stadium

5 ตำนานนักวิ่งแห่งกีฬาโอลิมปิก

9 มีนาคม 2564

 

ยอดมนุษย์สายฟ้า “ยูเซน โบลต์”

 

คงไม่เกินไปนักหากเราจะเรียกเขาว่า “นักวิ่งผู้ยิ่งใหญ่ที่สุดตลอดกาล”

 

ความจริงแล้วตำนานชาวจาเมกาได้สัมผัส โอลิมปิก เกมส์ ตั้งแต่มีอายุเพียง 17 ปี ใน เอเธนส์ เกมส์ ปี 2004 แต่ด้วยอาการบาดเจ็บทำให้ตกรอบแรกในการวิ่ง 200 เมตร ด้วยสถิติอันน่าผิดหวังคือ 21.05 วินาที อย่างไรก็ตาม 4 ปีต่อมาที่กรุงปักกิ่ง โบลต์ก็กลับมาแก้ตัวได้อย่างยิ่งใหญ่ พร้อมกับทำให้โลกได้รู้จักเขาในนาม  “ยอดมนุษย์สายฟ้า”

 

โบลต์ได้รับรางวัลเหรียญทองในครั้งนั้นจากการวิ่ง 100 เมตร และทำสถิติโลกใหม่(ของโอลิมปิกในครั้งนั้น) ด้วยเวลาเพียง 9.69 วินาที และหลังจากนั้นคือตำนาน

 

- ปักกิ่งเกมส์ 2008 เหรียญทอง วิ่ง 100 เมตรชาย

- ปักกิ่งเกมส์ 2008 เหรียญทอง วิ่ง 200 เมตรชาย

- ลอนดอนเกมส์ 2012 เหรียญทอง วิ่ง 100 เมตรชาย

- ลอนดอนเกมส์ 2012 เหรียญทอง วิ่ง 200 เมตรชาย

- ลอนดอนเกมส์ 2012 เหรียญทอง วิ่งผลัด 4x100 เมตรชาย

- ริโอเดอจาเนโร 2016 เหรียญทอง วิ่ง 100 เมตรชาย

- ริโอเดอจาเนโร 2016 เหรียญทอง วิ่ง 200 เมตรชาย

- ริโอเดอจาเนโร 2016 เหรียญทอง วิ่งผลัด 4x100 เมตรชาย

 

ความยอดเยี่ยมของเขาทำให้โบลต์เป็นเจ้าของ 8 เหรียญทองโอลิมปิก จากทั้ง 3 ครั้งล่าสุดคือ ปักกิ่ง เกมส์ 2008, ลอนดอน เกมส์ 2012 และ ริโอ เกมส์ 2016

และนี่คือตำนาน “นักวิ่งผู้ยิ่งใหญ่ที่สุดตลอดกาล” อย่างไม่ต้องสงสัย

 

อ่านเรื่องราวของ ยูเซน โบลต์ แบบเต็ม ๆ ได้ ที่นี่

 

 

Carl Lewis “ราชาแห่งกีฬากรีฑา”

 

กีฬากรีฑา นั้นถูกแบ่งออกเป็น 2 ประเภท ได้แก่ประเภทลู่และลาน ซึ่งความถนัดของนักกีฬานั้นจะถูกแยกแยะออกไปตาม ประเภทกีฬา แต่ “คิงคาร์ล” เป็นเพียงไม่กี่คนที่ลงแข่งขันทั้ง 2 ประเภท ซ้ำยังสามารถคว้าเหรียญทองโอลิมปิกได้อีกถึง 9 เหรียญทอง 1 เหรียญเงิน จนทำให้ทุกคนโหวตให้เขาเป็น “หนึ่งในนักกรีฑาที่ยิ่งใหญ่ที่สุดตลอดกาล”   

 

ลูอิสเกิดในครอบครัวนักกีฬาอย่างแท้จริง แม่ของเขาเคยเป็นนักวิ่งข้ามรั้วทีมชาติมาก่อน เขามีพี่ชายเป็นนักฟุตบอล และน้องสาวของเขาเองก็เป็นนักกระโดดไกลทีมชาติอีกด้วย

 

ลูอิสเริ่มเล่นกีฬาในวัย 13 ปี โดยมีพ่อคอยเป็นโค้ชให้ เขาถือเป็นคนที่มีทักษะในการกระโดดรวมถึงพรสวรรค์สำหรับการเป็นนักกีฬาที่ดีเอามากๆ จนเมื่อเขาก้าวมาเป็นนักกีฬาทีมชาติ แม้ตัวของลูอิสจะมุ่งเน้นอยู่กับการกระโดดไกล แต่ด้วยพรสวรรค์ของเขา ทำให้เขาถูกจับมาลงแข่งในกรีฑาประเภทลู่อีกด้วย

 

ลูอิสนั้นได้ลงแข่งขันโอลิมปิกถึง 4 ครั้งด้วยกัน และเป็นนักกีฬาเพียงไม่กี่คนเท่านั้นที่ได้รับรางวัลเหรียญทองในทุกครั้งที่ลงแข่ง โดยมีสถิติดังนี้

 

- โอลิมปิกปี 1984 4 เหรียญทอง จากการวิ่ง 100 เมตร, 200 เมตร 4x100 เมตร และ กระโดดไกล

- โอลิมปิกปี 1988 2 เหรียญทอง จากการวิ่ง 100 เมตร รวมถึง กระโดดไกล และ 1 เหรียญเงิน จากการวิ่ง 200 เมตร

- โอลิมปิกปี 1992 2 เหรียญทอง จากการวิ่ง 4x100 เมตร และ กระโดดไกล

- โอลิมปิกปี 1996 1 เหรียญทอง จากการกระโดดไกล

 

ทำให้โอลิมปิกทั้ง 4 ครั้งของลูอิส เขากวาดไปทั้งหมด 9 เหรียญทอง 1 เหรียญเงิน  และเป็นเจ้าของสถิติได้รับเหรียญทองจากกีฬาเดิมที่ลงแข่งทั้ง 4 ครั้ง (กระโดดไกล) อีกด้วย

 

ดังนั้นจึงไม่ต้องแปลกใจหากลูอิสจะถือเป็นหนึ่งในนักกีฬาขวัญใจของคนรุ่นใหม่ รวมถึง เป็น “หนึ่งในนักกรีฑาที่ยิ่งใหญ่ที่สุดตลอดกาล”

 

อ่านเรื่องราวความยิ่งใหญ่ของ คาร์ล ลูอิส ได้ที่นี่

 

 

Hicham El Guerrouj “ยอดปอดเหล็ก ผู้เอาชนะทุกสิ่ง”

 

“ความพยายามอยู่ที่ไหน ความสำเร็จอยู่ที่นั่น” นี่อาจไม่ใช่เพียงคำคมเท่ ๆ ไว้เพื่อพูดปลอบใจตัวเองแต่มันคือคำพูด คือแรงจูงใจที่ทำให้ชายคนนึงไม่ละเลิก และไม่ยอมแพ้ จนกระทั่งเขาสามารถคว้าชัยชนะได้ “ฮิชาม เอล เกอรูจ”

 

ฮิชามเริ่มวิ่งมาตั้งแต่เด็กๆ โดยครอบครัวของเขามีธุรกิจคือร้านขนมปัง ซึ่งระหว่างวันครอบครัวมักจะให้เขาวิ่งไป-กลับ 1 ไมล์ ภายในเวลา 8 นาที ก่อนที่ขนมปังจะเย็น ซึ่งพี่น้องของเขาจะคอยมาปรบมือให้กำลังใจอยู่เสมอ

 

ปอดเหล็กชาวโมร็อกโกนั้นก็เป็นเด็กรักสนุกชอบเล่นกีฬาเหมือนคนอื่น ๆ โดยก่อนที่จะเริ่มวิ่งอย่างจริงจังนั้นเขาเริ่มเล่นฟุตบอลในตำแหน่งผู้รักษาประตูมาก่อน แต่เล่นไปได้สักพักแม่ของเขาขอให้เลิกเล่นเพราะไม่สามารถซักเสื้อผ้าที่เต็มไปด้วยโคลนของเขาทุกวัน ทำให้เขาเปลี่ยนไปวิ่งในที่สุด

 

หลังจากเริ่มวิ่ง รายการแรกที่เขาได้แชมป์ก็คือรายการ World Indoor Championships ในปี 1995 ในระยะทาง 1,500 เมตร และนั่นเป็นเพียงแค่การแข่งขันทัวร์นาเมนต์ที่ 2 ของปอดเหล็กคนนี้เท่านั้น     

 

ฮิชาม ลงแข่งขันโอลิมปิกครั้งแรกในปี 1996 ที่เมืองแอตแลนตา แต่ก็ไม่ประสบความสำเร็จเมื่อเขาจบเพียงอันดับที่ 12 เท่านั้น หลังจากนั้นถัดมาในปี 1997 และ 1999 เขาสามารถคว้าแชมป์จากรายการ World Championships  ทำให้ โอลิมปิกครั้งต่อมาในปี 2000 เขามีความมั่นใจมากขึ้นในการคว้าแชมป์ แต่ก็ต้องอกหักอีกครั้ง โดยหลังจากที่เขาวิ่งอย่างคู่คี่สูสีมาตลอดกับ โนอาห์ เอ็นจีนี่ นักวิ่งชาวเคนยา เขากลับโดนแซงต่อหน้าต่อตาใน 10 เมตรสุดท้าย

 

ฮิชามบอกว่ามันเหมือนกับฝันร้าย แต่ตัวเขาต้องผ่านมันไปให้ได้ และต้องกลับไปเอาชนะให้จงได้ “ผลของความพยายาม  แม้มันจะออกมาช้า แต่มันก็ออกมาในที่สุด” จนในที่สุดในปี 2004 โอลิมปิก เกมส์ ที่กรุงเอเธนส์  เขากลับมาเอาชนะได้ในทั้ง 2 รายการที่ลงแข่งขัน ทำให้เขากลายมาเป็นชายคนที่ 2 ในประวัติศาสตร์โอลิมปิก ที่เอาชนะการแข่งขันวิ่งในระยะ 1,500 เมตร และ 5,000 เมตรทั้ง 2 รายการพร้อมกันในปีเดียว
 

สุดท้าย ยอดปอดเหล็กชาวโมร็อกโกผู้นี้ ก็ได้แสดงให้โลกได้เห็นว่าความพยายามของเขาเอาชนะได้ทุกสิ่ง

 

 

Mizuki Noguchi “หญิงแกร่ง แดนอาทิตย์อุทัย”

 

ในกีฬาวิ่งมาราธอนนั้น เรามักจะเห็นแต่นักวิ่งแอฟริกันทั้งชายและหญิง แต่มีครั้งหนึ่งทั่วโลกได้รู้จักปอดเหล็กสาวชาวอาทิตย์อุทัยรายนี้ที่ชื่อว่า “มิซูกิ โนงูจิ”

 

มิซูกิ เกิดที่จังหวัดคานางาวะ โดยแข่งวิ่งมาตั้งแต่สมัยเรียน เริ่มจากการวิ่ง “ฮาล์ฟ มาราธอน” จนได้รับฉายาว่า “ราชินีแห่งฮาล์ฟมาราธอน” ซึ่งเธอลงแข่งขันไปทั้งหมด 24 รายการ และได้รางวัลชนะเลิศถึง 14 รายการ ด้วยกัน

 

ในปี 2002 เธอได้ตัดสินใจลงแข่งขัน “มาราธอน” เป็นครั้งแรก ในรายการ นาโงย่า มาราธอน ก่อนจะคว้าแชมป์ได้อย่างยอดเยี่ยม ในปีต่อมา เธอได้ลงแข่งขัน โอซาก้า มาราธอน ซึ่งถือเป็นรายการใหญ่ที่สุดรายการหนึ่งของนักวิ่งทั่วโลก และมิซูกิก็คว้ารางวัลชนะเลิศไปครอง พร้อมทำสถิติใหม่ของรายการด้วยเวลา 2:21:18 นาที 
 

ในปี 2004 เธอได้รับเลือกให้เป็นตัวแทนนักวิ่งมาราธอนทีมชาติญี่ปุ่น ไปแข่งขันที่กรุงเอเธนส์ ประเทศกรีซ ซึ่งมิซูกิทำผลงานสุดยอดคว้าเหรียญทองไปครอง ถือเป็นคนที่สองของญี่ปุ่น ต่อจาก นาโอกะ ทากาฮาชิ ที่ทำได้ในโอลิมปิกปี 2000

 

ถัดมาในปี 2005, 2007 ปอดเหล็กสาวชาวอาทิตย์อุทัยผู้นี้ก็สามารถคว้ารางวัลชนะเลิศ เบอร์ลิน มาราธอน และ โตเกียว มาราธอน ซึ่งเป็นรายการระดับเมเจอร์ได้ตามลำดับ

 

มิซูกิ ลงแข่งขันวิ่งมาราธอนไปทั้งหมดเพียงแค่ 6 รายการ และได้รางวัลชนะเลิศถึง 5 รายการ และรองชนะเลิศอันดับที่ 1 แค่รายการเดียวเท่านั้น ทำให้เธอคือ “หญิงแกร่ง แดนอาทิตย์อุทัย”อย่างแท้จริง

 

 

Liu Xiang “ผู้ใช้วิชาตัวเบา”

 

ในนิยายจีนเรามักจะเห็นตัวเอกของเรื่องเป็นผู้ชำนาญการใช้วิทยายุทธต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นฝ่ามืออรหันต์ สิบแปดฝ่ามือพิชิตมังกร หรือวิชาตัวเบา แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นก็ไม่มีใครได้เคยเห็นวิชาเหล่านี้กับตาตัวเองสักครั้ง เว้นแต่นักกีฬาจีนคนหนึ่งที่เราเคยเห็นเขาและมองภาพตามว่า หรือแท้ที่จริงแล้วผู้ชายคนนี้แหละที่ใช้วิชาตัวเบาให้เราได้ดูชมชื่อของเขาคือ “หลิว เซียง”

 

หลิว เซียง ในวัยเด็กก็เหมือนกับเด็กคนอื่นที่ซุกซนชอบกระโดดโลดเต้นปีนป่ายไปมา พออายุได้ 13 ปี พ่อของเขาเห็นแววจึงส่งเข้าโรงเรียนกีฬายุวชนของนครเซี่ยงไฮ้ โดย หลิว เซียง เริ่มจากกีฬากระโดดสูง ก่อนจะถูกโค้ชกรีฑาซึ่งเห็นหน่วยก้านของเขา และคิดว่าสามารถเอาดีทางวิ่งข้ามรั้วได้ จึงให้เขาเลิกกระโดดสูงและมาวิ่งข้ามรั้วเพียงอย่างเดียว

 

นักวิ่งเลือดมังกรผู้นี้ เริ่มเป็นที่รู้จักจากการที่เขาคว้าเหรียญทองจาก เอเชี่ยน เกมส์ ในปี 2002 และต่อมาในโอลิมปิกเกมส์ ปี 2004 เขาทำให้คนทั้งโลกได้เห็นวิชาตัวเบาของเขาด้วยการชนะเลิศการแข่งขันวิ่งข้ามรั้ว 110 เมตรชายแบบขาดลอย ซ้ำยังเป็นการทำลายสถิติโอลิมปิกอีกด้วย ทำให้เขาคือชาวจีนคนแรกที่ได้เหรียญทองจากการแข่งขันกรีฑาโอลิมปิก

 

และอีก 4 ปี ต่อมาในปี 2008 มหกรรมกีฬาที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของมวลมนุษยชาติได้ถูกจัดขึ้นที่ประเทศจีนบ้านเกิด “หลิว เซียง” ตั้งใจฝึกซ้อมเป็นอย่างมากเพื่อป้องกันแชมป์ให้ได้

 

แต่เมื่อถึงวันแข่งขันโชคร้ายก็เกิดขึ้นกับเขา หลิว เซียง ได้รับบาดเจ็บเอ็นร้อยหวายตอนช่วงออกตัวทำให้ต้องออกจากการแข่งขัน “น้ำตา”ของเขาไหลริน น้ำตานี่ไม่ได้เกิดจากการพ่ายแพ้ต่อการแข่งขัน แต่มันเกิดขึ้นจากการที่เขา “พ่ายแพ้” ให้แก่ ร่างกายตนเอง ครั้นแล้วในอีก 4 ปีต่อมา ในปี 2012 ที่ลอนดอนเกมส์ หลิว เซียง กลับมาอีกครั้ง และก็ประสบกับเหตุการณ์บาดเจ็บซ้ำ โดยในรอบคัดเลือกเขากระโดดไม่ผ่านรั้วแรกทำให้ได้รับบาดเจ็บอีกครั้ง

 

ท้ายที่สุดในโอลิมปิกทั้ง 3 ครั้งของเขา แม้เขาจะได้เพียง 1 เหรียญทอง แต่นั่นก็เพียงพอที่จะให้เขาถูกยกย่องให้เป็นหนึ่งใน “นักวิ่งข้ามรั้วที่ดีที่สุดในประวัติศาสตร์” 


stadium

author

StadiumTh Team Content

StadiumTH Content Creator

stadium olympic