดี๋ยวโอกาสก็มาถึงเราเอง"

 

เมื่อใจยังมุ่งมั่น และมีกำลังใจจากคนรอบข้าง ไฟท์ไปรักษาอาการบาดเจ็บจนดีขึ้น ในช่วงที่เพื่อนๆ ไปซีเกมส์ที่พนมเปญ เขาก็ซุ่มซ้อมเก็บตัวอยู่ที่สนามกีฬามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ รอวันที่โอกาสจะมาถึงอีกครั้ง

 

 

ผลตอบแทนของความตั้งใจ

 

หลังจบการแข่งขันซีเกมส์ที่พนมเปญ แมตช์แข่งสำคัญกำลังรอให้ไฟท์เตอร์พิสูจน์ตัวเอง ด้วยความตั้งใจและการเตรียมพร้อม เมื่อถึงวันคัดเลือกนักวิ่ง 100 เมตร เพื่อประกอบเป็นทีมผลัด 4 คูณ 100 เมตร ไฟท์ก็ลงคัดทั้งทางตรงและทางโค้ง

 

"ทางโค้งผมเข้าที่ 1 ลุงเล็ก (พล.ต.ต.ศุภวณัฎฐ์ อาริยะมงคล ผู้ฝึกสอนสมาคมกรีฑาแห่งประเทศไทย) ก็เลยวางตัวให้ผมเป็นไม้ 1 ตอนนั้นคิดว่า ผมต้องแสดงให้ทุกคนเห็น ต้องพิสูจน์ตัวเองจากโอกาสที่ได้รับ ผมไม่ได้กดดัน เพราะอยากแข่งอยู่แล้ว"

 

ก่อนหน้าแมตช์นี้ไฟท์เตอร์เคยอยู่ในทีมชาติชุดแข่งไต้หวันโอเพ่น 2566 มาแล้ว ตอนนั้นทำผลงานได้ดี เข้ารอบรองชนะเลิศ 100 เมตร และเคยติดทีมชาติเป็นตัวสำรองในซีเกมส์ที่ฮานอยเมื่อปี 2565 ครั้งนี้จึงเป็นการเปิดตัวในฐานะทีมชาติที่ใหญ่ที่สุดของเขา และเกิดขึ้นในสนามชิงแชมป์เอเชียครั้งสำคัญที่ไทยเป็นเจ้าภาพ

 

คืนวันที่ 12 กรกฎาคม 2566 ณ สนามกีฬาแห่งชาติศุภชลาศัย ไฟท์เตอร์ จ่าอากาศตรีณฐวรรธ เอี่ยมอุดม ลงสนามมาด้วยความมั่นใจ พร้อมกับเพื่อนร่วมทีม ต้า ก๊วย และบิว ความลงตัวของทีมผลัด 4 คูณ 100 เมตรไทยชุดนี้ ทำให้ประวัติศาสตร์ใหม่ได้รับการบันทึก  

 

ผลงานเหรียญทองประวัติศาสตร์ และสถิติใหม่ประเทศไทย 38.55 วินาที และยังเป็นสถิติที่ดีที่สุดของการแข่งขัน "คลายความกดดันทุกอย่าง คนที่ไม่รู้จักผม เขาก็รู้แล้วว่าผมเป็นใคร การทำลายสถิติได้ก็ดีใจมาก ผมมาไกลมาก มากกว่าที่คิดไว้ พ่อแม่ทุกคนรอบตัวก็ดีใจมาก ผมเองก็มีแพสชั่นในการวิ่งมากขึ้น"

 

 

ต่อสายถึงครูและโค้ชคนแรก

 

ผลงานครั้งนี้เป็นสิ่งที่ไฟท์เตอร์ภูมิใจมาก และผู้อยู่เบื้องหลังที่ภูมิใจมากที่สุดก็คือ ครูถวัล ครูและโค้ชที่ผลักดันให้ไฟท์เข้าสู่วงการวิ่งจนมีวันนี้ ไฟท์เตอร์เล่าว่า ไม่ได้ติดต่อกับครูมานานมากแล้ว แต่หลังแข่งชนะครั้งนี้ เขาก็โทรไปหาครูถวัลอีกครั้ง

 

"ครูบอกว่า เขาก็ติดตามผมอยู่ตลอด ติดตามผลงาน เราติดต่อกันน้อยลงเพราะครูเกษียณไปแล้ว ผมโทรไปบอกครูว่าได้เหรียญแล้ว ครูรู้เรื่องแล้ว เขาดีใจที่เรามาถูกทาง ตามที่เขาชวน"

 

"ในวันนั้นตอนที่คุยกันผมยังไม่ได้บอกอะไรครู แต่วันนี้อยากบอกว่า ขอบคุณที่ครูมองเห็นสิ่งที่มีในตัวผม ฝึกซ้อมให้ จนผมมีวันนี้"

 

 

ความฝันสู่ระดับโลก

 

การแข่งขันต่อไปที่รอไฟท์เตอร์อยู่ก็คือกีฬามหาวิทยาลัยโลกที่ประเทศจีน ซึ่งจะเดินทางกันปลายเดือนนี้ ไฟท์จะลงแข่งทีม 4 คูณ 100 เมตร ร่วมกับ ต้า ก๊วย และโอ๊ต ธวัชชัย หีมเอียด "สำหรับคนไทยทุกคนที่เชียร์ อยากขอบคุณ และฝากติดตามผลงานของผมและทีมไปเรื่อยๆ ผมจะตั้งใจทำสถิติและทำผลงานให้ดีขึ้น"

 

"อยากได้เหรียญทองเอเชียนเกมส์ อยากทำเวลาผ่านได้ไปแข่งโอลิมปิก และชิงแชมป์โลก" ไฟท์เตอร์เล่าถึงเป้าหมายของเขา

 

ในวันนี้กรีฑาและการวิ่งไทยได้รับความสนใจอย่างล้นหลาม ในวันที่ไฟท์เตอร์แจ้งเกิดอย่างเต็มตัว ณ วันที่วงการวิ่งไทยพัฒนาไปอีกขั้น แม้เป้าหมายจะเป็นกำแพงสูง แต่ผลงานการพัฒนาที่ประจักษ์ จากเวทีอาเซียน สู่เอเชีย ทำให้ฝันในเวทีโลกที่อาจไม่ใช่แค่ฝันอีกต่อไป


stadium

author

ทีมงานเพจนักวิ่งมีหนวด

เพจเรื่องวิ่งที่แอดมินมีหนวด ทำข่าววิ่ง ชอบป้ายยา ขิงรองเท้าเสื้อผ้าวิ่ง