stadium

ประวัติ วะโฮรัมย์ ตำนาน 7 เหรียญทองผู้สร้างฝันด้วยสองมือ

1 กันยายน 2567

ถ้าให้นึกชื่อของนักกีฬาผู้พิการที่สร้างชื่อเสียงให้กับประเทศไทย ชื่อต้น ๆ ที่ผุดขึ้นในหัวคงหนีไม่พ้น ‘ประวัติ วะโฮรัมย์’ สุดยอดนักกีฬาวีลแชร์ เรซซิ่งที่สามารถคว้าเหรียญรางวัลในรายการระดับเมเจอร์มาได้เป็นกอบเป็นกำ ตลอดระยะเวลากว่า 25 ปีที่คลุกคลีในวงการวีลแชร์ เรซซิ่ง

 

ความสำเร็จที่ต้องใช้คำว่า “ล้นหลาม” ที่ ‘ประวัติ วะโฮรัมย์’ นั้นทำได้ล้วนมาจากความมุ่งมั่น ตั้งใจ และพยายามฉีกหนีข้อจำกัดด้านร่างกายแปรเปลี่ยนเป็นพลังใจให้ฮึดสู้ในทุก ๆ ครั้ง กระทั่งสามารถสร้างชื่อให้เป็นหนึ่งในนักกีฬาระดับตำนานของประเทศหนำซ้ำยังดังไปไกลทั่วโลก

 

ครั้งนี้เราจะพาไปสำรวจเส้นทางความสำเร็จที่น่ายกย่องของ ‘ประวัติ วะโฮรัมย์’ จากผู้ที่มีข้อจำกัดจนกลายมาเป็นตำนานของนักกีฬา

 

 

ต้นทุนชีวิตที่ไม่เหมือนคนปกติ

 

อย่างที่ทราบกันดีว่า ‘ประวัติ วะโฮรัมย์’ คือนักกีฬาวีลแชร์เรซซิ่งเบอร์หนึ่งของไทย ณ.เวลานี้ ชื่อเสียงของเขาถูกโจษจันไปทั่วหัวระแหงกลายเป็นที่ยอมรับของสังคมวงกว้างไปเป็นที่เรียบร้อย แต่หารู้ไม่ว่าก่อนหน้านี้ประวัติเคยมองตัวเองว่าเป็นผู้แปลกแยก แตกต่างจากคนอื่น ๆ ความรู้สึกน้อยเนื้อต่ำใจเริ่มกัดกินความหวังไปเรื่อย ๆ ด้วยความผิดปกติทางร่างกายการที่ประวัติต้องพบว่าตนเองเป็นโปลิโอเมื่อตอนอายุได้เพียง 3 ขวบนั่นจึงทำให้เด็กชายคนหนึ่งที่เคยวิ่งเล่นสนุกสนามกลายเป็นผู้พิการจนเดินไม่ได้

 

ประวัติเคยบอกไว้ว่า การที่ตนต้องเข้าไปร่วมเรียนกับเด็กปกติคนอื่น ๆ นั่นคือสิ่งที่เขาทำใจยอมรับสภาพตนเองได้ยาก ความรู้สึกในช่วงนั้นเหมือนตัวประหลาด ขาดความมั่นใจในการใช้ชีวิต ท้ายที่สุดคำถามที่สุดจะอึดอัดก็ผุดขึ้นว่า “ทำไมต้องเกิดมาเป็นภาระคนอื่นแบบนี้” 

 

แต่ในเรื่องเลวร้ายกลับมีเรื่องที่น่ายินดี เมื่อวันหนึ่งประวัติได้รับมอบทุนในการรักษาตัวจากมูลนิธิอนุเคราะห์คนพิการในพระราชูปถัมภ์ สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี นอกจากที่กล่าวมาแล้ว ประวัติยังได้รับทุนในการศึกษาต่อในโรงเรียนศรีสังวาลย์ ที่นั่นคือจุดเริ่มต้นของความฝัน ความหวัง ที่จะเป็นตำนาน

 

 

สองมือหมุนวงล้อเพื่อขอพลิกชีวิต

 

ในช่วงที่ประวัติกำลังศึกษาอยู่ในระดับมัธยม เขาได้มีโอกาสรู้จักกับกีฬาวีลแชร์เรซซิ่งเป็นครั้งแรกและรับรู้ได้ทันทีว่ากีฬาชนิดนี้น่าจะสานต่อความหวังที่จะไม่ต้องเป็นภาระทางสังคม ประวัติต้องการที่จะฉีกหนีข้อจำกัดทางร่างกายและต้องการชนะใจตัวเองด้วยคำว่า “ผมไม่ใช่ผู้พิการ”

 

ด้วยคำมั่นสัญญาที่ให้ไว้กับตนเอง ประวัติใช้เวลาฝึกซ้อมอยู่กับวีลแชร์ตอนอายุได้ 14 ปีบริบูรณ์ เสมือนว่าวีลแชร์เป็นส่วนหนึ่งของร่างกายไปแล้ว วงล้อที่มือหมุนไปข้างหน้าแต่ละครั้งสร้างความหวังในทุกระยะ เขาตั้งใจฝึกปรือฝีมืออย่างเต็มกำลัง อาจมีบ้างที่เหนื่อยหนักเพราะต้องการทำให้ได้เฉกเช่นนักกีฬาคนอื่นในบางครั้งก็แอบมีท้อแท้ แต่เขาไม่เคยนำมันมาเป็นข้ออ้างกลับกันประวัติยิ่งก้มหน้าก้มตาฝึกซ้อมเพื่อสักวันหนึ่งเขาจะต้องเข้าเส้นชัยที่รออยู่เบื้องหน้า

 

ความฝันที่จะมีธงชาติไทยติดหน้าอกเสื้อก็เริ่มก่อตัวเป็นรูปร่าง จากความพยายามที่ไม่ย่อท้อท้ายที่สุดประวัติก็สามารถพาตัวเองไปสู่เป้าหมายนั่นคือการได้ชื่อว่านักกีฬาวีลแชร์เรซซิ่ง ทีมชาติไทยลุยศึกพาราลิมปิก 2000 ที่ซิดนีย์ ประเทศออสเตรเลียได้เป็นครั้งแรกในชีวิต

 

“การแข่งขันกีฬาพาราลิมปิกที่ซิดนีย์มันเป็นการแข่งขันครั้งแรกของผมแล้วก็ประสบความสำเร็จเลยและยังเป็นทัวร์นาเมนต์ที่ประทับใจที่สุดสำหรับผม”

 

แม้จะเป็นครั้งแรกแต่ประวัติสามารถคว้า 2 เหรียญทองกับอีก 1 เหรียญเงินมาครองได้สำเร็จนับเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีกับเส้นทางนักกีฬาวีลแชร์เรซซิ่ง หากมองย้อนกลับไปตั้งแต่วันที่เขายังทำได้เพียงนั่งมองเก้าอี้วีลแชร์ กระทั่งวันนี้นั่นนับว่าเป็นจุดเปลี่ยนของชีวิตอย่างแท้จริง

 

 

เส้นทางสู่ความเป็นตำนาน

 

บนเส้นทางนักกีฬาวีลแชร์เรซซิ่งที่ประวัติทุ่มกายและใจมาตลอดระยะเวลากว่า 25 ปี ความสำเร็จมากมายที่เขาได้รับเป็นจุดหมายที่วาดฝัน 7 เหรียญทองในพาราลิมปิกไม่ใช่เรื่องง่ายที่ใครก็สามารถทำได้ มันอยู่ที่การฝึกฝนและเต็มที่ทุกการแข่งขัน แม้ประวัติจะเคยบอกไว้ว่า พาราลิมปิก 2020 จะเป็นครั้งสุดท้ายที่เขาจะใช้มือหมุนวงล้อ แต่เมื่อใจและกายยังสู้ไหว ประวัติจึงขอลองดูอีกสักตั้งกับ ‘พาราลิมปิก 2024’

 

“พาราลิมปิกสำหรับผมแล้วมันคือการแข่งขันที่ยิ่งใหญ่สำหรับผู้พิการ ถามว่าตื่นเต้นมั้ยก็มีบ้างเล็กน้อยแต่เราผ่านการแข่งขันมาแล้วก็ต้องเตรียมตัวแล้วมาจะต้องทำอย่างไรเพื่อให้พร้อมสำหรับการแข่งขัน อันดับแรกเราต้องมีสมาธิ ทำให้เต็มที่เหมือนกับที่เราซ้อมมา” ประวัติบอกและพูดต่อว่า

 

“... ครั้งนี้ก็น่าจะเป็นช่วงท้าย ๆ ของผมแล้วความแตกต่างระหว่างพาราลิมปิกครั้งแรกจนมาถึงครั้งนี้ที่ปารีสมันจึงคือความท้าทายเพราะเราหวังว่าจะทิ้งทวนและทำผลงานออกมาให้ดีที่สุด ...”

 

ประวัติบอกต่อด้วยว่า พาราลิมปิกคือสิ่งที่เขาใฝ่ฝันและต้องทำให้สำเร็จในทุกครั้ง คือหน้าที่ที่ต้องรับผิดชอบและต้องทำให้สำเร็จ แต่เหนือสิ่งอื่นใดจิตใจต้องมาก่อนเป็นอันดับแรก สำหรับการฝึกซ้อมถ้าใจไม่สู้ก็จะไม่สามารถผ่านมันไปได้

 

ประวัติยังฝากทิ้งท้ายว่า พาราลิมปิกเหมือนให้ชีวิตใหม่ พร้อมสร้างชื่อเสียงให้เป็นที่รู้จักในสังคมคนปกติ ที่สำคัญที่สุดคือเขาได้กลายเป็นแรงบันดาลใจให้กับใครอีกหลายคนที่กำลังท้อแท้ สิ้นหวัง หมดกำลังใจ คอยส่งต่อสิ่งเหล่านี้ให้พวกเขามีแรงต่อสู้และใช้ชีวิตประจำวันได้ตามปกติ 

 

“ผมรู้สึกภูมิใจมากกับการที่หลายคนยกให้ผมเป็นตำนานนักกีฬาวีลแชร์ มันสามารถส่งต่อให้กับคนอื่น ๆ นำไปเป็นแบบอย่าง ฝากถึงน้อง ๆ ที่กำลังสนใจในกีฬาวีลแชร์ ให้ใส่ใจในการฝึกซ้อม ตั้งใจให้เหมือนรุ่นพี่ที่ประสบความสำเร็จแล้วผมเชื่อว่าจะประสบความสำเร็จอย่างแน่นอน”

 


stadium

author

ปวีน เทพพวงทอง

StadiumTH Content Creator / เชียร์หงส์แดง รักการเดินป่า เสพติดหมูกระทะ

Hatari
stadium olympic