26 กรกฎาคม 2567
ความยอดเยี่ยมของเธอเป็นที่ยอมรับและโด่งดังไปไกลถึงขั้นได้เป็นแบรนด์แอมบาสเดอร์ผลิตภัณฑ์กีฬาเคียงข้างนักกีฬาระดับโลกมาแล้ว เป็นความสำเร็จที่สะท้อนให้เราเห็นว่า “เทนนิส” พาณิภัค วงศ์พัฒนกิจ นั้นคือนักกีฬาเทควันโดสาวที่ความสามารถของเธอได้รับการยอมรับจากทั่วทุกมุมโลก
ระหว่างการเดินทางของเธอตลอด 13 ปีนับตั้งแต่วันแรกที่เข้าสู่รั้วทีมชาติไทยจนถึงวันนี้ เจ้าของเหรียญทองโอลิมปิก 2020 ต้องพบเจอกับเหตุการณ์ที่น่าผิดหวังจนเสียน้ำตามานับครั้งไม่ถ้วน แต่เพราะความเป็นยอดนักสู้ที่มีจิตใจเข้มแข็งมาจากภายใน ทำให้เธอยืนระยะครองความเป็นหนึ่งมาจนถึงวันนี้
ก่อนที่เธอจะลงแข่งขันโอลิมปิกเกมส์ 2024 ซึ่งเป็นรายการสุดท้ายในฐานะนักกีฬา เราขอพาแฟนกีฬาทุกท่านไปสัมผัสความคิดและการเติบโตในแต่ละช่วงวัย ก่อนอำลาสนามในอีกไม่กี่วันข้างหน้า ติดตามพร้อมกันได้ที่นี่
“หนูมาไกลมากทั้งที่เล่นกีฬาเพราะอยากสุขภาพดี คุณพ่อก็หลอกล่อด้วยการจะพาไปเที่ยวทะเล ไม่คิดเลยว่าจะมาถึงวันนี้จะไปโอลิมปิก จะไปชิงเหรียญทอง (โอลิมปิก) อีกครั้งหนึ่ง”
“หนูไม่เคยคิดเลยว่าวันหนึ่งจะก้าวมาเป็นเบอร์หนึ่งโลกได้ อย่างที่พี่ ๆ ได้เห็น หนูเป็นนักกีฬาที่ผอมมากแห้งมาก แรงก็แทบจะไม่มี ทุกคนคิดว่าหนูไม่สามารถเป็นนักกีฬาได้” เทนนิส เริ่มต้นบทสนทนากับเราอย่างคุ้นเคย เพราะไม่ใช่ครั้งแรกที่เรามีโอกาสได้สัมภาษณ์เธอคนนี้
“จุดเริ่มต้นได้ลงแข่งเทควันโด หลอกพ่อว่าจะขอไปเที่ยวทะเลกับเพื่อน เพราะว่าเพื่อนไปแข่งกัน อยากไปเชียร์เพื่อนจังเลย จากสุราษฎร์ธานีไปภูเก็ตขับรถแค่ไม่กี่ชั่วโมงเอง แต่พ่อก็หลอกกลับมาว่าก็ลงแข่งด้วยเลยสิเดี๋ยวจะพาไป หนูก็แข่งก็ได้คิดว่าไม่มีอะไร”
“แต่จุดเริ่มต้นวันนั้นมันได้จุดประกายความฝันในการเป็นนักกีฬามาก ๆ ไปแข่งแล้วแพ้ เพราะไม่ได้เตรียมตัว ปกติไปยิมก็ไม่เคยตั้งใจเลย แค่อยากไปเตะเล่นๆ เฮฮากับเพื่อน เตะนิด ๆ หน่อย ๆ ก็กลับบ้าน แต่พอไปแข่งมันไม่พร้อมจริง ๆ แพ้ตั้งแต่คู่แรกรอบแรก กรรมการสั่งหยุด เพราะสู้ไม่ได้เสียใจมาก”
“แต่คงเป็นเพราะคุณพ่อคุณแม่ปลูกฝังเรื่องความเข้มแข็งของจิตใจตั้งแต่เด็กๆ เป็นครอบครัวนักกีฬา สอนให้สู้ไม่ยอมคนไม่ยอมแพ้ แพ้ก็กลับไปแก้ไข ยังมีครั้งหน้าอยู่เสมอ เป็นความโชคดีที่พ่อสอนมาอย่ายอมแพ้อะไรง่ายๆ ก็เลยทำให้หนูไปต่อ พอได้ไปโอลิมปิกครั้งแรกมันเหมือนฝันเป็นจริงแล้ว จากเด็กคนนึงที่พ่อผลักดันอยากให้ติดทีมชาติแล้วได้ไปโอลิมปิกแล้ว ก็ดีใจมาก”
บางครั้งมนุษย์เราหากไม่พบเจอกับเรื่องที่ทำให้เจ็บปวดก็ไม่มีวันเติบโต และบางครั้งบทเรียนชีวิตแค่บทเดียวก็ยังไม่พอ เช่นเดียวกับเทนนิสที่เรียนรู้และพัฒนาขึ้นจากความเจ็บปวด 2 เหตุการณ์สำคัญที่ไม่มีวันลืม
เหตุการณ์แรกตอนเธออายุ 15 ปีกับซีเกมส์ 2013 ที่เมียนมาร์ ในรอบชิงฯ “พาณิภัค” แพ้เจ้าภาพไปแบบค้านสายตา ทั้ง ๆ ที่เป็นฝ่ายบุกอยู่ฝ่ายเดียว หลังจบเกมเธอนั่งร้องไห้จนตาบวมพูดทั้งน้ำตา “หนูเล่นไม่ดีเอง หนูจะไม่พลาดอีกแล้ว หนูจะไม่ยอมให้เรื่องแบบนี้เกิดขึ้นอีก”
บทเรียนครั้งนั้นเปลี่ยนให้เธอพยายามเอาชนะคู่แข่งให้ขาดลอยที่สุดเพื่อจะได้ไม่เจอกับฝันร้ายเก่า ๆ ความสำเร็จต่าง ๆ ตามมานับไม่ถ้วน
บทเรียนต่อมาโอลิมปิก 2016 ที่บราซิล เธอมาพลาดท่าโดนคู่แข่งทำแต้มแซงในช่วง 4 วินาทีสุดท้าย ภายหลังเธอยอมรับว่าเป็นการตัดสินใจผิดพลาดที่สุดในชีวิตที่ไม่เลือกรักษาสกอร์ แต่กลับเดินหน้าออกอาวุธแลกกันจนเป็นเหตุให้แพ้ แม้จะได้เหรียญทองแดงในท้ายที่สุด แต่มันยังไม่เพียงพอสำหรับตัวเธอในวันนั้น
“ทุกวันนี้หนูพยายามใส่เต็มที่ตลอดทุกครั้งที่ลงสนาม เพราะหนูเคยรอมาแล้ว แบบหนูเคยปล่อยให้เวลาหมดไป แบบมึงไม่เตะกูก็ไม่เตะ สุดท้ายมาพลาดในช่วงที่ไม่เหลือเวลาให้แก้ไข แล้วมันทำอะไรไม่ได้แล้ว สุดท้ายก็แพ้ ทุกอย่างจบ หลังจากนั้นหนูก็บอกตัวเองเสมอว่าใส่สุดหมดแม็กซ์ทุกครั้ง เริ่มเกมมาใส่เลย ไม่ว่าคะแนนหนูจะนำห่างหรือตามอยู่ อยากทำคะแนนให้ได้เยอะที่สุดเหมือนที่ซ้อมมา”
ประสบการณ์ที่เรียนรู้มาทำให้วันนี้เธอกลายเป็นนักกีฬาที่ดีขึ้น นิ่งสงบและเยือกเย็น อย่างเช่นในเอเชียนเกมส์ ครั้งที่ 19 ที่ประเทศจีน รอบชิงชนะเลิศต้องพบเหตุการณ์ไม่คาดฝัน เมื่อความผิดพลาดทางเทคนิคทำให้สกอร์ของเทนนิสตามหลังในยกสุดท้ายถึง 20 คะแนน
“ตอนแรกหนูตามหลังเขา 0-6 หนูก็โอเคมันยังไม่ได้แย่ เพราะยังมีเวลา แต่สักพักแต้มมันไหล เราเตะหัวเขาไป แต้มไม่มา แต่หนูเหลือบไปเห็นแต้มเขาขึ้นเอา ๆ หนูก็อ้าว งงสิ แต่ก็พยายามเข้าไปเตะต่อ เพราะหนูไม่รู้ว่าเกิดอะไรขึ้น คิดแค่ว่าหนูก็ต้องทำตัวเองให้ดีที่สุด”
“แต่สุดท้ายเขาก็เบรกเกมแล้วขอดูวีดีโอรีเพลย์ แล้วตอนนั้นทีมเราโดนยึดการ์ดขอชาลเลนจ์ไม่ได้แล้ว เพราะก่อนหน้านั้นประท้วงไปแล้วโดนยึดการ์ด แต่โค้ชเชก็สู้สุดใจเหมือนกัน แบบฉันต้องทวงความยุติธรรมคืนให้นักกีฬา แล้วนายกสมาคมฯ จากที่อยู่บนแสตนด์ก็ลงมาข้างล่างประท้วงหาคำตอบด้วยว่าเกิดอะไรขึ้น”
“ตอนนั้นหนูต้องคุมสติตัวเอง ตระหนักได้ว่าหนูเห็นว่าทุกคนกำลังสู้เพื่อหนูอยู่ หันไปเห็นโค้ช โค้ชก็พยายามประท้วง ท่านนายกก็สู้อยู่ คุณพ่อกับพี่สาวครอบครัวหนูก็ตะโกนลงมาเชียร์อยู่ เสียงคนไทยที่ไปเชียร์ก็ตะโกนมาว่าให้สู้นะ หนูไม่รู้จะยอมแพ้ทำไม เมื่อทุกคนกำลังสู้อยู่ เวลายังเหลืออยู่ 1 นาที มันยังไม่จบเลย ขอลุยอีกสักตั้งก็แล้วกัน บอกตัวเองให้ใจเย็น ๆ ยิ่งใจร้อนก็จะยิ่งหาช่องว่างไม่เจอ พอกลับมาแข่งก็ค่อย ๆ เตะไปตามจังหวะ แต้มก็มาทีละ 3 คะแนน จนคะแนนแซงนำ จากนั้นเวลาเหลือไม่กี่วินาที คราวนี้หนูก็ถอยหนีแล้ว เพราะถ้าเข้าไปใกล้ก็ไม่รู้จะเกิดอะไรขึ้น”
ภาพความสำเร็จในเอเชียนเกมส์สะท้อนออกมาให้เราเห็นอย่างชัดเจนถึงการเติบโตขึ้นมาก ความผิดพลาดเดิม ๆ จากอดีต ไม่ได้เห็นจากเทนนิสในวันนี้อีกแล้ว
การประกาศวางมือหลังจบโอลิมปิก 2024 ถือเป็นเรื่องที่น่าเสียดายสำหรับแฟนกีฬาไม่น้อย เพราะด้วยวัยเพียง 26 ปีเธอยังคงไปต่อได้อีก เพียงแต่เบื้องหลังจากมุมของเทนนิสที่เราไม่เคยรู้มาก่อน ความสำเร็จของเธอต้องแลกมาด้วยความเจ็บปวดทางร่างกาย
“หนูคิดมานานมาก ๆ หลายปีแล้ว อยากจะเลิกตั้งแต่ก่อนจะแข่งโอลิมปิกที่โตเกียวด้วยซ้ำ เพราะหนูมีอาการบาดเจ็บมาตลอด มันเจ็บมาก ๆ ผู้หญิงตัวแค่นี้แต่โดนผู้ชายเตะ เพราะหนูต้องซ้อมกับผู้ชาย อยากได้ความแกร่งอยากได้ความเร็ว”
“เอ็นขาก็ขาดไปแล้วข้างนึง ส่วนอีกข้างพังไปแล้ว ได้แต่บอกตัวเองว่าไม่เป็นไรก็ยังทำได้ กัดฟันสู้อีกตั้ง จบโอลิมปิกแล้วค่อยมารักษากัน”
นอกจากอาการบาดเจ็บแล้วอีกหนึ่งปัจจัยที่เธอทำงานหนักมาตลอดคือเรื่องการคุมน้ำหนัก เทนนิส เผยต่อว่า “ด้วยส่วนสูง 173 เซนติเมตร แต่ต้องคุมน้ำหนักให้อยู่ที่ 49 กก. ตลอด เป็นเวลากว่า 10 ปี นั้นยากมาก เหนื่อยมาก ๆ แต่ก็ต้องพยายามควบคุมเพื่อตัวเอง ต้องอยู่ในโปรแกรมที่นักโภชนาการออกแบบมาให้ จะทานอะไรก็ต้องระมัดระวัง”
ก่อนภารกิจสุดท้ายจะเริ่มขึ้น ครั้งนี้เทนนิสเตรียมตัวมากกว่าที่ผ่านมา การฝึกซ้อมเพิ่มขึ้นเป็นวันละ 3 เวลาทุกวัน เวลาว่างจะศึกษาดูวิดีโอคู่แข่ง ทำการบ้านร่วมกับคู่ซ้อมอย่างหนัก อีกทั้งยังต้องดูแลสภาพร่างไม่ให้เจ็บก่อนแข่ง รวมถึงเรื่องของสภาพจิตใจเมื่อต้องแบกรับความคาดหวังจากทุกฝ่าย
“โอลิมปิกหนนี้ตื่นเต้นและท้าทายมาก ๆ เพราะเราเป็นอันดับ 1 ของโลก ทุกคนเคยเห็นเราเล่นกันมาหมดแล้ว เขารู้ว่าเราเล่นแบบไหน ขณะที่คู่แข่งของเราเปลี่ยนไปจากโอลิมปิกครั้งก่อน ทำให้เราต้องศึกษาคู่แข่งแต่ละชาติให้มากขึ้น เราต้องเพิ่มลูกเซอร์ไพรส์ที่เขาไม่คาดคิด”
“ปกติก็ดูวิดีโอเป็นประจำ หลังดูเสร็จก็มาจัดคู่สายกับพ่อ คาดเดาว่ามีสิทธิ์เจอกับนักกีฬาคนไหนบ้าง ทำประจำเลยจะเตรียมตัวก่อนไปเจอกัน เมื่อรู้ว่าต้องเจอใครก็จะไปบอกคู่ซ้อมต้องเล่นให้เป็นคนนี้ แบบนี้ บางครั้งหนูก็เอาวิดีโอคู่แข่งไปให้คู่ซ้อมดู ให้ไปแกะท่าเขามา แล้วมาเป็นคนนั้น คู่ซ้อมหนูจะมีทุกประเภท”
“ตอนนี้พร้อมมาก ๆ พยายามเคลียร์เรื่องจิตใจ สมองให้โล่ง ๆ เตรียมรับความกดดันจากทุกอย่าง ทุกคนน่าจะคาดหวังหนู เพราะครั้งที่แล้วได้เหรียญทองมา ก็พยายามคุยกับนักจิตวิทยาประจำเลย ไม่อยากให้ความกดดันของทุกคนมาใส่ที่หนูคนเดียว เลยต้องมีเกราะป้องกันตัวเป็นพิเศษ”
“ถามว่ากดดันไหม ไม่ได้กดดันเลย ไม่ว่าจะอยู่อันดับที่เท่าไหร่ ทุกคนก็มีสองไม้สองมือเท่ากัน หนูไม่คิดว่าตัวเองดีกว่าคนอื่น หรือได้เปรียบกว่าใครเลย ทุกคนมาท้าชิงเหมือนกันหมด ทุกครั้งที่แข่งใหม่ ทุกคนก็เริ่มจากศูนย์ เพราะฉะนั้นไม่มีอะไรที่หนูจะต้องกดดัน แค่เล่นให้เต็มที่ภายในเวลา 6 นาทีที่หนูได้รับมอบหมายให้ลงไปแข่ง ใส่สุดหมดแม็กซ์ สุดท้ายไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้นก็ถือว่าทำเต็มที่แล้ว”
ตลอดระยะเวลา 13 ปีกับทีมชาติไทย และ 17 ปีกับกีฬาเทควันโด จากเด็กบอบบางที่เสียน้ำตาจากความผิดหวัง กลายเป็น “เทนนิส” พาณิภัค เสียน้ำตาให้ความสำเร็จอย่างทุกวันนี้ อย่าลืมส่งแรงใจเสียงเชียร์ไปให้เธอกันเยอะ ๆ เพราะวันที่ 7 สิงหาคมนี้ จะเป็นครั้งสุดท้ายที่เธอจะลงแข่งขันในฐานะนักกีฬา ไม่ว่าผลลัพธ์จะเป็นอย่างไร ความสำเร็จที่เธอได้สั่งสมมา ทำให้เธอกลายเป็นหนึ่งในนักกีฬาที่ดีที่สุดเท่าที่ประวัติศาสตร์วงการกีฬาไทยเคยมี
TAG ที่เกี่ยวข้อง