stadium

ทำความรู้จักกีฬาเทควันโดในโอลิมปิก

28 กุมภาพันธ์ 2563

เทควันโดจัดเป็นหนึ่งในกีฬาที่มีแข่งในโอลิมปิกได้ไม่นานนัก โดยเริ่มบรรจุในโปรแกรมอย่างเป็นทางการนับตั้งแต่ปี 2000 ที่นครซิดนี่ย์ หลังเป็นกีฬาสาธิตก่อนหน้านั้น

 

ในช่วงแรกชาติจากเอเชียคือผู้ครองบัลลังก์ในกีฬาชนิดนี้ ก่อนที่ ยุโรป, อเมริกา และแอฟริกาจะก้าวขึ้นมาประสบความสำเร็จในช่วงหลัง

 

แล้วการแข่งกีฬาเทควันโดในโอลิมปิกมีที่มาอย่างไร ใครคือนักกีฬาที่น่าสนใจ และในโตเกียว 2020 มีการแข่งขันเทควันโดกี่รายการ ติดตามได้ที่นี่

 

กีฬาเทควันโดกับโอลิมปิก

 

ถึงแม้เทควันโดจะเพิ่งได้บรรจุแข่งในโอลิมปิกเมื่อปี 2000 แต่ความพยายามที่จะให้กีฬาชนิดนี้เข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของมหกรรมกีฬาแห่งมวลมนุษยชาติ เริ่มมาตั้งแต่ปี 1974 แล้ว ก่อนจะเป็นรูปเป็นร่างอย่างจริงจังในปี 1988 ที่กรุงโซล ประเทศเกาหลีใต้ เป็นเจ้าภาพ เมื่อได้รับเลือกให้เป็นกีฬาสาธิต รวมทั้งเรียกความสนใจจากทั่วโลกในพิธีเปิดการแข่งขันซึ่งนักเทควันโดเกาหลีใต้นับร้อยชีวิตแสดงศิลปะการต่อสู้ประจำชาติชนิดนี้อย่างพร้อมเพรียง

 

จากนั้น เทควันโด ได้รับเลือกให้เป็นกีฬาสาธิตอีกครั้งที่บาร์เซโลน่าในปี 1992 และได้บรรจุเป็นกีฬาชิงเหรียญอย่างเต็มตัวครั้งแรกที่ซิดนี่ย์ ก่อนจะอยู่ในโปรแกรมของโอลิมปิกนับตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา

 

แม้ประวัติของเทควันโดในโอลิมปิกจะไม่นานนัก แต่มีนักกีฬาผลงานโดดเด่นถึง 3 ราย ทั้ง ฮวาง กยอง-ซอน จากเกาหลีใต้, สตีเว่น โลเปซ จากสหรัฐฯ และ ฮาดี้ ซาอี จาก อิหร่าน ที่คว้าไปสูงสุด 3 เหรียญจาก 2 เหรียญทอง 1 เหรียญทองแดงในการลงแข่ง 3 สมัยเท่ากัน

 

นอกจาก 3 คนข้างต้นที่คว้าได้ 2 เหรียญทอง โดย 2 รายหลังได้จาก 2 รุ่น ยังมี เฉิน จง จากจีนที่คว้าเหรียญทองได้ 2 สมัยติด เช่นเดียวกับ หวู่ จิงหยู เพื่อนร่วมชาติที่จะไปแข่งใน โตเกียว 2020 เพื่อลุ้นเหรียญทองที่ 3 ในชีวิต

 

นอกจากนั้นกีฬาเทควันโดยังสร้างฮีโร่โอลิมปิกให้กับชาติอื่นอีกมากมาย ไม่ว่าจะเป็น ตรัน เฮียว งัน จาก เวียดนาม, โรฮัลลาห์ นิกปาย จาก อัฟกานิสถาน และ อ็องโตนี่ โอบาเม่ จาก กาบอง ที่กลายเป็นนักกีฬาคนแรกของประเทศที่ได้เหรียญโอลิมปิก ขณะที่ ทาเมอร์ บายูมี่ เหรียญทองแดงปี 2004 จาก อียิปต์ ก็เป็นนักกีฬาจากทวีปแอฟริกาคนแรกที่ได้เหรียญจากกีฬาชนิดนี้

 

รูปแบบการแข่งขันใน โตเกียว 2020

 

ก่อนหน้านี้ นับตั้งมีการแข่งเทควันโดในโอลิมปิกปี 2000 จนถึงปี 2012 แต่ละชาติสามารถส่งนักกีฬาแค่ ชาย 2 หญิง 2 เข้าร่วมการแข่งโอลิมปิก แต่ใน ริโอ 2016 ได้มีการเปลี่ยนแปลงให้สามารถส่งนักกีฬา 1 คนต่อ 1 รุ่นน้ำหนัก

 

เท่ากับว่าจะมีนักกีฬาทั้งหมด 128 คน ลงแข่งใน 8 พิกัดน้ำหนักที่ โตเกียว 2020 โดยแบ่งเป็น ฟลายเวต 58 กิโลกรัม, เฟเธอร์เวต 68 กิโลกรัม, มิดเดิลเวต 80 กิโลกรัม และ เฮฟวี่เวต 80 กิโลกรัมขึ้นไปในประเภทชาย

 

ส่วนประเภทหญิงมีการแข่งในรุ่น ฟลายเวต 47 กิโลกรัม, เฟเธอร์เวต 57 กิโลกรัม, มิดเดิลเวต 67 กิโลกรัม และเฮฟวี่เวต 67 กิโลกรัมขึ้นไป

 

ทั้งนี้ นักกีฬาทุกคนที่แพ้ต่อคู่ชิงในแต่ละประเภท จะได้โอกาสแข่งในรอบแก้ตัวเพื่อเข้าไปลุ้นชิงเหรียญทองแดง

 

กระบวนการคัดเลือก

 

จากโควตาทั้งหมด 128 ที่นั่ง (เพศละ 64 โควตา) แต่ละชาติส่งนักกีฬาลงแข่งได้สูงสุด 8 คน หรือรุ่นละ 1 คน โดย 48 ที่นั่งมาจาก เวิลด์ เทควันโด โอลิมปิก แรงกิ้ง และ เวิลด์ เทควันโด แกรนด์สแลม แชมเปี้ยน ซีรี่ส์

 

สำหรับ เวิลด์ เทควันโด โอลิมปิก แรงกิ้ง จะคัดเอานักกีฬา  5 อันดับแรกของแต่ละรุ่นซึ่งเก็บคะแนนจากผลงานในการแข่งขันจนถึงกรังด์ปรีซ์ ไฟนัล ในเดือนธันวาคมปี 2019 แต่หากมีนักกีฬาที่คะแนนเท่ากันจะวัดจากนักกีฬาที่ทำผลงานในรายการใหญ่ได้ดีกว่า ไล่ตั้งแต่ โอลิมปิก, ชิงแชมป์โลก, กรังด์ปรีซ์ ไฟนัล, กรังด์ปรีซ์ ซีรี่ส์/ชิงแชมป์ทวีป/มหกรรมกีฬาของทวีป ลดหลั่นกันไปจนถึงระดับ G1 หรือกีฬากองทัพโลก นั่นหมายถึง เวิลด์ เทควันโด โอลิมปิก แรงกิ้ง จะมีโควตาให้ทั้งหมด 40 ที่นั่ง

 

ขณะเดียวกัน เวิลด์ เทควันโด แกรนด์สแลม แชมเปี้ยน ซีรี่ส์ จะมีโควตาให้อีก 8 ที่นั่ง ซึ่งคนที่มีอันดับสูงสุดจากคะแนนสะสมในแต่ละรุ่น หลังจากรายการ แกรนด์สแลม แชมเปี้ยน ซีรี่ส์ ในเดือนธันวาคมปี 2019 จะได้โควตารุ่นละ 1 ที่นั่ง หากมีนักกีฬาคะแนนเท่ากันจะให้โควตาคนที่ลงแข่ง เวิลด์ เทควันโด แกรนด์สแลม แชมเปี้ยน ซีรี่ส์ มากกว่า รวมถึงการแข่งในรอบคัดเลือก

 

อีก 72 ที่นั่งจะได้จากการแข่งรอบคัดเลือกของแต่ละทวีป ซึ่งสงวนสิทธิ์ให้ชาติที่ได้โควตาจากแรงกิ้ง และแกรนด์สแลม ซีรี่ส์ น้อยกว่า 2 คนต่อเพศเท่านั้น ที่จะลงแข่งรอบคัดเลือกได้

 

หากชาติใดได้โควตาจากประเภทชายไปแล้ว 2 คนหรือมากกว่า และประเภทหญิง 2 คนหรือมากกว่า ผ่านทางแรงกิ้ง หรือ แกรนด์สแลม ซีรี่ส์ ก็จะไม่สามารถลงแข่งรอบคัดเลือกระดับทวีปได้ เว้นแต่จะมีการสละสิทธิ์โควตาที่ได้ไปแล้ว

 

สำหรับรอบคัดเลือกของแต่ละทวีปมีสัดส่วนโควตาดังนี้ แอฟริกา 16 ที่นั่ง (ให้นักกีฬาผลงานดีที่สุด 2 คนแรกของแต่ละรุ่น), เอเชีย 16 ที่นั่ง (ให้นักกีฬาผลงานดีที่สุด 2 คนแรกของแต่ละรุ่น), ยุโรป 16 ที่นั่ง (ให้นักกีฬาผลงานดีที่สุด 2 คนแรกของแต่ละรุ่น), โอเชียเนีย 8 ที่นั่ง (ให้นักกีฬาผลงานดีที่สุดของแต่ละรุ่น) และ แพน อเมริกา 16 ที่นั่ง (ให้นักกีฬาผลงานดีที่สุด 2 คนแรกของแต่ละรุ่น)  

 

ที่เหลืออีก 8 ที่นั่งแบ่งเป็นโควตาเจ้าภาพ 4 ที่นั่ง และสิทธิ์เชิญจากคณะกรรมาธิการไตรภาคีอีก 4 ที่นั่ง

 

นักกีฬาที่น่าจับตามองใน โตเกียว 2020

 

ในการแข่งที่ ซิดนี่ย์ เมื่อปี 2000 เกือบครึ่งหนึ่งจากจำนวนทั้งหมด 24 เหรียญของกีฬาเทควันโด เป็นของนักกีฬาจากเอเชีย แต่ใน ลอนดอน 2012 และ ริโอ 2016 กระแสของกีฬาชนิดนี้ได้เปลี่ยนไปจากเดิม

 

เนื่องจาก ชีค ซัลลาห์ ซิสเซ่ (โกตดิวัวร์) และ อาหมัด อาบุกเฮาช์ (จอร์แดน) กลายเป็นนักกีฬาคนแรกของประเทศที่คว้าเหรียญทองโอลิมปิก รวมทั้งยังมีนักกีฬาคนอื่น ๆ ที่ไม่ได้มาจากทวีปเอเชีย คว้าเหรียญโอลิมปิกจากเทควันโดใน 2 สมัยหลังสุดเช่นกัน ซึ่งคาดว่ากระแสนี้จะยาวไปถึงการแข่งที่กรุงโตเกียว เมื่อวิเคราะห์จากบรรดาแชมป์เก่า และดาวรุ่ง

 

อาจเป็นไปได้ที่แชมป์เก่าอย่าง ซิสเซ่ หรือ เจ้า ฉ่วย จาก จีน จะสร้างประวัติศาสตร์คว้าเหรียญทองได้อีกสมัย ซึ่งมีเพียง 6 คนเท่านั้นที่ทำได้สำเร็จ รวมทั้ง เจด โจนส์ จากสหราชอาณาจักรซึ่งเป็นนักกีฬาคนแรกของประเทศที่คว้าเหรียญทองจากกีฬาชนิดนี้ในปี 2012 ที่บ้านเกิด และป้องกันแชมป์ได้สำเร็จเมื่อ 5 ปีที่แล้ว

 

ขณะเดียวกันเธอยังเป็นตัวเต็งเหรียญทองในปีนี้ จากผลงานที่เพิ่งคว้าแชมป์โลกเมื่อปี 2019 ทำให้มีโอกาสเป็นนักเทควันโดคนแรกที่คว้าเหรียญทองโอลิมปิก 3 สมัยซ้อน เช่นเดียวกับ หวู่ จิงหยู ที่่มีโอกาสคว้าเหรียญทองที่ 3 เช่นกันแต่ก็ต้องวัดกับ พาณิภัค วงศ์พัฒนกิจ ของไทย แชมป์โลกรุ่น 49 กิโลกรัมคนล่าสุดที่กำลังเข้าขั้นไร้เทียมทาน โดยมี ซิม แจ-ยัง แชมป์โลกรุ่น 46 กิโลกรัม 2 สมัยเป็นคู่แข่งสำคัญอีกราย


stadium

author

StadiumTh Team Content

StadiumTH Content Creator

La Vie en Rose
stadium olympic