stadium

เกษราภรณ์ สุตา จุดเริ่มต้นความยิ่งใหญ่ยกน้ำหนักไทยในโอลิมปิก

15 กุมภาพันธ์ 2563

เกษราภรณ์ สุตา จอมพลังสาวทีมชาติไทยเกิดเมื่อ 12 ธันวาคม  2514 ที่ อำเภองาว จ.ลำปาง เป็นลูกสาวเจ้าของโรงสีสุตา แรกเริ่มเดิมทีเล่นกีฬาวอลเลย์บอล ที่ ร.ร.ดอนชัย ที่จ.เชียงราย และพอมัธยมต้นและปลายเล่นกีฬาหลากหลายมากขึ้น เอาดีทังบาสเกตบอล, วิ่งระยะสั้น 100 ม. ถึงขั้นเป็นแชมป์โรงเรียน แถมด้วยเหรียญทอง ทุ่มน้ำหนักอีกต่างหาก


เกษ มีพื้นฐานร่างกายที่ดี เพราะช่วยงานโรงสีที่บ้านเป็นประจำ หนักเอาเบาสู้ทำงานทุกแขนงรวมทั้งแบกกระสอบข้าวสารอยู่บ่อยๆ ทำเอาคนในบ้านถึงกับตะลึงกับความแข็งแรงของเธอ กระทั่งชีวิตเดินทางมาเจอกับกีฬายกน้ำหนักที่วิทยาลัยพลศึกษาเชียงใหม่ มีรุ่นพี่เป็นจอมพลังรุ่นแรกๆของไทย ทั้ง วาสนา ปุจฉาการ, รัชนี บุญมาเลิศ, สง่า วังคีรี, ประเสริฐ สุ่มประเดิษฐ์ (อาของ ศรัท สุ่มประดิษฐ์ จอมพลังทีมชาติปัจจุบัน ที่เคยได้อันดับ 4 โอลิมปิกเกมส์) ซึ่งเป็นทีมชาติชุดเก็บตัวไป เอเชียนเกมส์ ปักกิ่ง เฝ้ามองอยู่สักพักเกิดประทับใจกึฬายกน้ำหนักขึ้นมา เลยรวบรวมความกล้าเดินเข้าไปขอเล่นกีฬายกน้ำหนักเสียเลยและโค้ชให้เข้ามาร่วมฝึกซ้อมฝึกสอนเบสิคให้ตังแต่ต้น

 

 

แต่ก็ไม่ได้รับไฟเขียวจากครอบครัว เพราะกังวลว่า เกษ จะได้รับบาดเจ็บ แต่เธอก็พยายามอธิบายให้ทางบ้านเข้าใจว่ากีฬายกน้ำหนัก จะเป็นกีฬาที่ได้รับความนิยมในอนาคต เนื่องจากจีนหันมาเล่นกีฬายกน้ำหนักกันหมดแล้ว ใช้เวลาอยู่เพียง 3 เดือน เกษราภรณ์ กลายเป็นจอมพลังหญิงของสถาบันลงแข่งขันในกีฬาวิทยาลัยพลศึกษาใน 17 วิทยาเขต และคว้าเหรียญทองได้ในทันที แถมทำลายสถิติถล่มทลาย แค่แมตช์แรกได้เหรียญทองก็ยิ่งได้ใจ แถมสมาคมยกน้ำหนักก็เรียกตัวติดทีมชาติอย่างรวดเร็วและกลายเป็นตัวทีมชาติชุดซีเกมส์ ครั้งที่ 16 ที่ฟิลิปปินส์ ในปี 2536 ได้เหรียญทองแดงคล้องคอ

 

เป้าหมายต่อไปคือ เอเชียนเกมส์ ที่ฮิโรชิม่า คว้าเหรียญเงินในรุ่น 59 ก.ก. แต่ เอเชียนเกมส์ ในบางกอกเกมส์ 1998 ที่ประเทศไทย ได้เหรียญทองแดง เกษ ยอมรับว่าความกดดันทำให้เกิดข้อผิดพลาดมากมาย ก่อนจะมาแก้ตัวด้วยการคว้าสิทธิ์ไปแข่งขัน “ซิดนีย์ 2000” โอลิมปิกเกมส์ ครั้งที่ 27 ที่กรุงซิดนีย์ ประเทศออสเตรเลีย ในรุ่น 58 กก. ภายใต้การดูแลของ หาน ฉาง เหม่ย โอลิมปิกเกมส์ครั้งนั้นเป็นครั้งแรกที่มีการบรรจุกีฬายกน้ำหนักหญิงเข้าร่วมการแขงขันด้วย แต่สภาพร่างกายของ เกษราภรณ์ ในเวลานั้นไม่สมบูรณ์มากนัก

 

 

อย่างไรก็ตามเธอ ตั้งเป้าหมายที่จะคว้าเหรียญใดเหรียญเหรียญหนึ่งมาเป็นของขวัญวันเกิดให้ กิ่งกาญจน์ น้องสาว สถานการณ์ในซิดนีย์เกมส์ ไม่เอื้ออำนวยนัก เพราะทั้งอาการบาดเจ็บ ตะคริวกินในช่วงแข่งขัน แต่ยังกัดฟันสู้ยก สแนตซผ่านด้วยสถิติ 92.5 ก.ก. ต่อด้วย คลีนแอนด์เจิร์ก 117.5 ก.ก. น้ำหนักรวม 210 กก. คว้าเหรียญทองแดงมาครอง เป็นผู้หญิงคนแรกที่สามารถประสบความสำเร็จในโอลิมปิกเกมส์ ยุคนั้นเงินอัดฉีดอาจจะไม่มากนัก เพราะเธอเอาเงินให้ครอบครัวหมด และแม่เปิดปั้มน้ำมันให้รวมทั้งเปิดร้านกาแฟสด แต่ก็ทำให้ เกษราภรณ์ ได้รับโอกาสมากมาย


เธอ ได้รับบรรจุเข้าเป็นข้าราชการในตำแหน่งหัวหน้าแผนกวิชาการกองการกีฬากองทัพเรือ ทำหน้าที่สอนวิชาพละศึกษาพร้อมกับดูแลเรื่องการเช่าศูนย์ออกกำลังกาย ของกองทัพเรือ ความสำเร็จจาก เกษราภรณ์ แม้จะเป็นแค่เหรียญทองแดง แต่มันเป็นแรงบันดาลใจให้ไทย มีจอมพลังหญิงเกิดขึ้นมามากมายในอีก 4 ปีต่อมา ทั้ง ปวีณา ทองสุข, อุดมพร พลศักดิ้, อารี วิรัฐถาวร, วันดี คำเอี่ยม 


stadium

author

StadiumTh Team Content

StadiumTH Content Creator

stadium olympic