3 กันยายน 2567
ตั๋วสู่ปารีสพาราลิมปิก คือความสำเร็จที่ยิ่งใหญ่ของ "อุ้ม" ศศิราวรรณ อินทโชติ นักกรีฑาพาราทีมชาติไทย ก้าวแรกจากศรีสะเกษ สู่การเป็นนักกีฬาอาชีพ และตั๋วเดินทางไปปารีสประเทศฝรั่งเศส ทั้งหมดนี้เป็นมาอย่างไร ติดตามได้ที่นี่
สามปีคือประสบการณ์วิ่งของอุ้ม นับตั้งแต่อายุ 18 จนถึงตอนนี้เธออายุ 21 ปี จุดเริ่มต้นของการวิ่งมาจากการชักชวนของครูในโรงเรียนระดับชั้นมัธยม ซึ่งเห็นว่าอุ้มเป็นคนค่อนข้างเก็บตัว พูดน้อย และพิการแขนหนึ่งข้าง ทำให้มองว่าการเป็นนักวิ่งจะสามารถสามารถปูทางสู่การหารายได้สร้างอาชีพของลูกศิษย์คนนี้ได้ในอนาคต
“ตอนนั้นอายุ 18 ค่ะ ครูที่โรงเรียนซึ่งเป็นแฟนของโค้ชคนแรกของหนู คือ โค้ชท็อป เทวฤทธิ์ แนะนำให้หนูมาวิ่ง ตอนนั้นหนูอยู่โรงเรียนศรีรัตนวิทยา ที่ศรีสะเกษ เรียนอยู่ม.4 แล้ว ครูเห็นว่าหนูพิการแขน และโค้ชท็อปแฟนของครู ดูแลนักกีฬาคนพิการ จึงอยากให้หนูไปลอง หนูไม่เคยเล่นกีฬาอะไรเลยก่อนจะมาวิ่ง แต่ก็คิดว่าลองดูก็ไม่เสียหาย เรียนม.4 แล้วก็ต้องคิดเรื่องอนาคต”
จากวันนั้นอุ้มตัดสินใจไปลองวิ่งครั้งแรก ทำได้ดีกว่าที่คิดไว้ และได้ลงแข่งต่างประเทศครั้งแรกหลังจากซ้อมได้หกเดือน คือการแข่งขันพาราลิมปิกยู18 ที่ประเทศบาห์เรน “ตอนนั้นตื่นเต้นมากค่ะ ไปต่างประเทศครั้งแรก ไม่รู้จะต้องทำอะไรบ้าง ไม่รู้ขั้นตอนอะไรเลย พอลงสนามก็กลัว ได้แข่ง 100, 200, 400 และกระโดดไกล ทำได้สามเหรียญเงิน หนึ่งเหรียญทอง ซึ่งเหรียญทองมาจากการวิ่ง 400 เมตร”
อุ้มเล่าว่าเหรียญแรกระดับนานาชาติของเธอในครั้งนี้ ทำให้เธอภูมิใจมาก และครอบครัว คือพ่อและแม่ ก็ภูมิใจมากเช่นกัน “แม่ก็พูดให้คนแถวบ้านฟัง แบบดีใจมาก เอาเหรียญไปโชว์คนแถวบ้านทุกคนเลย ทุกคนก็ภูมิใจกับเรา”
อุ้มได้ลงแข่งขันระดับนานาชาติอีกหลายครั้ง รวมถึงอาเซียนพาราเกมส์ ที่ประเทศอินโดนีเซีย ทำให้อุ้มถูกส่งตัวต่อมาให้โค้ชนก พนม พุดซา เดินหน้าสะสมสถิติและเหรียญรางวัล นานสามปี ทำผลงานได้ดีทั้งอาเซียนพาราเกมส์ ที่อินโดนีเซียและกัมพูชา
“การแข่งที่นั่นหนูได้เงินรางวัล หนูก็ให้พ่อแม่ก่อน แกก็ดีใจ หนูอยากให้เอง รู้สึกภูมิใจ เพราะพ่อกับแม่มีแค่หนูกับพี่สาว ซึ่งพี่สาวมีครอบครัวไปแล้ว หนูก็อยากช่วยพ่อแม่ จากตอนนั้นไม่เคยคิดเลยว่าจะหารายได้ และมีอาชีพเป็นนักวิ่ง เพราะไม่เคยรู้จักการวิ่งมาก่อนด้วยซ้ำ ผ่านมาทั้งช่วงที่ท้อและเหนื่อย แต่ภูมิใจ คิดว่าคุ้มค่ากับความพยายาม จนถึงตอนนี้สร้างบ้านใหม่ให้พ่อแม่ที่ศรีสะเกษได้”
และ เอเชียนพาราเกมส์ ที่ประเทศจีน ณ เมืองหางโจว ประสบการณ์ที่สั่งสมมา ทำให้อุ้มทำลายสถิติการวิ่งระยะ 200 เมตร สำเร็จ และได้ลงแข่งชิงแชมป์โลกที่ฝรั่งเศส เป็นรายการถัดมา สร้างชื่อด้วยการคว้าเหรียญทองแดงระยะ 200 เมตรจากรายการนี้ ทำสถิติถึงเป้าควอลิฟาย ไปปารีส พาราลิมปิกเกมส์ 2024
“ไปแข่งกับโค้ชนกค่ะ ตอนนั้นหนูรู้ว่าจะต้องวิ่งให้ติดหนึ่งในสี่ เพื่อจะได้ไปพาราลิมปิก ตอนแรกไม่ได้หวังเหรียญ แค่อยากทำเวลาให้ผ่าน ก็เลยไม่ได้กดดันมาก โค้ชก็ไม่กดดัน ตอนรู้ว่าเข้าที่สามหนูเกือบร้องไห้ เพราะดีใจมาก ได้แข่งกับคนที่เราเคยแพ้มา หนูไม่เคยดีใจแบบนี้มาก่อนในชีวิต ตอนนั้นโค้ชนกก็ตื่นเต้นจนไม่กล้ามาดู พอรู้ผลเค้าก็ร้องไห้ ตอนเจอหน้ากันหลังแข่ง โค้ชก็เข้ามากอดและบอกว่าทำดีแล้ว”
เบื้องหลังแมตช์ชิงแชมป์โลกที่ปารีสในตอนนั้น โค้ชนกมีการบนเอาไว้ว่า หากอุ้มคว้าเหรียญได้ จะเดินกลับโรงแรมที่พัก ทำให้วันนั้นโค้ชนกต้องเดินกลับที่พักเพียงคนเดียว ส่วนอุ้มนั้นบนไว้กับย่าโม ที่จังหวัดนครราชสีมา ซึ่งเธอไปเก็บตัวอยู่ ว่าจะวิ่งรอบย่า 99 รอบ หากได้ผ่านไปพาราลิมปิก
“หนูปลดล็อกตัวเองบนเส้นทางนักวิ่ง และทีมพิการแขนขา ก็มีหนูเป็นผู้หญิงแค่คนเดียว และหนูก็ทำได้ หนูเป็นผู้หญิงคนแรกที่ไปได้ถึงระดับโลก และเคยได้รางวัลระดับแชมป์โลก ก่อนหน้านี้เคยมีนักกีฬารุ่นพี่เข้าร่วม แต่ไม่ได้รางวัล หนูมาไกลมาก ใช้เวลาแค่สามปี”
การเตรียมตัวสำหรับปารีสพาราลิมปิก 2024 ของอุ้มจึงถือว่าราบรื่น เพราะทำเวลาผ่านมาตรฐานได้แล้ว จึงเน้นไปที่การซ้อมมากกว่าการลงแข่ง แต่อย่างไรก็ตามในเดือนพฤษภาคมจะยังมีแมตช์แข่งขันอีกหนึ่งรายการ คือชิงแชมป์โลกที่โกเบ ประเทศญี่ปุ่น เป็นเหมือนการซ้อมใหญ่ก่อนลงสนามเพื่อพิชิตเหรียญรางวัลจากปารีส
“หนูอยากขอบคุณครูที่แนะนำ จนหนูมาได้ถึงขนาดนี้ จนมีอาชีพได้เหมือนคนอื่น ได้ไปต่างประเทศจริงๆ และทำได้จริงๆครูเข้ามาเปลี่ยนชีวิตหนู จากคนเงียบไม่ค่อยคุยกับใคร จนวันนี้หนูมีเงิน และหาเงินช่วยพ่อแม่ได้ แล้วอยากขอบคุณโค้ชทั้งสองคนในชีวิต ที่ดูแลหนูดีมาก ทั้งการซ้อม เป็นที่ปรึกษา เป็นหมอ ช่วยดูแลทุกเรื่อง บางครั้งก็เป็นเหมือนพ่อ คอยอยู่ดูแลกันตลอด ส่วนกองเชียร์คนไทย หนูอยากบอกทุกคนว่า พวกเราเต็มที่จริงๆ บางคนเหนื่อย บาดเจ็บ กว่าจะถึงจุดนี้ได้ อยากขอแรงเชียร์ เพราะเป็นกำลังใจให้พวกเราได้เยอะมาก“
TAG ที่เกี่ยวข้อง