stadium

จุฑามาศ จิตรพงศ์ นักชกพรแสวง 3 ปีจากโตเกียวสู่ปารีสกับไฟที่ยังคงลุกโชน

17 กรกฎาคม 2567

“หนูเป็นคนบ้าบิ่นมากนะ แบบว่าถ้าสิ่งไหนมีใครบอกว่าหนูทำไม่ได้ หนูก็จะทำสิ่งนั้นให้ได้ ทำจนไม่มีใครมาว่าเราได้ เหมือนหนูรู้ว่าหนูไม่เก่งมวยสากลเลย ก็จะเริ่มพยายามให้มากกว่าใคร เพื่อนวิ่งหนึ่งรอบ หนูจะวิ่งสองรอบ แต่ถ้าวันไหนวิ่งเท่ากัน หนูจะวิ่งแซงน็อกรอบให้ได้ หนูจะเป็นแบบนี้ตั้งแต่เด็ก”

 

ประโยคข้างต้นนั้นบ่งบอกถึงความเป็นตัวตนของ “เฟี้ยว” จุฑามาศ จิตรพงศ์ นักชกมวยสากลทีมชาติไทย ความไร้พรสวรรค์ในด้านกีฬาทำให้ต้องขวนขวายฝึกฝนตัวเองมากกว่าใคร และ 3 ปีนับจากโตเกียวที่เธอขาดเพียงแค่ก้าวเดียวก็จะถึงเหรียญรางวัล สู่ปารีส 2024 กับบทพิสูจน์ครั้งใหม่ เธอกลับมาอีกครั้งในเวทีแห่งความฝันพร้อมไฟที่ลุกโชนมากกว่า เพื่อไปให้ถึงความสำเร็จ

 

 

เริ่มจากมวยไทย

 

“หนูเริ่มต้นจากมวยไทยมาตั้งแต่ 10 ขวบ” เฟี้ยว หรือ จุฑามาศ จิตรพงศ์ ที่กำลังจะลงแข่งขันโอลิมปิกเกมส์เป็นครั้งที่ 2 หลังเคยทำได้ในโตเกียว 2020 มาแล้ว เล่าเท้าความถึงปูมหลังของตัวเองเมื่อวันวานครั้งเริ่มต้นก้าวเท้าขึ้นสู่สังเวียนผ้าใบ เส้นทางอาจจะไม่ได้แตกต่างจากนักมวยคนอื่น ๆ มากนัก เพียงแต่มันเป็นเหมือนโชคชะตา

 

“ตอนแรกหนูไม่ได้ชอบชกมวยเลย ชอบเล่นกรีฑามากกว่า เคยเป็นนักกีฬาโรงเรียนได้เหรียญรางวัล แต่ที่เข้ามาต่อยมวยได้แค่ตามเพื่อนไปซ้อมมวย ก็แค่เล่นสนุก ๆ ไม่ได้คิดอะไร แต่พอไปซ้อมทุกวันทางค่ายเขาติดคู่ให้ก็เลยเป็นมวยไทย” 

 

เฟี้ยวชกมวยไทยอยู่ 3 ปี แต่ติดปัญหาตรงที่มวยหญิงไม่ค่อยได้รับความนิยมมากพอหล่อเลี้ยงเป็นอาชีพได้ จังหวะชีวิตต้องย้ายไปเรียนต่อที่โรงเรียนกีฬาทำให้เธอได้มาต่อยมวยสากลอย่างจริงจัง

 

“ตอนหนูย้ายมาเข้า ม.1 ที่โรงเรียนกีฬาใหม่ พี่สาวมาอธิบายให้ฟังว่ามวยสากลเป็นยังไง มีคนบอกว่าถ้าต่อยมวยสากลอนาคตไปได้ไกลนะ เพราะมวยไทยมันไม่ค่อยมีทัวร์นาเมนต์ให้ชก หนูเลยตั้งใจตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา เพราะเรารู้แล้วว่าเป้าหมายมันควรจะไปทางไหน จึงตัดสินใจหันมาชกมวยสากลเลย”

 

“ช่วงแรก ๆ ต้องปรับตัวค่อนข้างเยอะเลย เพราะตอนต่อยมวยไทยหนูเป็นมวยหมัดกับมวยเตะ ใช้เท้าเป็นอาวุธ แต่พอเปลี่ยนมาเป็นมวยสากลมันใช้เท้าไม่ได้เลย เริ่มต้นเลยดูเก้งก้างมาก ๆ เวลาออกอาวุธเท้ามันจะไปด้วยตลอด”

 

 

แรงผลักดันจากครอบครัวมุ่งสู่ฝันโอลิมปิก

 

จนถึงวันนี้ เฟี้ยว ชกต่อยมวยแล้วเป็นเวลา 17 ปีเต็มกินเวลามาเกินครึ่งชีวิตเข้าไปแล้ว คลุกคลีกับมันจนกลายเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตที่ขาดไม่ได้ ส่วนหนึ่งเป็นเพราะเธอมีเป้าหมายชัดเจนมาตั้งแต่วันแรก ทำให้เธออดทนเสียสละร่างกายแลกกับความเจ็บปวดตลอดมา

 

“โอลิมปิกเป็นเป้าหมายของหนูตั้งแต่เข้า ม.1 แล้ว ตอนนั้นหนูเห็นพี่สมจิตร จงจอหอ (อดีตเหรียญทองโอลิมปิก 2008) ไปต่อยโอลิมปิก แล้วหนูพูดลอย ๆ กับพ่อว่า พ่อเดี๋ยวคอยดูนะว่าสักวันหนูจะไปโอลิมปิกให้ได้ พูดแบบทีเล่นทีจริง แต่เขาก็ไม่ได้อะไรนะ แต่ครอบครัวหนูเขาเชื่อมั่นเพราะรู้ว่าหนูเป็นคนตั้งใจและพยายามมากขนาดไหน”

 

“ครอบครัวนั้นคือสิ่งสำคัญสำหรับหนูมาก เป็นทั้งกำลังใจและแรงขับเคลื่อน เวลาเราเหนื่อยกลับมาบ้าน แม่ก็จะคอยบอกว่า ไม่เป็นไรนะ ถ้าเราเลือกที่จะเดินทางนี้แล้วก็ทำให้มันสุด ทำให้เต็มที่ หนูได้กำลังใจจากทางบ้านมาตลอด คอยซัพพอร์ตหนูทุกอย่าง แค่รู้ว่าเราเกิดมาในครอบครัวที่ดีขนาดนี้ เรารู้สึกว่าอยากจะทำให้เขาภูมิใจในตัวเรา”

 

นอกจากกำลังใจแล้วความเชื่อมั่นที่ได้รับจากครอบครัวเป็นอีกหนึ่งพลังสำคัญที่ขับเคลื่อนให้เฟี้ยวคว้าตั๋วโอลิมปิกเกมส์ได้เป็นครั้งที่ 2 

 

“ครอบครัวหนูเขาดีใจนะ แต่ไม่ค่อยแสดงออก เพราะเขารู้อยู่แล้ว่ายังไงหนูก็ทำได้ เพราะเขาเชื่อแบบนี้มาตลอด ถึงเขาจะไม่เคยพูด แต่เรารู้สึกได้ว่าเขาเชื่อมาตลอด ตั้งแต่ต่อยมวยมาเลยพ่อแม่ไม่เคยไปรับไปส่งสนามบินเลยสักครั้ง คือหนูไม่รู้ว่าจะให้เขาไปทำไม เพราะมันเหนื่อย ถ้าวันไหนหนูประสบความสำเร็จค่อยมารับหนูก็ได้ หนูบอกแบบนี้ตลอด”

 

 

ความภูมิใจในนามทีมชาติ

 

หลังจากเบนเข็มมาชกมวยสากล เฟี้ยวใช้ความพยายามอยู่นานพอสมควรกว่าที่ผลลัพธ์จะออกมาอย่างสุขสมหวัง เธอปลดล็อกความสำเร็จขั้นแรก ด้วยการเป็นตัวแทนนักกีฬาทีมชาติมีธงไตรรงค์อยู่บนหน้าอกข้างซ้าย

 

“หนูติดทีมชาติไทยตอนอายุ 19 ปี ผ่านการคัดเลือกรายการในประเทศ วันแรกในแคมป์ทีมชาติหนักมาก แต่หนูเป็นคนที่ซ้อมมาหนักตั้งแต่เด็ก ก็เลยไม่ได้ปรับตัวมากเท่าไหร่ เพียงแต่ว่าตอนนั้นหนูติดเรียนหนังสือมหาวิทยาลัยแล้วเขาไม่ได้ช่วยเรื่องเวลาเรียนอะไรมาก ช่วงแรกหนูต้องตื่นมาซ้อมรอบเช้า ซ้อมเสร็จก็ไปเรียนหนังสือต่อตอน 8 โมง ขี่มอเตอร์ไซค์ไปเรียน ตาหนูนี่ลอยมาเลยเป็นแบบนั้นอยู่เป็นอาทิตย์ หลังจากนั้นจึงตัดสินใจถามพ่อเลยว่าจะเอายังไงดี ถ้าจะให้หนูชกมวยก็จะชก แต่จะไม่ไปเรียนแล้วนะ หนูจะย้ายที่เรียน พอพ่อบอกให้ชกต่อ ก็เลยย้ายไปเรียนที่อื่น คราวนี้ก็ยังมีปัญหาอีกเพราะหนูไม่มีเวลาไปเรียนเลย ต้องเดินทางไปแข่งต่างประเทศบ่อย ๆ ทำให้เกรดมันไม่ถึง ก็ลาออกมา แต่ตอนนี้ก็ใกล้จะจบแล้ว”

 

จากความมุมานะอย่างหนักทั้งด้านเรียนและการฝึกซ้อม เพื่อให้บรรลุความสำเร็จทั้งสองด้าน เฟี้ยว ต้องแบ่งเวลาและให้ความสำคัญเท่ากัน นั่นทำให้ทุกความสำเร็จของเธอสามารถยืดอกภูมิใจได้อย่างเต็มภาคภูมิ

 

“ภูมิใจมากที่สุดเลยคือตอนไปแข่งที่ตุรกีศึกชิงแชมป์โลก 2022 ปีนั้นได้เหรียญเงิน ไปแบบไม่มีใครรู้จักเลย​ ต่างชาติเขาเห็นเราแล้วรู้สึกหวานหมู แต่เราทำให้เขาเห็นว่าเราไม่ใช่หมู ๆ ให้เชือดนะ ไปครั้งแรกแล้วผ่านเข้าถึงรอบชิงฯ​ ทั้ง ๆ ที่สายหนูมันแข็งมาก แข็งแบบโหดอ่ะ แข็งจนรู้สึกว่าทำไมไม่อยู่อีกสายนึงนะ

 

“ส่วนเอเชียนเกมส์ 2022 หนูไม่ได้เสียใจเลย เพราะหนูคิดว่าตัวเองทำดีมากแล้ว  ต่อยกับนักกีฬาจีนคนนั้น (chang yuan แชมป์เก่าเอเชียนเกมส์ 2018, เหรียญทองยูธโอลิมปิก 2014) เขาเป็นคนเก่งมาก เก่งมาตั้งแต่เด็ก หนูชอบเขามาก เขาต่อยได้สองการ์ด นึกในใจถ้าชนะคนนี้ได้หนูก็เป็นเบอร์ 1”

 

“บนเวทีเราต่อยกับเขาได้สูสีมาก กลายเป็นว่าเราพัฒนาจากต้อย ๆ ไปสู้ได้สูสี เขาไม่กล้าที่จะเปลี่ยนการ์ดมาต่อยการ์ดขวากับหนูด้วยซ้ำ หนูคิดว่าถ้าเปลี่ยนการ์ดมานะโดนหนูแน่ ซึ่งเขาไม่มีเปลี่ยนเลย แต่เขาต่อยกับคนอื่นเขาเปลี่ยนการ์ดหมด” 

 

“หนูแค่คิดว่าทุกครั้งถ้าเราใส่สุดแล้วมันไม่มีอะไรจะเสีย ไม่มีอะไรเสียใจ”

 

 

3 ปี จากโตเกียว 2020 เรียนรู้เพื่อโอลิมปิก 2024

 

ย้อนกลับไป โอลิมปิกเกมส์ 2020 ที่กรุงโตเกียว เฟี้ยวได้โควตาแบบโชคช่วย เนื่องจากว่านักกีฬาจากเกาหลีเหนือที่ได้โควตาก่อนหน้าเธอนั้นถอนตัวจากการแข่งขัน ทำให้สิทธิ์ตกมาเป็นของเธอ ซึ่งแตกต่างจากโอลิมปิก 2024 หนนี้เธอทำได้จากสองมือสองกำปั้นของตัวเอง เป็นความสำเร็จที่ภูมิใจมากกว่าครั้งไหน ๆ ซึ่งทั้งหมดนั้น เฟี้ยว บอกว่าเกิดจากเรียนรู้ประสบการณ์ที่ผ่านมา

 

“โอลิมปิกรอบนี้ภูมิใจมาก เพราะครั้งที่แล้วเราได้ไปเพราะเกาหลีเหนือถอนตัว มันก็ดีใจนะแต่ติดตรงคำที่ว่าได้ไปแทนที่คนอื่น แต่ครั้งนี้รู้สึกว่าตัวเองก็เก่งขึ้นอีกระดับนึง สามารถพัฒนาตัวเอง คว้าตั๋วไปเองได้แล้ว เราก็พร้อมเหมือนกันที่จะไปครั้งนี้”

 

“โอลิมปิก 2020 หนูไปแล้วเป็นเด็กประสบการณ์น้อย ตอนขึ้นเวทีขนาดไม่มีคนดู ยังรู้สึกตื่นเต้นมาก มันต่างกับเวทีทั่วไป พอครั้งนี้หนูคิดว่าน่าจะรับมือได้ แล้วก็ประสบการณ์ 3 ปีที่ผ่านมาที่เพิ่มขึ้น”

 

“สำหรับหนูโอลิมปิกมันขลัง ใช้คำนี้ได้เลยนะ มันขนลุกอ่ะ ถ้าคนที่ไปแข่งจริง ๆ พอขึ้นเวทีมันแบบ หูยยย นี่เรามาถึงตรงนี้เลยหรอ มันคือที่สุดของกีฬาแล้ว มันไม่ใช่ทุกคนที่จะไปได้ มันแค่ไม่กี่คนจากทั่วโลก มันเลยรู้สึกแบบ ว้าววว มันไม่ใช่ว่าส่งใครไปก็ได้เหมือนทัวร์นาเมนต์อื่น”

 

“แล้วสิ่งที่เสียใจที่สุด ตอนคัดโอลิมปิกปีก่อน ตอนนั้นคิดจะเลิกชกมวยไปเลย ทำไมต้องเป็นหนูตลอดเลยที่ดวงไม่ดี เพราะหนูตั้งใจมาก หนูพยายามซ้อมมากกว่าคนอื่นเลยเพราะหนูรู้ว่าหนูไม่เก่ง แต่เวลาจับสลากแบ่งสายมาแต่ละครั้ง โอ้โห อะไรเนี่ย ทำไมเราต้องอยู่สายโหดตลอด แถมช่วงนั้นไม่ค่อยได้ต่อยสไตล์ตัวเอง มันเป็นการฝืนตัวเองด้วย หนูรู้เลยว่าถ้ายังต่อยแบบนี้ยังไงก็แพ้ เพราะเราไม่กล้าพูดด้วยความเป็นเด็ก แต่พอโตขึ้นเราเริ่มรู้ว่าเราควรทำยังไงกับสตาฟฟ์โค้ช กล้าพูด เป็นตัวเองมากขึ้น ก็ได้กลับมาต่อยสไตล์ตัวเอง”

 

“ตอนนั้นก็ร้องไห้ ไม่กล้าโทรหาใคร จนกระทั่งแม่โทรมาถามว่าเราเป็นอะไร พอกลับไปบ้าน แม่ก็บอกว่าคนเรามันต้องมีผิดหวังกันบ้างแหละ สุดท้ายก็เป็นครอบครัวที่อยู่ข้างๆ กลับมาได้เพราะครอบครัวเหมือนกัน”

 

“ทุกรายการเป้าหมายของหนูคือเหรียญทองตลอด (ยิ้ม) ตั้งทองไว้ก่อน แต่ได้เหรียญอะไรหรือผลจะเป็นยังไง​ เราแค่ทำเต็มที่คือที่สุดอยู่แล้ว”

 

ไม่ว่าผลลัพธ์ในโอลิมปิก 2024 หนนี้ เฟี้ยวจะลงเอยแบบไหน แต่เชื่อว่าเธอจะลงจากเวทีด้วยความภาคภูมิใจเหมือนทุกครั้ง นั่นเป็นเพราะได้ทุ่มเททุกอย่างเท่าที่มีไปหมดแล้ว


stadium

author

ปวีน เทพพวงทอง

StadiumTH Content Creator / เชียร์หงส์แดง รักการเดินป่า เสพติดหมูกระทะ

stadium olympic