28 กุมภาพันธ์ 2563
มวยปล้ำถือเป็นกีฬาที่เก่าแก่ที่สุดชนิดหนึ่งของโลก และเป็นกีฬาต่อสู้ชนิดแรกๆ ที่มีการแข่งในเวทีโอลิมปิก โดยนักสู้ทั้งสองได้มาเผชิญหน้ากันด้วยเป้าหมายเดียวคือการตรึง และกดคู่ต่อสู้ลงบนพื้น
กีฬามวยปล้ำนั้นมีมาตั้งแต่โอลิมปิกสมัยโบราณ และถือว่าเป็นการแข่งขันที่เก่าแก่ที่สุดในบรรดากีฬาทั้งหลาย เมื่อโอลิมปิกสมัยโบราณเกิดขึ้นในปี 776 ก่อนคริสตกาล มวยปล้ำก็เป็นกีฬาชนิดหนึ่งที่รวมอยู่ด้วยและยังเป็นกีฬาหลักสืบต่อมา
เมื่อเข้าสู่โอลิมปิกยุคปัจจุบันที่เริ่มในปี ค.ศ. 1896 คณะกรรมการจัดการแข่งขันมีความคิดที่จะพยายามเชื่อมโยงไปถึงสมัยโบราณโดยเสาะหากีฬาที่นิยมกันในทุกหย่อมหญ้า สร้างความบันเทิงให้แก่ผู้คนในสมัยนั้น ไม่ว่าในกรีซ อาณาจักรอัสซีเรีย บาบีลอน ตลอดจนอินเดีย จีน และญี่ปุ่น แล้วในที่สุด พวกเขาก็ได้พลิกฟื้นกีฬามวยปล้ำแบบที่เชื่อว่าพวกกรีก กับโรมันนิยมในสมัยก่อน เรียกว่า มวยปล้ำสไตล์เกรโก-โรมัน (Greco-Roman) ให้คืนชีพขึ้นมา สไตล์นี้นักมวยปล้ำจะใช้แต่แขนและส่วนที่อยู่เหนือเอวขึ้นไปในการต่อสู้ และการจับคู่ต่อสู้ก็ต้องจับที่บริเวณแขนหรือส่วนบนของลำตัวเท่านั้น มวยปล้ำเกรโก-โรมันนั้นเป็นที่นิยมในทวีปยุโรป ต่อมาในโอลิมปิกครั้งที่ 3 ที่เซนต์หลุยส์ สหรัฐอเมริกา ปี 1904 ก็เกิดมวยปล้ำสไตล์ใหม่ขึ้นมา เรียกว่า แบบฟรีสไตล์ (Freestyle) ซึ่งอนุญาตให้ใช้ขาได้ โดยได้รับความนิยมจากทั่วโลกมากกว่าแบบแรก เพราะสามารถใช้ทุกส่วนของร่างกายได้
มวยปล้ำแบบฟรีสไตล์ถูกงดในโอลิมปิก 1912 ที่สวีเดน ให้มีแต่แบบเกรโก-โรมัน ซึ่งก็เป็นเพียงครั้งเดียวเท่านั้น โดยในสมัยนั้นยังไม่มีการกำหนดเวลาแบ่งเป็นยก
ตลอดระยะเวลาหลายปีนักมวยปล้ำจากทวีปยุโรปครองความเป็นเจ้าในมวยปล้ำแบบเกรโก-โรมัน ส่วนแบบฟรีสไตล์นั้นไม่มีชาติใดโดดเด่นแต่เพียงผู้เดียว
พละกำลังและเทคนิค
ตามที่สหพันธ์กีฬามวยปล้ำนานาชาติ (UWW) ได้มีการปรับปรุงกติกาบางส่วนขึ้นมาใหม่ของประเภท Greco – Roman และ Freestyle ให้กับประเทศสมาชิกได้นำกติกาที่ปรับปรุงใหม่ไปใช้เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด นับตั้งแต่วันประกาศใช้เป็นต้นไปจนกว่าจะมีการเปลี่ยนแปลง โดยในการแข่งขัน Greco-Roman ทุกรุ่นอายุ การกระทำที่ผิดกติกาให้ Caution“O” คู่แข่งขันได้ 2 คะแนน เช่น ใช้ศีรษะชน ฟาวล์ขา (ทั้งฝ่ายรุกละฝ่ายรับ) จับต่ำกว่าเอว จับชุดแข่งขัน บิดข้อมือ หนีออกจากเบาะ การทำ Grand amplitude ลงสู่ท่าอันตราย ได้ 5 คะแนน ทุ่มท่าอื่นๆ ลงสู่ท่าอันตรายได้ 4 คะแนน การทุ่มท่าอื่นๆ (รวมทั้ง Grand amplitude) ไม่ลงสู่ท่าอันตรายได้ 2 คะแนน
ส่วนการผลักคู่ต่อสู้ออกนอกเบาะจะไม่ได้คะแนนและจะถูกเตือน และฝ่ายรุกเข้ากระทำการจับยึด แล้วก้าวเท้าออกนอกเบาะจะไม่ถูกทำโทษ แต่ถ้านักกีฬาที่ก้าวเท้าออกนอกเบาะเสีย 1 คะแนน เหมือนเดิม
นอกจากนี้ นักกีฬาฝ่ายป้องกันในท่า Parterre ต้องเปิดโอกาสให้ฝ่ายรุกทำการจับยึด ห้ามพับศอกป้องกันการจับยึด พับศอกชิดเข่าเพื่อป้องกันการจับยึด ผู้ตัดสินจะต้องเตือนนักกีฬา
หากนักกีฬาฝ่ายรับยังไม่ปฏิบัติตาม ให้ “O”และให้ 2 คะแนนกับคู่แข่งขัน และเริ่มแข่งขันต่อในท่าParterre และทุกท่าของ Gut wrench ฝ่ายรุกจะได้ 2 คะแนน ไม่ว่าฝ่ายรับจะแขนตึงหรือไม่ ในส่วนกติกาปรับปรุงใหม่ของ Freestyle นั้น จะให้คะแนนจากการ Gut Wrench หรือทุกการหมุน (Rolling) จะได้ 2 คะแนน และยกเลิกฝ่ายรุกไม่ทำสะพานคอเสีย 1 คะแนน
กรณีนักกีฬาฝ่ายรุกก้าวเท้าออกนอกเขตการปล้ำ (Zone) ให้พิจารณาดังนี้
– ถ้าฝ่ายรุกทำท่าเทคนิคและได้คะแนนให้คะแนนตามท่าเทคนิค
– ถ้าฝ่ายรุกไม่ได้คะแนน ผู้ตัดสินเป่านกหวีดหยุดการแข่งขันให้คู่ต่อสู้ 1 คะแนน
– ถ้านักกีฬาฝ่ายรุก ยกคู่ต่อสู้จากท่า Parterre ควบคุมได้สมบูรณ์ และก้าวออกนอกสนามโดยทำคะแนนไม่ได้ ฝ่ายรุกจะไม่เสียคะแนน แต่การผลักคู่ต่อสู้ออกนอกสนาม จะถูกเตือนและไม่ได้คะแนน ส่วนการก้าวออกนอกสนามลักษณะอื่น ยังเสีย 1 คะแนนเหมือนเดิม
จากประวัติศาสตร์อันยาวนานสู่การแข่งครั้งสำคัญในปี 2020
ในการประชุมใหญ่สามัญประจำปีของคณะกรรมการโอลิมปิกสากล เมื่อวันที่ 12 กุมภาพันธ์ ค.ศ.2013 ได้มีมติให้ถอดถอนการแข่งขันกีฬาชนิดนี้ ออกจากการเป็นหนึ่งในชนิดกีฬาของการแข่งขันโอลิมปิกฤดูร้อน โดยจะมีผลหลังจากจบการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกฤดูร้อน 2016 ซึ่งส่งผลให้ประธานสหพันธ์มวยปล้ำโลกลาออกจากตำแหน่งหลังได้รับการโหวตไม่ไว้วางใจ
อย่างไรก็ตาม ภายหลังจากที่มีการเปลี่ยนตัวผู้นำองค์กร รวมทั้งปรับปรุงรูปแบบการแข่งขันใน ริโอ เกมส์ (ทั้งการปรับกฎกติกาและเพิ่มการแข่งประเภทหญิง) ทำให้กีฬามวยปล้ำได้รับการบรรจุให้กลับมาอยู่ในโอลิมปิก เกมส์ อีกครั้ง
จากกรณีดังกล่าวทำให้ในการแข่งขันที่จะมีขึ้น การชิงชัยระหว่างชาติตัวเต็งยังคงดำเนินต่อไป ทั้งเจ้าเหรียญทองในประเภทชายจากรัสเชีย ที่คว้าเหรียญทองมาได้หลายต่อหลายสนาม รวมทั้งญี่ปุ่นที่มีนักกีฬามวยปล้ำหญิงที่ฝากผลงานคว้า 11 รายการจาก 18 เหรียญทองในการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกจำนวนสี่ครั้ง แม้ว่าในคราวนี้พวกเธอจะไม่ได้ร่วมลงแข่ง แต่ก็มีนักกีฬารุ่นหลังที่กำลังก้าวขึ้นมาสร้างประวัติศาสตร์ในการแข่งขันในครั้งนี้