stadium

อารีย์ วิรัฐถาวร : ทั้งชีวิตอุทิศให้ยกน้ำหนัก

19 กุมภาพันธ์ 2563

"รี" อารีย์ วิรัฐถาวร ฮีโร่เหรียญทองแดง โอลิมปิกเกมส์ ถือเป็นอีกหนึ่งบุคคลสำคัญควรค่าแก่การยกย่อง เพราะเกือบตลอดชีวิตที่ผ่านมาเธออุทิศตนเพื่อวงการยกน้ำหนักไทยอย่างแท้จริง

 

"รี" อารีย์ เกิดวันที่ 26 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2523 ที่ตำบลบ้านเหนือ อำเภอเมือง จังหวัดกาญจนบุรี เริ่มเล่นกีฬายกน้ำหนักมาตั้งแต่อายุได้ 12 ปีเศษ ที่โรงเรียนกีฬาจังหวัดชลบุรี โดยมี ศักดิ์ชัย ธิตะจารี เป็นผู้ขัดเกลาและเสริมกำลังวิชา อารีย์ เติบโตขึ้นเป็นนักยกน้ำหนักที่หน่วยก้านดี โดยมีเพื่อนร่วมรุ่นอย่าง อุดมพร พลศักดิ์ ซึ่งจอมพลังสาวจากกาญจนบุรี ได้รับเลือกให้ติดทีมชาติครั้งแรกในการแข่งขันซีเกมส์ ครั้งที่ 21 ที่กัวลาลัมเปอร์ ประเทศมาเลเซีย 

 

แต่ครั้งนั้นไม่มีความสำเร็จใดๆเกิดขึ้นกับตัวเธอ เช่นเดียวกันในเอเชียนเกมส์ 2002 ที่ปูซาน ประเทศเกาหลีใต้ อารีย์ ต้องพบกับความผิดหวังกลับบ้านมือเปล่าอีกครั้ง ซึ่งมันทำให้เธอท้อจนเกือบจะเลิกเล่นไปเลย แต่ด้วยความมุ่งมั่นบวกกับกำลังใจ อารีย์ สลัดความผิดหวังฝึกฝนมาจนเชี่ยว กลับมาแก้ตัวใหม่ในซีเกมส์ ครั้งที่ 22 ที่ประเทศเวียดนาม ในอีก 1 ปีต่อมา ครั้งนี้ อารีย์ แสดงผลของการฝึกซ้อมด้วยการคว้าเหรียญเงินในรุ่น 48 กิโลกรัมหญิงได้สำเร็จ

 


ความมั่นใจและความหวังเริ่มกลับเข้ามาสู่ตัวเธออีกครั้ง อารีย์ ได้โอกาสเข้าไปลองสู้ในศึกที่ยิ่งใหญ่ที่สุดโอลิมปิกเกมส์ 2004 ที่กรุงเอเธนส์ ประเทศกรีซ ซึ่งครั้งนี้เธอเดินทางไปด้วยความหวังของคนทั้งประเทศ พร้อมกับเพื่อนๆทัพยกน้ำหนักไทยอย่าง ปวีณา ทองสุก, อุดมพร พลศักดิ์ และวันดี คำเอี่ยม

 

"ก่อนเดินทางไปแข่งขันที่กรีซ ได้มีแม่ชีจากสถานปฏิบัติธรรมสวนธรรมศิลป์ ต.สะเมิงใต้ อ.สะเมิง จ.เชียงใหม่ ดูดวงให้กับนักกีฬายกน้ำหนักทั้ง 4 คน บอกว่า ปวีณา กับ อุดมพร ไม่ต้องเป็นห่วง เพราะดวงเขาได้เหรียญแน่ๆ ส่วนอารีย์กับวันดี ยังน่าเป็นห่วงเพราะดวงจะไม่ได้เหรียญ ให้บนบวชชีพราหมณ์ 3 วัน" บุษบา ยอดบางเตย นายกสมาคมยกน้ำหนักสมัครเล่นแห่งประเทศไทย เล่าให้ฟังถึงการพาลูกทีมไปหาหมอดูคนก่อนเดินทางไปแข่งขันกีฬาโอลิมปิก

 

อารีย์ เล่าว่า หลังจากที่ได้ไปดูดวง ก็ได้ไปบนไว้ที่สถานปฏิบัติธรรมสวนธรรมศิลป์ แม่ชีก็ยังทักว่าในใจต้องการปฏิบัติธรรมใช่ไหม ท่านก็เลยให้ปฏิญาณตนว่าหากได้เหรียญใดเหรียญหนึ่งจะต้องมาปฏิบัติธรรม โดยแม่ชีได้ให้องค์เจ้าแม่กวนอิมมาแขวนติดตัวและก็บูชาเอาไว้บนหัวนอนก่อนนอนก็จะเห็นทุกวันเป็นการย้ำเตือนตัวเองว่าต้องแข่งขันให้ได้ชัยชนะกลับบ้าน ยิ่งก่อนการแข่งขันเป็นเดือนก็จะสวดมนต์ นั่งสมาธินานเป็นชั่วโมง บางครั้งนอนดึกก็เพราะนั่งสมาธิ

 


อารีย์ พกความใจสู้และสิ่งยึดเหนี่ยวจิตใจไปเต็มถัง เมื่อการแข่งขันเริ่มขึ้น อารีย์ ที่เต็มไปด้วยความมั่นใจก็ไม่ทำให้คนไทยผิดหวัง สามารถคว้าเหรียญทองแดง ในรุ่น 48 กิโลกรัมหญิง มาครองได้สำเร็จ ขณะที่เพื่อนร่วมรุ่นอย่าง อุดมพร พลศักดิ์ กับปวีณา ทองสุก ก็คว้าเหรียญทอง ส่วนวันดี คำเอี่ยม ก็คว้าเหรียญทองแดงเช่นกัน เรียกได้ว่าทุกคน สร้างความภูมิใจมาสู่ชาวไทยกันถ้วนหน้า

 

หลังจากกลับมาถึงประเทศไทย อารีย์ เดินสายแก้บน และมีโอกาสได้เข้าเฝ้าพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มหิตลาธิเบศร รามาธิบดี จักรีนฤบดินทร สยามินทราธิราช บรมนาถบพิตร (รัชกาลที่ 9) นับเป็นพระมหากรุณาธิคุณอย่างหาที่สุดมิได้

 

"ตอนแรกพอรู้ว่าจะได้เข้าเฝ้าฯพระองค์ รู้สึกตื้นตันใจมากเพราะเราเป็นคนธรรมดาที่มีโอกาสได้แสดงความจงรักภักดีในฐานะที่เป็นนักกีฬาของพระองค์ท่าน วันนั้นพระองค์ท่านรับสั่งว่าภูมิใจกับนักกีฬาไทยมาก และแสดงความยินดีที่สร้างชื่อเสียงให้กับประเทศ และยินดีกับครอบครัวด้วย เป็นภาพความทรงจำที่นึกถึงแล้วอดที่จะร้องให้ไม่ได้ พระองค์ทรงเป็นแบบอย่างของนักกีฬาและชาวไทยทุกคนที่ทรงมีความจริงจัง ตั้งใจ และมุ่งมั่น"  อารีย์ เล่าความหลังอันน่าจดจำหลังจากมีโอกาสได้เข้าเฝ้ารัชกาลที่ 9 

 


หลังจากเลิกเล่นยกน้ำหนัก อารีย์ เข้ารับราชการทหาร พร้อมกับก้าวขึ้นมาเป็นโค้ชทีมยกเหล็กไทยอย่างเต็มตัว ซึ่งผลงานการคว้า 2 ทอง 1 เงิน 1 ทองเเดง ในโอลิมปิกเกมส์ 2016 ที่ริโอ เดอ จาเนโร ประเทศบราซิล จนกลายผลงานที่ดีที่สุดในประวัติศาสตร์ยกน้ำหนักไทย ส่วนหนึ่งก็ต้องชื่นชม อารีย์ ที่มีส่วนอย่างมากในการขับเคลื่อนให้เกิดความสำเร็จนี้ขึ้น

 

เชื่อเหลือเกินว่า ภายใต้การนำของ "โค้ชรี" ทัพยกน้ำหนักไทย จะประสบความสำเร็จเรื่อยๆแบบนี้ต่อไป


stadium

author

StadiumTh Team Content

StadiumTH Content Creator

stadium olympic