stadium

ปวีณา ทองสุก : จอมพลังเบอร์ 1 ตลอดกาลของวงการยกน้ำหนักไทย

17 พฤษภาคม 2567

นักกีฬาหญิงที่แข็งแกร่งที่สุดในประวัติศาสตร์วงการกีฬาไทยคงจะต้องมีชื่อของ “ไก่” ปวีณา ทองสุก จอมพลังสาวไทยรวมอยู่ด้วยแน่นอน ร้อยตรีหญิง ปวีณา ทองสุก  เกิดเมื่อวันที่ 18 เมษายน พ.ศ. 2522 ที่อำเภอศีขรภูมิ จังหวัดสุรินทร์ เป็นลูกคนที่ 2 ของนายนิรันดร์-นางสุกรี ทองสุก แรกเริ่มสัมผัสกีฬาในฐานะนักวิ่งก่อนที่จะมีการเผยแพร่กีฬายกน้ำหนักเข้ามาในโรงเรียนศีขรภูมิ จังหวัดสุรินทร์ ตอน ม. 2  อาจารย์ วินัย คำจีนศรี ตามตื๊อ ปวีณา ให้มาเป็นนักกีฬายกน้ำหนักของโรงเรียนถึง 1 ปี  แต่ “ไก่” แบ่งรับแบ่งสู้ เพราะว่า เหล็กมันหนัก และต้องช่วยแม่ทำงานบ้าน

 


“ถ้าเล่นได้ดีจะมีโควตาเรียนต่อมหาวิทยาลัย” อ.วินัย พยายามโน้มน้าวอย่างหนัก ซึ่งเหตุผลนี้ ทำให้ ไก่ ปวีณา เริ่มสนใจและอยากเล่นเพื่ออนาคตทางการศึกษา อ.วินัย เคี่ยวเข็ญปวีณา อย่างหนัก แต่ก็ยังไม่มีแวว ซูเปอร์ฮีโร่เสียที ซ้อมอยู่ 4 เดือนจนได้ไปแข่งขันชิงแชมป์ประเทศไทยที่จ.กาญจนบุรี ได้ที่ 4 ได้เงินมาจำนวนหนึ่ง ทำให้เริ่มติดใจ ไล่เก็บเกี่ยวประสบการณ์มาเรื่อยๆจนชิงแชมป์ประเทศไทย ที่สงขลา ฟอร์มเข้าตาสมาคมกีฬายกน้ำหนักสมัครเล่นแห่งประเทศไทยแม้จะไม่ได้เหรียญทองก็ตาม

 

ปวีณา เข้าสู่โครงการ “จอมพลังดาวรุ่งมุ่งเอเชียนเกมส์" เพื่อเตรียมทีมสู่ เอเชียนเกมส์ ครั้งที่ 13 ที่ไทยเป็นเจ้าภาพ ไก่-ปวีณา และพัฒนาตัวเองขึ้นมาจนเป็นนักกีฬาหมายเลข 1 ของสมาคมเป็นแชมป์กีฬาแห่งชาติหลายสมัย ก่อนจะลงแข่งในนามทีมชาติรายการแรกในซีเกมส์ที่อินโดนีเซีย ในปี 1997 และสามารถคว้าเหรียญทองในรุ่น 70 กก.ได้ทันที แต่เป้าหมายในโครงการนั้น ปวีณา ล้มเหลว เพราะ เอเชียนเกมส์ ครั้งที่ 13 ที่ไทยนั้น ไม่มีเหรียญติดมือ เนื่องจากความกดดันเล่นงานเธอเข้าเต็ม ๆ และ 7-8 ปี หลังจากนั้น ไก่ ปวีณา ยังไม่มีความสำเร็จเป็นชิ้นเป็นอัน ทั้งที่เวลาซ้อมทำได้ดี แต่เวลาแข่งกลับไม่สามารถรักษาระดับของตัวเองเอาไว้ได้ 
 

 

ความผิดหวังของปวีณาตามไปถึงโอลิมปิกเกมส์หนแรกในปี  2000 ที่ซิดนีย์ประเทศออสเตรเลียด้วย เธอทำได้ดีที่สุดคืออันดับ 6 หลังจากนั้น ในปี 2001 ปวีณาเริ่มคิดถึงเรื่องการเลิกเล่นแล้วจนกระทั่งได้คนเข้ามาดูแลเรื่องจิตวิทยาคือดร.วิชิต เมืองนาโพธิ์ เข้ามาปรับทัศนคติของเธอใหม่หมด  และด้วยการที่ปวีณา พยายามเล่นกีฬาเพื่อการเรียนเพราะต้องการเรียนให้จบปริญญาตรี ทำให้สภาพจิตใจของเธอเปลี่ยนไปอย่างมาก มุมมองต่อการเล่นกีฬากลับมาเป็นบวกอีกครั้ง


ปี 2002 ปวีณา ไปเอเชียนเกมส์ ครั้งที่ 14 ที่ปูซาน เกาหลีใต้ในปี 2002 แบบไร้ความกดดัน และคว้าเหรียญเงินมาอย่างพลิกความคาดหมาย จากนั้นยังแรงต่อเนื่องด้วยการคว้าแชมป์โลกปี 2003 ที่ประเทศโปแลนด์ ผลงานดีวันดีคืน โอลิมปิกเกมส์ ที่กรีซ ในปี 2004 ปวีณา ฝันถึงโอลิมปิกเกมส์ ครั้งที่ 2 ในชีวิตว่าจะคว้าแชมป์ให้ได้เพราะ สถิติที่ซ้อมมานั้น ดีพอที่จะเอาชนะทุกคนในรุ่น แต่พอไปเห็นตัวเลขคู่แข่งในวันแข่งขันกลับเป็นคนละเรื่อง เพราะสถิติคู่แข่งก็ดีพอๆกัน

 


“ช่างมัน เขาจะเอาไปก็ไม่เป็นไร ทำให้ดีที่สุดก็พอ” ไก่ ปวีณา เลือกจะทิ้งความกดดัน ไว้ข้างสนาม และขึ้นไปยกแบบไม่มีอะไรจะเสีย


แต่กลับทำได้ดีเกินคาด ปวีณา คว้าเหรียญทองรุ่น 75 กก.กลายเป็นนักกีฬาหญิงที่สามารถเหรียญทองได้เป็นคนที่ 2 ต่อจาก อุดมพร พลศักดิ์ ที่ได้ไปก่อนหน้านั้น 5 วัน แถมท่าคลีนแอนด์เจิร์ก ปวีณา ทำไป 150 กก. ทำลายสถิติโอลิมปิกเกมส์อีกด้วย และจากผลงานในโอลิมปิกเกมส์ทำให้ปวีณาได้รับเลือกจากสหพันธ์ยกน้ำหนักนานาชาติให้เป็นนักกีฬายอดเยี่ยมของการแข่งขันโอลิมปิกเกมส์ครั้งนั้น


ปวีณา ยังแรงต่อเนื่องในช่วงเวลาของเธอยังคว้าเหรียญทอง เอเชียนเกมส์ รุ่น 63 กก. ที่กาตาร์ในปี 2006 และเมื่อรวมกับเหรียญทองชิงแชมป์โลก ในรุ่น 69 กก.ในปี 2002 ที่โปแลนด์ ทำให้กลายเป็นนักกีฬาหญิงคนแรกในประวัติศาสตร์ที่สามารถคว้าแชมป์ 3 รุ่นได้สำเร็จ ก่อนที่ ปวีณา จะประกาศเลิกเล่นเนื่องจากอาการบาดเจ็บเรื้อรังในปี 2551 ส่วนชีวิตหลังอำลาวงการ ปี 2553 เธอเข้าประตูวิวาห์กับ ท็อป สาเรส ลิ่มกังวาฬมงคล อดีตนักกีฬาฟันดาบทีมชาติไทยหลังคบหากันมา 6 ปี


stadium

author

StadiumTh Team Content

StadiumTH Content Creator

stadium olympic