stadium

ทำความรู้จักกีฬาเรือแคนูในโอลิมปิก

28 กุมภาพันธ์ 2563

นอกจากกีฬาทางน้ำอย่างการแข่งเรือใบแล้ว ยังมีกีฬาที่ใช้เรืออีกประเภทหนึ่ง แต่อาศัยความชำนาญที่ต่างออกไป เพราะในขณะที่เรือใบใช้ความชำนาญในการอ่านทิศทางลม แนวคลื่น และทักษะการเดินเรือ นักพายเรือแคนูต้องเน้นการออกแรง และความสามัคคีในการคว้าชัยชนะ

 

แล้วการแข่งกีฬาเรือแคนูในโอลิมปิกมีที่มาอย่างไร ใครคือนักกีฬาที่น่าสนใจ และในโตเกียว 2020 มีการแข่งขันเรือแคนูกี่ชนิด ติดตามได้ที่นี่

 

กีฬาเรือแคนูกับโอลิมปิก

 

กีฬาเรือแคนูในปัจจุบันแบ่งออกเป็น 2 ประเภทคือ สปรินต์ กับ สลาลอม โดยอย่างแรกนั้นเป็นกีฬาสาธิตในโอลิมปิกปี 1924 ที่กรุงปารีส เป็นเจ้าภาพ ก่อนจะต้องรอจนถึงการแข่งที่กรุงเบอร์ลินในปี 1936 ถึงจะได้บรรจุเป็นกีฬาชิงเหรียญทองอย่างเป็นทางการ ซึ่งมีการแข่ง 9 รายการ โดยมีระยะไกลสุดถึง 10,000 เมตร ส่วนปัจจุบันระยะไกลสุดคือ 1,000 เมตร

 

ขณะที่การแข่งประเภทหญิงมีขึ้นเป็นครั้งแรกในปี 1948 ซึ่งใน โตเกียว 2020 ถือเป็นวาระครบรอบ 20 สมัยของกีฬาเรือแคนูที่มีแข่งในโอลิมปิก โดยตลอดหลายปีที่ผ่านมา มีการเพิ่มหรือลดประเภทการแข่งมาตลอด ซึ่งในปีนี้จะมีการแข่ง แคนูหญิง 1 ฝีพายระยะ 200 เมตร และ แคนูหญิง 2 ฝีพายระยะ 500 เมตร เป็นครั้งแรกในโอลิมปิก

 

ส่วนประเภทชายมีการตัดทอน คายัค 4 ฝีพาย 1,000 เมตร เป็น 500 เมตร ขณะที่ แคนูชาย 1 ฝีพาย ระยะ 200 เมตร และ คายัค 2 ฝีพาย ระยะ 200 เมตร ก็ถูกเอาออกจากโปรแกรมเพื่อให้มีความเสมอภาคทางเพศ

 

ด้านประเภทสลาลอม มีการแข่งในโอลิมปิกครั้งแรกคือปี 1972 ที่นครมิวนิค ประเทศเยอรมนี ก่อนจะหายหน้าหายตาไปกว่า 20 ปี เนื่องจากมีอุปสรรคในเรื่องสนามแข่งขัน ก่อนจะกลับมามีบรรจุแข่งอีกครั้งที่นครบาร์เซโลน่าในปี 1992 ถึงปัจจุบัน

 

รูปแบบการแข่งขันใน โตเกียว 2020

 

ประเภทสปรินต์ที่แข่งในผืนน้ำที่ราบเรียบ มีเรือ 2 แบบคือ คายัค และแคนู โดยคายัคนั้น นักกีฬาจะนั่งในเรือพร้อมไม้พายที่มีใบพายคู่ บังคับทิศทางโดยการใช้เท้าคุมหางเสือ ส่วนแคนูนักกีฬาจะนั่งคุกเข่าและใช้ไม้พายใบพายเดี่ยว ซึ่งสามารถใช้คุมทิศทางเรือทดแทนการไม่มีหางเสืออีกด้วย

 

ในโตเกียว 2020 มีการแข่งขัน 12 รายการในประเภทสปรินต์รวมชายและหญิง มีทั้ง 1 ฝีพาย, 2 ฝีพาย และ 4 ฝีพาย แต่ในเรือแคนูมีแค่ 1 ฝีพาย กับ 2 ฝีพาย โดยมีลงแข่ง 3 ระยะคือ 200 เมตร, 500 เมตร และ 1,000 เมตร ซึ่งในระยะ 200 เมตรประเภทชายแข่งจบโดยเฉลี่ยภายใน 30 วินาทีเท่านั้น

 

ส่วนประเภทสลาลอมมีแข่ง 4 รายการ คายัค 1 ฝีพาย ชาย/หญิง ซึ่งมีนักกีฬาลงแข่ง 24 คนในแต่ละเพศ และ แคนู 1 ฝีพาย ชาย/หญิง ที่มีผู้เข้าแข่ง 17 คนในแต่ละเพศ

 

เป้าหมายของประเภทสลาลอมคือการผ่านซุ้มเสาในเส้นทางน้ำที่ไหลเชี่ยวให้เร็วที่สุด โดยต้องบังคับเรือไม่ให้โดนเสาตามทิศทางที่มีสัญลักษณ์บ่งบอก ซึ่งหากมีการทำพลาดอย่างเช่นไม่ผ่านซุ้มที่กำหนด หรือไปโดนเสา นักกีฬาจะถูกบวกเวลาเพิ่มตามข้อกำหนด

 

ตามปกติแล้วสนามแข่งสลาลอมจะมีความยาวประมาณ 250 เมตร มีทั้งหมด 25 ซุ้ม และการแข่งขันแต่ละรอบใช้เวลาราว 95 วินาที

 

กระบวนการคัดเลือก

 

ประเภทสลาลอม แต่ละรายการส่งนักกีฬาเข้าแข่งได้ชาติละ 1 ลำ ไม่จำกัดตัวนักกีฬา โดยโควตามาจากศึกชิงแชมป์โลก โดย คายัค คัดเอา 18 ชาติที่ผลงานดีที่สุด ส่วนแคนูคัดเอา 11 ชาติ

 

ขณะที่รอบคัดเลือกแต่ละทวีป จะมอบให้ชาติที่ยังไม่ได้โควตาจากชิงแชมป์โลก และให้ทวีปละ 1 ที่ต่อ 1 ประเภท ส่วนญี่ปุ่นเจ้าภาพได้ 1 โควตาในแต่ละรายการ หากไม่ได้สิทธิ์จากการคัดเลือกไปแล้ว

 

นอกจากนั้นยังมีสิทธิ์ไวลด์การ์ดจากคณะกรรมาธิการไตรภาคีอีก 2 ที่นั่ง รวมทั้งประเภทสลาลอมและสปรินต์

 

ส่วนประเภทสปรินต์ให้ชาติละ 1 ลำต่อ 1 รายการไม่เจาะจงนักกีฬาเช่นกัน โดยเริ่มจากผลงานในรายการชิงแชมป์โลก คายัค 1 ฝีพาย 5 ที่นั่ง ซึ่งมีโควตาสำรองไว้เผื่อเจ้าภาพในประเภทชาย 1,000 เมตร และหญิง 500 เมตร, คายัค 2 ฝีพาย 6 ที่นั่ง, คายัค 4 ฝีพาย 10 ที่นั่ง, แคนู 1 ฝีพาย 6 ที่นั่ง (1 ในนั้นสำรองให้เจ้าภาพในรายการ 1,000 เมตร) และแคนู 2 ฝีพายอีก 8 ที่นั่ง

 

จากชิงแชมป์โลก มาเป็นผลงานจาก เวิลด์ คัพ โดยให้โควตาประเภทละ 1 ที่นั่ง ส่วนรอบคัดเลือกแต่ละทวีปจะะมอบให้ชาติที่ยังไม่ได้โควตาจากชิงแชมป์โลก โดยประเภทคายัค 1 ฝีพาย และแคนู 1 ฝีพาย ได้ทวีปละ 1 ลำ (ยกเว้นยุโรปได้ 2 ลำ) ส่วนคายัค 2 ฝีพาย ยุโรป ได้ 2 ที่นั่ง แต่อีก 4 ทวีปต้องแบ่ง 6 โควตาที่เหลือ โดยวัดจากผลงานของแต่ละทวีปในศึกชิงแชมป์โลก ทวีปไหนมีชาติที่ยังไม่ได้โควตาทำอันดับดีสุดจะได้ที่นั่งเพิ่มอีก 1 ลำ

 

นักกีฬาที่น่าจับตามองใน โตเกียว 2020

 

แน่นอนว่าในประเภทสปรินต์ แชมป์มักจะมาจากชาติในยุโรป ซึ่งใน ริโอ 2016 ฮังการี คว้าแชมป์ประเภทหญิง 3 จาก 4 รายการ ขณะที่เยอรมนีได้เหรียญทองประเภทชาย 3 จาก 6 รายการ แต่ในโตเกียว 2020 กระแสน้ำอาจเปลี่ยนทิศทาง เพราะมีชาติที่น่าจับตามองอย่าง บราซิล, นิวซีแลนด์ และจีน ที่ประสบความสำเร็จในระดับนานาชาติ

 

ในประเภทหญิง ลิซ่า แคร์ริงตัน เหรียญทอง 2 สมัย จาก นิวซีแลนด์ ยังเป็นตัวเต็งในคายัค 1 ฝีพาย 200 เมตร หลังไม่แพ้ใครมาตั้งแต่ปี 2011 นอกจากนั้นเธอยังตั้งเป้าพัฒนาผลงานในระยะ 500 เมตร หลังได้เหรียญทองแดงเมื่อครั้งที่แล้ว รวมทั้งมีลุ้นลงแข่ง คายัค 2 ฝีพาย 500 เมตรอีกด้วย

 

ส่วนประเภทชาย เลียม ฮีธ นักพายเรือสหราชอาณาจักรที่ซิวแชมป์คายัค 1 ฝีพาย ระยะ 200 เมตรครั้งที่แล้ว ยังเป็นตัวเต็งที่จะได้เหรียญทองอีกสมัย หลังเพิ่งคว้าแชมป์โลกปี 2019 เช่นเดียวกับ เซบาสเตียน เบรนเดล แชมป์เรือแคนู 1 ฝีพายระยะ 1,000 เมตร 2 สมัยซ้อน เจ้าของแชมป์ 28 รายการจากเยอรมนีที่จัดว่าเป็นนักกีฬาที่ประสบความสำเร็จมากที่สุดที่จะไปแข่ง ณ กรุงโตเกียว

 

ด้านประเภทสลาลอม แม้ความยิ่งใหญ่ยังเป็นของชาติจากยุโรป แต่ชาติเล็ก ๆ ก็มีลุ้นสร้างเซอร์ไพรส์ได้เช่นกัน โดยในประเภทคายัคหญิงมีคนดังทั้ง มายาเลน โชร์โรท จากสเปน แชมป์คายัคที่ริโอ และ เจสสิก้า ฟ็อกซ์ จาก ออสเตรเลีย ที่ได้เหรียญเงินในปี 2012 และเหรียญทองแดงที่ บราซิล ส่วนแคนูหญิง ลูก้า โจนส์ จากนิวซีแลนด์ หวังจะแก้มือ หลังได้เพียงรองแชมป์ทั้ง ริโอ เกมส์ และชิงแชมป์โลกปี 2019

 

ส่วนประเภทชาย โจ คลาร์ก เจ้าของเหรียญทองคายัคปี 2016 จากสหราชอาณาจักร พลาดป้องกันแชมป์ปีนี้ ทำให้ตัวเต็งเป็นของ ยิรี่ เพอร์สคราเวช จาก เช็ก เจ้าของเหรียญทองแดงเมื่อ 5 ปีก่อน และแชมป์โลกคนปัจจุบัน แต่ต้องจับตามอง ดาบิด ยอเรนเต้ ดาวรุ่งจากสเปน รองแชมป์โลกที่กำลังกระหายความสำเร็จในเวทีใหญ่

 

ปิดท้ายด้วยประเภทแคนู เจ้าภาพมีลุ้นจาก ทาคุยะ ฮาเนดะ ที่คว้าเหรียญทองแดงใน ริโอ เกมส์ มีโอกาสไปไกลกว่าเดิมหลัง เดนิส การ์เกาด์ จาก ฝรั่งเศส แชมป์เก่า และ เซดริก โยลี่ แชมป์โลก ไม่ได้โควตาไป โตเกียว 2020


stadium

author

StadiumTh Team Content

StadiumTH Content Creator

stadium olympic