4 กันยายน 2567
โอกาสในการใช้ชีวิตของแต่ละบุคคลนั้นย่อมแตกต่างกันออกไป บางคนได้รับโอกาสนับไม่ถ้วนแต่กลับเลือกกระทำสิ่งซ้ำเดิมที่ไม่เกิดประโยชน์ ในขณะที่บางคนร้องขอโอกาสในชีวิตอีกเพียงครั้งเพื่อแก้ไขสิ่งที่พลาดผิดและพร้อมจะนำไปเป็นบทเรียนเพื่อดำเนินชีวิตให้ดีขึ้นต่อไป
เช่นกันกับ ‘เซ้ง’ พิสิษฐ์ หวังผลพัฒนศิริ นักกีฬาเทเบิลเทนนิสพาราทีมชาติไทย ที่มีสิทธิ์ได้เข้าร่วมมหกรรมกีฬาสำคัญอย่าง ‘พาราลิมปิกเกมส์’ ที่กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส ผู้ที่ครั้งหนึ่งเคยเกือบถลำลึกก้าวขาผิดดำดิ่งลงเหว ทว่าเมื่อโอกาสแก้ตัวมาถึงเซ้งรีบคว้ามันไว้กระทั่งก้าวขึ้นมาเป็นนักกีฬาอาชีพได้สำเร็จ
คงเป็นอะไรที่ยอมทำใจรับสภาพได้ยากเมื่อรู้ว่าการใช้ชีวิตที่เคยเป็นปกติกลับถูกกระชากหายไป เมื่ออุบัติเหตุที่ไม่มีใครต้องการให้เกิดขึ้นทำให้เด็กชายวัย 5 ขวบอย่าง ‘เซ้ง’ ต้องกลายมาเป็นผู้พิการ แต่เหนือสิ่งอื่นใดเขาพยายามกล่อมจิตใจที่กำลังบอบบางนั้นว่า “ผมไม่ใช่คนพิการ” พร้อมกับกัดฟันใช้ชีวิตจวบจนปัจจุบัน
เซ้ง เล่าให้ฟังว่า ก่อนหน้านี้เขาเป็นเพียงเด็กน้อยคนหนึ่งที่มีพรสวรรค์ด้านกีฬาโดยเฉพาะเทเบิลเทนนิส กีฬาที่โปรดปรานและสร้างชื่อให้กับเซ้งที่สุด แม้ว่าการเดินในแต่ละย่างก้าวจะกะโผลกกะเผลกไม่เป็นปกติ แต่เขาเองกลับมองว่านั่นไม่ใช่ปัญหายังคงเดินหน้าทำในสิ่งที่ถนัดที่สุดต่อไป
“ในตอนแรกผมไม่รู้ตัวเองด้วยซ้ำว่าผมพิการ แค่รู้สึกว่าเดินผิดปกติกว่าคนอื่นเขาแค่นั้นเอง ในคำว่าพิการของผมก็คือต้องไม่มีแขนไม่มีขา ผมก็ยังเล่นยังลงแข่งปิงปองกับคนปกติมาตลอด”
ด้วยความสามารถด้านกีฬาเทเบิลเทนนิสที่เรียกว่าฟ้าประทาน เซ้ง เดินสายแข่งขันและกวาดเหรียญรางวัลในรายการต่าง ๆ มากมาย กวาดแชมป์ในภาคตะวันออกแบบเรียบวุธ กระทั่งก้าวขึ้นมาเป็นตัวแทนจังหวัดและไต่อันดับขึ้นไปรั้งอันดับ 7 ของประเทศไทย เมื่อเซ้งอายุได้ 18 ปีเต็ม เขาต้องวางมือจากสิ่งที่ชอบและหันไปหาอาชีพรองรับเพื่อสร้างรายได้มาจุนเจือครอบครัวที่ค่อนข้างยากจน
แต่ทว่าโชคชะตาชีวิตของเซ้งก็พลิกผัน เมื่อวันหนึ่งเขาหันหน้าเข้าหายาเสพติดจนเกือบทำชีวิตพังทลาย โชคดีที่ก้นบึ้งจิตใจสำนึกตระหนักได้ว่านี่คือหนทางสู่ประตูนรกเขาจึงตัดสินใจหวนกลับมาทำในสิ่งที่รักอีกครั้งนั่นคือเส้นทางนักกีฬา
ภายหลังจากที่ ‘เซ้ง’ เดินกลับเข้าสู่ลู่ทางที่ถูกที่ควร ประจวบเหมาะกับช่วงวัยที่บรรลุนิติภาวะ เขาลงทำการแข่งขันอีกครั้งและฝีมือยังฉกาจยอดเยี่ยม เดินหน้าล่ารางวัลมาได้เช่นเคย แววรุ่งก็เฉิดฉายจนไปเข้าตาของ ‘โค้ชเบิร์ด’ พ.ต.ท.สุริยะ พ่วงสมบัติ โค้ชผู้ฝึกสอนกีฬาเทเบิลเทนนิสพาราทีมชาติไทย จึงเกิดเป็นที่มาของการเป็นตัวแทนทีมชาติไทยลุยศึกใหญ่ที่สุดในชีวิต
“ตอนนั้นผมอายุประมาณ 25-26 ปี ในช่วงนั้นก็เป็นทั้งโค้ชผู้ฝึกสอนด้วย ออกตระเวนทำการแข่งขันด้วย จนกระทั่งช่วงปี 2018 ที่ผมกำลังตระเวนทำการแข่งขันอยู่นั้นก็บังเอิญไปพบกับโค้ชเบิร์ดท่านก็ชวนผมให้มาเป็นนักกีฬาผู้พิการทีมชาติและพาผมไปแข่งขันรายการใหญ่ ๆ มากมาย”
‘พาราเทเบิลเทนนิส เช็ก โอเพ่น 2017 ประเทศเช็กเกีย’ คือทัวร์นาเมนต์แรกในชีวิตที่เซ้งได้สัมผัส ด้วยความพร้อมด้านร่างกายบวกกับความมั่นใจที่เชื่อมั่นมาตลอดว่า “มันจะไปยากอะไร” กลับทำให้ผลงานส่วนตัวไม่สู้ดีนัก เซ้งต้องกระเด็นตกรอบแรก แต่อย่างไรก็ดียังมีหนึ่งเหรียญทองในประเภททีมปลอบใจ
เซ้ง ยอมรับว่าที่ได้เหรียญรางวัลมานั้นเป็นเพราะเพื่อนร่วมทีมชาวต่างชาติล้วน ๆ มิใช่ฝีมือของตนเอง เขาจึงปรับเปลี่ยนทั้งวิธีคิดและรูปแบบการเล่นให้มีความสอดคล้องกันมากขึ้น กระทั่งโอกาสครั้งใหม่ก็มาถึงเมื่อเขามีรายชื่อติดทีมชาติไทยลุยศึก ‘พาราลิมปิก 2020’ ที่ญี่ปุ่นรับหน้าที่เป็นเจ้าภาพ
“ผมไม่เคยคิดว่าจะมีโอกาสได้ไปทำการแข่งขันพาราลิมปิก กระทั่งได้เป็นตัวแทนทีมชาติไทยผมก็รู้สึกดีใจเพราะนี่คือการแข่งขันรายการใหญ่ครั้งแรกของตัวผม แม้ว่าผลงานจะไม่ดีมันคือบทเรียนที่ผมต้องนำมาแก้ไขต่อไป”
เซ้งบอกด้วยว่า คำแนะนำจากรุ่นพี่นักกีฬาก็เป็นสิ่งสำคัญ เขายกตัวอย่างนักกีฬาเทเบิลเทนนิสผู้พิการระดับตำนานทีมชาติไทยอย่าง ‘รุ่งโรจน์ ไทยนิยม’ มาเป็นข้อคิดโดยเซ้งน้อมรับคำแนะนำต่าง ๆ พร้อมนำมาปรับใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด
การแข่งขันพาราลิมปิก 2024 ที่กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส ครั้งนี้ถือว่าเป็นการเข้าร่วมมหกรรมความยิ่งใหญ่ของนักกีฬาพาราเป็นครั้งที่ 2 ของ ‘เซ้ง’ โดยเขาตั้งเป้าไว้ว่าจะต้องมีสักเหรียญรางวัลมาคล้องคอ จากประสบการณ์ที่สั่งสมผนวกความพร้อมที่เกินร้อยเปอร์เซ็นต์ทำให้เขามีความมุ่งมั่นที่จะทำให้สำเร็จ
“เป้าหมายที่ผมคาดหวังไว้กับพาราลิมปิกครั้งนี้คือ ในประเภทเดี่ยวอย่างน้อย ๆ ต้องมีเหรียญรางวัลติดมือกลับมา ซึ่งมันอาจจะเป็นเรื่องที่ยากแต่ถ้าเราทะลุไปถึงรอบ 8 คนก็อาจจะต้องมาลุ้นกันอีกที ซึ่งผมก็ค่อนข้างพร้อมกับการแข่งขันครั้งนี้ทั้งด้านร่างกายและการฝึกซ้อมที่เข้มข้นขึ้น”
เซ้งยังบอกอีกว่า ในส่วนของประเภทคู่ที่จะลงทำการแข่งขันร่วมกับ ‘รุ่งโรจน์’ เขาตั้งความหวังไว้ต้องมีหนึ่งเหรียญรางวัลอย่างแน่นอน ด้วยประสบการณ์ของรุ่งโรจน์จะเป็นตัวแปรที่จะพาไปสู่เป้าหมายได้สำเร็จ ซึ่งสุดท้ายทั้งคู่ทะลุไปถึงรอบชิงชนะเลิศก่อนคว้าเหรียญเงินไปครองอย่างน่าชื่นชม
“พี่เขาจะแนะนำผมเสมอว่าให้เล่นแบบผ่อนคลาย อย่าไปคิดว่ามันคือนัดชิงชนะเลิศ กล้าเล่น กล้าตี อย่าไปตื่นเต้นหรือกดดันตัวเอง ผมยอมรับตามตรงว่าถ้าผมลงแข่งแค่ประเภทเดี่ยวเพียงอย่างเดียว ก็คงอยู่ได้แค่ระดับเอเชีย จุดอ่อนของผมคือถ้าเจอจังหวะชี้ขาดผมยังเก็บไม่ได้แต่พอได้พี่รุ่งโรจน์เข้ามา ซึ่งเขามีประสบการณ์ในการเป็นแชมป์มาแล้ว ตรงนี้ผมว่าพี่เขาช่วยได้เยอะ” เซ้งพูดถึงไอดอลได้อย่างน่าชื่นชม
อย่างไรก็ดี เซ้งยังฝากบอกด้วยว่า การแข่งขันพาราลิมปิกครั้งนี้กำลังใจคือสิ่งสำคัญ ไม่ใช่แค่การแข่งขันแต่มันคือสิ่งที่ผู้พิการตั้งใจฝึกซ้อมไม่ด้อยไปกว่านักกีฬาปกติ มี 100 แต่พวกเขาต้องเพิ่มให้มากกว่า ทว่าการมองเห็นในวงกว้างกลับน้อยนิดเมื่อเทียบกับ ‘โอลิมปิก’
“พูดกันตามตรง การแข่งขันพาราลิมปิกคนส่วนใหญ่จะไม่ค่อยให้ความสนใจ คนดูก็น้อย แต่เชื่อมั้ยว่านักกีฬาทุกคนนั้นมีความตั้งใจ เพราะเราซ้อมกันมาหนักมาก แม้ว่าเรามีข้อจำกัดคือสภาพร่างกาย แต่ความทุ่มเท ความตั้งใจผมว่าพวกเรามีกันเกินร้อยแน่นอน ดังนั้นผมจึงอยากให้แบ่งใจเล็ก ๆ มาช่วยเชียร์พวกเราให้ประสบความสำเร็จในพาราลิมปิกครั้งนี้” เซ้งทิ้งท้าย
TAG ที่เกี่ยวข้อง