stadium

ประวัติศาสตร์พาราลิมปิกที่ถูกเขียนโดยนักกีฬาไทย

9 กันยายน 2567

เป็นความสำเร็จที่น่าภาคภูมิใจกับผลงาน 6 ทอง 11 เงิน 13 ทองแดง ของทัพนักกีฬาไทยในพาราลิมปิกเกมส์ 2024 ที่ประเทศฝรั่งเศส จบด้วยอันดับที่ 21 ของโลก และเป็นอันดับ 6 ของทวีปเอเชีย เป็นรองเพียงจีน ญี่ปุ่น อุซเบกิสถาน อิหร่าน และอินเดียเท่านั้น

 

ภายใต้ความสำเร็จทั้งหมดนั้นยังมีเรื่องราวระดับประวัติศาสตร์ซ่อนอยู่ จะมีอะไรบ้างที่ทัพนักกีฬาไทยบันทึกขึ้นมาใหม่ ติดตามพร้อมกันได้ที่นี่

 

 

วีลแชร์ฟันดาบ

 

พาราลิมปิกทุกครั้งที่ผ่านมา วีลแชร์ฟันดาบไทย ได้มา 2 ทอง 1 เงิน 3 ทองแดง จากสายสุนีย์ จ๊ะนะ เพียงคนเดียวเท่านั้น แต่ในปารีส 204 เราได้ 3 ทอง 1 เงิน 1 ทองแดง ซึ่งเป็นความสำเร็จสูงสุด โดยเฉพาะหนนี้เรามีนักกีฬาหน้าใหม่ที่คว้าเพิ่มมาถึง 3 คนที่คว้าเหรียญรางวัล วิสิทธิ์ กิ่งมะนาว, อภิญญา ทองแดง และ เดือน นาคประสิทธิ์ ถือเป็นเรื่องที่น่ายินดีที่ได้เห็นความสามารถและพัฒนาการของนักกีฬาไทย ซึ่งทุกเหรียญรางวัลต่างเป็นประวัติศาสตร์หน้าใหม่ทั้งนั้น

 

วิสิทธิ์ กิ่งมะนาว คือนักกีฬาวีลแชร์ฟันดาบชายคนแรกของไทยที่ได้เหรียญพาราลิมปิกและเป็นเหรียญเงิน, ส่วนเหรียญทองแดงของ อภิญญา ทองแดง, เดือน นาคประสิทธิ์ ได้จากประเภทเอเป้ ทีมหญิง ซึ่งสายสุนีย์ จ๊ะนะ ก็อยู่ในทีมชุดประวัติศาสตร์ด้วยเช่นกัน เพราะเป็นครั้งแรกของเราที่ได้เหรียญพาราลิมปิกจากประเภททีม 

 

ส่วน สายสุนีย์ จ๊ะนะ นางเอกในรอบนี้ ทำไป 3 ทอง 1 ทองแดง โดย 3 ทองนั้นได้จากประเภทบุคคลจาก เซเบอร์, ฟอยล์ และเอเป้ โดยสองอีเวนต์แรกเป็นการได้ทองสมัยแรกของเธอ ส่วนเอเป้เป็นการคว้าทองสมัยที่ 3 ซึ่งกลับมาได้ทองครั้งแรกในรอบ 12 ปีต่อจาก ลอนดอน 2012 ขณะเดียวกันการคว้าเหรียญทองจากประเภทบุคคลทั้งสามดาบทำให้เธอกลายเป็นนักกีฬาหญิงคนแรกในประวัติศาสตร์ที่ทำได้ และทำได้ในวัย 50 ปี เป็นความสำเร็จที่น่าเหลือเชื่อมาก ๆ 

 

นอกจากนั้น สายสุนีย์ จ๊ะนะ เพิ่มสถิติคว้าเหรียญพาราลิมปิกเป็น 5 ทอง 1 เงิน 4 ทองแดง รวม 10 เหรียญ รั้งอันดับ 2 เท่ากับพงศกร แปยอ วีลแชร์​ เรซซิ่ง 6 ทอง 4 เงิน และเป็นรองประวัติ วะโฮรัมย์​ วีลแชร์ เรซซิ่ง 16 เหรียญ (7 ทอง 8 เงิน 1 ทองแดง)

 

 

กรีฑา

 

ยังทำผลงานได้สมราคาชนิดกีฬาที่ประสบความสำเร็จมากที่สุดของไทย โดยปารีส 2024 ทำได้ 2 ทอง 5 เงิน 1 ทองแดง โดย 2 ทอง ได้จาก ชัยวัฒน์ รัตนะ วีลแชร์ เรซวิ่ง 100 ม. คลาส T34 ซึ่งเป็นเหรียญแรกที่เจ้าตัวทำได้ในพาราลิมปิก ส่วนอีกหนึ่งทองได้จาก พงศกร แปยอ วีลแชร์ เรซซิ่ง 400 ม. คลาส T53 ซึ่งเป็นทองเหรียญที่ 6 ของพงศกรแล้ว ยอดรวมตามหลัง ประวัติ วะโฮรัมย์ เพียงหนึ่งเหรียญทอง

 

จากความสำเร็จของกรีฑารอบนี้ มีอยู่หนึ่งเหรียญที่พิเศษกว่าทุกครั้ง คือเหรียญทองแดงของ ศศิราวรรณ อินทโชติ นักวิ่งวัย 21 ปีที่ประเดิมพาราลิมปิกหนแรกได้อย่างสวยงาม และเป็นเหรียญแรกของกรีฑาที่ได้มาจากการวิ่งอีกด้วย

 

 

บอคเซีย

 

กีฬาอันดับ 2 ของไทยที่คว้าทองมากสุดในพาราลิมปิกเกมส์รวมทุกครั้งที่ผ่านมา ส่วนในปารีส 2024 ได้มา 1 ทองจาก วรวุฒิ แสงอำภา ซึ่งเป็นครั้งแรกที่เขาคว้าทองจากประเภทบุคคล ก่อนหน้านี้เคยได้ 2 ทองแต่เป็นจากประเภททีมทั้งหมด เพิ่มสถิติคว้าเหรียญทองให้ไทยเป็นเหรียญที่ 6 เป็นรองเพียงแค่กรีฑา (17 ทอง) และทำให้บอคเซียไทยมีเหรียญทองติดมือกลับจากพาราลิมปิกต่อเนื่องเป็นครั้งที่ 4 นับตั้งแต่คว้าทองครั้งแรกปี 2012 ก็ไม่เคยพลาดทองเลยสักครั้ง

 

นอกจากนี้ทัพโยนลูกนิ่มไทยยังได้อีก 2 ทองแดงจากวัชรพล วงษา และพรโชค ลาภเย็น กับ นวลจันทร์ พลศิลา ในคู่ผสม 

 

 

เทเบิลเทนนิส

 

แม้ว่าปารีส 2024 เทเบิลเทนนิสไทยจะไม่มีเหรียญทอง แต่ถ้านับเฉพาะเหรียญที่ได้มาพวกเขากวาดไปมากสุดที่ 9 เหรียญ แบ่งเป็น 4 เงิน 5 ทองแดง ไม่เคยมีพาราลิมปิกครั้งไหนอีกแล้วที่นักตบลูกเด้งพาราไทยได้เหรียญกลับบ้านมากเท่านี้

 

ขณะเดียวกันยังเป็นครั้งแรกที่นักกีฬาไทยผ่านเข้ารอบชิงชนะเลิศได้ถึง 4 อีเวนต์​ ก่อนหน้านี้มีเพียง รุ่งโรจน์ ไทยนิยม ที่เคยผ่านเข้ารอบชิงชนะเลิศครั้งเดียวและได้เหรียญทองในปี 2012

 

 

คว้าเหรียญครั้งแรกเกิน 50%

 

จากความสำเร็จ  6 ทอง 11 เงิน 13 ทองแดง ทำได้จากนักกีฬาทั้งหมด 25 คน ในจำนวนนี้มีเพียง 12 คนที่เคยคว้าเหรียญพาราลิมปิกเกมส์มาแล้ว ประกอบด้วย พงศกร แปยอ (กรีฑา), อธิวัฒน์ แพงเหนือ (กรีฑา), สายสุนีย์ จ๊ะนะ (วีลแชร์ ฟันดาบ), สุจิรัตน์ ปุกคำ (แบดมินตัน), อำนวย เวชวิฐาน (แบดมินตัน), วรวุฒิ แสงอำภา (บอคเซีย), นวลจันทร์ พลศิลา (บอลเซีย), พรโชค ลาภเย็น (บอคเซีย), วัชรพล วงษา (บอคเซีย), ขวัญสุดา พวงกิจจา (เทควันโด), รุ่งโรจน์ ไทยนิยม (เทเบิลเทนนิส)​ และ ยุทธจักร กลิ่นบานชื่น (เทเบิลเทนนิส)

 

ส่วนอีก 13 คนที่เหลือคือนักกีฬาที่ประสบความสำเร็จในพาราลิมปิกเป็นครั้งแรก แบ่งเป็น 7 คน ที่เคยผ่านพาราลิมปิกมาแล้ว ประกอบด้วย ชัยวัฒน์ รัตนะ (กรีฑา), วันชัย ชัยวุฒิ (เทเบิลเทนนิส), เฉลิมพงษ์ พันภู่ (เทเบิลเทนนิส), พิสิษฐ์ หวังผลพัฒนศิริ (เทเบิลเทนนิส), วิจิตรา ใจอ่อน (เทเบิลเทนนิส), ดารารัตน์ อาสายุทธ์ (เทเบิลเทนนิส) และ ชิลชิตพยัค บุตรวรรณสิริณา (เทเบิลเทนนิส) 

 

ส่วนอีก 6 คนเป็นนักกีฬาประสบความสำเร็จจากการเปิดตัวพาราลิมปิกเป็นครั้งแรก ประกอบด้วย วิสิทธิ์ กิ่งมะนาว (วีลแชร์ฟันดาบ), เดือน นาคประสิทธิ์ (วีลแชร์ฟันดาบ), อภิญญา ทองแดง (วีลแชร์ฟันดาบ), ศศิราวรรณ อินทโชติ (กรีฑา), มงคล บุญสุน (แบดมินตัน) และ กมลพรรณ กระราชเพชร (ยกน้ำหนัก)

 

การมีนักกีฬาหน้าใหม่ ๆ ก้าวเข้ามาประสบความสำเร็จถือเป็นสัญญาณที่ดีสำหรับการสร้างและพัฒนานักกีฬา ทำให้พาราลิมปิกเกมส์ 2028 ในอีก 4 ปีข้างหน้าที่นครลอสแอนเจลิส ประเทศสหรัฐฯ เรามีโอกาสที่จะได้เห็นนักกีฬาพาราทีมชาติไทยสายเลือดใหม่ก้าวขึ้นโชว์ศักยภาพให้พวกเราคนไทยภาคภูมิใจเพิ่มมากขึ้น


stadium

author

ปวีน เทพพวงทอง

StadiumTH Content Creator / เชียร์หงส์แดง รักการเดินป่า เสพติดหมูกระทะ

Hatari
stadium olympic