6 มิถุนายน 2567
“ผมเจ็บมาเยอะ” สมจิตร จงจอหอ นักชกลูกอีสานให้สัมภาษณ์พร้อมหลั่งน้ำตาลูกผู้ชาย เมื่อวันที่ 23 ส.ค. 2551 เหตุใดกำปั้นจากบุรีรัมย์คนนี้ถึงร้องไห้ออกมาขนาดนั้น เราลองมาดูชีวิตของสมจิตร นักชกที่เกือบจะเลิกไปแล้วหลายต่อหลายครั้ง ร้องไห้ผิดหวังโดดเด่นท่ามกลางความสำเร็จของคนอื่นมาครั้งแล้วครั้งเล่า
“น้อย” สมจิตร จงจอหอ เกิดเมื่อ 19 มกราคม พ.ศ. 2518 ที่บ้านหนองพลวง ตำบลโกรกแก้ว อ.โนนสุวรรณ จ.บุรีรัมย์ เป็นน้องคนสุดท้องจากลูก 7 คน ของ นายเช้า และ นางฝ้าย จงจอหอ “นายน้อย” เป็นชื่อที่ครอบครัวเรียก ออกจะดูเหมือนมีฐานะแต่ในความเป็นจริงนั้นตรงกันข้าม
สมจิตร เป็นเด็กเลี้ยงง่ายไม่ดื้อชอบอยู่เงียบๆ นอกจากเรียนหนังสือก็เป็นเด็กรักกีฬาเรื่องมวยฝึกฝนตาม “พ่อเช้า” ที่ตั้งค่ายมวยเล็กๆกลางทุ่ง ชื่อ “ลูกโคกรัก” ซึ่งนักมวยในค่ายล้วนแต่นามสกุลจงจอหอ ทั้งค่ายมีกระสอบทรายจำนวน 1 ใบถ้วน นักมวยในค่ายต้องรอผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนมาประเคนแข้ง ประเคนหมัดกันทีละคน สมจิตร ไม่ได้ชอบมวยนัก แต่ก็รู้สึกสนุกเมื่อได้เล่นได้ออกกำลังกับญาติๆ
แต่แล้วก็มาเจอจุดเปลี่ยนเอาตอนอายุ 10 ขวบ สมจิตร ไปเที่ยวงานวัดที่โคราช แล้วเกิดอยากได้ “ปืนแก็ป” ขอร้องอ้อนวอนเท่าไรแม่ก็ไม่ใจอ่อน เห็นท่าไม่ได้แน่ๆแล้วจึงไปอ้อนพี่ชายให้พาไปเปรียบมวยขึ้นชกในงานวัดนั้น ปรากฏว่าเชิงมวยที่ซ้อมมา เอาชนะคู่ชกได้ไม่ยากเย็นและได้เงินมา 100 บาท เจียดเงิน 25 บาทไปซื้อปืนแก็ปเหน็บเอวสมใจ เมื่อวิชาที่พ่อให้มาเปลี่ยนเป็นเงินได้สมจิตรชักจะติดลมและอยากเดินตามรอย เขาทราย แกแล็กซี่ ฮีโร่ของเขา
สมจิตร ตระเวนชกตามจังหวัดต่างๆ ฝีมือจัดจ้านขึ้นเรื่อยๆ จนจบมัธยม 3 ไปสอบช่างกล แต่สอบไม่ติด ทางบ้านไม่มีเงินส่งเสียอีกแล้ว จึงให้เลือกว่าจะทำนาหรือชกมวย ซึ่งแน่นอนว่า สมจิตร เลือกอย่างหลัง เวลานั้นเพื่อนรัก “พีรพล แจ่มประโคน” หรือชื่อนักมวย บัณฑิต เพชรเมืองวิเศษ เริ่มโด่งดังไปชกอยู่ค่าย ว.ปรีชา จ.ชลบุรี เดินทางกลับมาเยี่ยมบ้าน พีรพล ดูเปล่งปลั่ง เพราะเริ่มมีเงินมีทองดูโก้ทีเดียว สมจิตร จึงขอเพื่อนติดสอยห้อยตามไปด้วย เพื่อหวังหาเงินเลี้ยงชีพบ้าง
การไกลบ้านทำให้ สมจิตร มีปัญหาเรื่องการปรับตัว ไม่มีพ่อแม่คอยดูแล แถมโดนเพื่อนร่วมค่ายโน้มคอตีเขาไม่เว้นแต่ละวัน จนเขาต้องแอบร้องไห้หลังการซ้อมเสมอ ถ้าไม่ได้พีรพลคอยรั้ง สมจิตรคงถอดใจหนีกลับบุรีรัมย์ไปแล้วหลายครั้ง เมื่อเข้าที่เข้าทางเชิงมวยพัฒนาขึ้นมากสมจิตรในชื่อนักมวยคือ “ศิลาชัย ว.ปรีชา” กลายเป็นมวยดังของค่ายไปแล้ว มีโอกาสได้ชกในเวทีมาตรฐานในกรุงเทพ แต่วาสนาไม่ถึงแชมป์ แต่คมหมัดคมเข่าก็ล้มมวยดังไปหลายคนทำให้พอมีชื่อเสียงขึ้นมา ไม่ใช่ว่าจะเป็นเรื่องดีแถมกลายเป็นดาบสองคม เพราะหลังๆเริ่มเก่งเกินไปจนไม่มีคู่ชก สมจิตร ขยับน้ำหนักขึ้นไปชกในพิกัดอื่น เพราะเวลานั้นเงินหมดแล้ว ยอมแบกน้ำหนัก เสียเปรียบรูปร่าง ทำให้พ่ายยับเยินมา 20 ไฟต์
เวลานั้นไม่มีใครห้ามสมจิตรได้แล้ว เขาตัดสินใจหยุดเส้นทางมวยไทยในไฟต์ที่ 100 และหนีไปบวชที่บุรีรัมย์บ้านเกิดเพื่อเลียแผลใจ พอลาสิกขา สมจิตร เข้ามากรุงเทพย้ายไปอยู่ที่บ้านพี่สาวซึ่งเป็นร้านซักรีด อยู่กินข้าวฟรี 3 มื้ออยู่พักใหญ่ ๆ จนหาลำไพ่พิเศษด้วยการเตะบอลเดิมพันระหว่างร้านคาราโอเกะ ซึ่งเพื่อนสมจิตรทำงานอยู่กับอีกร้าน สมจิตรใช้วิธีนี้ทำเงินได้เรื่อย ๆ จนมาได้ยินว่ามีการรับสมัครมวยสมัครเล่นในโครงการ มวยดาวรุ่งโอลิมปิก จึงเดินทางไปสมัครกับเขาบ้าง แต่ก็เจอตอเข้าเต็มๆเพราะต้องไปคัดรุ่นเดียวกับ สมรถ คำสิงห์ พี่ชายของสมรักษ์
กระนั้นเชิงมวยก็เข้าตา จึงถูกชักชวนเข้าแคมป์ทีมชาติ พลเอกทวีป จันทรโรจน์ นายกสมาคมในเวลานั้น ควักเงินให้ 5,000 บาท ซื้อใจ สมจิตร แถมยังหาทางให้เป็น อาสาทหารพรานเพื่อจะได้ขึ้นชกให้กองทัพบกด้วย
“น้อย” ใช้เวลาพิสูจน์ตัวเองอยู่นาน กว่าจะได้กลายเป็นทีมชาติชุดใหญ่ในปี 2540 ประเดิมแชมป์มวยสมัครเล่นกรีน ฮิลล์ คัพ ที่ปากีสถาน, ได้แชมป์ซีเกมส์ ที่บรูไน ถูกคาดหมายให้เป็นตัวตายตัวแทนของ วิชัย ราชานนท์ ในพิกัดฟลายเวต แต่แล้วความผิดหวังก็มาเยือน สมจิตร อีกแล้ว เขาคว้าโควตาในการคัดโอลิมปิกเกมส์ไม่ได้ในสองเลก ทั้งที่เป็นตัวเต็งในเลกสุดท้าย สมาคมถอดชื่อสมจิตรออก และส่ง วิจารณ์ พลฤทธิ์ นักชกรุ่นน้องที่ได้โอกาสไปคัดเลก และวิจารณ์ ทำสำเร็จ
สมจิตร มวยความหวังกลายเป็นแค่คู่ซ้อมของ วิจารณ์ เขาเฝ้าดู วิจารณ์ ขึ้นโพเดียมคว้าเหรียญทอง โอลิมปิกเกมส์ 2000 อย่างเจ็บปวด เป็นอีกครั้งที่ สมจิตร จะถอดใจกับมวยสากล แต่ได้ ศศิธร จงจอหอ คู่ชีวิตคอยให้กำลังใจจึงหันมาสู้อีกครั้ง ประกอบกับเวลานั้น วิจารณ์ ตัดสินใจแขวนนวมแล้ว ทำให้ สมจิตร กลับมาเป็นมือหนึ่งในพิกัดนี้อีกครั้ง
โอลิมปิกเกมส์หนต่อมาที่ กรีซ ในปี 2004 สมจิตร ถือเป็นตัวเต็งในรอบสุดท้าย แต่ก็พลาดท่าตกรอบสุดช็อกความผิดหวังมาเยือน สมจิตร อีกแล้ว เขายังต้องอยู่เอเธนส์ต่ออีกสัปดาห์ด้วยจิตใจที่บอบช้ำและครั้งนี้ช้ำหนักกว่าเดิม เพราะในวัย 29 ปี สมจิตร ที่คิดว่าจะชกเป็นครั้งสุดท้ายแล้ว ได้แต่ยืนมอง มนัส บุญจำนงค์, วรพจน์ เพชรขุ้ม, สุริยา ปราสาทหินพิมาย นั่งรถแห่เป็นพระเอกในวันเดินทางกลับถึงเมืองไทย ส่วนตัวเขาไม่มีแม้แต่คนเหลียวแลจะมีก็เพียงไม่กี่คนที่ให้กำลังใจ
สมจิตร นั่งเป็นตัวประกอบบนรถแห่ขบวนท้ายๆ บรรยากาศที่สนามบินวันนั้นตามหลอกหลอน สมจิตร มาตลอด ความคิดจะแขวนนวมก็กลับมาอีก ศศิธร คู่ชิวิต ถามสั้นๆว่า อยากเลิกจริงหรือแค่หนีปัญหา ทำให้คิดได้ว่าถ้าเลิกตอนแพ้มันไม่เท่ สู้อีกสักโอลิมปิกจะเป็นไรไป ตอนนั้นก็แค่ 33 เอง สมจิตร เว้นช่องว่างในตู้โชว์เหรียญรางวัลเอาไว้ตรงกลางไว้รอเหรียญโอลิมปิกเกมส์เหรียญเดียวที่เขายังไม่มี
สมจิตร รอต่อไปอีก 4 ปี ก็ถึงโอลิมปิกเกมส์ที่ 3 ปักกิ่ง 2008 สมจิตร ที่มีบาดแผลมากมายในหลายปีที่ผ่านมา เปลี่ยนเป็นคนละคน เชิงชกสมบูรณ์แบบ ขึ้นชกแบบไร้แรงกดดันชนะขาดทุกรอบ ก้าวเป็นฮีโร่เหรียญทองโอลิมปิกเกมส์จนได้และได้กลับบ้านในฐานะฮีโร่ที่เขาใฝ่ฝันและอดทนรอมาตลอด 12 ปี
“เจ็บมาเยอะ” จึงเป็นนิยามที่บ่งบอกเส้นทางชีวิตของ สมจิตร จงจอหอได้เป็นอย่างดี
TAG ที่เกี่ยวข้อง