1 สิงหาคม 2567
ติดทีมชาติชุดใหญ่ตั้งแต่อายุ 17 เป้าหมายชัดเจนนับตั้งแต่วันนั้น คือการเข้าร่วมแข่งขันมหกรรมกีฬาโอลิมปิก และวันนี้ ผ่านมา 15 ปี สุเบญรัตน์ อินแสง พิชิตความฝันครั้งนั้นของเธอให้กลายเป็นความจริง รวมถึง โอลิมปิก เกมส์ ปารีส 2024
นี่คือเรื่องราวของนักกรีฑาประเภทลาน หนึ่งเดียวของประเทศไทย ผู้เคยเข้าร่วมการแข่งขันกรีฑาชิงแชมป์โลก และโอลิมปิกหลายสมัย สุเบญรัตน์ หรือ สุเบญ คือหญิงแกร่ง ผู้เต็มเปี่ยมไปด้วยความมุ่งมั่น
นับตั้งแต่เด็กด้วยสรีระร่างกายทำให้ สุเบญ เริ่มเล่นกรีฑาประเภทลาน จากการเป็นนักทุ่มน้ำหนัก คือจุดเริ่มต้นสำคัญเมื่อ 15 ปีที่แล้ว ณ โรงเรียนบ้านบางสาร อำเภอพนม จังหวัดสุราษฎร์ธานี “มีอาจารย์มาชักชวน คือโค้ชคนแรก อาจารย์จำเริญ สืบโดด เป็นครูพละที่โรงเรียน ก่อนนี้หนูเคยทุ่มน้ำหนักมาก่อน พอมีกีฬาอำเภอ จังหวัด และเยาวชนก็ได้เข้าไป”
สุเบญเริ่มแข่งขันระดับอำเภอ ก่อนไปคัดเลือกระดับจังหวัด ได้เหรียญทองทั้งสองครั้ง จึงเข้าสู่ระดับประเทศครั้งแรก คือ กีฬาเยาวชนแห่งชาติกาญจนบุรี ได้เหรียญเงินกลับมา เป็นโอกาสที่ทำให้ได้ไปคัดตัวนักกีฬาเอเชียนยูธ กับสมาคมกีฬากรีฑาแห่งประเทศไทย ซึ่งในตอนนั้น อาจารย์เอกวิทย์ แสวงผล เป็นผู้ดูแลกรีฑาประเภทลาน
“สมัยนั้นนักทุ่มน้ำหนักมีหลายคน แกเลยเลือกจากรูปร่าง ให้เรามาขว้างจักรแทน ตอนนั้นชอบทุ่มน้ำหนักมากกว่า แต่พออาจารย์เอกวิทย์บอก เลยคุยกับอาจารย์สมพล สุวรรณโชติ ซึ่งเป็นอาจารย์และโค้ชในตอนนั้น ก็แนะนำว่าให้ลองทำดูก่อน เพราะมีโอกาสเข้ามาแล้ว ถ้าได้ไปต่อก็ไปให้สุด ถ้าไม่ได้ไปก็กลับมา”
เมื่อตัดสินใจแล้ว เธอก็เบนเข็มสู่การเป็นนักขว้างจักร เข้าร่วมการแข่งขันเอเชียนยูธ ได้เหรียญเงินกลับมา “ตอนนั้นดีใจมาก เคยคิดว่ากีฬาจะทำให้เราเปลี่ยนชีวิต จากเด็กต่างจังหวัด ไปเปิดประสบการณ์ที่เมืองนอก ตอนนั้นยังเด็ก คิดว่าเบี้ยเลี้ยงหลักร้อย คือเยอะมาก แต่พอติดเยาวชน เบี้ยเลี้ยงก็เป็นหลักพัน ตอนนั้นก็ดีใจมาก”
สุเบญเล่าว่า ที่บ้านสนับสนุนเธอบนเส้นทางสายนี้มาโดยตลอด การแข่งขันที่สิงคโปร์พ่อแม่ ก็คือผู้ที่อยู่เบื้องหลัง “พอรู้ว่าเราติดทีมชาติ ตอนนั้นเราก็ขอเงิน 6,000 บาท ไปซื้อรองเท้าขว้างจักร เขาก็โอนเงินมาให้ ได้รองเท้าไนกี้คู่แรก จำได้เลยว่าเป็นสีขาวแดง และเป็นรองเท้าที่ทำให้หนูได้เหรียญเงินกลับมา พ่อแม่ทั้งดีใจและภูมิใจ เงินรางวัลมากถึงหลักแสนบาท เราก็ให้เค้าหมด จากวันนั้นก็ไม่ได้กลับบ้านอีกเลย (หัวเราะ) จากกระเป๋าหนึ่งใบ อยู่ยาวมาจนถึงทุกวันนี้“
สุเบญ เก็บตัวต่อเพื่อบันไดขั้นสูงขึ้น และรายการแข่งขันที่ใหญ่กว่า ทั้งการแข่งขันเยาวชนเอเชียที่เวียดนาม ซึ่งมีจุดเปลี่ยนคือการได้โค้ชคนไทยเข้ามาช่วยดูแล ปรับความเข้มข้นให้มากขึ้น มุ่งสู่ความเป็นเลิศ กระทั่งสองปีถัดไป เมื่ออายุ 17 ปี ก็ติดทีมชาติชุดใหญ่ คือซีเกมส์ที่ประเทศอินโดนีเซีย
“ได้เหรียญทอง ทำลายสถิติซีเกมส์ ตอนนั้นรู้สึกเลยว่า แตกต่างกับตอนเยาวชน เยาวชนเราไม่คิดจะทะเยอทะยาน หรือกดดันเท่ากับระดับประชาชน ตอนยังเด็ก เห็นคู่แข่งก็คิดว่ามีความหวังจะสู้ได้ แต่พอประชาชน กดดัน คิดว่าทำยังไงถึงจะชนะ เป้าหมายต้องชัดเจน ทั้งกฎและระเบียบวินัยในตัวเอง”
ณ ขณะนั้น สุเบญ ตัดสินใจคุยกับสมาคมว่าจะสนับสนุนเธออย่างไร ตอนนั้น แฝดใหญ่ พล.ต.ต.สุรพงษ์ อาริยะมงคล เลขาธิการสมาคมกีฬากรีฑาแห่งประเทศไทยฯ ตัดสินใจส่งเธอไปเก็บตัวที่เยอรมนีนานสองเดือน ซึ่งสุเบญบอกว่า แม้จะซ้อมหนักจนล้มป่วย แต่สุดท้ายก็ทำให้เธอพิชิตเป้าหมายได้สำเร็จ
ปัจจุบัน สุเบญรัตน์ติดทีมชาติมาแล้วเจ็ดครั้ง เจ็ดเหรียญทองซีเกมส์ แต่เอเชียนเกมส์ ยังเป็นบันไดสูงที่เธอยังไม่พิชิต ครอบครองได้เพียงแค่ที่สี่เท่านั้น ปัจจุบันการซ้อมเปลี่ยนแปลงไปอยู่ภายใต้ความดูแล ของโค้ชชาวสหรัฐ Reedus Thurmond
“ทั้งการวางโปรแกรม แผน เป็นระบบหมด ทั้งการซ้อม การแข่ง แต่ตัวเราอาจเคยมีข้อผิดพลาดที่สะสมมา ปรับแก้ยาก ต้องใช้เวลา เป็นเรื่องทางเทคนิค อยู่กับโค้ชคนนี้มาห้าปี มีชะงักบ้างช่วงโควิด ไม่ได้แข่งแบบเต็มที่ จนมาประสบความสำเร็จที่ซีเกมส์ฟิลิปปินส์ สามารถทำลายสถิติรายการได้”
แต่สุดท้ายเธอก็กลับมาคว้าเหรียญทองได้อีกครั้ง ในซีเกมส์ที่ฮานอย แม้จะยังไม่สามารถพิชิตเอเชียนเกมส์ได้ แต่ระหว่างเส้นทางทั้งหมด เธอคือนักกีฬาหญิงประเภทลานหนึ่งเดียว ที่ควอลิฟายผ่าน ได้ร่วมแข่งกรีฑาชิงแชมป์โลกสามครั้ง ทั้งที่ปักกิ่ง ลอนดอน ฮังการี และโอลิมปิกสองครั้ง คือ ริโอเดอจาเนโร และโตเกียว
“นอกเหนือจากเรื่องการควอลิฟายไปร่วม ก็ท้าทายแล้ว เป็นระดับสูง ระดับโลก แต่เรามีแรงจูงใจจากการควอลิฟายผ่าน ทั้งโอลิมปิกที่ริโอ และโตเกียว ซึ่งสองรายการนี้มีข้อแตกต่าง คือชิงแชมป์โลกจะผ่านเข้ารอบได้ 36 คน โอลิมปิกแค่ 32 คน ซึ่งยากกว่า” นั่นเท่ากับว่าสุเบญ ได้เป็นหนึ่งใน 32 นักกีฬาขว้างจักรที่ดีที่สุดในโลกมาแล้ว
ผู้ที่เก่งที่สุดเท่านั้น ที่จะได้ยืนในสนามแข่งของโอลิมปิก สุเบญ ก็เช่นกัน เธอเล่าย้อนกลับไป ณ จุดเริ่มต้นเมื่อ 15 ปีที่แล้ว ในวันประชุมนักกรีฑา ซึ่งมีรุ่นพี่เป็นร้อยคน เธอได้ตอบคำถามหนึ่ง ซึ่งมีความสำคัญกับอนาคตของตัวเอง
“ลุงใหญ่ (พล.ต.ต.สุรพงษ์) ถามหนูว่า หนูมีเป้าหมายอยากไปสูงสุดที่ไหน คิดว่าจะไปได้ถึงระดับไหน หนูตอบแบบไม่คิดเลยค่ะ ว่าหนูอยากไปโอลิมปิก ต่อหน้ารุ่นพี่ร้อยคน พอตอบเสร็จกลับมาก็คิดว่า รุ่นพี่จะว่าหนูฝันเกินตัวไหม แต่ตอนนั้นก็คิดว่า วันนึงก็คงมีโอกาสได้ไป“
และในวันที่คำพูดนั้นเกิดเป็นความจริง ตอนนั้นสุเบญ อายุ 22 ปี “ตอนได้ไปก็พูดไม่ออกเลย รู้สึกตื่นเต้น เพราะเกินคาดมาก 1 ในนักกีฬาไทย เราได้เป็นหนึ่งในนั้น ได้ไปสู่ระดับโลก อยากเห็นศักยภาพของคนอื่นที่เค้าเก่งระดับโลก และหนูคือคนแรกและคนเดียว ณ ตอนนี้ ของประเภทลาน”
หากบอกอะไรกับตัวเองในวัยเด็กได้ สุเบญรัตน์ บอกว่าเธอไม่ขอย้อนเวลากลับไปแก้ไขอะไรทั้งนั้น ที่ผ่านมา ที่เลือกคือเส้นทางที่ถูกต้อง และทำให้มีวันนี้ มีอาชีพการงาน ดูแลครอบครัวได้ ซึ่งทุกอย่างพิสูจน์ชัดเจน จากผลงานของนักกีฬาหญิงคนนี้ ตลอดระยะเวลา 15 ปีที่ผ่านมา แต่เธอยังคงเดินหน้าต่อไป ด้วยเป้าหมาย ที่ยังพิชิตไม่สำเร็จ นั่นคือเหรียญในเอเชียนเกมส์
“เป้าหมายหลักคือเหรียญในเอเชียนเกมส์ครั้งหน้าที่ญี่ปุ่น ตอนนี้การซ้อมก็เข้มข้นมาก เน้นเรื่องเทคนิคความละเอียด โค้ชก็ปรับเปลี่ยนให้ตรงกัน และเป็นไปในทิศทางเดียวกัน”
สุเบญ ฝากทิ้งท้ายถึงคนดูและคนไทย เธอบอกว่า แม้กีฬากรีฑาประเภทขว้างจักร อาจไม่เป็นที่รู้จักมากนัก และหลายคนอาจไม่เข้าใจ จนไม่ได้รับความนิยม แต่กีฬาชนิดนี้มีความหมายและความสำคัญ นอกจากจะเปลี่ยนชีวิตของเธอแล้ว ยังสร้างชื่อเสียงให้กับประเทศไทยเหมือนกับกีฬาชนิดอื่น จึงอยากฝากขอกำลังใจและเสียงเชียร์จากคนไทยทุกคน
โดยตอนนี้ สุเบญรัตน์ กำลังอยู่ระหว่างลุยโอลิมปิกครั้งที่ 3 ในชีวิต อย่าลืมเอาใจช่วยเธอลงแข่งรอบคัดเลือกในวันที่ 2 สิงหาคมนี้ เวลา 23.55 น. ซึ่งคัดเอาเพียง 12 คนเท่านั้นเพื่อเข้ารอบชิงชนะเลิศในวันที่ 5 สิงหาคม
TAG ที่เกี่ยวข้อง