stadium

เปิดบันทึกกีฬาไทยในโอลิมปิกเกมส์

28 กรกฎาคม 2567

นับตั้งแต่ประเทศไทยได้เข้าร่วมโอลิมปิกเกมส์ครั้งแรกในปี 1952 หลังจากนั้นก็ได้เข้าร่วมตลอดมารวมแล้ว 17 ครั้งติดต่อกัน​ (ยกเว้นปี 1980 ไม่ส่งแข่ง) ทำผลงานได้ทั้งหมด 35 เหรียญจาก 3 ชนิดกีฬา แบ่งเป็น มวยสากล 15 เหรียญ, ยกน้ำหนัก 14 เหรียญ และเทควันโด 6 เหรียญ โดยทำได้เหรียญทอง 10 เหรียญมากที่สุดในบรรดาประเทศในแถบภูมิภาคอาเซียน

 

ในวาระที่โอลิมปิก 2024 ณ กรุงปารีส ได้เริ่มต้นขึ้นแล้ว เราขอพาทุกคนย้อนกลับไปสัมผัสเรื่องราวอันน่าจดจำของนักกีฬาไทยในโอลิมปิก ซึ่งแต่ละครั้งจะมีเรื่องอะไรบ้าง ติดตามพร้อมกันได้ที่นี่

 

 

1952 : ไทยเข้าร่วมโอลิมปิกครั้งแรก

 

ประเทศไทยส่งนักกีฬาเข้าร่วมการแข่งขันโอลิมปิกฤดูร้อนสมัยแรกในปี 1952 ที่กรุงเฮลซิงกิ ประเทศฟินแลนด์ 

 

โอลิมปิกในปีนั้นเราส่งเฉพาะกรีฑาชายเข้าร่วมการแข่งขันจำนวน 8 คน พร้อมนักกีฬาสำรองอีก 3 คน ประกอบด้วย พงศ์อำมาตย์ อำมาตยกุล, กำธร สนิทวงศ์ ณ อยุธยา, สมภพ สวาทะนันท์, อรุณ แสนโกสิก, สอ้าน ชำนิการ, อดุลย์ วรรณสถิตย์, บุญภักดิ์ ขวัญเจริญ, ปัจจัย สมาหาร, บุญเติม พรรคพ่วง, พยนต์ มหาวัจน์ และสถิต เลี้ยงถนอม

 

แน่นอนว่าเรื่องเหรียญรางวัลอาจจะยังดูไกลตัวเดินไป แต่ถือเป็นการเปิดหน้าประวัติศาสตร์ให้กับวงการกีฬาไทยในมหกรรมกีฬาแห่งมวลมนุษยชาติ

 

 

1964 : นักกีฬาเข้าร่วมมากสุด 

 

นักกีฬาไทยส่งนักกีฬาเข้าร่วมโอลิมปิกเกมส์มากที่สุดต่อหนึ่งครั้งอยู่ที่จำนวน 54 คน ซึ่งเกิดขึ้นทั้งหมด 2 ครั้ง ครั้งแรกในปี 1964 ที่กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น จากจำนวน 8 ชนิดกีฬาและยังเป็นครั้งแรกที่เราส่งนักกีฬาหญิงเข้าร่วมโอลิมปิก 

 

อย่างไรก็ตามในครั้งนั้นยังเป็นการเชิญให้เข้าร่วม ซึ่งแตกต่างจากโอลิมปิกเกมส์ 2016 ที่นครริโอ เดอ จาเนโร ประเทศบราซิล นักกีฬาไทยเข้าร่วมทั้งหมด 54 คนเท่ากัน แต่ที่บราซิลนั้นเป็นการใช้ระบบชิงโควตา นักกีฬาทุกคนต้องผ่านการคัดเลือกจึงจะได้สิทธิ์เข้าร่วมการแข่งขัน

 

 

1976 : ปลดล็อกความสำเร็จครั้งแรก 

 

ความสำเร็จของนักกีฬาในโอลิมปิกเกมส์เกิดขึ้นครั้งแรกในปี 1976 มอลทรีอัลเกมส์ ประเทศแคนาดา เกิดขึ้นจากผลงานของ พเยาว์ พูนธรัตน์ นักกีฬามวยสากลสมัครเล่น ได้เหรียญทองแดงรุ่นไลต์ฟลายเวต 48 กก.ชาย หลังจากที่เขาไปฝ่าฟันไปจนถึงรอบรองชนะเลิศได้สำเร็จ ก่อนจะแพ้ให้กับ รี บยอง อุ๊ก จากเกาหลีเหนือ 

 

นอกจากนี้ความสำเร็จดังกล่าวยังทำให้ประเทศไทยเป็นชาติที่ 3 ของอาเซียนที่คว้าเหรียญโอลิมปิกเกมส์ได้ต่อจาก ฟิลิปปินส์ ที่ได้จากกีฬาว่ายน้ำในปี 1928 และสิงคโปร์ ที่ได้จากกีฬายกน้ำหนัก ในปี 1960

 

 

1984 : ยกระดับความสำเร็จไปอีกขั้น

 

ในปี 1984 ที่ลอสแองเจลิส ประเทศสหรัฐอเมริกา เป็นครั้งแรกในรอบ 8 ปีที่ประเทศไทยส่งนักกีฬาร่วมโอลิมปิกเกมส์ หลังจากที่ โอลิมปิก 1980 ที่กรุงมอสโก เราไม่ได้ส่งนักกีฬาเข้าร่วมการแข่งขัน 

 

การกลับมาในครั้งนี้นักกีฬาไทยสร้างสำเร็จในโอลิมปิกเกมส์ได้อีกครั้ง ทำได้ 1 เหรียญเงิน จาก ทวี อัมพรมหา หรือ ขาวผ่อง สิทธิชูชัย กีฬามวยสากลสมัครเล่น ซึ่งผ่านเข้าถึงรอบชิงชนะเลิศ รุ่นไลท์เวลเตอร์เวท 63 กก.ชาย ก่อนจะพ่ายต่อนักชกเจ้าภาพได้เหรียญเงินไปครอง 

 

ความสำเร็จในครั้งนี้ทำให้มวยสากลสมัครเล่นคว้าเหรียญโอลิมปิกได้ต่อเนื่องเป็นครั้งแรก และยังเป็นการยกระดับความสำเร็จของนักกีฬาไทยอีกขั้น หลังจากเมื่อ 8 ปีก่อนเราได้ 1 เหรียญทองแดง

 

 

1988 - 1992 : กีฬาแห่งความหวัง

 

มวยสากลสมัครเล่นกลายเป็นกีฬาความหวังของคนไทย หลังจากประสบความสำเร็จในโอลิมปิกเกมส์ได้ 4 สมัยติดต่อกัน โดยในปี 1988 ที่กรุงโซล ประเทศเกาหลีใต้ เราได้ 1 เหรียญทองแดงจาก ผจญ มูลสัน รุ่น 54 กก.ชาย จากนั้นในโอลิมปิก 1992 บาร์เซโลน่า ประเทศสเปน อาคม เฉ่งไล่ กลายเป็นฮีโร่โอลิมปิกด้วยผลงาน 1 เหรียญทองแดง ในรุ่น 67 กก. ชาย 

 

จากความสำเร็จดังกล่าวทำให้นักกีฬาไทยคว้าเหรียญโอลิมปิกเกมส์ต่อเนื่องเป็นสมัยที่ 4 ติดต่อกัน โดยทั้งหมดเป็นผลงานของมวยสากลสมัครเล่นเพียงชนิดกีฬาเดียว ซึ่งทำให้เหล่านักชกไทยกลายเป็นความหวังในโอลิมปิกมาตลอด

 

 

1996 : เหรียญทองประวัติศาสตร์

 

หลังจากประสบความสำเร็จครั้งในปี 1976 ผ่านไป 20 ปี ในที่สุดฮีโร่เหรียญทองโอลิมปิกของเราก็ได้ถือกำเนิดเป็นครั้งแรก 

 

ย้อนกลับไปใน แอตแลนตาเกมส์ 1996 ที่สหรัฐอเมริกา มวยสากลสมัครเล่นของไทยผ่านเข้าถึงรอบชิงชนะเลิศได้อีกครั้ง แต่คราวนี้พวกเขาทำได้สำเร็จ เมื่อ สมรักษ์ คำสิงห์ เอาชนะ เซราฟิม โทโดรอฟ จากบัลแกเรีย ไปได้พร้อบกับคว้าเหรียญทองในรุ่น 57 กก.ชายมาครองได้คอได้อย่างยิ่งใหญ่ ซึ่งเป็นเหรียญทองเหรียญแรกของประเทศไทยในโอลิมปิกเกมส์ และจากเหตุการณ์นี้เองทำให้สมรักษ์กลายเป็นตำนานผู้ยิ่งใหญ่มีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักจวบจนวันนี้

 

แต่ประวัติศาสตร์ของไทยในแอตแลนตาเกมส์ยังไม่จบเพียงเท่านี้ เพราะเรายังได้อีก 1 เหรียญทองแดงจาก วิชัย ราชานนท์ มวยสากลสมัครเล่น รุ่น 54 กก.ชาย กลายเป็นครั้งแรกที่ประเทศไทยคว้าเหรียญได้มากกว่าหนึ่งเหรียญในโอลิมปิกครั้งเดียวกัน

 

 

2000 : ความสำเร็จจากหนึ่งกลายเป็นสอง

 

มวยสากลสมัมครเล่นยังคงเดินหน้าสร้างความสำเร็จในคนไทยอย่างต่อเนื่อง ที่ประเทศออสเตรเลีย ซิดนีย์ เกมส์ 2000 ขุนพลเสื้อกล้ามไทย คว้ามาได้ 1 เหรียญทองจาก วิจารณ์​ พลฤทธิ์ กลายเป็นฮีโร่เหรียญทองคนที่ 2 ของคนไทย หลังเอาชนะนักชกคาซัคสถานในรอบชิงชนะเลิศ 19-12 คะแนน ในรุ่น 51 กก.ชาย นอกจากนี้กำปั้นไทยยังได้อีก 1 เหรียญทองแดงจาก พรชัย ทองบุราณ รุ่น 75 กก.ชาย 

 

อย่างไรก็ตามสิ่งที่ทำให้โอลิมปิกหนนี้เป็นที่จดจำมากขึ้น เมื่อ เกษราภรณ์ สุตา คว้าเหรียญทองแดงได้จากกีฬายกน้ำหนักในรุ่น 58 กก.หญิง ทำให้เธอกลายเป็นนักกีฬาหญิงและนักกีฬายกน้ำหนักคนแรกของไทยที่คว้าเหรียญรางวัลได้ในโอลิมปิกเกมส์​ และนอกจากยกน้ำหนักจะกลายเป็นชนิดกีฬาที่สองที่ประสบความสำเร็จแล้ว ยังเป็นการเปิดหน้าประวัติศาสตร์ครั้งสำคัญให้กับกีฬายกน้ำหนักอีกด้วย

 

 

2004 : ปีทองของนักกีฬาไทย

 

เอเธนส์ เกมส์ 2004 ที่ประเทศกรีซ ถือเป็นปีทองของนักกีฬาไทยจากความสำเร็จที่น่าจดจำที่เกิดขึ้นมากมาย เริ่มตั้งแต่เป็นปีที่นักกีฬาคว้าเหรียญรางวัลมาได้มากที่สุด 8 เหรียญ จากผลงาน 3 เหรียญทอง 1 เหรียญเงิน 4 เหรียญทองแดง

 

ครั้งแรกที่นักกีฬาไทยคว้าเหรียญทองได้มากกว่า 1 เหรียญ โดย 3 เหรียญทองนั้นได้จาก มนัส บุญจำนงค์ กีฬามวยสากล, อุดมพร พลศักดิ์ และปวีณา ทองสุก 2 สาวจากกีฬายกน้ำหนัก โดยเฉพาะความสำเร็จของอุดมพรนั้นทำให้เธอกลายเป็นนักกีฬาหญิงคนแรกของไทยและของกีฬายกน้ำหนักที่ได้เหรียญทองโอลิมปิกเกมส์

 

นอกจากนั้นเราได้ยังได้ถือกำเนิดฮีโร่โอลิมปิกเพิ่มขึ้นอีกหนึ่งชนิดกีฬาจากเทควันโด ผลงานเหรียญทองแดง เยาวภา บุรพลชัย ซึ่งเป็นเหรียญแรกของเทควันโดในโอลิมปิก และยังทำให้ประเทศไทยคว้าเหรียญรางวัลพร้อมกัน 3 ชนิดกีฬาในโอลิมปิกครั้งเดียว เป็นครั้งแรก

 

 

2008 : เบิ้ลเหรียญโอลิมปิกครั้งแรก

 

ปักกิ่งเกมส์ 2008 ที่ประเทศจีน นักกีฬาไทยยังประสบความสำเร็จอย่างต่อเนื่อง จากผลงาน 2 เหรียญทอง 2 เหรียญเงิน 2 เหรียญทองแดง ทำได้จาก 3 ชนิดกีฬา มวยสากลสมัครเล่น, ยกน้ำหนักและเทควันโด โดยเหรียญทองนั้นมาจาก สมจิตร จงจอหอ มวยสากลสมัครเล่น และ ประภาวดี เจริญรัตนธารากูล จากยกน้ำหนัก 

 

2 เหรียญเงินจาก มนัส บุญจำนงค์ มวยสากลสมัครเล่น และ บุตรี เผือดผ่อง เทควันโดหญิง ส่วน 2 เหรียญทองแดงมาจากกีฬายกน้ำหนัก วันดี คำเอี่ยม และเพ็ญศิริ เหล่าศิริกุล 

 

ความสำเร็จในปีนั้นของ มนัส บุญจำนง และวันดี คำเอี่ยม ทำให้ทั้งสองคนกลายเป็นนักกีฬาไทยสองคนแรกที่คว้าเหรียญโอลิมปิกได้มากกว่าหนึ่งครั้ง โดยมนัสนั้นเป็นนักกีฬาไทยที่ประสบความสำเร็จสูงสุดมาจนถึงปัจจุบันจากเหรียญทอง 2004 และเหรียญเงิน 2008 รวมถึง วันดี คำเอี่ยม คว้าเหรียญทองแดงได้สองสมัย 2004 และ 2008 

 

 

2012 : ปีแห่งดราม่า

 

ลอนดอนเกมส์ 2012 นักกีฬาไทยยังสร้างความสำเร็จต่อเนื่องเป็นสมัยที่ 9 ติดต่อกัน ทำได้ 4 เหรียญจาก 3 ชนิดกีฬาเหมือนเดิม แบ่งเป็น มวยสากล 1 เหรียญเงิน แก้ว พงษ์ประยูร, ยกน้ำหนัก 1 เหรียญเงิน พิมศิริ ศิริแก้ว 1 เหรียญทองแดง รัตติกาล กุลน้อย และเทควันโด 1 เหรียญทองแดงจาก ชนาธิป ซ้อนขำ

 

ดราม่าแรกเกิดขึ้นในรอบชิงชนะเลิศ มวยสากลสมัครเล่น ในรุ่นไลท์ฟลายเวต เมื่อ แก้ว พงษ์ประยูร นักชกของไทยถูกมองว่าได้รับผลการตัดสินที่ค้านสายตา เมื่อตลอดการชกเขาออกหมัดได้จะแจ้งและชัดเจน จนทำให้ ซู ชิหมิง คู่ชกจากจีน นั้นมีบาดแผลเต็มใบหน้า แต่สุดท้ายกรรมการกลับชูมือให้จีนชนะไปอย่างน่าเจ็บปวด ส่งผลให้เกิดข้อครหาขึ้นในวงกว้าง และไอบา หรือ สหพันธ์มวยสากลสมัครเล่นนานาชาติ ณ เวลานั้นถูกตั้งข้อสงสัยถึงความโปร่งใสในการตัดสินรวมถึงการบริหารในเวลาต่อมา

 

ส่วนดราม่าที่สองนั้นเป็นผลต่อเนื่องมาจากข้อแรก ผลการตัดสินที่ค้านสายตาทำให้โอลิมปิกหนนี้เราไม่มีเหรียญทองเป็นครั้งแรกนับจากสมรักษ์ ​คำสิงห์ ทำได้ในปี 1996 และยังเป็นครั้งแรกในรอบ 16 ปี ที่มวยสากลสมัครเล่นเดินทางกลับบ้านโดยที่ไม่มีเหรียญทอง 

 

 

2016 : กอบกู้ศรัทธา

 

ริโอเกมส์ 2016 ที่ประเทศบราซิล นักกีฬาไทยกอบกู้ศรัทธาจากแฟนกีฬากลับมาได้อีกครั้ง ทำผลงานได้ 6 เหรียญซึ่งเป็นการคว้าเหรียญรางวัลได้มากอันดับ 2 เทียบเท่ากับปี 2008 แบ่งเป็น 2 เหรียญทอง 2 เหรียญเงิน และ 2 เหรียญเงิน จาก 2 ชนิดกีฬา

 

พระเอกในครั้งนี้เป็นกีฬายกน้ำหนักที่ทำได้มากสุด 2 เหรียญทองจาก โสภิตา ธนสาร รุ่น 48 กก.หญิง, สุกัญญา ศรีสุราช รุ่น 58 กก.หญิง, 1 เหรียญเงินจาก พิมศิริ ศิริแก้ว ในรุ่น 58 กก.หญิง, 1 เหรียญทองแดงจาก สินธุ์เพชร กรวยทอง รุ่น 56 กก.ชาย ส่วนผลงานที่เหลือมาจากเทควันโด 1 เหรียญเงิน เทวินทร์ หาญปราบ รุ่น 58 กก.ชาย และ 1 เหรียญทองแดงจาก พาณิภัค วงศ์พัฒนกิจซึ่งเป็นโอลิมปิก

 

ความสำเร็จดังกล่าวมีเรื่องน่าสนใจเกิดขึ้นตามมาหลายเรื่อง เริ่มจาก พิมศิริ ศิริแก้ว กลายเป็นนักกีฬาไทยคนที่ 3 ที่คว้าเหรียญโอลิมปิก 2 สมัย เหรียญเงิน 2012 และ 2016 ด้าน สินธุ์เพชร กรวยทอง กลายเป็นนักกีฬายกน้ำหนักชายคนแรกของไทยที่คว้าเหรียญโอลิมปิกมาครองได้ เช่นเดียวกับ เทวินทร์ หาญปราบ ที่เป็นเทควันโดชายคนแรกที่ได้เหรียญโอลิมปิก

 

ขณะที่ขาประจำอย่างมวยสากลสมัครเล่นไม่สามารถคว้าเหรียญโอลิมปิกเกมส์ได้เป็นครั้งแรกในรอบ 40 ปี นับตั้งแต่เหรียญทองแดงของพเยาว์ พูนธรัตน์ ในปี 1976 ซึ่งสาเหตุที่พลาดเหรียญรางวัลในปีนั้น ส่วนหนึ่งเป็นเพราะฝ่ายจัดการแข่งขันได้เปลี่ยนกติกาการให้คะแนนจากชกเข้าเป้าให้ 1 คะแนน มาเป็นให้คะแนนแบบ 10 แต้มต่อยกเหมือนมวยสากลอาชีพ กรรมการให้คะแนน 5 คน แต่คอมพิวเตอร์จะทำการสุ่มเอาคะแนนเพียง 3 คนเท่านั้น นักชกชายถอดเฮดการ์ด ส่วนนักชกหญิงยังใส่เฮดการ์ดเหมือนดิม แถมยังเปิดโอกาสให้นักชกอาชีพลงแข่งขันได้ด้วย ซึ่งทำให้นักชกไทยที่ถนัดต่อยเก็บคะแนนต้องปรับรูปแบบการชกซึ่งสุดท้ายก็ไม่ทัน

 

 

2020 : เหรียญทองประวัติศาสตร์จากเทควันโด

 

โตเกียว 2020 ที่ประเทศญี่ปุ่น กว่าการแข่งขันจะเปิดฉากขึ้นได้ต้องบอกว่าฝ่าฟันมรสุมหนักเลยทีเดียว ผลกระทบจากโควิด19 ทำให้โอลิมปิกครั้งนี้ถูกเลื่อนออกไปเป็นเวลา 1 ปี ทุกชนิดกีฬาต้องหัวหมุนกันตั้งแต่ช่วงควอลิฟาย แต่สุดท้ายนักกีฬาไทยก็ยังทำผลงานได้ 1 เหรียญทอง 1 เหรียญทองแดง

 

1 เหรียญทองที่ได้มานั้นเป็นผลงานของ พาณิภัค วงศ์พัฒนกิจ นักกีฬาเทควันโด รุ่น 49 กก.หญิง จากความสำเร็จในครั้งนี้ทำเธอกลายเป็นนักกีฬาไทยคนที่ 4 ที่คว้าเหรียญโอลิมปิกได้ 2 สมัย ต่อจากเหรียญทองแดงปี 2016 และยังเป็นการปลดล็อคเหรียญทองครั้งแรกในโอลิมปิกให้กับกีฬาเทควันโดอีกด้วย หลังจากรอคอยมาอย่างยาวนาน 20 ปีเต็มนับตั้งแต่คว้าเหรียญแรกได้ในปี 2004 

 

ส่วนอีก 1 เหรียญทองแดงได้จากสุดาพร สีสอนดี มวยสากลรุ่น 60 กก. หญิง ซึ่งถือเป็นการกลับมาคว้าเหรียญโอลิมปิกได้ในรอบ 9 ปีของกีฬามวยสากล และยังเป็นเหรียญแรกของมวยสากลหญิงไทยในโอลิมปิก

 

สำหรับ ปารีส 2024 ระหว่างวันที่ 26 กรกฎาคม - 11 สิงหาคม 2567 นี้ ไทยส่งนักกีฬาลงแข่งขัน 51 คน จาก 16 ชนิดกีฬา น่าลุ้นและน่าติดตามเหลือเกินว่าโอลิมปิกเกมส์ครั้งนี้จะมีเหตุการณ์อะไรที่น่าสนถูกบันทึกลงในประวัติศาสตร์ของวงการกีฬาไทย

 

 

 


stadium

author

ปวีน เทพพวงทอง

StadiumTH Content Creator / เชียร์หงส์แดง รักการเดินป่า เสพติดหมูกระทะ

Hatari
stadium olympic