9 พฤษภาคม 2567
ประวัติศาสตร์ที่ “โม้อมตะ” สมรักษ์ คำสิงห์ สร้างขึ้นในโอลิมปิกเกมส์ 1996 ด้วยการคว้าเหรียญทองแรกให้กับประเทศไทย อีกมุมหนึ่งยังมีนักชกตัวเล็กๆจากขอนแก่นที่ประสบความสำเร็จในช่วงเวลาไล่เลี่ยกันด้วย นั่นก็คือ วิชัย ราชานนท์ หรือวิชัย ขัดโพธิ์
วิชัย ขัดโพธิ์ เกิดเมื่อ 31 มีนาคม 2511 ที่ ต.บ้านบึง อ.หนองเรือ จ.ขอนแก่น จังหวัดที่สร้างนักกีฬาระดับประเทศมากมาย ครอบครัวค่อนข้างขัดสน แต่พ่อเคลื่อนและแม่สมัยก็สู้เต็มที่เพื่อส่ง “วิชัย” เรียนหนังสือ ซึ่งเจ้าตัวก็ตั้งใจเรียน แถมหัวดี ทางบ้านทุ่มกำลังทรัพย์ส่งอย่างสุดความสามารถ
แม้จะชอบเล่นกีฬาฟุตบอล ตะกร้อ กรีฑา แต่ตลอดเวลา วิชัย ฝึกเชิงมวยไทยกับ พ่อเคลื่อน อยู่เป็นประจำ วิชัยเองก็ฉายแววตั้งแต่ไฟต์แรกตอนอายุราวๆ ป.4-5 เท่านั้น ได้ค่าตัวครั้งแรก 20 บาทถ้วน จนเตะตา วัฒนา กลัดอ่ำ หัวหน้าค่ายมวยลูกอาทิตย์ และตั้งชื่อให้ว่า "ชิงชัย ลูกอาทิตย์” แต่ชีวิตผกผันถอดแองเกิ้ลมวยไทยมาสวมเสื้อกล้ามเพราะระหว่างที่ชกมวยไทย ร.ท. ไฉน ผ่องสุภาอัจฉริยะ หัวหน้าคณะ “ศศิประภายิม” เกิดประทับใจเชิงมวยและทาบทามมาปั้นต่อในสังกัดโอสถสภา ในพิกัด พินเวต ที่กำลังขาดอยู่
จากนั้นจึงยุติเส้นทางมวยไทยที่ชกมา 7 ปี ต่อยให้ โอสถสภา จนคว้าแชมป์ประเทศไทยในสมัยแรก และเป็นตัวแทนเขต 4 ได้เหรียญทองแดงกีฬาแห่งชาติที่ร้อยเอ็ด ในปี 2529 ป๋าไหน แนะนำให้เข้ากองทัพบก แต่ วิชัย มองว่าทัพบกมวยดังเยอะโอกาสสอดแทรกยาก จึงตัดสินใจเอาดีกรีที่มีไปสมัครกองทัพอากาศ ที่โรงเรียนจ่าอากาศ นอกจากมองว่ามีโอกาสมากกว่าแล้ว “วิชัย” เลือกจะเดินตามฮีโร่ของเขา เพราะ “ปิยะพงศ์ ผิวอ่อน” นักฟุตบอลทีมชาติไทยที่กำลังดังเป็นพลุแตก เคยให้สัมภาษณ์ว่า เป็นนักเรียนจ่าอากาศ รุ่น 19 อยู่ในเวลานั้น อย่างไรก็ตาม อัตราเงินเดือน 1,950 บาท ไม่เพียงพอจะยื่นเงินกู้มาช่วยทางบ้านได้ ทำให้ วิชัย มองว่าจะมัวแต่พึ่งพาเงินตรงนี้ไม่ได้แล้ว เส้นทางเดียวคือการตั้งหน้าตั้งตาชกเพื่อให้ติดทีมชาติ หาเงินมาปลดหนี้ให้ได้
ระหว่างนั้น วิชัย มวยดาวรุ่งอยู่ภายใต้ ร.ท.ไฉน โดยมี ต่อศักดิ์ ผ่องสุภา ลูกชายคนที่สองของ ร.ท.ไฉน และเป็นยอดมวยสากลสมัครเล่นเป็นรุ่นพี่ ที่คอยดูแลเป็นพี่เลี้ยงกระทั่งมวยคิงส์ คัพ วิชัย จัดการรุ่นใหญ่ทีมชาติทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็น พะเนียง พูนธรัตน์, สุภาพ บุญรอด, บุญเหลือ นนทิจันทร์ และเส้นทางของมวยสากลทำให้ วิชัย และ ต่อศักดิ์ ต้องมาห้ำหั่นกันเอง ต่อศักดิ์ ถือเป็นว่าที่นักชกโอลิมปิกเกมส์ 1988 ตัดเชือกกับ วิชัย ภาษีของต่อศักดิ์ข่มจมหู แต่ วิชัย เดินหน้าสู้พลิกเอาชนะ ต่อศักดิ์ เกินคาด ก่อนจะผ่านเข้าไปรอบชิงฯ และ เอาชนะ รัสเซีย คว้าแชมป์คิงส์คัพปี 2530 มาครอง
เหตุการณ์ดังกล่าวทำให้ สมาคมมวยสากลสมัครเล่น ต้องพิจารณาตัวทีมชาติกันใหม่ เพราะต้องคัดคนที่ดีที่สุดไปโอลิมปิก ผลการชกในรอบรองฯ ทำให้ วิชัย ก้าวขึ้นมาแทนที่ต่อศักดิ์ ไปโอลิมปิกเกมส์ที่กรุงโซล ประเทศเกาหลีใต้ ในปี 1988 เป็นการเดินทางไปต่างประเทศครั้งแรก แม้จะเก่งกาจระดับประเทศ แต่กระดูกวิชัยในเกมระดับนั้นยังห่างชั้น แถมยังใหม่เหลือเกินในพิกัด 51 ก.ก. วิชัย วัย 19 ปี ตกรอบแรกก่อนเพื่อน ปีนั้นผจญ มูลสัน คือนักมวยไทยคนเดียวที่มีเหรียญ เป็นเหรียญทองแดงกลับไทย แต่สิ่งที่ดีที่สุดในโอลิมปิกเกมส์ครั้งนั้นคือ วิชัย ได้เงินรางวัลและเบี้ยเลี้ยงมากพอที่จะปลดหนี้ 1.5 แสนบาทจากที่พ่อถูกหลอกไปขายแรงงานที่ซาอุดีอาระเบียให้กับครอบครัวได้
ฟอร์มของวิชัยถือเป็นตัวเต็งทุกรายการ แต่ เหมือนมีอาถรรพ์ เอเชียนเกมส์ที่ปักกิ่ง ในปี 1990 (พ.ศ.2533) วิชัยทำได้แค่เหรียญทองแดง โอลิมปิกเกมส์ครั้งที่ 2 ของวิชัยที่ บาร์เซโลน่า ประเทศสเปน ในปี 1992 ก็มาตกรอบแพ้แตก เพราะดันไม่ใส่เฮดการ์ดของตัวเอง แต่ไปใส่ของ ประมวลศักดิ์ โพธิ์สุวรรณ ที่กระชับกว่า แต่พื้นที่หน้าผากเปิดกว้าง ซีเกมส์ปีต่อมาที่ ฟิลิปปินส์ ในปี 1993 ก็ไม่ติดเหรียญ เช่นเดียวกับ เอเชียนเกมส์ ที่ฮิโรชิม่าในปี 1994 ก็ได้แค่เหรียญทองแดงเหมือนเดิม
วิชัย ท้อมาก และอยากจะเลิกแล้ว เพราะลดน้ำหนักในพิกัด 51 ก.ก.ไม่ไหวแล้ว เจ้าตัวลดจนหนังท้องติดกระดูก ก็ยังไม่ได้ตามพิกัด แล้วสมาคมจึงส่งไปเรียนโค้ชที่คิวบาเป็นเวลา 5 เดือน แต่พอกลับมาก็ยังไม่ได้เป็นโค้ช เพราะสมาคมปรับแผน เอาประมวลศักดิ์ไปชก 51 กก.แทน แล้วดัน วิชัย ไปชก 54 กก. กระทั่ง “เสธ.วีป” ทวีป จันทรโรจน์ นายกสมาคมมวยสากลสมัครเล่นในเวลานั้น ทักเรื่องเปลี่ยนชื่อ หรือ นามสกุล เพราะ “ติด ๆ ขัด ๆ” ตลอดเวลา วิชัย กลับมานั่งคิด คงไม่เปลี่ยนชื่อแน่นอน เพราะเป็นชื่อที่พ่อแม่ตั้งให้ และความหมายดีอยู่แล้ว จึงเลือกเปลียนไปใช้นามสกุลแม่ “ราชานนท์”
ไม่เชื่อก็ต้องเชื่อ “วิชัย” แก้เคล็ดได้สำเร็จ หลังจากนั้น มีเหรียญทอง ซีเกมส์ที่เชียงใหม่ และดีวันดีคืนในพิกัดแบนตัมเวต 54 กก. และมาถึงโอลิมปิกเกมส์ ครั้ง 3 ของวิชัย ที่แอตแลนตา, สหรัฐอเมริกา ว่ากันว่า วิชัย ซึ่งไปแบบไม่มีความหวังแล้ว แต่ เพื่อน ๆ ในทีมชาติ รวมถึง สมรักษ์ คำสิงห์ ซึ่งสนิทสนมกันมาก เนื่องจากอยู่ร่วมค่ายกันมานาน พร้อมใจกันทำข้อตกลงร่วมกันว่า เงินรางวัลของนักชกที่ประสบความสำเร็จในโอลิมปิกเกมส์ครั้งนี้เพื่อน ๆ จะได้รับส่วนแบ่งจำนวนหนึ่งด้วย
แอตแลนตาเกมส์ วิชัย ประเดิมรอบแรก ชนะคะแนน เคบลาเด้ แลมเบิร์ต จากแคนาดา 12-2 , รอบสอง ชนะคะแนน บาเร็ต คาร์ลอส จากเวเนซุเอาลา 14-6, รอบก่อนรองชนะเลิศที่เป็นรอบชิงเหรียญทองแดง ชนะคะแนน ไฮแคม นาฟิล จากโมร็อกโก 13-4 แต่ว่าในรอบรองชนะเลิศวิชัยแพ้คะแนน อิสวานต์ โคแว็ค จากฮังการี 7-12 ชวดโอกาสเข้าชิงเหรียญทองและนั่นก็เพียงพอที่จะทำให้ วิชัย ได้เหรียญทองเแดงโอลิมปิกที่รอคอย และไม่กี่วันจากนั้น สมรักษ์ ก็คว้าเหรียญทองให้ประเทศได้อีกเหรียญ ทำให้เป็นครั้งแรกที่ทัพไทยได้เหรียญมากกว่า 1 เหรียญในโอลิมปิกเกมส์
สมรักษ์ และ วิชัย ทำตามข้อตกลงคือ แบ่งเงินรางวัล 2 แสนให้เพื่อนอีก 5 คน ส่วน วิชัย เติมให้อีกจ่าย 1 แสนบาท ครั้งนั้น เงินรางวัลอัดฉีดไม่ได้มากมายเท่าสมัยนี้ ว่ากันว่าเงินรางวัลได้มาราว ๆ 6 ล้านบาท ซึ่งก็มากพอที่จะทำให้ วิชัย ขัดโพธิ์ ตั้งตัวได้ และตัดสินใจเลิกชกทันที
วิชัย เล่าว่าเมื่อครั้งมีโอกาสเข้าเฝ้า พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 พระองค์ทรงตรัสว่า วิชัย ถ้าเลิกมวยแล้วขอให้เป็นแบบอย่างที่ดี แล้วก็ช่วยสร้างน้อง ๆ ให้เป็นตัวแทนทีมชาติต่อไป
หลังแขวนนวม วิชัย เข้ารับราชการในกองทัพอากาศ ในตำแหน่ง หัวหน้าแผนก ตำราและช่วยเครื่องฝึก กองวิทยาการ กรมควบคุมการปฏิบัติทางอากาศ ในยศ นาวาอากาศโท เคยพยายามจะเล่นการเมืองสองครั้งแต่ก็ไม่สำเร็จก่อนจะมาเปิดค่ายมวย ราชานนท์ (ซอยเพิ่มสิน 16 สายไหม) ซึ่งถือเป็นค่ายมวยอันดับต้น ๆ ของประเทศ สร้างนักมวยรุ่นใหม่ และยอดมวยไทยประดับวงการมากมายในที่สุด
TAG ที่เกี่ยวข้อง