3 กันยายน 2567
จะเป็นอย่างไร หากวันหนึ่งต้องรับรู้ว่าสภาพร่างกายของเรานั้นไม่ครบ 32 เชื่อว่าหลายท่านอาจจมทุกข์หมดอะไรตายอยาก บ้างก็นอนรอโอกาสและความหวังไปวัน ๆ แต่สำหรับ 'เนะ' เฉลิมพงษ์ พันภู่ ผู้ที่ยอมรับสถานภาพของตัวเองมาตั้งแต่กำเนิดกลับเลือกที่ดิ้นรนต่อสู้เพื่อไปให้ถึงฝัน ไม่ยอมอ่อนข้อให้โชคชะตาที่ถูกลิขิตมาพร้อมกับคำว่า “ผู้พิการ” แต่กลับใช้คำจำกัดความนั้นสร้างโอกาสให้ตัวเอง
เฉลิมพงษ์ พันภู่ คือหนึ่งในนักกีฬาเทเบิลเทนนิสผู้พิการทีมชาติไทย ที่สร้างชื่อเสียงให้กับประเทศไทยไว้มากมายด้วยความมุมานะ ไม่ยอมแพ้และอ่อนข้อให้กับข้อจำกัด ประสบการณ์ที่สั่งสมกำลังเพาะบ่มได้ที่ ทำให้เขาคือนักกีฬาตัวความหวังที่มีลุ้นเหรียญรางวัลในการแข่งขันพาราลิมปิกเกมส์ ณ กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส
แต่กว่าที่ เนะ จะก้าวขึ้นมาถึงจุดสูงสุดของการเป็นนักกีฬาไม่ใช่เรื่องง่ายเลยสำหรับผู้ที่ใช้คำว่า “พิการ” ต้องผ่านพบอุปสรรคนานัปการสลับสับสนไปกับความไม่สมประกอบ แต่เนะไม่ย่อท้อและขอลุกขึ้นสู้ในทุกครั้ง ติดตามเรื่องราวของเขาได้ที่นี่
หากไม่นับว่าการไร้แขนทั้งสองข้างกับขาข้างหนึ่งที่สูญเสีย เนะ ก็เหมือนกับเด็กผู้ชายทั่วไปที่ชื่นชอบการออกกำลังกายเป็นชีวิต เพราะตั้งแต่ยังเป็นเด็กเขาเล่นกีฬาเกือบทุกประเภทที่เพื่อนร่วมรุ่นเล่นกัน ฟุตบอล, บาสฯ, หรือวอลเลย์บอล เนะไม่เคยทำตัวแตกต่างหรือหาข้ออ้างมาจำกัดชีวิต เขาเข้าร่วมทุกกิจกรรมกระทั่งทักษะด้านกีฬาดันไปสะดุดตาอาจารย์ผู้ฝึกสอนจนได้รับเลือกให้เป็นนักกีฬาวอลเลย์บอลของโรงเรียน
“ตอนเด็ก ๆ ผมแค่อยากออกกำลังกายเพื่อดูแลสุขภาพของตัวแค่นั้น แต่ด้วยความที่ผมพอมีทักษะด้านกีฬาคุณครูที่โรงเรียนจึงชวนให้ไปคัดตัวนักวอลเลย์บอลซึ่งผมก็ทำได้และติดเป็นตัวแทนของโรงเรียนไปแข่งตามรายการต่าง ๆ และในตอนนั้นเองผมก็เริ่มมีความฝันว่าอยากติดทีมชาติ อยากมีธงชาติไทยติดที่หน้าอกเสื้อ”
เนะ ใช้เวลาอยู่กับการเล่นวอลเลย์บอลกระทั่งถึงมัธยมปลาย เป็นจังหวะเดียวกันกับที่ทางเลือกของชีวิตเดินทางมาถึง เขาจำเป็นต้องตัดสินใจแล้วว่าจะศึกษาต่อหรือพอเท่านี้เพื่อมองหาอาชีพและช่องทางการสร้างรายได้ แน่นอนว่าเนะเลือกทางเลือกที่สอง ทั้งหมดนี้เพื่อไม่ต้องการเป็นภาระของครอบครัวและยุติบทบาทการเป็นนักกีฬาเหลือไว้เพียงความทรงจำที่ดี
มีข้อมูลเพิ่มเติมว่า เนะได้รับการอนุเคราะห์ให้เข้าทำงานเป็นนักเขียนแบบในบริษัทออกแบบภายใน จากความรู้ที่เท่ากับศูนย์เขาพยายามศึกษาเรียนรู้จนคล่องแคล่วและสามารถหารายได้มาจุนเจือครอบครัว โดยที่ไม่เป็นภาระของบุคคลอื่นใด
เนะบอกว่า ด้วยร่างกายที่ไม่สมบูรณ์ จึงมองว่าการไปถึงการติดทีมชาตินั้นมันยากจึงหยุดเส้นทางไว้เพียงเท่านี้ ประจวบเหมาะที่ช่วงวัยเติบโตขึ้นเขาจึงมุ่งไปที่การทำงานเป็นหลักเว้นพักการเล่นกีฬาไปเป็นแรมปี กระทั้งวันหนึ่งไฟในตัวก็ลุกโชนอีกครั้งเมื่อได้เห็นโต๊ะปิงปอง!
หลังจากที่เนะตั้งหน้าตั้งตาเก็บหอมรอมริบด้วยการประกอบอาชีพเฉกเช่นคนปกติได้เป็นเวลากว่า 10 ปีจุดพลิกผันครั้งใหญ่ในชีวิตก็ทำให้เขาค้นพบความชอบที่ตามหา ใครจะไปรู้ว่าการจับไม้ปิงปองจะเป็นทางเลือกที่เปลี่ยนชีวิตเขาไปตลอดกาล
“จู่ ๆ มันก็มีความคิดที่อยากจะออกกำลังกายอีกครั้ง ผมจึงเดินไปที่ศูนย์กีฬาหัวหมากและเห็นโรงยิมปิงปองก็เล่นอยากเล่นสนุก ๆ แต่ปรากฏว่าเพื่อน ๆ พี่ ๆ ใน กกท.เห็นว่าตัวเรามีโอกาสที่จะพัฒนาฝีมือต่อไปได้จึงชักชวนให้เข้าสู่การเล่นปิงปองอย่างจริงจัง ผมเองก็รู้สึกอยากลองดูสักตั้งเหมือนกัน”
การเดินดุ่มเข้าสู่โรงยิมของเนะที่หวังเพียงออกกำลังกาย กลับกลายเป็นความหวังที่จะมีธงชาติไทยติดที่หน้าอก ความฝัยวัยเด็กของเขากำลังถูกเติมเต็มด้วยกีฬาเทเบิลเทนนิส เนะตกปากรับคำและยินดีร่วมฝึกซ้อมโดยที่ไม่ประหวั่นพรั่นพรึงถึงอุปสรรคที่รออยู่เบื้องหน้า สายตามุ่งมั่นไปกับการฝึกซ้อมตลอดระยะเวลา 6 เดือนกระทั่งเขาได้มีโอกาสเข้าสู่กระบวนการคัดเลือกตัวนักกีฬาเทเบิลเทนนิสผู้พิการทีมชาติไทย แม้ผลลัพธ์จะไม่เป็นไปดั่งที่หวังแต่เนะก็ไม่เคยปิดกั้นตัวเอง
“มันก็รู้สึกเสียใจนิด ๆ แต่ไม่ถึงกับล้มเลิกความตั้งใจ ก็ต้องขอบอกว่า 'รุ่ง' (รุ่งโรจน์ ไทยนิยม นักกีฬาเทเบิลเทนนิสผู้พิการที่สร้างประวัติศาสตร์เหรียญทองพาราลิมปิกของไทย) เป็นคนที่จุดประกายความหวังในตัวผมขึ้นมาอีกครั้ง เพราะจำได้ดีว่าวันนั้นผมนั่งดูน้องเขากำลังทำการแข่งพาราลิมปิกที่ลอนดอนมันก็เลยเป็นที่มาของการเดินหน้าต่อ”
ภายหลังจากพาราลิมปิกที่ลอนดอนประเทศอังกฤษเสร็จสิ้นลง เนะได้มีโอกาสพบปะพูดคุยกับรุ่งในฐานะนักกีฬา เขาได้ขอคำแนะนำต่าง ๆ เพื่อนำมาปรับใช้ในการฝึกซ้อมเพื่อคัดเลือกนักกีฬาทีมชาติครั้งต่อไป และจากคำแนะนำนั้นเนะได้เรียนรู้เทคนิคการใช้ไม้ปิงปองมือเดียว ซึ่งปกติแล้วเขามักจะคุ้นชินกับการใช้แขนทั้งสองข้างคีบหนีบไม้แล้วตวัดตีลูกเสียมากกว่า
เนะใช้เวลาฝึกซ้อมอยู่นานพอควรกว่าจะคุ้นเคยกับลักษณะการตีรูปแบบใหม่ เขายอมรับว่ามีท้อบ้างแต่ในทุกครั้งที่รู้สึกแบบนั้นเขาก็แค่นั่งพักแล้วค่อยไปต่อ
“ช่วงแรกของการฝึกซ้อมก็รู้สึกท้อเพราะเราไม่ถนัดใช้แขนเดียวในการตีลูก แต่ก็กลับมาคิดว่าถ้ายังตีในลักษณะนี้อยู่เราไปได้ไม่ไกลแน่ ๆ จึงพยายามอดทนฝึกซ้อมหาเวลาหลังเลิกจากงานประจำตั้งแต่ห้าโมงเย็นถึงสามทุ่ม เหนื่อยก็พักหายเหนื่อยก็ซ้อมต่อกระทั่งผมเริ่มตีลูกในลักษณะแขนเดียวได้คล่องแคล่วมากขึ้นจนสามารถมาตีกับคนปกติได้และมีกำลังใจมากขึ้นที่จะกลับมาทำการแข่งขัน”
ท้ายที่สุด เนะ ก็ได้รับเลือกให้เป็นนักกีฬาผู้พิการตัวแทนทีมชาติไทยสมใจหวัง คราวนี้ที่หน้าอกเสื้อมีธงชาติประทับติดไว้แล้ว ที่เหลือก็แค่ทำหน้าที่ของตัวเองให้ดีที่สุด
เนะได้ทำตามความฝันของตัวเองได้สำเร็จไปแล้วหนึ่งขั้น การได้เป็นนักกีฬาทีมชาติไทยคือก้าวแรกในเส้นทางนักกีฬา ทว่าจุดสูงสุดคือการได้เข้าร่วมมหกรรมกีฬาผู้พิการอย่างพาราลิมปิก เนะ สามารถทำได้และมีโอกาสได้ไปวาดลวดลายบนเวทีโลก
“พาราลิมปิกครั้งแรกของผมเกิดขึ้นที่กรุงโตเกียวประเทศญี่ปุ่น ผมไปด้วยความมั่นใจเต็มเปี่ยมและตั้งความหวังไว้สูงมากแต่กลับไม่ได้เหรียญรางวัลอะไรกลับมาเลย มันรู้สึกแย่มากเพราะก่อนหน้านี้ผมตั้งใจฝึกซ้อมและหวังว่าจะต้องได้เหรียญใดเหรียญหนึ่ง ผมเห็นคนอื่น ๆ ขึ้นรับเหรียญส่วนผมทำได้แค่ยืนมองมันเสียใจจนน้ำตาคลอเบ้า”
เนะบอกต่อว่า มันคือสิ่งที่ต้องนำกลับมาพิจารณาและหาข้อแก้ไข การมีประสบการณ์มาแล้วนั้นย่อมส่งผลที่ดีเสมอในโอกาสครั้งต่อไป พาราลิมปิกครั้งนี้เขาตั้งใจมากขึ้น มองหาข้อดีข้อเสียของตัวเองและนำมันมาปรับปรุงแก้ไขไปพร้อมกับการพัฒนา เขารู้ว่าคู่แข่งที่จะต้องประมืออยู่ในระดับใด อย่างไรเสียเนะบอกว่าจะพยายามทำผลงานออกมาให้เต็มที่ที่สุดไม่ว่าผลลัพธ์จะเป็นอย่างไรก็ตาม เขาพร้อมที่จะยิ้มยินดีกับสิ่งที่เกิดขึ้น
“เทเบิลเทนนิสมันคือความฝัน มันคืออาชีพ ได้ทำในสิ่งที่เรารักและยังนำเราไปสู่ความสำเร็จในชีวิตทั้งตัวเราเองหรือครอบครัว อีกทั้งยังสร้างชื่อเสียงให้กับประเทศไทย”
และนี่คือ ‘เฉลิมพงษ์ พันภู่’ อีกหนึ่งบุคคลที่หากมองในมุมของปุถุชนคนธรรมดาเขาก็เป็นแบบอย่างการใช้ชีวิต หรือในบทบาทของการเป็นนักกีฬาก็ไม่ด้อยค่าไปกว่าใคร สิ่งที่ทำให้เขาก้าวมาถึงวันนี้คือการพยายามสร้างพื้นที่ให้ตัวเองให้เป็นที่ยอมรับไม่ว่าสถานะภาพจะเป็นอย่างไรเขาพร้อมที่จะก้าวไปข้างหน้าอย่างภาคภูมิ
TAG ที่เกี่ยวข้อง