7 กันยายน 2567
จากการติดทีมชาติครั้งแรกในชีวิตตั้งแต่อายุ 13 ปี มาถึงสนามแข่งสำคัญนี้ ในวัย 16 ปี นี่คือความท้าทายครั้งใหญ่ของ แพท พลาธิป คำทา กับเป้าหมายสำคัญที่สุดในชีวิต
แม้ประสบการณ์ครั้งใหญ่จะจบลงอย่างรวดเร็ว แต่น่าสนใจเหลือเกินว่าอนาคตของเขาจะไปได้ไกลแค่ไหน มาทำความรู้จักชีวิตของเขาเพิ่มเติมได้ที่นี่
เริ่มตั้งแต่จำความได้แพทเล่าว่า ต้องเสียขาไปหนึ่งข้างตั้งแต่อายุหนึ่งปีแปดเดือนเนื่องจากโดนงูเห่ากัดที่ปลายนิ้ว จึงต้องใส่ขาเทียมมาตั้งแต่เด็ก แต่ก็สามารถใช้ชีวิตได้เหมือนปกติ ซึ่งวัยเด็กของแพทมีกีฬาที่ชื่นชอบคือฟุตบอล
“ผมเป็นคนอุบลฯ บ้านอยู่ใกล้กับโค้ชนก (พนม พุดชา โค้ชกรีฑาพาราทีมชาติไทยประเภทผู้พิการแขนขา) แม่ของโค้ชนกเลี้ยงผมมาตั้งแต่เล็ก ไปมาหาสู่กันจนเกือบจะเหมือนญาติ ซึ่งแม่ผมก็อยากให้เล่นกีฬาอยู่แล้ว พออายุประมาณ 10 ขวบแม่ก็มาถามผมว่าอยากติดทีมชาติไหม”
แพท เล่าว่าในตอนนั้นเค้ายังไม่ตัดสินใจ จนกระทั่งอายุได้ 13 ปีก็ติดต่อกลับไปยังโค้ชนก จนได้ไปเก็บตัวในแคมป์ทีมชาติในที่สุด
“เค้าเล็งผมไว้อยู่แล้ว ตั้งแต่ผมเป็นเด็ก เพราะอยากให้เรามาเล่นทีมชาติ ตอนนั้นผมเคยซ้อมธรรมดามาตลอด ก็ไปเก็บตัวอยู่ได้ไม่กี่เดือนก็ได้ไปอาเซียนพาราเกมส์ ติดทีมชาติไทยที่กัมพูชา แต่น่าเสียดายไม่ได้แข่งเพราะเขาตัดรายการวิ่ง 100 เมตร ที 63 ออก”
แพทบอกว่าตอนนั้นรู้สึกผิดหวังที่ไม่ได้ลงแข่ง แต่งานใหญ่ต่อไปก็รออยู่ ในเอเชียนพาราเกมส์ที่หางโจวประเทศจีน “ก็เป็นการติดทีมชาติชุดใหญ่แบบเต็มตัว ผมตื่นเต้นอย่างเดียวเลย ก็คาดหวังว่าอยากได้เหรียญ เพราะดูสถิติกับคู่แข่งไม่แข็งมาก สุดท้ายได้เหรียญทองแดงก็ดีใจมากเหมือนกับฝันเป็นจริง ตอนนั้นอายุแค่ 15 รู้สึกบอกไม่ถูกเลยครับ”
และคนที่อยู่เบื้องหลังย่อมภูมิใจมากที่สุดโดยเฉพาะแม่ของแพท ที่อยากให้ลูกชายจริงจังกับด้านกีฬา ในตอนนั้นแม่แพทแสดงออกด้วยการแชร์ข้อมูลชัยชนะของลูกชายและพูดคุยให้คนรู้จักฟัง “แม่ดีใจมากคุยไปทั่วเลยครับ แล้วก็บอกว่าอยากให้ผมพัฒนาตัวเอง แล้วจะคอยสนับสนุน แม่อยากให้ผมทำได้ดีกว่านี้”
ส่วนโค้ชนกก่อนลงแข่งให้กำลังใจกับแพท กระตุ้นให้ความฮึกเหิม ว่ามีโอกาสได้เหรียญอย่างแน่นอน ยิ่งเสริมความมั่นใจให้กับนักกีฬาอย่างมาก และเป็นส่วนหนึ่งเบื้องหลังของความสำเร็จแรกให้กับนักกีฬาวัย 15 ปีในความดูแลของตัวเอง
จบจากเอเชียนพาราเกมส์ โชคชะตาก็นำพาให้แพทได้โควตาไฮเพอร์ฟอร์แมนซ์ของประเทศ เพื่อไปแข่งพาราลิมปิกเกมส์ "ปารีส 2024" ซึ่งมีเกณฑ์การคัดเลือกนักกีฬาทั้งหมดสี่คน เป็นชายสองคน และหญิงสองคนในกีฬากรีฑา
“สมาคมสามารถเลือกได้เลยครับ ตอนแรกมีรุ่นพี่อีกสองคน แต่หนึ่งในนั้นเป็นประเภทที่มีนักกีฬาลงแข่งเยอะแล้ว สมาคมเลยให้สิทธิ์ผม ผมดีใจมาก ได้เป็นประสบการณ์ ได้ไปเจอคู่แข่งที่โหด และมีสถิติโหด ครั้งนี้ก็ตื่นเต้นมากครับ”
โดยเป้าหมายของแพทคือการทำสถิติให้ดีขึ้น และทำได้ตามที่ฝึกซ้อมมา โดยสถิติเมื่อครั้งแข่งเอเชียนเกมส์ที่หางโจว 100 เมตรอยู่ที่ 13.10 วินาที และทำได้ดีขึ้นในรายการชิงแชมป์โลกที่โกเบ 12.77 วินาที
“ก็หวังว่าจะทำได้อีก เพราะตอนซ้อมเคยวิ่งได้ 12.40 วิ ก็ตั้งใจจะทำให้ได้ตอนแข่งอยากให้คนดูติดตามผม และให้กำลังใจ เพราะนี่เป็นครั้งแรก และยืนยันว่าจะทำให้เต็มที่และดีที่สุด”
แพทบอกว่าสิ่งที่เป็นเป้าหมายสำคัญที่สุดในครั้งนี้ของเขา คือการพัฒนาตัวเองเพื่อไปอยู่ในจุดที่สูงสุดกว่านี้ เนื่องจากในปัจจุบันอายุยังน้อยและเชื่อว่าตัวเองยังสามารถพัฒนาได้ จึงตั้งใจและจะพยายามจะไล่ตามนักวิ่งที่เก่งกว่า
“จากวันแรกอายุ 13 จนถึงวันนี้ ดีใจมากครับ รู้สึกว่าได้มีอาชีพ สร้างรายได้ หาเงินได้ตั้งแต่เด็ก ให้เงินแม่ และพัฒนามาได้ไกลมาก ตามที่ตั้งเป้าหมายไว้ตั้งแต่แรก ก็ภูมิใจในตัวเอง และจะพัฒนาความเป็นมืออาชีพ ตั้งใจซ้อมต่อไป เพื่อไปถึงจุดที่สูงที่สุด”
แม้จะน่าเสียดายที่พลาธิปไม่สามารถผ่านเข้ารอบชิงชนะเลิศในอีเวนต์ 100 ม. ปารีสเกมส์ ได้สำเร็จหลังทำเวลา 12.92 วิ. ส่งผลให้การเดินทางหนนี้จบลงอย่างรวดเร็ว แต่ก็กลายเป็นประสบการณ์และแรงกระตุ้นให้เจ้าตัวกลับไปปรับปรุงและแก้ไข เพื่อกลับมาอีกครั้งใน "แอลเอ 2028" นั่นเอง
TAG ที่เกี่ยวข้อง