stadium

พาณิภัค วงศ์พัฒนกิจ : การต่อสู้เพื่อความฝันของพ่อและคนไทยทั้งประเทศ

19 กุมภาพันธ์ 2563

“เทนนิส” คว้าแชมป์เทควันโด ยูธโอลิมปิกเกมส์ เป็นพาดหัวข่าวที่อาจจะสร้างความงุนงงได้ไม่น้อยทีเดียว แต่วันนี้ “เทนนิส” พาณิภัค วงศ์พัฒนกิจ จอมเตะสาวก้านยาวจากสุราษฎร์ธานี กลายเป็นที่รู้จักและกลายเป็นนักกีฬาเทควันโดเบอร์ 1 ของโลกไปแล้ว

 

พาณิภัคเกิดวันที่ 8 สิงหาคมพ.ศ. 2540 เป็นบุตรสาวของนายสิริชัย วงศ์พัฒนกิจ ศึกษานิเทศสำนักเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาสุราษฎร์ธานี เขต 2  และนางวันทนา วงศ์พัฒนกิจ อดีตอาจารย์โรงเรียนวัดท่าไทร (ดิตถานุเคราะห์) เป็นอดีตนักกีฬาว่ายน้ำ เธอเป็นน้องสาวของพี่สาว ที่ชื่อโบว์ลิ่ง และ พี่ชายที่ชื่อเบสบอล

 

 

เธอสูญเสียคุณแม่ตั้งแต่เด็ก มีเพียง สิริชัย เป็นพ่อเลี้ยงเดี่ยวเป็นคนผลักดันเธอในการเล่นกีฬาเทควันโด พาณิภัค ติดทีมชาติชุดเยาวชนตั้งแต่อายุ 13 ปี และความเก่งกาจของเธอ ทำให้เส้นทางในระดับนานาชาติของพาณิภัคสวยหรู 

 

จนกระทั่งซีเกมส์ ครั้งที่ 27 ที่เนปิดอว์ ในปี 2013 คือจุดเปลี่ยนสำคัญที่ทำให้ “พาณิภัค” กลายเป็นเพชรฆาต รอบชิงฯ พิกัด 46 ก.ก.หญิง ส่งกลิ่นตั้งแต่ก่อนการแข่งขัน เพราะผู้หลักผู้ใหญ่ของพม่ามาชมเกมนี้ แถมลือๆกันว่า นเวย์ นเวย์ จอมเตะสาวเจ้าถิ่นเป็นลูกคนใหญ่คนโต และตามคาด พาณิภัค พ่ายแบบค้านสายตาในช่วงท้าย 5-7 วันนั้น เธอนั่งร้องไห้สะอึกสะอื้นระหว่างรอรับเหรียญจนตาบวม โค้ชปล่อยให้เธอทบทวนความผิดพลาดครั้งนั้นอยู่เงียบๆ เธอพูดทั้งน้ำตากับคนที่เข้าไปปลอบใจเธอทันทีว่า “หนูเล่นไม่ดีเอง หนูจะไม่พลาดอีกแล้ว หนูจะไม่ยอมให้เรื่องแบบนี้เกิดขึ้นอีก”

 

นับตั้งแต่วันนั้น พาณิภัค เปลี่ยนเป็นคนละคน เธอนำความเจ็บปวดจากพม่ามาเป็นแรงผลักดัน และกลายเป็นจอมเตะที่อันตรายที่สุดในโลกทันที ดูจากรายชื่อแชมป์ระดับประชาชนที่เริ่มรันยาวๆตั้งแต่ปี 2014 เป็นต้นมา โดยเฉพาะการแข่งขันซีเกมส์ อีกครั้งของเธอในอีก 4 ปีต่อมา เธอไล่ทุบ นูร์ เดีย ลียาน่า ชาฮารุดดิน จอมเตะมาเลเซียจนเสียมวย 

 

 

ทำเนียบแชมป์ 27 รายการ (5 แมตช์สุดประทับใจ ของ เทนนิส พาณิภัค วงศ์พัฒนกิจ คลิกเลย)

  1. แชมป์เอเชีย ปี 2014 ที่ทาชเคนต์
  2. แชมป์ยูธโอลิมปิกเกมส์ 2014 ที่นานกิง ประเทศจีน
  3. แชมป์โลก ปี2015 ที่เชลยาบินส์แชมป์ออสเตรเลียน โอเพ่น ปี 2015 ที่เมลเบิร์น
  4. แชมป์อินโดนีเซีย โอเพ่น ปี 2015 ที่ ปากันบารู
  5. แชมป์โครเอเชีย โอเพ่น ปี2015 ที่ซาเกร็บ
  6. แชมป์ยูเอส โอเพ่นปี 2016 ที่เรโน
  7. แชมป์ฟูไจราห์ โอเพ่น ปี2016 ที่สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์
  8. แชมป์เอเชีย ปี 2016 ที่มะนิลา
  9. แชมป์ออสเตรียน โอเพ่น ปี 2016 ที่อินน์บรู๊กส์
  10. แชมป์ยูเอส โอเพ่น ปี 2017 ที่ลาสเวกัส
  11. แชมป์เบลเยี่ยม โอเพ่น ปี 2017 ที่ลอมเมล
  12. แชมป์เวิลด์กรังด์ปรีซ์ ปี 2017 ที่มอสโก
  13. แชมป์มหาวิทยาลัยโลก ปี 2017 ที่ไต้หวัน
  14. แชมป์ซีเกมส์ 2017 ที่กัวลาลัมเปอร์
  15. แชมป์เวิลด์ กรังด์ปรีซ์ 2017 ที่ลอนดอน
  16. แชมป์เวิลด์ กรังด์ปรีซ์  2017 ที่อบิดจาน
  17. แชมป์ เวิลด์ เทควันโด แกรนด์สแลม แชมเปียนชิพ ซีรีส์ 2018 ที่อู๋ซี
  18. แชมป์เอล ฮัสซาน โอเพ่น 2018 ที่อัมมาน
  19. แชมป์เอเชียนเกมส์ 2018 ที่จาการ์ตา
  20. แชมป์เวิลด์กรังด์ปรีซ์ 2018 ที่เต๋าหยวน
  21. แชมป์เวิลด์กรังด์ปรีซ์ 2018 ที่แมนเชสเตอร์
  22. แชมป์ เบลเยี่ยม โอเพ่น 2019 ที่ลอมเมล
  23. แชมป์โลก 2019 ที่แมนเชสเตอร์
  24. แชมป์เวิลด์ กรังด์ปรีซ์ 2019 ที่ชิบะ
  25. แชมป์กีฬามหาวิทยาลัยโลก 2019 ที่อิตาลี
  26. แชมป์ซีเกมส์ 2019 ที่ฟิลิปปินส์
  27. เวิลด์ เทควันโด แกรนด์สแลม แชมเปียนชิพ ซีรีส์ 2019 ที่อู๋ซี

 

และทำให้สาวน้อยจากสุราษฎร์ธานีคนนี้ เก็บทุกแชมป์บนโลกนี้ได้ทุกรายการใหญ่ ขาดเพียงแค่เหรียญทองโอลิมปิกเกมส์รายการเดียวเท่านั้น ริโอ 2016 โอลิมปิกเกมส์ไกลบ้านหนนั้น พาณิภัค พลาดแพ้ให้ คิม โซ ฮุย จอมเตะเกาหลีใต้ ในรอบ 8 คน และต้องลุ้นให้ โซ ฮุย เข้าถึงรอบชิงฯ เพื่อ พาณิภัค จะได้สิทธิ์ลุ้นเหรียญทองแดง ซึ่งท้ายที่สุด โซ ฮุย กรุยทางเข้าถึงรอบไฟนอล ทำให้ พาณิภัค ได้แก้ตัวอีกหน และแน่นอนสาวน้อยคนนี้ไม่เคยทำพลาดซ้ำสอง เอาชนะ จูลิสซ่า ดิแอส จากเปรู และ เอาชนะอิตเซล มายาเรซ จากเม็กซิโก ในรอบชิงฯเหรียญทองแดง

 

ชมไฮไลท์การแข่งขันโอลิมปิก เกมส์ 2016 ของ "เทนนิส" รอบชิงเหรียญทองแดง คลิกเลย

 

แม้จะมีเหรียญทองแดงติดมือ แต่นั้นไม่ใช่สิ่งที่พาณิภัคเฝ้ารอ การกลับมาเมืองไทยหลังจากนั้น พาณิภัค ทำท่าจะเลิกเล่นและกลับไปใช้ชีวิตวัยรุ่น เพราะอีก 4 ปี มันยาวไกลเหลือเกิน และเธอเองมองไม่เห็นตัวเองในอีก 4 ปีข้างหน้าว่าจะเป็นอย่างไรในวันนนั้น แต่หลังจากคิดหนักอยู่หลายเดือน พาณิภัค ก็กลับมาอีกครั้ง

 

ครั้งหนึ่งเธอเคยโพสต์ไว้ว่า

 

 "เมื่อ 11 ปีก่อน ตอนหนูอายุ 10 ขวบ พ่อขับรถพาหนูจากสุราษฎร์ฯขึ้นมาแข่งชิงแชมป์ประเทศไทยที่กรุงเทพฯ แต่เกิดอุบัติเหตุรถพลิกคว่ำที่ จ.ชุมพร เป็นคนอื่นคงกลับบ้านไปแล้ว พ่อบาดเจ็บที่แขน ข้อศอก มีแผลเต็มไปหมด หนูก็เจ็บแผลถลอกที่ขา แต่พ่อบอกหนูว่า ยังไงก็ตั้งใจมาแข่งแล้วต้องไปต่อ พ่อซื้อตั๋วรถทัวร์คืนนั้นเพื่อให้หนูไปชั่งน้ำหนักให้ทัน ขอบคุณความทุ่มเทของพ่อที่เป็นแบบอย่าง สอนหนูให้ไม่ยอมแพ้ พ่อไม่ได้แค่สอน หรือสั่งๆอย่างเดียว พ่อจะทำไปกับหนูด้วย หนูยังจำทุกๆเช้าวันเสาร์-อาทิตย์ได้อยู่เลย พ่อปลุกหนูตอน 8โมงเช้า เพื่อไปวิ่งด้วยกัน กับแดดที่แสนจะร้อน กับทางที่ยาวไกลในถนนชนบทและการ์ตูนตอนเช้าที่หนูไม่เคยได้ดูเลย  ตอนนั้นก็คิดนะ พ่อไม่มีเพื่อนไปวิ่งด้วยแต่ตอนนี้รู้แล้วนะพ่อ พ่ออยากให้หนูมีร่างกายที่แข็งแรง มีสุขภาพดี แล้วตอนนั้นก็เคยไม่เข้าใจพ่อนะ พ่อจะบังคับให้เล่นกีฬาทำไม 💭 ตอนเย็นหลังเลิกเรียน การบ้านก็เยอะ ทำไม่ทัน แล้วยังต้องไปซ้อม เหนื่อยจากการเรียนแล้วไม่พอ ทุกๆเย็นหนูต้องไปซ้อมที่ยิม หนูงอแง หนูร้องไห้ หนูไม่อยากเล่นกีฬา แต่พ่อก็บังคับหนูไปได้ทุกวัน”

 

"อยากขอบคุณพ่อคนนี้ที่ผลักดันลูกมาจนถึงวันนี้ ตอนนี้มันเกินฝันของเราแล้วแต่ยังเหลืออีกหนึ่งอย่างที่พ่อฝันไว้อีก 2 ปีข้างหน้า หนูอยากทำมันให้ได้ หนูจะพยายามให้มากที่สุดเท่าที่ลูกคนนี้จะทำได้”

 

นั่นคงเป็นเป้าหมายสูงสุดในชีวิตนักกีฬาเทควันโดของเธอ และอย่าลืมว่า “พาณิภัค”ไม่เคยพลาดในการเล่นมหกรรมกีฬาเดิมครั้งที่ 2

 

สรุปเส้นทาง 33 เหรียญโอลิมปิกไทย คลิกเลย


stadium

author

StadiumTh Team Content

StadiumTH Content Creator

stadium olympic