stadium

มาซายูกิ เทราดะ : จากผู้ถูกบูลลี่สู่เวทีโอลิมปิก

23 กรกฎาคม 2567

ถือเป็นอีกหนึ่งปรากฏการณ์สำหรับวงการยูโด เมื่อ มาซายูกิ เทราดะ จอมทุ่มลูกครึ่งไทย-ญี่ปุ่น รุ่นไลต์เวต 73 กก.ชาย สร้างประวัติศาสตร์คว้าโควตา “โอลิมปิก 2024” และเป็นนักยูโดเพียงหนึ่งเดียวของไทย ที่ได้ไปสู้ศึกถึงกรุงปารีส

ครั้งนี้พิเศษสุดๆ เพราะเราบุกมาสัมภาษณ์ถึงที่ ซึ่งเจ้าตัวไม่เคยเปิดใจให้สัมภาษณ์กับใครที่ไหนมาก่อน

 

 

เริ่มเล่นยูโด หลังโดนเหยียด
 

“มาซะ” เกิดที่จังหวัดอิบารากิ ประเทศญี่ปุ่น เขาสูญเสียคุณพ่อ มาซึโฮะ เทราดะ ตั้งแต่เล็กๆ จากหลอดเลือดในสมองแตก ก่อนจะได้รับอุปการะเลี้ยงดูจาก ฮิเดโอะ โคมาซึซากิ คุณพ่อคนปัจจุบัน ที่ประกอบอาชีพธุรกิจโรงสีข้าว 

ย้อนเวลากลับไป 30 ปี นางลักษมี โคมาซึซากิ คุณแม่บังเกิดเกล้าของ มาซะ ที่ทำงานอยู่บริษัทโซนี่ (Sony) ผู้ผลิตโทรทัศน์ กล้องถ่ายรูปดิจิตอล และ อุปกรณ์อิเล็คทรอนิคส์ ถูกส่งไปยังประเทศญี่ปุ่น เป็นเวลา 1 ปี ซึ่งได้ทำงานบริษัทเดียวกับ ฮิเดโอะ โคมาซึซากิ คุณพ่อคนปัจจุบัน ก่อนจะคบหาดูใจ และแต่งงานกันในเวลาต่อมา

 

ชีวิตวัยเด็ก มาซายูกิ เทราดะ เริ่มเล่นหลากหลายกีฬา ทั้งเบสบอล, บาสเกตบอล และ ว่ายน้ำ แต่ ยูโด เป็นจุดเริ่มต้นทำให้จอมทุ่มลูกครึ่งไทย-ญี่ปุ่น เข้าสู่วงการนี้

 

“เหตุผลที่เริ่มเล่นยูโด ไม่ใช่เพราะรักกีฬานี้หรอก มันมีเรื่องราวอยู่”

“คุณคงไม่คิดหรอกว่าญี่ปุ่นไม่มีการบูลลี่? คุณคิดผิดแล้ว… ผมโดนเหยียดมาตั้งแต่เด็กๆเลย บางทีก็โดนล้อว่าไม่ใช่ญี่ปุ่นแท้ เป็นลูกครึ่ง บางทีก็ลามไปถึงคุณแม่อีกที่เป็นคนไทย ไม่ได้มีเชื้อสายญี่ปุ่น”

“บางครั้ง เพื่อนที่โรงเรียนก็พยายามรังแกเรา ผมจึงต้องมองหากีฬาสักชนิดไว้ป้องกันตัว ได้ลองเล่นหลายอย่างนะ แต่สุดท้ายมาจบที่ยูโด”

“ผมหัดเล่นยูโด ไม่ใช่เพราะหลงรักมัน แต่เล่นเพื่อป้องกันการถูกรังแกต่างหาก”  

 

 

หลงรักกีฬานี้ เพราะได้แข่งคนเดียว

เชื่อว่าคนส่วนใหญ่ ชื่นชอบการเล่นกีฬาประเภททีม เพราะนอกจากจะได้เล่นร่วมกันหลายๆคน ยังได้ซึมซับ พัฒนาทักษะจากเพื่อนๆ ในทีม 

แต่สำหรับ “มาซะ” เขากลับมีความคิดแตกต่างจากคนอื่นๆ

“ทุกกีฬาไม่ว่าจะประเภทเดี่ยว หรือ ทีม เป้าหมายสุดท้าย คือ ชัยชนะ คว้าแชมป์ให้ตัวเอง”

“อย่างที่บอกไปตอนต้น ผมเล่นกีฬาหลายอย่าง แต่ ยูโด เป็นกีฬาที่เล่นคนเดียว ซ้อมคนเดียว แข่งคนเดียว อยู่กับตัวเองจริงๆ”  

“ต่อให้ชนะ ก็มีแค่ผมที่ได้สัมผัสความรู้สึกแบบนี้ ไม่มีเพื่อนร่วมทีมมาแสดงความยินดี ตอนแพ้ก็เช่นกัน คนที่ต้องแบกรับความเจ็บปวด ก็คือเรา บางทีมีแอบร้องไห้เหมือนกัน มันยากที่จะจัดการความรู้สึก” 

“แต่สุดท้าย ผมเริ่มรักกีฬานี้ ตอนแรกหัดเล่นเพื่อป้องกันตัว แต่ตอนนี้ความคิดเปลี่ยนไป ฝันเริ่มใหญ่ขึ้น อยากติดทีมชาติสักครั้ง”

 

 

หนีความตึงเตรียด มุ่งหน้าสู่ทีมชาติไทย

จากเด็กนักเรียนที่ค่อนข้างซน ไม่ค่อยเชื่อฟังพ่อแม่ แต่พอหลังจากเล่นกีฬายูโด ความคิดดูจะเปลี่ยนไปจากเดิม เริ่มควบคุมตัวเองได้ทั้งเรื่องของอารมณ์ และ การคิดเป็นระบบ เพื่อเส้นทางติดทีมชาติเป็นจุดหมายปลายทาง

“ตอนเด็กผมนี่ซนมาก จะเรียกว่าเป็นเด็กบ้าๆ ก็คงไม่ผิด ผมมักทำให้พ่อแม่ปวดหัวอยู่เสมอ แต่พอได้เล่นยูโดแบบจริงจัง รู้สึกโอเคมาก หัวร้อนน้อยลง นิ่งขึ้น ใจเย็นกว่าแต่ก่อนเยอะ”

มาซะ เล่าว่า ตนเองสามารถติดทีมชาติญี่ปุ่นได้ แต่คำตอบสุดท้าย เขาเลือกแสวงหาความท้าทายครั้งสำคัญ  ไล่ล่าความฝันที่แท้จริง นั่นคือ การติดทีมชาติไทย 

“ที่ญี่ปุ่นเต็มไปด้วยบรรยากาศตึงเครียด ผมไม่ชอบมันเท่าไหร่หรอก ดูไม่ค่อยเป็นกันเอง แต่ถ้าพูดในเชิงความท้าทาย ความเข้มข้น การพัฒนาตัวเอง มันตอบโจทย์แน่นอน”

“ผมตัดสินใจเดินทางมาที่ไทย คุณแม่เราเป็นคนไทย ก็ตระเวนแข่งรายการต่างๆ จนมีชื่อติดทีมชาติไทย บรรยากาศทุกคนกันเองมาก เวลาซ้อมก็จริงจัง เข้มข้นไม่ต่างจากญี่ปุ่นเลย ซ้อมเสร็จไปหาอะไรกินด้วยกัน มันช่วยให้ผ่อนคลายนะ” 

“แม้ช่วงแรก จะมีปัญหาติดขัดเรื่องการสื่อสาร ผมพูด-ฟัง ภาษาไทย ไม่ค่อยได้ ยังดีที่เพื่อนๆคอยช่วยเหลือ โล่งใจเลย” 
 

 

5 เหรียญทองซีเกมส์ ต่อยอดเป้าหมายที่สูงขึ้น

 

มาซายูกิ เทราดะ ประสบความสำเร็จคว้ามาได้ถึง 5 เหรียญทองในการแข่งขันซีเกมส์ แต่ถึงอย่างไร เขาวาดฝันตัวเองว่า เป้าหมายจะต้องสูงขึ้น พยายามทำผลงานให้ดีที่สุด

“การคว้า 5 เหรียญทองซีเกมส์ให้กับประเทศไทย โดยเฉพาะครั้งแรกที่สิงคโปร์ ปี 2015 เป็นการปลดล็อกความกดดันสักที ผมมีความสุขมากๆ”

“ย้อนกลับไปตอนเด็ก เห็นคนอื่นได้ยืนบนโพเดียมรับเหรียญรางวัล ก็อยากจะเป็นแบบนั้นบ้างสักวัน ตอนนี้เป้าหมายเริ่มใหญ่ขึ้น”

“จากครั้งแรกที่อยากติดทีมชาติไทย ผมทำได้แล้ว อยากคว้าเหรียญทองให้ประเทศไทย ก็ทำได้แล้ว ต่อจากนี้ถ้าเป็นไปได้ อยากไปโอลิมปิกสักครั้งในชีวิต”

 

“แม้เส้นทางจะยากลำบากมาก แต่เชื่อเสมอว่า ถ้าเราตั้งใจซ้อม ทุ่มเททุกวินาที ทำเต็มที่แล้ว ไม่มีอะไรที่ต้องเสียดาย”

 

 

อกหัก 2 ครั้ง ก่อนสุดท้ายจะสมหวัง

“มาซะ” พลาดคว้าโควต้าโอลิมปิก 2 ครั้ง ในปี 2016 ที่ริโอ เด จาเนโร ประเทศบราซิล และ ปี 2020 ที่กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น ท่ามกลางความผิดหวังยากที่จะลืม แต่เขามองว่าเป็นบทเรียนชั้นดี ที่จะเปลี่ยนเป็นพลัง ทำให้ต้องสู้มากกว่าเดิม

“2 ครั้งที่อดไปโอลิมปิก มันยิ่งกว่าเสียใจ แต่ทำไงได้ เมื่อเลือกเส้นทางนี้แล้ว เงื่อนไขเดียว ก็คือ ก้มหน้าก้มตาซ้อมต่อไป ไม่ยอมแพ้ ถ้าใจคุณถอย ความสามารถก็ถอยตาม”

“ผมใช้เวลาทบทวนตัวเองอยู่สักพักเลย นั่งศึกษาข้อผิดพลาด พยายามเติมทักษะ สกิล ที่ขาดหายไป ถ้าเราทำได้ดี เชื่อว่าโอลิมปิกที่ปารีส คงจะมีลุ้นนะ”

มาซายูกิ เทราดะ ยังคงมุ่งมั่น ตั้งใจฝึกซ้อมทุกวินาที โดยเฉพาะหลังซ้อมเสร็จ ขณะที่เพื่อนๆ แยกย้ายกันกลับบ้าน แต่เขาเลือกอยู่ซ้อมต่อ เพราะต้องการประสบความสำเร็จ 

จนสุดท้ายวันที่รอคอยก็มาถึง “มาซะ” ได้โควต้าไปโอลิมปิก “ปารีส 2024” จากการยืนยันของ สหพันธ์ยูโดนานาชาติ หรือ ไอเจเอฟ และเป็นนักยูโดทีมชาติไทยเพียง 1 เดียว ที่ได้โควต้านี้

ช่วยอธิบายความหมายของ “โอลิมปิก” หน่อยมาซะ? “มันคือทุกอย่างในชีวิตผมครับ”

“โอลิมปิก คือ รายการสูงสุดของนักกีฬาจากทั่วโลกมารวมกัน ที่ผ่านมาผมเคยไปปารีส ทั้งไปเที่ยว หรือไปแข่ง แต่ครั้งนี้ เป็นการเดินทางที่แตกต่างจากที่ผ่านมาๆโดยสิ้นเชิง”

“การไปโอลิมปิกครั้งแรก ผมรู้อยู่แก่ใจ งานยากแน่นอน ต่อให้ครั้งนี้จะได้เหรียญ หรือ ไม่ได้เหรียญ แต่สิ่งหนึ่งที่สามารถพูดได้ อยากบอกว่าผมทำฝันเป็นจริงแล้ว”

“พ่อ แม่ ครับ….. ลูกชายที่ซนมากๆในวัยเด็ก วันนี้ผมทำได้แล้วนะ ขอบคุณที่อยู่เคียงข้างกันเสมอ ทั้งช่วงเวลาที่ดี และ ยากลำบาก ขอบคุณทุกกำลังใจที่ส่งมาให้ผม จะทำให้ดีที่สุดเพื่อประเทศไทยครับ” 


stadium

author

"เจมส์จินโญ่" ธัมมสาร อ่อนเกิดแก้ว

StadiumTH Content Creator / รักเชลซี พิคานย่า และ ทุกอย่างที่เป็นบราซิล

Hatari
stadium olympic