stadium

อุดมพร พลศักดิ์ นักกีฬาหญิงไทยคนแรกที่คว้าเหรียญทองโอลิมปิก

17 กุมภาพันธ์ 2563

หลังจาก “สมรักษ์ คำสิงห์” และ “วิจารณ์ พลฤทธิ์” สามารถคว้าเหรียญทอง โอลิมปิกเกมส์ 1996 และ 2000 ได้ตามลำดับ ในปี 2004 ก็ถึงคิวของประวัติศาสตร์นักกีฬาหญิงบ้าง 15 สิงหาคม ปีพ.ศ. 2547 ช่วงเวลาราวๆ 2 ทุ่มในประเทศไทย เป็นช่วงเวลาดีที่แฟนกีฬาสามารถดูการถ่ายทอดสดโอลิมปิกเกมส์ “เอเธนส์ 2004” ได้โดยไม่ต้องอดตาหลับขับตานอน ซึ่งเวลานั้น เป็นเวลาของ “อร สู้โว้ย” อุดมพร พลศักดิ์ จอมพลังสาวจากเมืองย่าโม

 

อุดมพร พลศักดิ์ นักกีฬายกน้ำหนักทีมชาติไทย เกิดเมื่อวันที่ 6 ตุลาคม พ.ศ. 2524 ที่จังหวัดนครราชสีมา แรกสัมผัสกับกีฬายกน้ำหนักนั้น อุดมพร ยังเป็นนักกีฬาวิ่งของ รร.บุญวัฒนา ไม่มีท่าทีอยากจะรู้จักกับกีฬานี้ แต่ก็ยังไปเฝ้าดูการสาธิตเล่นกีฬานี้ของครูฝึกสอน จ.ส.ต. สมาน วารี ในโรงเรียนวันนั้นอยู่ห่างๆ ซึ่งหน่วยก้านของ อุดมพร เข้าตาครูฝึกสอนและพยายามตามตื้อให้มาเล่นกีฬายกน้ำหนักอยู่นานโข สาวอร ก็ยังไม่ยอมเสียทีเพราะ “เหล็กมันหนักนะครู”

 

 

แต่สุดท้าย สมาน เดินทางไปที่บ้านของ อุดมพร เพื่อคุยกับพ่อสมศักดิ์ -  แม่ศศิธร พลศักดิ์ จนพ่อกับแม่ยอมปล่อยไปและเมื่อเริ่มเล่นกีฬายกน้ำหนักแล้ว ก็ใช่ว่าจะราบรื่น เพราะแค่เดือนแรกๆ อร อุดมพร ก็แทบจะหันหลังถอดใจ เนื่องจากการซ้อมอันหนักหนาสาหัส จนพ่อ สมศักดิ์ ต้องปลอบใจและปลุกใจให้สู้ต่อ ต้องเล่นกีฬาเพื่ออนาคต

 

จากนั้นอีกเพียง 3-4 เดือน อุดมพร ในวัยแค่ 15 ปี ก็จับผลัดจับผลูเป็นตัวแทนโรงเรียนไปแข่งขันแม้ไม่ได้เหรียญไม่ได้โดดเด่น แต่สมาคมยกน้ำหนักแห่งประเทศไทยในยุคของ พลเอกชัยณรงค์ หนุนภักดี เป็นนายกสมาคม กลับเรียก อุดมพร เข้าแคมป์ “ดาวรุ่งมุ่งโอลิมปิกเกมส์” รุ่นเดียวกับ ปวีณา ทองสุก และเป็นนักกีฬาที่อายุน้อยที่สุดในทีม จากเดินทางจากบ้านเข้ากรุงเทพนั้นทำให้ครอบครัวต้องคิดหนัก แต่แม่ศศิธร ซึ่งเคยเดินทางไปทำงานในต่างประเทศ เห็นว่าเป็นโอกาสดีที่ลูกจะได้เผชิญโลกด้วยตัวเอง

 

อุดมพร เดินทางเข้ากรุงเทพฯ โดยเป็นนักกีฬารุ่นแรกของสมาคมที่มีเงินเดือนเลี้ยงชีพ เดือนละ 10,000 บาท ซึ่งหลังหักค่าข้าวมื้อละ 50 บาท แล้วเหลือเงินไว้ใช้ถึง 7,900 บาท ซึ่งแน่นอนว่า ถือว่ามากเหลือเกินสำหรับเด็กยังไม่จบ ม. 6 ด้วยซ้ำ แต่ก็ถือว่าหนักหนาทีเดียวกับการฝึกซ้อมของนักกีฬายกน้ำหนักที่ต้องยกเหล็กวันๆนึงรวมกันเป็นหมื่นๆกิโลกรัม

 

จนมาถึงเป้าหมายของนักกีฬาล็อตนี้ “เอเชียนเกมส์ ครั้งที่ 13” ที่ไทยในปี พ.ศ.  2541  อุดมพร ลงแข่งขันในพิกัด 48 ก.ก.หญิง ซึ่งถือเป็นแมตช์เปิดตัวทีมชาติสำหรับนักกีฬาที่ไม่เคยผ่านซีเกมส์มาก่อนด้วยซ้ำ ด้วยปัญหาทางเทคนิคในการเรียกน้ำหนักในท่าสแนตช์ อุดมพร พลาดท่าไป ทั้งที่ควรจะยกได้ 80 ก.ก. แต่ได้สถิติที่ 77.5 ก.ก. และยกท่าคลีนแอนด์เจิร์ก ยกได้ 100 ก.ก. และ อุดมพร ต้องมามาเจ็บใจซ้ำ เพราะหากเธอยกสแนตช์ได้ตามเป้าที่ซ้อมมา 80 ก.ก. เธอจะยกเท่ากับ ศรี อินดริยาน่า จอมพลังจากอินโดนีเซีย แต่ด้วยน้ำหนักตัวที่มากกว่า 0.8 กรัม ทำให้เธอได้แค่อันดับ 4 เท่านั้น

 

ความผิดหวังจาก เอเชียนเกมส์ ทำให้เธอเสียหลักอย่างหนัก เธอร้องไห้เป็นร้อยๆครั้ง และโทษทุกสิ่งทุกอย่างรอบตัว จนเกือบจะเก็บข้าวของออกจากแคมป์ทีมชาติอีกครั้ง พอตั้งหลักได้สิ่งที่อุดมพรเลือกจะโยนความผิดให้คือตัวเอง และหันหน้าสู้โว้ยอีกครั้ง

 

อุดมพร เปลี่ยนพิกัดเป็น 53 ก.ก. และเริ่มออกสตาร์ตคว้าเหรียญทองกีฬาเยาวชนโลก ที่บัลแกเรีย, 3 เหรียญเงินเอเชียนเกมส์ ครั้งที่ 13 และ 3 เหรียญเงินเอเชียนเกมส์ ครั้งที่ 14 ที่เกาหลีใต้, เหรียญทองชิงแชมป์โลก , เหรียญทองกีฬามหาวิทยาลัยโลกที่อิตาลี , 2 เหรียญทอง 1 เหรียญทองแดง ยกน้ำหนักชิงแชมป์โลก 2003 ที่เมืองแวนคูเวอร์ ประเทศแคนาดา, เหรียญทองซีเกมส์ ครั้งที่ 22 ที่เวียดนามในปี 2003

 

 

และเวลาที่เธอรอคอยนับตังแต่จับเหล็กยกครั้งแรกจนอีก 14 ปีต่อมา อุดมพร ผงาดเป็นนักกีฬาหญิงไทยคนแรกที่สามารถคว้าเหรียญทองโอลิมปิกเกมส์ ได้อย่างสง่างามที่สุด ในท่าสแนตช์ได้ 97.5 กก. ท่าคลีนแอนด์เจิร์กได้ 125 กก. รวม 222.5 กก. โดยเป็นการทำลายสถิติโอลิมปิก ในท่าคลีนแอนด์เจิร์กของประเภทนี้พร้อมกับวลีติดปาก “สู้โว้ย” ซึ่งน้องอรเล่าว่า พูดขึ้นมานอกจากเพื่อสร้างขวัญและกำลังใจแล้ว ยังเพื่อระบายความเครียดออกมาก่อนขึ้นยกน้ำหนัก

          

เรื่องราวหลังจากกลายเป็นวีรสตรีคนแรกนั้นเริ่มต้นด้วยดราม่า เมื่อ น้องอร อยู่ต่อที่กรีซ เพื่อรอเพื่อนแข่งต่อ แต่เหรียญทองนั้นไม่อยู่กับเธอแล้ว เพราะ นายสุวัจน์ ลิปตพัลลภ รองนายกรัฐมนตรีในเวลานั้น นักการเมืองดังโคราชนำเหรียญทองของ อุดมพร กลับมาอวดที่เมืองประเทศไทย ระหว่างการประชุม ครม. ก่อนที่ตัวเจ้าของเหรียญทองจะกลับมาไทยเสียอีก ท่ามกลางเสียงวิจารณ์ด้านลบมากมายชนิดที่ว่าถ้าวันนั้นมีโซเชียลเน็ตเวิร์กไม่รู้ว่าเหตุการณ์จะลุกลามบานปลายขนาดไหน

 

ก่อนที่จะคลี่คลายเมื่อ นายสุวัจน์ ชี้แจงว่าเหรียญดังกล่าวไม่ใช่ทองแท้ จึงนำเหรียญทองกลับมาทำบล็อก เพื่อทำเหรียญทองแท้ให้กับอุดมพร และส่งคืนไปยังกรีซทันทีในวันรุ่งขึ้นหรือแม้แต่ดราม่าชีวิตเธอเอง ที่ความโด่งดังในวันนั้นถูกสื่อมวลชนถามเรื่อง คู่รัก แต่ความไม่รู้ อุดมพร รับมือไม่ถูกจึงหลุดปากพูดไปว่า ไม่มีแฟน ทำเอา ชัยรัตน์ ล้อประเสริฐการ แฟนหนุ่ม ที่คบหากันมา 8 ปี น้อยใจและเกือบจะเลิกรา แต่สุดท้ายทั้งคู่ก็เข้าประตูวิวาห์กันในเวลาต่อมา(21 พ.ย. 2551)

 

 

ความดังของ อุดมพร ยังลามไปถึงกับมีการแต่งเพลง “สู้โว้ย”  ขับร้องโดย “เบนซ์ จูเนียร์” ที่เพลงก็ดังไม่แพ้กัน หลังจากนั้น อร ได้รับราชการทหารยศปัจจุบันพันตรีรับราชการในตำแหน่งนายทหาร แผนกประวัติบำเหน็จบำนาญ ช่วยราชการกองยุทธการ มณฑลทหารบกที่ 21 ค่ายสุรนารี นครราชสีมา และทำธุรกิจหอพักอยู่ที่บ้านเกิด จังหวัดนครราชสีมา อุดมพร แทบจะหันหลังให้ทีมชาติทันที เพราะอาการบาดเจ็บเรื้อรัง ที่หมอนรองกระดูกข้อที่ 4-5 ห่าง โดยแพทย์แนะนำว่า “หลีกเลี่ยงการยกของหนัก”


stadium

author

StadiumTh Team Content

StadiumTH Content Creator

La Vie en Rose
stadium olympic