stadium

ดุลยวัต แก้วศรียงค์ จากเด็กริมขอบสระสู่นักว่ายน้ำโอลิมปิก

30 กรกฎาคม 2567

โอลิมปิกเกมส์ 2024 กีฬาว่ายน้ำของไทยได้นักกีฬาหน้าใหม่มาหนึ่งคนคือ ‘จัส’ ดุลยวัต แก้วศรียงค์ เป็นตัวแทนนักกีฬาชายในปีนี้ แม้ชื่ออาจจะยังไม่เป็นที่คุ้นหู แต่ว่าผลงานของเขาในรอบ 2-3 ปีหลัง ถือว่าโดดเด่นมากที่สุดคนหนึ่ง 

 

ปัจจุบันเขายังมีชื่อเป็นเจ้าของสถิติประเทศมากถึง 6 รายการ หนึ่งในนั้นคือฟรีสไตล์ 100 ม. สถิติ 49.75 วินาที กลายเป็นนักกีฬาไทยคนแรกที่ทำลายกำแพง 50 วินาทีลงได้ ด้วยสรีระและพลังกำลังที่มากล้น ความมุ่งมั่นและความกล้าที่จะเจอกับบททดสอบที่แสนหนักหน่วง ไม่ใช่ทุกคนจะประสบความสำเร็จได้ในเร็ววัน เมื่อขาดตกบกพร่องปัจจัยบางอย่างก็ไม่อาจรวมเป็นองค์ประกอบแห่งความสำเร็จ ทว่าเขาสามารถรวบรวมและก่อร่างจนประสบความสำเร็จในการเข้าร่วมโอลิมปิกครั้งนี้มาได้ด้วยวัยเพียง 21 ปีเท่านั้น

 

 

ความฝันจากขอบสระ

 

ย้อนกลับไปเมื่อ 'จัส' ยังวิ่งเตาะแตะช่วงวัยที่ความเดียงสาอยู่เหนือเหตุผล โดยพลันที่สายตาคู่นั้นของเด็กน้อยวัย 5 ขวบจ้องเขม็งไปยังบรรดารุ่นพี่ที่กำลังลงเล่นอยู่ในสระว่ายน้ำ จึงเกิดความคิดผุดขึ้นในหัวทันที่ว่า “อยากจะว่ายน้ำได้เร็วแบบพี่เขาบ้าง” ใครจะรู้ล่ะว่านั่นคือวินาทีที่เปลี่ยนจากเด็กน้อยข้างสระมาเป็นนักว่ายน้ำตัวกลั่น

 

“ในช่วงนั้นผมจำได้ว่า ผมมักจะไปนั่งรอให้คุณปู่และคุณย่ามารับกลับบ้านหลังเลิกเรียนแล้วชอบไปนั่งที่ขอบสระดูพี่ ๆ กระโดดน้ำว่ายน้ำเล่นกันก็เลยสนใจ ซึ่งผมก็พอมีพื้นฐานในการว่ายน้ำอยู่บ้างเพราะที่บ้านจะสอนเป็นสกิลติดตัวไว้เผื่อเวลาตกน้ำก็จะได้ช่วยเหลือตัวเองได้ อีกอย่างผมเป็นโรคหอบหืดหมอบอกว่าต้องหากีฬาที่ไม่ต้องใช้กำลังเยอะและอุณหภูมิต้องไม่ร้อนเกินไปก็เลยตัดสินใจเลือกกีฬาว่ายน้ำ”

 

จัส บอกต่อว่า โดยปกติเขาชื่นชอบการว่ายน้ำอยู่เป็นทุนเดิม ด้วยความที่ถิ่นกำเนิดเกิดที่จังหวัดตรัง ทำให้จัสจดจำภาพของน้ำทะเลและสนุกไปกับการได้ลงเล่น ไม่น่าแปลกที่เขาจะชื่นชอบกีฬาว่ายน้ำตั้งแต่แรกเห็น จัสปรึกษากับคุณพ่อและคุณแม่ว่ามีประสงค์จะลงเรียนทักษะกีฬาว่ายน้ำเพิ่มเติมจากเดิมที่พอมีสกิลติดตัว ความต้องการของเขาไร้ข้อกังขาจากครอบครัวทำให้ในเวลาต่อมาจัสได้เข้าสู่ชมรมกีฬาว่ายน้ำนครตรังในที่สุด

 

ณ ชมรมกีฬาว่ายน้ำนครตรัง ที่นั่นนับว่าเป็นแหล่งเรียนรู้แรกที่จัสได้พัฒนาทักษะจากครูผู้ฝึกสอนตลอดระยะเวลา 2 ปีที่เขาได้เรียนรู้ทักษะใหม่ ๆ ทำให้เมื่อย่างเข้าช่วงวัย 7 ปีจัสได้มีโอกาสลงสระแข่งขันในรายการต่าง ๆ โดยรอบเขตจังหวัดภาคใต้ แม้จะเป็นรายการเล็ก ๆ แต่ถูกจัดให้มีการแข่งขันในทุกเดือน นั่นเท่ากับว่าจัสสามารถเก็บเกี่ยวประสบการณ์ได้เป็นกอบเป็นกำเลยทีเดียว

 

“ผมไม่ได้หวังถึงเหรียญรางวัลอะไรเลยขอแค่ได้เข้าร่วมแล้วก็ทำให้เต็มที่ ทางบ้านก็ไม่ได้คาดหวังอะไรกับผมแค่ถามว่าทำเต็มที่แล้วหรือยังแค่นั้น มันรู้สึกเหมือนเราได้ออกไปเที่ยว ออกไปเจอเพื่อนใหม่ แค่นี้ก็พอแล้ว” 

 

ความไร้เดียงสาในวัยเด็กของจัสเวลาได้ออกไปชมโลกกว้างย่อมสร้างความตื่นตาตื่นใจ ในบางครั้งผลการแข่งขันกลายเป็นเรื่องรองไปโดยปริยาย แต่เหนือสิ่งอื่นใด 'ประสบการณ์' ที่จัสได้รับกลับมาย่อมมีค่าเสมอ นั่นทำให้เขาตัดสินใจเข้ารับการศึกษาต่อที่โรงเรียนกีฬาสุพรรณบุรีในระดับมัธยมต้น กระทั่งก้าวขึ้นมาเป็นนักกีฬาเยาวชนทีมชาติและเข้าร่วมการแข่งขันรายการ SEA AGE ในรุ่นอายุ 16-18 ปี ที่ประเทศกัมพูชา แม้ว่าจัสจะไม่สามารถขึ้นไปยืนอยู่บนโพเดียมเพื่อคล้องเหรียญรางวัล แต่มันคือก้าวแรกของอดีตเด็กขอบสระสู่การเป็นนักกีฬาว่ายน้ำทีมชาติไทย

 

 

49.75 วิ. สถิติประวัติศาสตร์

 

เส้นทางการเข้าสูนักกีฬาว่ายน้ำทีมชาติไทยของจัสเป็นไปในเชิงก้าวกระโดด เพราะภายหลังจากที่เขาคลุกตัวอยู่ในแวดวงว่ายน้ำไทยและเก็บประสบการณ์มาอย่างโชกโชนทำให้ในช่วงวัย 15 ปีบริบูรณ์ จัสก็ก้าวขึ้นมาสู่ทีมชาติไทยชุดใหญ่ด้วยการปลุกปั้นของ 'ซาเวียร์ ไอดัวร์' ( Xavier Idoux) ผู้ฝึกสอนชาวฝรั่งเศส บุคคลที่จัสบอกว่ามีส่วนสำคัญในการผลักดันให้เขาก้าวเข้าสู่ทีมชาติ

 

“ผมมีโอกาสได้เข้ามาฝึกซ้อมในกรุงเทพ มันเป็นช่วงที่ผมกำลังเข้ามหาวิทยาลัยพอดีและผมก็ได้เจอกับโค้ชซาเวียร์ เขาเข้ามาเพิ่มทักษะต่าง ๆ ให้กับผม โดยเฉพาะเรื่องพละกำลัง มีการเข้ายิมเพื่อเล่นเวทเทรนนิ่งเพิ่มมวลกล้ามเนื้อ อีกอย่างเรื่องวินัยและรายละเอียดในการซ้อมนั้นเข้มข้นมาก ๆ”

 

ไม่น่าเชื่อว่าระยะเวลาเพียง 5 เดือน จัสสามารถพาตัวเองก้าวไปสู่การแข่งขันรายการระดับเมเจอร์ของภูมิภาคอาเซียนได้สำเร็จ โดยรายการแรกที่สร้างชื่อให้กับเขานั้นคือการแข่งขันกีฬาซีเกมส์ 2021 ที่ประเทศเวียดนาม จัสยอมรับว่าไม่มีใครรู้จักชื่อเสียงเรียงนามของเขาแม้แต่น้อย ไปแข่งในฐานะนักกีฬาโนเนม ไร้ความคาดหวังใด ๆ จากผู้คนรอบข้าง ทว่าเขากลับสร้างเซอร์ไพรส์ด้วยการคว้าเหรียญเงินมาครองได้สำเร็จในการแข่งขันว่ายน้ำประเภทเดี่ยวผสม 200 เมตร วินาทีนั้นเองที่ชื่อของ ‘จัส’ ดุลยวัต กลายเป็นที่จับตามองมากที่สุด

 

“ความรู้สึกตอนนั้นคือ เซอร์ไพรส์มาก ดีใจและภูมิใจในตัวเองที่ว่ามีเวลาในการซ้อมสั้นมากแต่ก็ยังได้เหรียญ เป็นเหมือนโบนัสทั้งที่ตอนแรกขอแค่ติดทีมชาติไทยให้ได้ก็ดีใจแล้วแต่พอได้ลงแข่งและได้เหรียญเงินมาก็ภูมิใจในตัวเอง อาจเป็นเพราะไม่เครียด ไม่กดดัน ซึ่งผมสามารถควบคุมตัวเองได้ โค้ชก็บอกว่านี่คือข้อดีของนักกีฬา คือเราซ้อมมาแล้ว ก็ทำให้เต็มที่จะได้ไม่เก็บมาคิดมาก ผมคิดว่าต้องเต็มที่ทุกครั้งอย่าเครียดหรือกดดันเพราะมันจะเป็นการบั่นทอนตัวเอง”

 

จากเวียดนาม 2021 สู่กัมพูชา 2023 จัสยังคงรักษามาตรฐานของตัวเองได้อย่างดีเยี่ยม ในการแข่งขันกีฬาซีเกมส์ครั้งที่สองของตัวเขาเองจัสสามารถคว้าเหรียญรางวัลรางวัลเพิ่มเติมได้อีก 2 เหรียญเงินจากการแข่งขันว่ายน้ำประเภทเดี่ยวผสม 200 เมตรและท่าฟรีสไตล์ 200 เมตร แต่สิ่งที่น่าประหลาดใจมากกว่านั้นคือการทำลายสถิติว่ายน้ำของไทย ซึ่งจัสคือนักกีฬาว่ายน้ำคนแรกนับตั้งแต่มีสมาคมนักกีฬาว่ายน้ำแห่งประเทศไทยฯ ที่ทำเวลาได้ต่ำกว่า 50 วินาทีซึ่งก่อนหน้านี้สถิติเดิมอยู่ที่ 50.30 วินาทีทำไว้โดย ‘แอนดรูว์ เจมส์’ นักกีฬาว่ายน้ำลูกครึ่งไทย-ออสเตรเลีย แต่ปัจจุบันถูกทำลายลงอย่างราบคาบ 

 

“ผมว่ามันไม่ได้อยู่ที่เคล็ดลับอะไรเลยแค่เป็นเรื่องของพละกำลัง ส่วนใหญ่นักกีฬาพละกำลังจะผ่อนลงในระยะ 50 เมตรสุดท้าย ฉะนั้นคือต้องทำให้พละกำลังเราต้องคงที่ไม่ให้ผ่อนลงมา จึงเป็นที่มาของการเข้ายิม คือทำยังไงก็ได้ให้แรงของเราตกลงมาให้น้อยที่สุด ซึ่งมันคือตัวตัดสินแพ้ชนะได้เลย”

 

 

โอลิมปิก เติมเต็มฝันวัยเด็ก

 

อย่างที่กล่าวไว้ข้างต้น ความฝันของจัสคือการได้เป็นนักกีฬาตัวแทนทีมชาติไทยหวังเพียงมีตราธงไทยประทับที่หน้าอก ทว่าความฝันนั้นถูกเติมเต็มอย่างสมบูรณ์เมื่อเขาสามารถคว้าสิทธิ์เข้าร่วมแข่งขันมหกรรมกีฬาโอลิมปิก 2024  ณ.กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศสได้สำเร็จ จัสบอกว่ามันคือสิ่งที่เหนือความคาดหมายที่เด็กหนุ่มวัย 21 ปีคนนี้จะทำได้ยิ่งไปกว่านั้นมันคือการเข้าร่วมโอลิมปิกแรกในชีวิตยิ่งทำให้มีความหมายกับตัวเขาเองมากขึ้น

 

จัสสามารถผ่านรอบคัดเลือกได้ด้วยผลคะแนนรวมในรายการที่ถูกจัดขึ้นในรอบปี มาตรฐานที่ค่อนข้างสูงของการคัดเลือกนักกีฬาสูงสุดอยู่ที่ 1,000 คะแนนถ้วนซึ่งถือว่าเป็นสถิติโลก ณ เวลานี้ แต่จัสสามารถทำได้ใกล้เคียงที่ 836 คะแนน เมื่อนำไปเทียบกับตารางคะแนนของสมาพันธ์ว่ายน้ำโลก (ฟีนาพอยต์) นั่นเพียงพอที่จะทำให้เขาบินตรงไปปารีสโดยปริยาย

 

“ผมใช้เวลา 49.75 วินาทีจากการแข่งขันซีเกมส์ที่ประเทศกัมพูชาในการยื่นควอลิฟายเข้าร่วมโอลิมปิก ใน 1 ปีจะต้องทำคะแนนหรือเวลาที่สมาพันธ์ฯ รับรอง ซึ่งเราสามารถยื่นเวลาเข้ามาได้ทั้งหมดเลย สมมติว่าทำเวลาได้ 46 วินาทีซึ่งเป็นเวลาสถิติโลกคุณก็ได้ 1,000 คะแนนเต็ม แล้วตอนที่ผมว่ายได้ 49.75 วินาทีเมื่อเทียบกับตารางคะแนนแล้วเท่ากับทำคะแนนได้ 836 คะแนน และเมื่อนำไปเปรียบเทียบกับประเทศที่มีโอกาสเข้าร่วมโอลิมปิกสมาพันธ์ฯ ก็จะเลือกไปแข่งขันทันที”

 

จัสอธิบายความรู้สึกเพิ่มเติมว่า ตลอดระยะเวลา 3-4 ปีที่ผ่านมา เขารู้สึกว่านี่คือการเติมโตแบบก้าวกระโดดจากดาวรุ่งในซีเกมส์ 2019 สู่การเป็นหนึ่งในนักกีฬาไทยที่ได้ไปโอลิมปิก ความรู้สึกหลังจากรู้ผลการคัดเลือกอาการตื่นเต้นและดีใจผสมปนเปจนทำให้จัสรู้สึกว่าความฝันถูกเติมเต็มแล้ว

 

“ด้วยวัย 21 ปีผมถือว่าเป็นช่วงอายุกำลังดีที่มีโอกาสได้เข้าแข่งขันโอลิมปิก เพราะอย่างน้อยอีก 4 ปีข้างหน้าผมก็ยังสามารถควอลิฟายไปได้อีกครั้ง แต่ว่ายน้ำเป็นกีฬาที่เก็บสถิติถ้าร่างกายคุณยังไหวก็ยังสามารถแข่งขันได้ต่อไป”

 

ณ เวลานี้ จัสอยู่ในขั้นตอนของการเตรียมความพร้อมโดยเน้นหนักไปที่พละกำลังของร่างกาย ซึ่งโค้ชซาเวียร์จัดตารางซ้อมที่เข้มข้นขึ้นเพื่อให้ตัวของจัสพร้อมที่สุดเท่าที่จะทำได้

 

เมื่อถามว่า การเข้าร่วมมหกรรมกีฬาอย่างโอลิมปิกครั้งนี้คาดหวังกับตัวเองไว้อย่างไร จัสบอกว่าไม่ได้คาดหวังอะไร ขอแค่ทำลายสถิติในท่าฟรีสไตล์ 100 ของตัวเองลงให้ได้ พยายามไม่กดดันตัวเองและจะทำให้สุดความสามารถตามที่ได้ฝึกซ้อมมาอย่างโชกโชน

 

“ผมอาจจะถูกปลูกฝังมาตั้งแต่เด็กด้วยว่าขอให้ทำให้เต็มที่ในทุกครั้งที่กระโดดลงสระแข่งขันแล้วอะไรที่มันเป็นข้อผิดพลาดก็นำกลับมาแก้ไขและทำให้ดีกว่าเดิม อีกอย่างผมไม่คิดว่าจะได้เหรียญรางวัลอะไรก็แล้วแต่ตั้งแต่แรกอยู่แล้วเพราะผมรู้สึกว่าตัวเองนั้นอยู่ในระดับไหน ผมเข้าร่วมในฐานะผู้แข่งขันไม่ใช่ตัวเต็งเหรียญ มันไม่ใช่เป็นการดูถูกตัวเองแค่รู้ตัวเองว่าอยู่ในจุดไหนแค่นั้นก็ขอแค่ทำให้เต็มที่ที่สุดก็พอใจแล้ว”

 

จากเด็กขอบสระสู่การเป็นนักกีฬาโอลิมปิก ‘จัส-ดุลยวัต’ แหวกว่ายกระแสน้ำนำพาตัวเองมายืนอยู่จุดหมายที่ตัวเขาเองใฝ่ฝัน เชื่อเหลือเกินว่าจัสจะยังคงว่ายไปได้ไกลกว่านี้ในสักวันหนึ่งสิ่งที่ไม่คาดหวังอาจจะได้มันมาครอง


stadium

author

ปวีน เทพพวงทอง

StadiumTH Content Creator / เชียร์หงส์แดง รักการเดินป่า เสพติดหมูกระทะ

stadium olympic