stadium

ธิติสรรณ์ ​ปั้นโหมด ความมุ่งมั่นของตัวจริงที่ไม่มีวันทอดทิ้งความฝัน

18 กรกฎาคม 2567

จากความสำเร็จที่ผ่านมา ไล่เรียงตั้งแต่แชมป์เยาวชนโลก 2018, เหรียญเงินเอเชียนเกมส์ 2022 ทำให้ “เหลิม” ธิติสรรณ์ ​ปั้นโหมด นักชกวัย 23 ปี กลายหนึ่งในความหวังของขุนพลเสื้อกล้ามไทยที่จะคว้าเหรียญรางวัลโอลิมปิกเกมส์ 2024

 

กว่าจะก้าวขึ้นมาเป็นความหวังของคนไทยได้นั้น ฉากหลังของการเดินทางอันน่าทึ่งของเขาช่างแสนยากลำบาก มีเรื่องให้ต้องพิสูจน์ความเป็นตัวจริงครั้งแล้วครั้งเล่า ด้วยความมุ่งมั่นนำไปสู่การพิชิตความฝัน ทำให้เขาก้าวผ่านมาได้ และนี่คือ 5 เรื่องราวของความที่ได้รับการพิสูจน์แล้วว่าเขาเป็นตัวจริงบนสังเวียน

 

 

สืบสายเลือดนักสู้ตัวจริง

 

ฉากหลังเส้นทางการเป็นนักกีฬามวยสากลของ “เหลิม” ธิติสรรณ์ ​ปั้นโหมด เริ่มต้นตั้งแต่เขายังไม่ลืมตาดูโลกด้วยซ้ำ เนื่องจากครอบครัวโดยเฉพาะคุณพ่อเป็นหัวหน้าค่ายมวยไทย ส.สายันต์ ค่ายมวยเล็ก ๆ แห่งหนึ่งในจังหวัดพิจิตร บรรยากาศภายในบ้านจึงเต็มไปด้วยเสียงกำปั้น กระสอบทรายและกลิ่นเหงื่อ เขาอยู่กับมันจนคุ้นชินก่อนจะลงไปสวมนวมสาดกำปั้นด้วยตัวเองตั้งแต่ยังเล็ก 

 

ทุกวันหลังเลิกเรียน เหลิม ใช้เวลาอยู่กับการฝึกซ้อม ทั้งฝีมือ ทักษะเชิงมวยของเขารุดหน้าอย่างเร็ว ใช้เวลาเพียงแค่หนึ่งเดือนเขาก็ถูกคุณพ่อส่งขึ้นชกบนเวทีแข่งขันจริง และใช้เวลาประมาณ 20 ไฟต์ ก็คว้าแชมป์และขึ้นเป็นเบอร์ 1 ของภาคเหนือได้อย่างรวดเร็ว

 

จากความสำเร็จดังกล่าวปฏิเสธไม่ได้เลยว่าการคลุกคลีกับมวยไทยจากครอบครัว กลายหนึ่งในปัจจัยที่ทำให้เขาส่องประกายได้อย่างรวดเร็ว

 

 

ความท้าทายของตัวจริง จากมวยไทยสู่มวยสากล 

 

เมื่อเริ่มรู้แล้วว่าตนเองนั้นมีแววจะไปได้ไกลในเส้นทางมวย เหลิม จึงตัดสินใจเข้าเรียนต่อในระดับมัธยมที่โรงเรียนกีฬาองค์การบริหารส่วนจังหวัดพิษณุโลก การได้เข้าเรียนที่สถาบันแห่งนี้ถือเป็นจุดเปลี่ยนครั้งสำคัญของเหลิม เพราะเขาต้องก้าวเท้าออกจากเซฟโซนของตัวเอง จากมวยไทยที่ชกชนะจนไร้คู่แข่ง เปลี่ยนมาเป็นมวยสากล​ โดยกติกานั้นมีความแตกต่างจากมวยไทยค่อนข้างมาก ต้องสวมนวม ใส่เฮดการ์ด ห้ามใช้ เท้า เข่า ศอก เป็นอาวุธ เป็นความท้าทายของยอดมวยไทยวัย 14 ปีเป็นอย่างมาก

 

เหลิม เล่าว่า “มันเป็นความรู้สึกแตกต่างมาก ๆ เพราะมวยไทยมันใช้ทั้งขาและเข่าได้ แต่มวยสากลใช้ได้แค่หมัดอย่างเดียว ชกแรก ๆ ก็อยากจะออกแข้งออกขาไปด้วย แต่กติกามันห้ามก็เลยเก้ ๆ กัง ๆ ต้องใช้เวลาปรับตัวนาน ซึ่งช่วงแรกก็ไม่ได้ชอบมวยสากลเลย เพียงแต่ว่าโค้ชหรือครูผู้สอนท่านแนะนำว่าถ้าผมหันมาชกมวยสากลจะมีโอกาสไปได้ไกลกว่ามวยไทย”

 

 

เคล็ดลับตัวจริงบนสังเวียน

 

ฝีมือของเหลิมยังคงพัฒนาไปได้อย่างรวดเร็ว หลังจากชกมวยสากลได้เพียงแค่ปีเดียว เขาก็ได้รับเลือกให้เป็นตัวแทนทีมชาติไทยในระดับเยาวชน 

 

“รายการแรกของผมในนามทีมชาติ คือศึกชิงแชมป์โลกที่อุซเบกิสถาน” เหลิมเริ่มย้อนความหลังให้เราฟัง ก่อนเล่าต่อถึงความกดดันในตอนนั้นว่า “จำได้ว่าไปแข่งครั้งแรกแล้วแพ้กลับมา คือเราอาจจะเป็นเบอร์ 1 ในประเทศ แต่เวลาออกไปแข่งต่างประเทศมันแตกต่างกัน สภาพอากาศ ความกดดันก็มากกว่า เพราะเราต้องแบกความหวังของธงชาติไทยเอาไว้ด้วย” 

 

แน่นอนว่านั่นไม่ใช่ความพ่ายแพ้เพียงครั้งแรกหรือครั้งเดียว เพราะเหลิมเองก็เป็นนักกีฬาคนหนึ่งที่ต้องมีวันที่สมหวังและผิดหวัง เพียงแต่ว่าสิ่งที่ทำให้เขาไขว่คว้าความสำเร็จแบบตัวจริงได้นั่นคือการไม่ถอดใจยอมแพ้ แล้วยังรู้วิธีคิดหาเส้นทางที่จะนำตัวเองไปถึงเป้าหมายได้

 

“ช่วง 3-4 ปีแรกผมก็แพ้บ่อย บ่อยจนถึงคิดจะเลิกเล่นก็มี พยายามมองหาเส้นทางอื่นแล้วว่าถ้าเลิกชกมวยจะไปทำอาชีพอะไร แต่ก็มาเจอสิ่งที่ทำให้ปลดล็อกตัวเองกลับมาชนะได้ก่อน นั่นก็คือการอ่านหนังสือครับ ไม่รู้เหมือนกันนะว่าเป็นเพราะอะไร แต่ตอนนั้นอยู่ดี ๆ คิดอะไรไม่รู้พอจับหนังสืออ่านแล้วรู้สึกจิตมันเริ่มนิ่ง มองโลกเปลี่ยนไป มีสมาธิมากขึ้น การชกดีขึ้น ผมก็ได้แต่นั่งคิดว่าอ่อที่เราทำแบบนี้แล้วเราแพ้เราต้องเปลี่ยนนะ หนังสือมันสอนให้เราพัฒนาขึ้นมากขึ้น” 

 

“หนังสือเล่มแรกที่อ่านเป็นหนังสือจิตวิทยาของนักกีฬา ซึ่งช่วยเรื่องความคิด เพราะหลังจากที่แพ้มาจะรู้สึกท้อ ไม่รู้จะแก้ไขกับความคิดตัวเองยังไง ทะเลาะกับตัวเอง พอได้จับหนังสือ เริ่มจับความคิดได้ เราก็เดินต่อไปข้างหน้าได้”

 

“นอกจากนั้นก็ใช้ประสบการณ์ช่วยด้วยครับ เพราะถึงจุดหนึ่งเราแพ้จนรู้สึกว่าเอายังไงดีนะ จะแพ้แบบนี้ไม่ได้แล้ว มันแพ้จนรู้ว่าทำแบบนี้จะรู้แล้วว่าแพ้นะ คือต่อยไป 3-4 ปีก็ยังแพ้ จนมาปีที่ 5-6 ประสบการณ์เริ่มมากขึ้น ก็ใช้ตรงนี้ช่วยในการชกด้วยจนชนะได้เป็นแชมป์เยาวชนโลกปี 2018”

 

 

ของจริงใช้ผลงานแทนคำพูด

 

หลังจากคว้าแชมป์เยาวชนโลกได้ในปี 2018 ทำให้เขาได้ก้าวขึ้นสู่ทีมชาติไทยชุดใหญ่ และแจ้งเกิดได้ทันทีตั้งแต่รายการแรกด้วยผลงานการคว้าตั๋วโอลิมปิกเกมส์ 2020 ด้วยวัยเพียง 19 ปีเท่านั้น 

 

โดย 2 ไฟต์ที่บอกถึงเรื่องนี้ชัดเจนได้เป็นอย่างดี เริ่มจาก รอบคัดเลือกโอลิมปิก 2020 โซนเอเชีย -โอเชียเนีย ที่ประเทศจอร์แดน อย่างที่กล่าวไป สำหรับเหลิมนี่คือไฟต์แรกกับทีมชาติไทยชุดใหญ่และด้วยวัย 19 ปี ทำให้เขาถูกมองว่าเป็นแค่ตัวประกอบ 

 

กอปรกับเส้นทางในรายการนั้นของเขาต้องเจองานหินอย่าง ชาห์โคบิดิน ซอยรอฟ เจ้าของเหรียญทองโอลิมปิก 2016 และเป็นแชมป์โลก 2019 จากอุซเบกิสถาน แต่ปรากฎว่าในไฟต์นั้นกลายเป็นเหลิมขึ้นเวทีอย่างไร้ความกลัว เขาเดินหน้าไล่บดเอาชนะคะแนนไปแบบเอกฉันท์ และคว้าตั๋วโอลิมปิก 2020 มาได้ในท้ายที่สุด

 

ส่วนอีกไฟต์เกิดขึ้นในเอเชียนเกมส์ 2022 ซึ่งเป็นรายการที่ใช้คัดโอลิมปิก 2024 คราวนี้ระหว่างทาง เหลิม ที่เพิ่งฟื้นจากอาการบาดเจ็บมา ต้องเจอกับนักกีฬาเจ้าภาพจีน ในรอบ 8 คนสุดท้าย เป็นอีกครั้งที่ก่อนขึ้นเวที เขาถูกผู้คนมองว่าจะโดนนักชกเจ้าภาพน็อกแบบหมดรูป แต่สุดท้ายจบลงด้วยชัยชนะของเหลิมแบบเอกฉันท์ พร้อมกับจบทัวร์นาเมนต์ด้วยตั๋วโอลิมปิกเกมส์ตามเป้า

 

“ทั้งสองไฟต์นั้นทุกคนดูถูกผมหมด ไฟต์แรกเพราะผมเป็นเด็กหน้าใหม่ คนมองว่าผมไม่มีทางชนะแน่ ส่วนไฟต์กับจีนทุกคนคิดว่าผมต้องโดนน็อกแน่นอน แต่ผมชนะได้ทั้งสองไฟต์ลบคำดูถูกไปหมดเลย เราสู้เต็มที่ไม่มีอะไรจะเสีย และบนเวทีก็มีแค่สองคนที่จะชกเท่านั้น ดังนั้นคำดูถูกทั้งหมดไม่มีวันเข้าหูผมหรอกครับ” เหลิม เล่าอย่างภาคภูมิใจ

 

 

ความมุ่งมั่นของตัวจริง ไม่มีวันทอดทิ้งความฝัน

 

อย่างที่ทราบกันว่า เหลิม พลาดการเข้าร่วมโอลิมปิกเกมส์ 2020 ด้วยอาการบาดเจ็บก่อนเดินทางเพียงแค่ไม่กี่วัน แต่สำหรับเขาภายในนั้นแหลกสลาย เหมือนโลกกำลังจะแตกออกเป็นเสี่ยง ๆ 

 

“ผมบาดเจ็บจากการฝึกซ้อมแล้วพลาดเอ็นหัวเข่าซ้ายขาด ตอนนั้นรู้สึกอยากเลิกไปเลย เพราะช่วงนั้นโควิดระบาด โอลิมปิกก็เลื่อนออกมา 2 ปี แล้วตลอดเวลานั้นผมเต็มที่กับการฝึกซ้อมมาก ๆ มันเป็นการเหนื่อยที่ยาวนานจริง ๆ เพราะปกติเตรียมตัว 3 เดือนขึ้นชก 1 ทัวร์นาเมนต์แต่โอลิมปิกครั้งนี้เตรียมตัวกัน 2 ปี แล้วผมมาเจ็บก่อนเดินทางไปแข่งแค่ 2 วันมันเสียใจมาก ๆ”

 

“ตอนนั้นได้แต่คิดในใจว่าทั้งหมดที่ทำมาเพื่ออะไร มองกระสอบทราย นวม ที่เอาไว้ซ้อมยังคิดในใจ มันก็เหนื่อยเหมือนเรา ที่เราทำกับมันมา มองแล้วก็ร้องไห้ ร้องไห้เสียใจอยู่หลายวัน เสียใจมาก แต่ที่กลับมาได้เพราะที่บ้าน ผมรู้สึกได้ทั้งสีหน้า แววตา​ ท่าทางของคนในครอบครัว สัมผัสได้ว่าเขาก็เสียใจ แต่ว่าเขาก็พูดออกมาไม่ได้ เขาก็คงจะหวังกับเรา แต่เราก็โอเคครั้งนี้พลาดไม่เป็นไร ครั้งหน้าต้องทำให้ได้”

 

“หลังจากนั้นผมตั้งเป้าหมายกับตัวเองอย่างชัดเจน เขียนเป็นขั้นตอนต่าง ๆ ช่วงนี้จะทำอะไร ช่วงนี้ต้องเตรียมตัวแบบไหน เริ่มจากเป้าหมายเล็ก ๆ ก่อน แล้วค่อย ๆ ขยับเป้าหมายไปเรื่อย ๆ แล้วพอถึงเวลาคัดโอลิมปิก 2024 ทุกอย่างก็เป็นไปตามเป้าหมายที่วางไว้จริง ๆ ซึ่งโอลิมปิกครั้งนี้ผมก็ต้องทำให้ได้ด้วย เพราะผมตั้งเป้าหมายไว้ชัดเจน”

 

ถึงแม้จะเสียใจมากขนาดไหน แต่เพราะความมุ่งมั่นและความฝันนั้นเป็นรางวัลของคนไม่ล้มเลิกและไม่หยุดตามหา ซึ่งเหลิมเองก็เป็นแบบนั้น เป็นตัวจริงทั้งในและนอกสนามที่ไม่มีวันทอดทิ้งความฝัน ไม่ว่าหนทางนั้นจะยากลำบากขนาดไหนเขาก็จะทำมันให้สำเร็จให้ได้

 

“กว่าจะได้ตั๋วความยากระดับโอลิมปิกเกมส์มันเหนื่อยจริง ๆ เหนื่อยจนแบบว่าอยากจะร้องไห้ จริง ๆ มันก็เหนื่อยกันทุกอาชีพนะ แต่อาชีพของผมมันใช้ร่างกาย ใช้เหงื่อแลกเงิน ถ้าเราไม่ตั้งใจจริงๆ ไม่อดทนจริง ๆ ก็คงมาถึงจุดนี้ไม่ได้ ที่มีวันนี้เพราะมาจากความอดทนล้วน ๆ รวมถึงเบื้องหลังทั้งครอบครัว โค้ช ทีมงาน ทุกคนคอยส่งเสริมให้ผมพัฒนาขึ้นเรื่อย ๆ”

 

“เป้าหมายของผมจะไม่หยุดอยู่ที่เหรียญเงินเอเชียนเกมส์ ผมจะคว้าเหรียญโอลิมปิกให้ได้ เพราะมันเป็นเป้าหมายสูงสุดในชีวิตแล้ว ก็หวังว่าทั้งหมดที่ทำมามันจะเป็นใบเบิกทางให้ผมได้เหรียญโอลิมปิก ซึ่งแน่นอนว่าครั้งนี้่ผมมีความมุ่งมั่นมากกว่าครั้งที่แล้ว 200%”


stadium

author

ปวีน เทพพวงทอง

StadiumTH Content Creator / เชียร์หงส์แดง รักการเดินป่า เสพติดหมูกระทะ

Hatari
stadium olympic