stadium

ทอม เดลีย์ : ชีวิตที่ไม่ง่ายกว่าจะมีวันนี้

16 กรกฎาคม 2567

โทมัส โรเบิร์ต เดลีย์ หรือที่รู้จักกันในชื่อ “ทอม เดลีย์” นักกระโดดน้ำชาวอังกฤษ วัย 30 ปี เจ้าของ 1 เหรียญทอง 3 เหรียญทองแดงโอลิมปิก ชีวิตของเขาช่างน่าสนใจ ทั้งใน และ นอกสนาม ซึ่งกว่าจะก้าวมาถึงจุดนี้ ต้องต่อสู้ เผชิญกับอุปสรรคมากมาย ติดตามเรื่องราวทั้งหมดได้ที่นี่
 


จุดเริ่มต้นสู่ความฝันที่ยิ่งใหญ่

ทอม เดลีย์ เกิดเมื่อปี 1994 ที่เมืองพลีมัธ ประเทศอังกฤษ เป็นพี่ชายคนโต มีน้องชาย 2 คน เขาให้ความสนใจกีฬากระโดดน้ำตั้งแต่เด็กๆ และดูเหมือนว่าจะไปได้สวยกับเส้นทางนี้ 

ในอายุ 7 ขวบ เดลีย์ เริ่มต้นจากกีฬาว่ายน้ำ ก่อนจะเปลี่ยนมาเป็นกระโดดน้ำ ด้วยพรสวรรค์ที่ฉายแววออกมา ได้เป็นตัวแทนทีมสหราชอาณาจักรตั้งแต่อายุ 9 ขวบ และจากการฝึกซ้อมที่มุ่งมั่น ตั้งใจ ทำให้ติดทีมชาติอายุไม่เกิน 18 ปี ด้วยอายุเพียง 10 ขวบ ยิ่งไปกว่านั้น เขากลายเป็นนักกีฬาทีมชาติสหราชอาณาจักรชุดลุยโอลิมปิกที่อายุน้อยสุด ด้วยวัย 14 ปี 

ผลงานโอลิมปิกครั้งแรก ปี 2008 ที่กรุงปักกิ่ง จบอันดับ 7 ประเภทแพลตฟอร์มเดี่ยว และอันดับ 8 ประเภทแพลตฟอร์มคู่ แม้จะไม่สามารถคว้าเหรียญใดๆมาครองได้ แต่อย่างน้อยเขาได้เดินตามความฝัน โดยมีรุ่นพี่อย่าง ลีออน เทย์เลอร์ ตำนานรุ่นพี่ชาวอังกฤษ เหรียญเงินโอลิมปิก ปี 2004 เป็นไอดอลในดวงใจ

 


สูญเสียคุณพ่อจนเกือบเลิกเล่น

ช่วงปี 2006 โรเบิร์ต เดลีย์ บิดาบังเกิดเกล้าของ ทอม เดลีย์ ถูกตรวจพบว่ามีเนื้องอกในสมอง แม้จะผ่าตัดออกไปแล้วถึง 80% แต่อาการก็ไม่ดีขึ้น

จากชื่อเสียงที่ลงแข่งโอลิมปิกครั้งแรก ปี 2008 ดูเหมือนไม่ช่วยอะไรมากนัก เดลีย์ ต้องแลกมาด้วยการถูกบางคนที่โรงเรียนรังแก ทำให้เจ้าตัวตัดสินใจเรียนหนังสือที่บ้านแทน 

วันที่ 27 พฤษภาคม 2011 คุณพ่อได้จากไปแบบไม่มีวันกลับ ทอม เดลีย์ จัดการความเศร้านี้ได้อย่างยากลำบาก แต่สุดท้ายชีวิตต้องดำเนินต่อไป

“คุณพ่อผมเสียชีวิตวันศุกร์ และเช้าของวันเสาร์ผมต้องไปฝึกซ้อม งานศพถูกจัดขึ้นวันพุธ จากนั้นผมก็ไปแข่งรายการชิงแชมป์ประเทศ วันนี้เมื่อได้มองย้อนกลับไปในมุมของนักกีฬาที่โตขึ้น มันมีสิ่งอื่นๆที่สำคัญกับชีวิต มากกว่ากระโดดน้ำ”
 

“ในตอนนั้นผมรู้แค่ว่า โอลิมปิก ที่กรุงลอนดอนมันสำคัญ พ่อและผมฝันถึงเรื่องนี้ตลอด และนั่นเป็นแรงผลักดันที่จะต้องขึ้นไปรับเหรียญในปี 2012” 

 

หลังจากคุณพ่อเสียชีวิต ทอม เดลีย์ ที่เป็นพี่ชายคนโต ต้องขับรถพาน้องชายจากโรงเรียนไปซ้อมรักบี้ทุกวัน และปีต่อมา แม้จะสมหวังคว้าเหรียญทองแดงในโอลิมปิก “ลอนดอน เกมส์” แต่ความเศร้ายังคงอยู่ จนถึงขั้นคิดจะเลิกเล่นกีฬานี้ เดลีย์ ต้องเข้ารับการบำบัด ก่อนจะกลับมาลงสนามอีกครั้งในปี 2013
 


ประกาศศักดาคว้าเหรียญทองโอลิมปิก และ แชมป์อีกมากมาย

เดลีย์ สร้างชื่อให้แฟนๆจดจำ ด้วยการคว้าแชมป์โลกมาครอง 4 สมัย ได้แก่ ปี 2009, 2017 (ประเภทแพลตฟอร์มเดี่ยว 10 เมตร) และ ปี 2015, 2024 (ประเภททีมอีเวนต์) ต่อด้วยแชมป์ยุโรป กวาดมาครองทั้งหมด 5 สมัย ได้แก่ ปี 2008, 2012, 2016 (ประเภทแพลตฟอร์มเดี่ยว 10 เมตร), ปี 2016 (ประเภทสปริงบอร์ด 3 เมตร คู่ผสม) และ ปี 2020 (ประเภทแพลตฟอร์มคู่ 10 เมตร)
  
อีกหนึ่งรายการยิ่งใหญ่ที่สุดอย่าง “โอลิมปิก” ทอม เดลีย์ คว้าเหรียญทองแดง ประเภทแพลตฟอร์มเดี่ยว 10 เมตร ในปี 2012 “ลอนดอน เกมส์” นับเป็นเหรียญโอลิมปิกแรกของตัวเอง ความพิเศษของมันคือ เป็นการฉลองความสำเร็จต่อหน้าแฟนๆ 

ถัดมาอีก 4 ปี ที่ริโอ เด จาเนโร ประเทศบราซิล คว้ามาได้ 1 เหรียญทองแดงจากประเภทแพลตฟอร์มคู่ 10 เมตร  

 


และแล้ววันแห่งการรอคอยก็มาถึง “โตเกียว 2020” ที่ประเทศญี่ปุ่น ทอม เดลีย์ คว้า 1 เหรียญทอง ประเภทแพลตฟอร์มคู่ 10 เมตร ซึ่งคนที่คู่กับเขา คือ แม็ตตี ลี รุ่นน้องที่มี ทอม เดลีย์ เป็นไอดอล และ 1 เหรียญทองแดง ประเภทแพลตฟอร์มเดี่ยว 10 เมตร

“ผมภูมิใจมากที่จะได้พูดว่า ตัวเองเป็นเกย์ และ เป็นแชมป์โอลิมปิก ช่วงวัยเด็ก ผมคิดว่าไม่สามารถประสบความสำเร็จได้เพราะสิ่งที่ผมเป็น การเป็นแชมป์โอลิมปิก แสดงให้เห็นถึงคุณสามารถประสบความสำเร็จได้”  
 


ยูทูบเบอร์ตัวพ่อ และ นักเคลื่อนไหว LGBTQ

ข้ามมาดูเรื่องราวนอกสนามกันบ้าง ทอม เดลีย์ มีช่องยูทูบของตัวเองชื่อ Tom Daley มีผู้ติดตามมากกว่า 1 ล้านคน ช่องของเขารวมเรื่องราวที่หลากหลาย ไม่ว่าจะเป็น วิธีการออกกำลังกาย การดูแลสุขภาพ รวมถึงไลฟ์สไตล์ต่างๆ 

โดยปี 2013 เขาก็ทำสาวๆ อกหักกันเป็นแถว หลังได้ประกาศว่าเป็นเกย์ ซึ่งแฟนหนุ่มของ เดลีย์ มีชื่อว่า ดัสติน แลนซ์ แบล็ก โปรดิวเซอร์ระดับออสการ์ชาวอเมริกัน ก่อนทั้งคู่จะแต่งงานกันในปี 2017 และมีลูกชายด้วยกัน ผ่านการอุ้มบุญชื่อว่า โรเบิร์ต  
 

“การพบกับเขา (ดัสติน แลนซ์ แบล็ก) เปลี่ยนทุกอย่าง มันทำให้ผมหยุดกังวล เลิกกลัว และเป็นตัวผมเอง”

 

ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา เขาเป็นผู้สนับสนุนกลุ่ม LGBTQ อย่างเต็มตัว และได้เดินทางไปยังประเทศต่างๆในเครือจักรภพ เพื่อตรวจสอบสิทธิ LGBTQ สำหรับนักกีฬา ซึ่งได้รับความสนใจจากทั่วโลก 

 

และโอลิมปิก “โตเกียว 2020” ที่ผ่านมา มีนักกีฬาที่เปิดเผยว่าเป็น LGBTQ ลงสนามแข่งขัน มากกว่า 160 คน เป็นสิ่งตอกย้ำของความเท่าเทียมในสังคม ทั้งการแข่งขัน สีผิว และ เพศสภาพ

 

 

เปลี่ยนงานอดิเรกให้กลายเป็นธุรกิจ

 

ย้อนกลับไปมหกรรมโอลิมปิกที่ประเทศญี่ปุ่น นอกจากจะคว้า 1 เหรียญทองประเภทแพลตฟอร์มคู่ 10 เมตร อีกหนึ่งเรื่องที่ไม่พูดถึงไม่ได้ นั่นคือ เขากำลังนั่งถักนิตติ้งอยู่ข้างสนามอย่างมีความสุข 

 

ทอม เดลีย์ ใส่เสื้อทีมสหราชอาณาจักร ถักนิตติ้งที่คล้ายกับหมวกสีม่วงชมพู สร้างความฮือฮากลายเป็นไวรัลไปทั่วโลก แต่หากใครได้ติดตามอินสตาแกรม จะรู้ว่ามันเป็นงานอดิเรกที่ทำมานานแล้ว ซึ่งถักทั้งเสื้อ

 

ไหมพรม หมวก ถุงเท้า เสื้อ รวมไปถึงถุงไหมพรมที่เก็บเหรียญทองโอลิมปิก โดยด้านหนึ่งเป็นลายธงชาติสหราชอาณาจักร และอีกหนึ่งด้านเป็นลายธงชาติญี่ปุ่น

 

 

เจ้าตัวเคยให้สัมภาษณ์ไว้ว่า การถักนิตติ้ง ถักโครเชต์ ถือเป็นการช่วยฝึกสมาธิอย่างมาก ทั้งการฝึกซ้อม และ การแข่งขัน ช่วงที่เริ่มถัก เพื่อต้องการแค่คลายความกังวลในช่วงโควิด ก่อนจะเป็นงานอดิเรกที่หลงรักสุดหัวใจ

 

จากจุดนี้เอง เดลีย์ ได้สานต่อความชอบ ด้วยการเปิดแบรนด์ชื่อว่า “Made With Love By Tom Daley” เต็มไปด้วยสินค้ามากมาย เช่น หมวก, ผ้าพันคอ, ผ้าห่ม เรียกได้ว่าสุดยอดไม่แพ้ผลงานในสนามเลยจริงๆ

 

สำหรับโอลิมปิก “ปารีส 2024” ไม่มีใครตอบได้ว่า ทอม เดลีย์ จะได้เหรียญอะไร แต่สิ่งหนึ่งที่เขาสามารถตอบคนทั้งโลกได้แล้ว มันคือ การเป็นตัวของตัวเอง ทำตามสิ่งที่หัวใจต้องการ แล้วปล่อยให้ความสำเร็จพูดแทน 

 


stadium

author

"เจมส์จินโญ่" ธัมมสาร อ่อนเกิดแก้ว

StadiumTH Content Creator / รักเชลซี พิคานย่า และ ทุกอย่างที่เป็นบราซิล

stadium olympic