stadium

ทำความรู้จักกีฬาเทเบิลเทนนิสในโอลิมปิก

28 กุมภาพันธ์ 2563

จากกิจกรรมสันทนาการช่วยย่อยหลังมื้ออาหารค่ำของชนชั้นสูง กลายมาเป็นกีฬาที่เต็มไปด้วยความรวดเร็วและเทคนิคแพรวพราว นอกจากนั้นเทเบิลเทนนิสยังเป็นกีฬาที่มีคนเล่นมากที่สุดเป็นอันดับต้น ๆ ของโลกอีกด้วย

 

 

ภาพรวมของกีฬาที่มีชื่ออีกอย่างว่า "ปิงปอง"

 

เทเบิลเทนนิสมีประวัติยาวนานมาตั้งแต่ช่วงปลายศตวรรษที่ 19 โดยเริ่มจากการเป็นกิจกรรมหลังอาหารค่ำของบรรดาครอบครัวชนชั้นสูงในอังกฤษแทนที่กีฬาเทนนิส ก่อนจะพัฒนาจนกลายเป็นกีฬาระดับโอลิมปิกในศตวรรษต่อมา

 

ด้วยความที่เป็นกิจกรรมในบ้าน อุปกรณ์ที่ใช้ในช่วงเริ่มต้นคือของที่อยู่ใกล้ตัว ตั้งหนังสือถูกนำมาวางขวางโต๊ะแทนเนต ฝากล่องซิการ์ถูกใช้แทนแร็กเก็ต และจุกไม้ก๊อกทรงกลมจากแชมเปญถูกใช้แทนลูกบอล ซึ่งชื่อเดิมของเทเบิลเทนนิสนั้นตั้งมาจากเสียงเวลาตีลูก ไม่ว่าจะเป็น "ปิงปอง", "วิฟ วาฟ" และ "ฟลิม แฟลม" ปัจจุบันจากฝากล่องซิการ์แทนที่ด้วยไม้อัดหรือคาร์บอนไฟเบอร์ที่ปิดด้วยยางทั้ง 2 ด้าน ส่วนลูกปิงปองก็ผลิตจากเซลลูลอยด์ที่มีน้ำหนักเพียง 2.7 กรัม

 

ขณะที่ สหพันธ์กีฬาเทเบิลเทนนิสนานาชาติ (ITTF) ก่อตั้งขึ้นในปี 1926 และเป็นหนึ่งในองค์กรที่มีขนาดใหญ่ที่สุดของวงการกีฬาระดับนานาชาติ ส่วนความนิยมทั่วโลกนั้นพบว่ามีนักกีฬาเทเบิลเทนนิสระดับลงแข่งกว่า 40 ล้านคน และมีคนที่เล่นเพื่อความบันเทิงอีกนับไม่ถ้วน โดยเฉพาะในประเทศจีนชาติมหาอำนาจของกีฬาลูกเด้ง

 

สำหรับโต๊ะเทเบิลเทนนิสขนาดมาตรฐานนั้น จะมีความยาว 2.74 เมตร กว้าง 1.525 เมตร มีความสูงจากพื้น 76 เซนติเมตรแบ่งเป็นสองฝั่งโดยมีเนตอยู่ตรงกลาง ขณะที่กติกาการเล่นพื้นฐานคล้ายกับเทนนิส แต่มีระบบการนับคะแนนที่แตกต่างออกไป ในประเภทเดี่ยวใช้ระบบหาผู้ชนะ 4 ใน 7 เกม ใครได้ 4 เกมก่อนเป็นผู้ชนะ ซึ่งผู้เล่นคนใดทำถึง 11 แต้มก่อน (มีคะแนนห่างคู่แข่งอย่างน้อย 2 แต้ม) จะเป็นผู้คว้าชัยในแต่ละเกม

 

ส่วนแมตช์ประเภททีมประกอบไปด้วยการแข่งเดี่ยว 4 แมตช์ และคู่ 1 แมตช์ ใช้ระบบ 3 ใน 5 เกม ฝั่งไหนได้ 3 เกมก่อนเป็นผู้ชนะแมตช์ ซึ่งแต่ละทีมจะมีผู้เล่น 3 คน และการแข่งขันจะจบลงเมื่อมีทีมที่เก็บชัยได้ 3 แมตช์ โดยในประเภทคู่ผู้เล่นต้องผลัดกันตีลูก

 

อย่างไรก็ตาม กฎในการเสิร์ฟของกีฬาชนิดนี้แตกต่างจากเทนนิสที่สลับกันเสิร์ฟฝั่งละเกม ในเทเบิลเทนนิสนั้นจะเปลี่ยนเสิร์ฟทุก 2 คะแนน แต่เมื่อคะแนนเท่ากัน 10-10 จะเปลี่ยนเสิร์ฟกันทุกแต้ม ขณะที่ในประเภทคู่นอกจากการเปลี่ยนเสิร์ฟระหว่างทีมแล้ว ผู้เล่นต้องเปลี่ยนเสิร์ฟกันเองด้วยเช่นกัน

 

เทเบิลเทนนิสบรรจุแข่งในโอลิมปิกครั้งแรกเมื่อปี 1988 ที่กรุงโซล ประเทศเกาหลีใต้ โดยมีการแข่งประเภทชายเดี่ยว, หญิงเดี่ยว และประเภทคู่ แต่ใน ปักกิ่ง เกมส์ ปี 2008 เปลี่ยนมาเป็นประเภทชายเดี่ยว, หญิงเดี่ยว และประเภททีม ส่วนโตเกียว 2020 นั้น เพิ่มประเภทคู่ผสมเข้าไปด้วย ซึ่งแต่ละประเภทใช้การจับสลากประกบคู่ แข่งแบบแพ้คัดออกจนถึงรอบชิงชนะเลิศ

 

โปรแกรมการแข่งขันในโตเกียว 2020

 

1 ประเภทชายเดี่ยว/หญิงเดี่ยว

 

2 ประเภททีมชาย/ทีมหญิง

 

3 ประเภทคู่ผสม

 

กระบวนการคัดเลือกโอลิมปิก

 

ในโตเกียว  2020 จะมีนักกีฬาเทเบิลเทนนิสทั้งหมด 172 คน แบ่งเป็นชาย 86 คน และหญิง 86 คนจากชาติสมาชิก ซึ่งแต่ละชาติมีนักกีฬาเข้าร่วมได้สูงสุด 6 คน แบ่งเป็นชาย 2 คน หญิง 2 คน ในประเภทเดี่ยว, ชายอีก 1 คน และหญิงอีก 1 คนในประเภททีม และ 1 คู่ในประเภทคู่ผสม โดยญี่ปุ่นได้สิทธิ์ครบ 6 ที่นั่งอัตโนมัติในฐานะเจ้าภาพ  

 

สำหรับประเภททีม จะมี 16 ทีมที่ได้ผ่านการคัดเลือก โดยแต่ละทวีป (ยุโรป, เอเชีย, แอฟริกา, อเมริกาเหนือ, อเมริกาใต้ และโอเชียเนีย) ต้องลงแข่งแย่งสิทธิ์ตัวแทนของทวีป 1 ที่นั่ง ส่วนอีก 9 ทีมได้จากรอบคัดเลือกระดับโลก ส่วนที่โควตาสุดท้ายคือญี่ปุ่นเจ้าภาพ

 

ในประเภทคู่ผสม จะมี 16 คู่ที่ผ่านการคัดเลือกเช่นกัน แบ่งเป็น 6 ที่นั่งสำหรับตัวแทนแต่ละทวีป อีก 4 ที่นั่งได้จากรายการ เวิลด์ ทัวร์ แกรนด์ ไฟนัลส์ 2019 และอีก 5 โควตาจาก เวิลด์ ทัวร์ 2020 โดยมีญี่ปุ่นเจ้าภาพที่ได้การันตีไปก่อนแล้ว 1 ที่นั่ง แต่ถ้าชาติใดมีนักกีฬาคู่ผสมและทีมเพศใดเพศหนึ่งหรือทั้งสองเพศได้สิทธิ์ นักกีฬาประเภทคู่จะถูกนับเป็นสมาชิกทีมตามเพศของตัวเอง

 

ส่วนประเภทบุคคล จะมีผู้เล่นราว 64 ถึง 70 คนผ่านการคัดเลือก แต่ละชาติที่ได้สิทธิ์จากประเภททีมอาจใส่ 2 ผู้เล่นจากทีมลงแข่งในประเภทบุคคล โดยมี 22 โควตาสำหรับศึกชิงแชมป์ทวีปที่จะมอบให้กับคนที่ชาติของตัวเองไม่ได้สิทธิ์ในประเภททีม นอกจากนั้นยังมี 1 โควตาไวลด์การ์ดจากคณะกรรมการไตรภาคี ส่วนโควตาที่เหลือจะได้จากทัวร์นาเมนต์ ไฟนัล เวิลด์ ควอลิฟาย (ให้สิทธิ์ไม่น้อยกว่า 2 และไม่มากกว่า 8 คน) ปิดท้ายด้วยการคิดจากอันดับโลก

 

แก่นแท้ของกีฬาเทเบิลเทนนิส

"เกมรุกที่ดุดันบวกด้วยการตีที่แม่นยำ"

 

ด้วยขนาดโต๊ะที่เล็กทำให้เทเบิลเทนนิสเป็นกีฬาที่ดวลกันแบบต่อเนื่องและรวดเร็ว และการที่ต้องรับมือกับลูกความเร็วมากกว่า 100 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ทำให้ผู้เล่นต้องพร้อมเปลี่ยนจากรับเป็นรุกอยู่ตลอดเวลา

 

คุณสมบัติของนักกีฬาเทเบิลเทนนิสต้องมีปฏิกิริยาโต้ตอบฉับไว มีความคล่องตัวที่น่าทึ่งและมีความฟิตในระดับสูง ขณะเดียวกันเพื่อให้เข้ากับศักยภาพทางร่างกายและเทคนิคที่ตัวเองเชี่ยวชาญ ผู้เล่นบางคนชอบที่จะยืนในตำแหน่งใกล้โต๊ะขณะที่บางคนเลือกยืนห่างออกไป  

 

นอกจากนั้นผู้เล่นยังสามารถใช้ประโยชน์จากลูกเสิร์ฟที่หลากหลายตามความเร็วในการหมุนของลูกที่แตกต่างกัน รวมทั้งวิถีที่จะถูกย้อนกลับ ซึ่งเทคนิคเหล่านี้ยังคงพัฒนาอย่างต่อเนื่อง

 

 

ความน่าจะเป็นใน โตเกียว 2020

"จีน ชาติมหาอำนาจที่ยากหาผู้ต่อกร"

 

ประเทศในยุโรปกลางอย่าง ฮังการี, สาธารณรัฐเช็ก, ออสเตรีย และเยอรมนี เคยครองความยิ่งใหญ่ในกีฬาชนิดนี้จนกระทั่งช่วงกลางศตวรรษที่ 20 อย่างไรก็ตาม นับตั้งแต่มีการแข่งเทเบิลเทนนิสในโอลิมปิกเมื่อปี 1988 จีนคว้าไป 28 จากทั้งหมด 32 เหรียญทองในมหกรรมกีฬาแห่งมวลมนุษยชาติ

 

มีผู้เล่นจากยุโรปเพียงคนเดียวที่เคยคว้าเหรียญทองจากกีฬาเทเบิลเทนนิสในโอลิมปิกคือตำนานชาวสวีเดนอย่าง แยน-โอเว่ วัลด์เนอร์ เจ้าของฉายา "โมซาร์ตแห่งวงการเทเบิลเทนนิส" จากการที่เจ้าตัวคว้าแชมป์ประเภทชายเดี่ยวในการแข่งขันที่นครบาร์เซโลน่า เมื่อปี 1992

 

สำหรับการแข่งขันหนที่แล้ว หม่า หลง นำทัพจีนคว้าเหรียญทองทั้งประเภทชายเดี่ยวและทีมชาย เช่นเดียวกับ ติง หนิง ในประเภทหญิง ซึ่งใน โตเกียว เกมส์ ก็คงไม่ต่างกัน แต่ชาติเจ้าภาพอย่างญี่ปุ่นก็หวังเอาไว้ไม่น้อย เนื่องจาก จุน มิซุทานิ คว้าเหรียญทองแดงใน "ริโอ เกมส์" และยังคว้าเหรียญเงินจากประเภททีมชาย และเหรียญทองแดงในประเภททีมหญิงอีกด้วย

 

คุณรู้หรือไม่?

 

กฎกติกาอย่างเป็นทางการระบุว่า เราสามารถใช้แร็กเก็ตขนาดเท่าไหร่ก็ได้ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องรูปร่างหรือน้ำหนัก แต่พื้นสัมผัสต้องเรียบและแข็ง รวมทั้งทำจากไม้ธรรมชาติกว่า 85 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งไม้ปิงปองส่วนใหญ่จะมีขนาดเท่ากันคือกว้างราว 15 เซนติเมตร ยาว 25 เซนติเมตรรวมด้ามจับ และมีน้ำหนักน้อยกว่า 200 กรัม


stadium

author

StadiumTh Team Content

StadiumTH Content Creator

stadium olympic