stadium

"โค้ชปุ๊ย" นันทา จันทสุวรรณสิน : เบื้องหลังแห่งชัยชนะทัพวีลแชร์ฟันดาบ

27 กันยายน 2567

มั่นใจในตัวเอง เชื่อมั่นในตัวเอง เราทำได้ สู้!!! หลังฉากความสำเร็จของทัพวีลแชร์ฟันดาบทีมชาติไทยในพาราลิมปิกเกมส์ ปารีส 2024 มีเสียงอันทรงพลัง สุดฮึกเหิมของ "โค้ชปุ๊ย" นันทา จันทสุวรรณสิน อดีตนักกีฬาฟันดาบทีมชาติไทย ที่คอยให้กำลังใจ และเชื่อในความสามารถของลูกทีม จนท้ายที่สุดทุกคนประสบความสำเร็จ ทัพนักกีฬาวีลแชร์ฟันดาบไทย สามารถคว้าเหรียญมาห้อยคอกลับสู่ประเทศไทยได้อย่างสวยงาม

 

 

เส้นทางฟันดาบของนันทา 

 

เด็กสาวจากพระราม 2 เติบโตและอาศัยอยู่ที่กรุงเทพมหานครมาโดยตลอด ในวัยเด็กเธอย้อนกลับไปเล่าให้ฟังว่า จุดเริ่มต้นในสมัยเรียน เธอเป็นเด็กที่ชอบทำกิจกรรมอยู่แล้ว ส่วนกีฬาก็จะเล่นทุกชนิด เพราะชอบออกกำลังกาย แต่ว่ายังหาตัวเองไม่เจอว่าชอบกีฬาอะไรมากที่สุด จนได้มารู้จักกับกีฬาฟันดาบ

 

“จุดเริ่มต้น ที่เริ่มเล่นฟันดาบเพราะน้องสาวเราเป็นคนอยากเล่น แล้วทางคุณพ่อก็ให้เราไปเล่นเป็นเพื่อนน้องสาว จะได้กลับบ้านด้วยกัน ครั้งแรกที่จับดาบก็รู้สึกว่าชอบเลยนะ ด้วยพื้นฐานเราเป็นคนชอบเล่นกีฬาอยู่แล้ว แต่พอเล่นเข้าจริง มันถือเป็นสิ่งแปลกใหม่ เพราะฟันดาบสมัยนั้น มันไม่ได้มีให้เราเล่นในที่ทั่วๆไป ก็รู้สึกสนุกดีที่ได้เปิดประสบการณ์ใหม่ๆ”

 

โค้ชปุ๊ย เล่าต่อว่าในตอนนั้นมีการ์ตูนอยู่เรื่องนึงที่เจ้าตัวชื่นชอบนั้นก็คือ “วันพีช” ทำให้เพิ่มความอยากเล่นกีฬาฟันดาบมากขึ้นกว่าเก่า

 

“จำได้ว่า มีการ์ตูนตัวละครนึงชื่อ “โซโล” สมัยที่เราดูตัวละครนี้มันเท่มาก เวลาฟันดาบมันจะทำท่าเป็นตัวเซด อีกอย่างที่เราชอบกีฬาฟันดาบ ด้วยความชุดที่มันเท่ ไม่เหมือนกีฬาชนิดไหนเลย และเป็นการต่อสู้ที่เอาความถูกต้องเป็นหลัก ซึ่งบุคลิกตัวเราเป็นสายบู๊อยู่แล้ว ไม่ยอมใครทั้งนั้น ก็เลยคิดว่างั้นเราเล่นฟันดาบต่อเลยดีกว่า หลังจากวันนั้นก็เล่นมายาวๆเลยค่ะ” (หัวเราะ)

 

 

องค์ประกอบของความสำเร็จ

 

จากวันแรกที่ได้เล่นฟันดาบ ไม่เคยคาดคิดมาก่อนว่าจะอยู่ในวงการนี้มาเกิน 20 ปี เธอกล่าวติดตลกไว้ว่า จนน้องสาวเธอเลิกเล่นไปนานมากแล้ว แต่เธอก็ยังคงเล่นฟันดาบต่อ เพราะรู้ว่าเส้นทางนี้ ไม่ได้จบลงแค่การเป็นนักกีฬาอย่างแน่นอน

 

“เอาจริงๆเลยนะ ตอนแรกที่เริ่มเล่นฟันดาบคือ พ.ศ. 2541 ก็เล่นเรื่อยๆมา จนได้มาเลิกเล่นจริงๆก็ปี พ.ศ. 2563 ซึ่งตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา ตัวเราไม่ได้เป็นแค่นักกีฬาเท่านั้นนะ เพราะว่าได้มีโอกาสลองมาครบทุกรูปแบบ ทั้งการเป็นนักกีฬา เป็นผู้ตัดสิน หรืออย่างกระทั่งในตอนนี้ที่เราขยับขึ้นมาเป็นผู้ฝึกสอน” 

 

ซึ่งหากจะต้องเลือกทั้งสามอย่างที่กล่าวมาข้างต้นนั้น เธอกลับตอบมาว่า ทั้งสามองค์ประกอบที่พูดมา ล้วนทำให้เธอมีทุกอย่างในวันนี้ 

 

“อย่างตอนนี้เป็นนักกีฬา เรารู้ว่าเราต้องการจะเป็นผู้เล่นแบบไหน ความรู้สึกแบบไหนที่เราจะทำมันระหว่างการแข่งขัน ใจต้องเป็นอย่างไร รวมถึงเราต้องการโค้ชแบบไหน มันเลยส่งผลมาถึงปัจจุบันที่เรารับหน้าที่เป็นโค้ช ทำให้เรามองลึกลงไปว่า ในตอนนั้นเราต้องการคนแบบไหนที่จะมาดูแลเรา เราก็จะเติมตรงนี้ลงไปให้นักกีฬาของเราต่อๆไป เพื่อให้เขาเดินไปในทิศทางที่ถูกต้อง” 

 

“ส่วนการเป็นผู้ตัดสิน เราก็ได้เรียนรู้กติกา การแข่งขันอย่างละเอียดว่ามันคืออะไร เราจะมองเห็นจุดผิดพลาดในระหว่างการแข่งขัน ในเวลาที่เกิดสถานการณ์แบบนั้น เราก็จะไฟท์ต่อสู้เพื่อแต้ม เพื่อนักกีฬาของเราต้องได้ผลประโยชน์มากที่สุด”

 

 

เชื่อมั่นในกันและกัน

 

โค้ชปุ๊ย ย้อนความทรงจำไปครั้งแรกที่ได้เจอพี่แวว สายสุนีย์ จ๊ะนะ สุดยอดนักกีฬาวีลแชร์ฟันดาบเบอร์หนึ่งโลก

 

 “ตอนนั้นเจอกันครั้งแรก จะเป็นการแข่งขันกีฬาแห่งชาติ ที่สงขลา วันนั้นพี่แววไปลงแข่งขันพอดี ส่วนเราไปเป็นผู้ตัดสิน เราทั้งสองได้จำความรู้จักกัน ส่วนพี่แววก็ได้ชวนเราตั้งแต่ตอนนั้นเลย อยากให้เข้ามาช่วยสอนเทคนิค และมาเป็นทีมเดียวกัน จนเราได้เข้ามาดูแลนักกีฬาวีลแชร์ฟันดาบครั้งแรกในปี 2016” 

 

“หลังจากคุมไปสักพัก ก็มีช่วงที่เราตัดสินใจลาออกไป เนื่องจากมีภารกิจที่ต้องทำ จนสุดท้ายหลังจบเอเชียนพาราเกมส์ ที่หางโจว พี่แวว แกคงคิดถึงมั้งค่ะ เลยชักชวนให้กลับมาช่วยเป็นโค้ชให้กับแกอีกครั้ง ซึ่งเราก็ตอบตกลง โดยกลับมาช่วยทีมตั้งแต่ต้นปีมกราคม เพื่อที่จะไปลุยพาราลิมปิก ปารีสเกมส์หนนี้ด้วยกัน”

 

 

3 ทองประวัติศาสตร์โลก

 

“ก่อนจะไปแข่งพาราลิมปิก ที่ปารีส คือเรารู้อยู่ละว่าเรามี 1 เหรียญทองแน่ๆ ที่ตุนไว้จากดาบเอเป้ เพราะเป็นดาบที่สายสุนีย์ถนัดที่สุด อีกทั้งยังไม่แพ้ใครเลย ในช่วงปีหลังๆมานี้ แต่ในประเภทดาบเซเบอร์ กับดาบฟอยล์ คือมันไม่แน่ไม่นอน อาจจะมีได้บ้างไม่ได้บ้าง เราก็ตั้งเป้ากับพี่แววไว้มา 2 ประเภทนี้ เราขอรอบชิงไว้ก่อน”

 

หลังจากนั้นวินาทีประวัติศาสตร์ได้เริ่มต้นขึ้น หลังพี่แววสามารถเข้าไปชิงเหรียญทอง ครบทั้งสามประเภท ซึ่งเบื้องหลังความสำเร็จครั้งนี้ไม่มีใครรู้มาก่อนว่า คำพูดปลุกใจเหล่านั้น ที่ช่วยให้ทั้งคู่เดินไปถึงฝั่งฝันมีอะไรซ่อนอยู่บ้าง

 

“เราบอกกับพี่แววไว้ว่า เรามาถึงจุดนี้แล้ว ทุกคนคือคนเก่ง เขาก็เก่งพี่ก็เก่ง แต่มันอยู่ที่ว่า วินาทีนั้นบนเวที ตอนที่แข่งใครใจนิ่งกว่ากัน ใครสามารถโชว์ศักยภาพของตัวเองออกมาได้ดีที่สุด คือเราเข้าถึงรอบชิงมันคือกำไรแล้วแหละ อยากให้พี่แววออกไปเล่นให้เต็มที่ อย่างน้อยมีเหรียญติดมือแน่นอน ไม่สีใดก็สีหนึ่ง”  

 

“คือพี่แวว เขามีความเก่งอยู่แล้ว แต่แค่พี่แววเป็นคนขี้กลัว บางครั้งเขาขาดความมั่นใจ เราก็รู้ว่าถ้าตอนนั้นเขากลัว เราจะต้องเติมอะไรเข้าไป อย่างในรอบชิง จะมีตอนที่โดนนำ เขาจะหันมาบอกเราว่า เล่นไม่ได้ ตอนนี้เล่นไม่ได้เลย พอถึงช่วงเบรกเราก็ขึ้นไปคุยกันบนเวทีว่า พี่ลืมแต้มที่เราเสียไปได้เลย เอาใหม่ ไม่เป็นไร แล้วไปโฟกัสแต้มที่จะทำ ว่าต่อจากเนี่ย ขึ้นไปแล้วจะเลือกเล่นรูปแบบไหน”

 

และพอจบการแข่งขัน เราก็ได้เห็นภาพที่สวยงาม โดยโค้ชปุ๊ยกระโดดขึ้นไปชูสองมือดีใจบนเวที พร้อมกับกอดพี่แววด้วยน้ำตาแห่งความยินดี เพราะชัยชนะครั้งนี้ ไม่รู้ว่าอีกกี่ปีจะมีนักกีฬาไทย ที่สามารถทำได้แบบนี้อีกครั้ง 

 

ต่อมาแฟนๆกีฬาที่ได้รับชมการถ่ายทอดสด ต่างชื่นชมในสิ่งที่โค้ชปุ๊ยทำข้างสนาม ไม่ว่าจะเป็นเสียงที่คอยกระตุ้น และให้กำลังใจแม้ในช่วงเวลาที่คับขัน ทั้งสองคนก็ยังเชื่อมั่นว่า จะทำภารกิจครั้งนี้ให้สำเร็จ สุดท้ายทั้งหมดได้กลายเป็นเรื่องจริงกับ 3 เหรียญทองแห่งประวัติศาสตร์ นักกีฬาวีลแชร์ฟันดาบหญิงคนแรกของโลกที่ทำได้ จากคนไทยที่มีชื่อว่า “แวว” สายสุนีย์ จ๊ะนะ 

 

 

ครั้งแรกกับบทบาทโค้ชในทัวร์นาเมนต์สุดยิ่งใหญ่อย่าง พาราลิมปิกเกมส์ ปารีส 2024 "โค้ชปุ๊ย" นันทา จันทสุวรรณสิน ได้กล่าวปิดท้ายไว้ว่า

 

“สิ่งที่คนเป็นโค้ชภูมิใจมากที่สุด คือการได้เห็นทุกคนเป็นทีมเดียวกัน เวลาที่พี่ลงไปแข่ง น้องก็จะคอยเชียร์ ทีมเราซัพพอร์ตกัน มันเป็นมิตรภาพที่ดีมากๆ เท่านั้นยังไม่พอ นักกีฬาทีมเราทั้งหมด 6 คนที่ไปแข่งขันครั้งนี้ ได้เหรียญห้อยคอกลับบ้านแบบครบทุกคน มุมของของคนที่เป็นโค้ชอย่างเรา มันดีใจเหนือสิ่งอื่นใดอีกค่ะ”


stadium

author

อดิศักดิ์ คูวัฒนากุล

StadiumTH Content Creator

stadium olympic