stadium

ประภาวดี เจริญรัตนธารากูล : จากนักยกข้างถนนสู่แชมป์โอลิมปิก

19 กุมภาพันธ์ 2563

หลายคนคงจดจำชื่อของ “เก๋” ประภาวดี เจริญรัตนธารากูล กับการเป็นจอมพลังสาวฮีโร่เหรียญทองกีฬายกน้ำหนัก ในมหกรรมกีฬาโอลิมปิกเกมส์ 2008 ที่กรุงปักกิ่ง ประเทศจีน แต่น้อยคนนักที่จะรู้ว่ากว่าที่จะเธอจะก้าวไปถึงจุดนั้นได้จะต้องอดทนฝ่าฟันกับอุปสรรคที่ถาโถมเข้ามาในชีวิตมากมาย

 

ประภาวดี เจริญรัตนธารากูล เกิดวันที่ 29 พฤษภาคม พ.ศ.2527 เดิมมีชื่อว่า จันทร์พิมพ์ กันทะเตียน เป็นชาวอำเภอปากน้ำโพ จ.นครสวรรค์ โดยเธอเป็นพี่สาวคนโตในจำนวนพี่น้องทั้งหมด 4 คน และครอบครัวมีฐานะยากจน คุณพ่อเป็นกรรมกรก่อสร้างทำให้เธอดิ้นรนสู้ชีวิตเพื่อหาเลี้ยงครอบครัว ในวัยเด็ก “เก๋” เริ่มต้นจากการเป็น “นักยกข้างถนน” จากโค้ชคนแรกของเธอคือ ประทีป แสงน้อย เจ้าของอู่ซ่อมรถบ้านฝั่งถนนตรงข้าม ซึ่งสอนให้น้องเก๋ลองยกน้ำหนักด้วยการใช้ลูกเหล็กเพาะกายเมื่อเธอวัยเพียง 10 ปี ก่อนที่เริ่มฉายแวว และเข้ามาอยู่กับสโมสรกีฬายกน้ำหนักโอบอ้อมที่ได้ปลุกปั้นเธอและส่งเข้าร่วมแข่งขันรายการต่างๆ

 

 

วันเวลาผ่านไปน้องเก๋เริ่มสร้างชื่อเป็นนักกีฬายกน้ำหนักดาวรุ่งที่น่าจับตามองจากการร่วมชิงชัยในกีฬากรมพลศึกษา รวมทั้งกีฬาเยาวชนแห่งชาติ ทำให้ไปเข้าตาของ “เสธ.ยอด” พล.ต.อินทรัตน์ ยอดบางเตย นายกสมาคมกีฬายกน้ำหนักไทยฯ ในขณะนั้นที่ดึงตัวเข้าสู่รั้วทีมชาติ ด้วยความมุ่งมั่นอดทนทำให้น้องเก๋สร้างผลงานในเวทีการแข่งขันระดับนานาชาติมากมาย ก่อนจะกลายเป็นจอมพลังสาวตัวเต็งที่ได้ลุ้นเหรียญทองในกีฬาโอลิมปิกเกมส์ 2004 ที่กรุงเอเธนส์ ประเทศกรีซ แต่โชคชะตาเล่นตลกกับเธอจากอาการบาดเจ็บหนักจนพลาดร่วมทัพยกน้ำหนักไทยชุดสร้างประวัติศาสตร์คว้าเหรียญทองแรกในโอลิมปิก

 

“ตอนนั้นต้องบอกว่า เก๋แทบเสียคน คืนที่หลุดทีมชาติ คืนนั้นเก๋ประกาศลาออกจากทีมชาติ เพราะรับไม่ได้แต่หลังจากจบโอลิมปิก 2004 แล้ว เสธ.ยอดก็เรียกตัวกลับมา และก็ให้ข้อคิดว่าเราอายุยังน้อย ตอนนั้นอายุแค่ 20 ปี ทำให้เก๋ก็กลับมาสู้ใหม่อีกครั้ง”

 

เวลานั้นทำให้ “เก๋” ได้รับฉายาว่าเป็น “จอมพลังขี้แย” แต่เธอสลัดคราบรอยน้ำตาและลุกขึ้นมาสู้อีกครั้ง รวมทั้งเธอยังได้ไปฝึกสมาธิกับแม่ชีดวงมณี ที่อำเภอสะเมิง จังหวัดใหญ่ พร้อมกับเปลี่ยนชื่อและนามสกุลเพื่อความเป็นสิริมงคล จากเดิมที่ใช้ชื่อว่า จันทร์พิมพ์ กันทะเตียน เปลี่ยนมาเป็น ประภาวดี เจริญรัตนธารากูล เช่นเดียวกับครอบครัวก็เป็นมาใช้นามสกุลนี้ทั้งหมดด้วย

 

แต่โชคชะตายังเล่นตลกกับน้องเก๋อีกครั้ง เมื่อเธอได้รับอาการบาดเจ็บข้อศอกขวาหลุดในศึกยกน้ำหนักชิงแชมป์โลก เมื่อปี 2007 ที่จ.เชียงใหม่ จากจังหวะที่ยกท่าสแนทช์ก่อนที่เธอจะทิ้งลูกเหล็กลงอย่างเจ็บปวด จนต้องพักรักษาตัวนานถึง 3 เดือน และพลาดรับใช้ทีมชาติไทยในกีฬาซีเกมส์ 2007 ที่จังหวัดนครราชสีมาในปีเดียว

 

“ตอนนั้นบาดเจ็บที่แขนจนเล่นไม่ได้ แต่โค้ชก็ให้ฝึกด้วยการใช้ขาและหลังไปแทนก็ไม่ได้หยุดเล่น เพราะเก๋คิดว่าจะไม่ปล่อยโอกาสทิ้งไปเป็นครั้งที่สอง และจะพยายามให้ถึงที่สุดก่อน ถ้ามันไม่ใช่วันของเราจริงๆเราก็จะปล่อย แต่ถ้ามันเป็นของเรายังไงเราก็จะต้องคว้าให้ได้” จอมพลังสาวกล่าว

 

ดั่งคำที่ว่า “ความพยายามไม่เคยทรยศใคร”

 

 

ด้วยหัวใจนักสู้อย่างแท้จริงยิ่งกว่าเหล็กที่เธอยกอยู่ทุกวัน ประภาวดี หายกลับมาจากอาการบาดเจ็บ ซึ่งทำให้เธอแข้งแกร่งยิ่งขึ้นกว่าเดิมจนมีโอกาสได้เข้าร่วมมหกรรมกีฬาโอลิมปิกเกมส์ 2008 ที่กรุงปักกิ่ง ประเทศจีน อย่างที่วาดความฝันเอาไว้ก่อนที่เธอจะทำให้กลายเป็นความจริงด้วยการคว้าเหรียญทองโอลิมปิก พร้อมกับทำลายสถิติลงอย่างราบคาบ

 

“คงเป็นเพราะพ่อกับแม่ที่ทำให้เรารู้สึกว่าเวลาที่เราล้ม ครอบครัวเราก็ล้ม ทำให้เราต้องสู้จนถึงที่สุด”

 

จากจุดเริ่มต้นที่ “นักยกข้างถนน” ผ่านวันเวลาจนเป็น “จอมพลังขี้แย” ก่อนลุกขึ้นสู้สุดชีวิตจนกลายเป็น “จอมพลังฮีโร่โอลิมปิก” ถือว่า ประภาวดี เจริญรัตนธารากูล เป็นต้นแบบของนักกีฬาไทยรุ่นใหม่ๆ และเป็นแรงบันดาลใจให้กับทุกคนได้กัดฟันต่อสู้กับชีวิตที่โชคชะตาไม่ได้เข้าข้าง จนกลายเป็นความสำเร็จที่สร้างขึ้นมาเองกับมือ...


stadium

author

StadiumTh Team Content

StadiumTH Content Creator

La Vie en Rose
stadium olympic