stadium

"มอส" จักริน ดำมุนี เส้นทางฝันสู่พาราลิมปิกเกมส์ 2024

5 กันยายน 2567

พาราลิมปิกเกมส์ มหานครปารีส ประเทศฝรั่งเศสปี 2024 มหกรรมกีฬาที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของมนุษยชาติสำหรับผู้พิการ ถนนแห่งความฝันทุกสายมุ่งสู่ปารีส รวมถึงเส้นทางเดิน ของมอส จักริน ดำมุนี นักวิ่งผู้พิการทางสายตาทีมชาติไทย

 

มอสได้ตั๋วเดินทางหลังผ่านการควอลิฟายมาได้อย่างราบรื่น นี่คือบทความย้อนรอยชีวิตของนักวิ่งผู้มุ่งมั่น สู่เส้นทางในปารีสพาราลิมปิก

 

 

ต่อยมวยสู้ชีวิต

 

เริ่มต้นในวัย 11 ปี มอส จักริน อยากช่วยแม่หารายได้ จึงเริ่มชกมวยเพื่อหาเงินที่เกาะสมุยเป็นเวลาหนึ่งปี ”พอหยุดต่อยมวยไปได้หนึ่งเดือนตาก็เริ่มลางและมืดสนิทไปเลยครับ เป็นที่ตาซ้าย ตอนนั้นอายุแค่ 11 ปี จนอายุ 13 แม่พาไปหาหมอ หมอบอกให้ผ่าตัด แม่เลยถามถึงผลข้างเคียง หมอบอกว่าอาจมีผลกับตาข้างขวาด้วยก็เลยไม่ทำ“

 

มอสเล่าว่าเหตุการณ์ในตอนนั้นทำให้เขาเลิกต่อยมวยไปเลย เนื่องจากตาซ้ายได้รับการกระทบกระเทือนจากแรงกระแทกของหมัดที่หนักมาก ส่วนเหตุผลที่ไม่ผ่าตัด นอกจากจะกังวลเรื่องผลข้างเคียงแล้ว ยังกังวลเรื่องค่าใช้จ่ายด้วย

 

“โดนต่อยแรงครับ ก็เลยได้ต่อยแค่สองครั้งแล้วก็เลิก พอจบม.3 แม่ก็ให้ออกจากโรงเรียนเพราะพ่อแม่เลิกกัน แม่ไม่มีเงินส่งให้เรียนต่อ ตอนนั้นผมบอกแม่ว่าไม่เป็นไร ผมจะไปซ้อมวิ่งให้ได้แข่งตามงาน ให้ได้เงิน แล้วเอามารเรียน” เหตุการณ์ในวันนั้นทำให้มอสเริ่มซ้อมวิ่งแบบจริงจัง

 

 

พบคนใจดีที่ให้การสนับสนุน

 

หลังจากเริ่มซ้อมวิ่งได้ประมาณหนึ่งสัปดาห์ มอสได้เจอกับนายห้างทอง นายสุรชัย จิ๋วพัฒนกุล เศรษฐีใจบุญ ที่สุราษฎร์ธานี “ เขาเข้ามามาถามว่าผมเรียนที่ไหน ผมเลยบอกเขาไปว่า คงไม่ได้เรียนครับ เพราะแม่ไม่มีเงิน แกเลยมาขอเป็นคนจ่ายตังค์ค่าเทอมให้ แล้วส่งผมไปอยู่กับครูเบส นายดาราศักดิ์ ขรัวทองเขียว ที่โรงเรียนพระแสงวิทยา”

 

ในตอนนั้นแม่ของมอสอนุญาตเลยในทันที และให้อิสระมาก เพราะทราบว่าลูกชายอยากเรียน จากนั้นเมื่อได้เข้าเรียนที่โรงเรียนพระแสงวิทยา มอสก็ได้ซ้อมวิ่งต่อไปกับผู้ที่มีสายตาปกติ 

 

“ตอนนั้นผมได้แข่งกีฬาเยาวชนรายการ 4 × 400 เมตรครับ ได้เหรียญจากการแข่งด้วย ตอนนั้นนายห้างทองบอกผมว่า ขอแค่เรียนจบมาอย่าลืมพ่อแม่ และอยากให้เป็นครู อยากให้กตัญญู เขาเป็นคนสำคัญในชีวิตผม ไม่รู้ว่าถ้าไม่มีแกจะเป็นทุกวันนี้ได้ยังไง เพราะสิ่งที่แกให้ คือโอกาสที่สำคัญที่สุดในชีวิต”

 

 

ก้าวแรกสู่การเป็นนักกีฬาพารา

 

เพื่อสานต่อความฝันและรักษาสัญญาที่ให้ไว้กับนายห้างทอง มอสลังเลในตอนแรกที่ถูกชักชวนให้เล่นกีฬาพารา เพราะกังวลว่าจะทำให้หมดโอกาสในการเป็นครู “ผมเข้าสู่วงการพาราได้ เพราะครูชวนให้เป็นไกด์รันเนอร์ ให้นักกีฬาพิการทางสายตา พอซ้อมได้สองถึงสามเดือนก็ไปแข่งที่ฝรั่งเศส“

 

ตอนนั้นมอสพบกับรุ่นพี่และโค้ช ที่แนะนำให้ไปตรวจสายตาเพื่อเล่นกีฬาพารา “ตอนที่เขามาชวนครั้งแรกผมปฏิเสธว่าไม่อยากเป็น ผมไม่ได้อายแต่ผมคิดว่าถ้ามาเป็นนักกีฬาคนพิการจะเป็นครูไม่ได้” กระทั่งอาจารย์เอ๋ พัชรินทร์ จันทร์แดง จากมหาวิทยาลัยการกีฬาแห่งชาติวิทยาเขตตรัง ที่ดูแลมอสมาตลอดยืนยันว่าจะไม่เป็นเช่นนั้นทำให้มอสตัดสินใจในที่สุด

 

“พอตรวจสายตาผ่านผมเข้าแคมป์ ก็ปรับตัวได้เลยเพราะเคยเป็นนักกีฬาปกติอยู่แล้ว ไปแข่งพาราครั้งแรกก็ตื่นเต้น เพราะเป็นทีมชาติครั้งแรกตอนนั้นคืออาเซียนพาราเกมส์ที่อินโดนีเซียปี 2022” ท้ายสุดผลงานของมอสก็ยอดเยี่ยมด้วยการได้ 4 เหรียญทองและ 1 เหรียญเงิน ปลดล็อกความไม่มั่นใจเรื่องการออกบล็อกวิ่งระยะสั้น เพราะได้เหรียญทองจากทั้งระยะ 100 และ 200 เมตร

 

 

สู่ฮีโร่พาราลิมปิก

 

การแข่งขันระดับนานาชาติครั้งแรกจึงกลายเป็นการเปิดตัวอย่างสวยงามในฐานะนักกีฬาพาราปิคของมอส จักรินทร์ “ได้แข่ง 100 เมตรก่อนแล้วได้เหรียญทอง รู้สึกโล่งไปเลย  กดดันน้อยลง เพราะประสบความสำเร็จแต่วันแรก จบอาเซียนพาราเกมส์ครั้งนี้ก็ดีใจมากเพราะได้ทำบ้าน และผ่อนหนี้ให้แม่”

 

มอสเล่าว่าแม่ภูมิใจถึงกับร้องไห้ออกมา “แม่ร้องไห้บอกว่าภูมิใจมาก ให้ทำต่อไป เพราะเลือกทางนี้แล้วให้ไปให้สุด แม่ให้กำลังใจตลอด แกไม่ค่อยพูดแต่ผมรู้ว่าแกดีใจ ผมเองก็ดีใจมาก เปลี่ยนชีวิตผมเลย แม่ก็สบายขึ้น”

 

หลังจากนั้นอาเซียนพาราเกมส์ครั้งถัดมา ที่พนมเปญ ประสบความสำเร็จอีก 4 เหรียญทอง ทำให้มอสหวนระลึกถึงอาจารย์เอ๋ผู้อยู่เบื้องหลัง “แกเป็นโค้ช และส่งผมไปเป็นไกด์รันเนอร์ ดูแลผมเหมือนแม่อีกคน พร้อมให้คำแนะนำจนผมได้เป็นนักกีฬาพาราทีมชาติ อยากบอกขอบคุณอาจารย์ที่ให้โอกาสในวันนั้น และดูแลผมมาตลอด ตอนนี้ช่วงที่ไม่ได้แข่งก็กลับไปซ้อมกับแก ตอนได้เหรียญทองแรกในอาเซียนพาราเกมส์ แกก็ไปด้วย ที่อินโดนีเซีย แกก็บอกว่าดีใจที่ผมมาถึงจุดนี้ได้”

 

 

ควอลิฟายสู่ปารีส

 

จากการแข่งขันในระดับอาเซียน มอส ได้ร่วมทัพนักกีฬาไทยไปแข่งขันเอเชียนพาราเกมส์ ที่ประเทศจีนในปี 2566 ประสบความสำเร็จกลับมาได้สองเหรียญทอง จากนั้นได้รับโอกาสให้เดินทางไปแข่งขันรายการกรีฑาพาราชิงแชมป์โลกที่ประเทศอิตาลี หากติดอันดับหนึ่งในสี่จะได้ตั๋วเพื่อไปปารีสพาราลิมปิก

 

“กติกาคือบอกว่าถ้าติดหนึ่งในสี่ ก็ได้ไปปารีสผมลงแข่งสองรายการ 100 เมตรได้ที่สาม 400 เมตรได้ที่สี่ จึงควอลิฟายได้ทั้งสองอย่าง ดีใจมาก เพราะก่อนไปไม่ได้คาดหวังว่าจะติด ตกใจกับตัวเองด้วยครับ เพราะเป็นสถิติใหม่ทั้งสองรายการ”

 

ส่วนเป้าหมายในปารีสพาราลิมปิกนั้น มอส จักริน บอกว่า “มาไกลมากครับ ไกลถึงปารีส ตั้งเป้าอยากได้เหรียญใดก็ได้ และพัฒนาต่อไป ผมตื่นเต้นนะ มันเป็นความฝันของนักกีฬาทุกคนบนโลกนี้ สักครั้งในชีวิต เป็นแมตช์สูงสุดของนักกีฬา“

 

 

ความฝันการเป็นครู

 

เส้นทางนักกีฬาพาราลิมปิกที่เกือบจะไม่เกิดขึ้น หากวันนั้นมอสเลือกตัดสินใจอีกแบบ สู่การเดินทางที่ไกล ที่เกินกว่าเด็กจากภาคใต้คนหนึ่งจะคาดคิดไว้ วันนี้ มอสในวัย 24 ปีเก็บสะสมระยะทางในการวิ่งของตัวเอง ควบคู่กับการเรียนต่อระดับปริญญาโท วิทยาลัยพลศึกษากระบี่ สาขาศึกษาศาสตร์ เพื่อเตรียมเป็นอาจารย์ให้กับนักศึกษาระดับปริญญาตรี ที่วิทยาลัยพลศึกษายะลาในอนาคต 

 

“ผมอยากฝากบอก อยากขอบคุณทุกคนที่คอยให้กำลังใจ และทุกคนที่ช่วยเหลือผม ฝากขอแรงเชียร์ในทุกรายการแข่งขัน และสัญญาว่าจะทำให้ดีที่สุดในทุกแมตช์”


stadium

author

ทีมงานเพจนักวิ่งมีหนวด

เพจเรื่องวิ่งที่แอดมินมีหนวด ทำข่าววิ่ง ชอบป้ายยา ขิงรองเท้าเสื้อผ้าวิ่ง

Hatari
stadium olympic