stadium

ส่องตัวเต็งแบดมินตันโอลิมปิกปารีสเกมส์ 2024

12 กรกฎาคม 2567

แบดมินตันเป็นหนึ่งในกีฬาความหวังของคนไทยที่รอวันปลดล็อกความสำเร็จในโอลิมปิกเกมส์เป็นครั้งแรกมาอย่างยาวนาน ซึ่งในโอลิมปิกเกมส์ 2024 ที่ประเทศฝรั่งเศส ทัพนักตบลูกขนไก่ไทยผ่านการคัดเลือกเข้าร่วมการแข่งขันครบทั้ง 5 ประเภท รวมทั้งหมด 9 คน นำทีมโดย กุลวุฒิ วิทิตศานต์ ดีกรีแชมป์โลกชายเดี่ยวคนล่าสุด

 

อย่างไรก็ตามคู่แข่งในแต่ละประเภทล้วนเป็นยอดฝีมือกันทั้งนั้น ซึ่งถือเป็นความท้าทายของนักตบไทยที่จะเขียนประวัติศาสตร์หน้าใหม่ และต่อไปนี้เราจะพาไปรู้จักและเช็กผลงานของเหล่าตัวเต็งในแต่ละประเภท ติดตามได้ที่นี่

 

 

ประเภทชายเดี่ยว : ฉี ยู่ฉี (จีน)

 

ร้อนแรงเกินใครจนต้องขอยกให้เป็นเต็ง 1 ที่มีโอกาสคว้าเหรียญทองโอลิมปิกเกมส์ในปีนี้ นับตั้งแต่เข้าปี 2024 อันดับโลกของเขาทะยานขึ้นสู่อันดับ 2 ของโลกมาตั้งแต่สัปดาห์ที่ 2 เก็บเกี่ยวคะแนนพุ่งสูงขึ้นเรื่อย ๆ จนขึ้นเป็นมือ 1 ของโลกจากการประกาศอันดับเมื่อวันที่ 11 มิถุนายน แซงหน้า วิคเตอร์ อเซลเซ่น จากเดนมาร์ก ที่ในปีนี้ดูจะมีปัญหาเรื่องสภาพความฟิต หล่นไปรั้งมือ 2 ของโลกแทนหลังจากครองบัลลังก์มือ 1 ของโลกยาวนานถึง 132 สัปดาห์ หรือตั้งแต่ 28 กันยายน 2017

 

ความยอดเยี่ยมดังกล่าวสะท้อนได้จากสำเร็จของเจ้าตัวในปีนี้ โดยเฉพาะรายการใหญ่ ๆ ซึ่ง ฉี ยู่ฉี นั้นผ่านเข้ารอบชิงชนะเลิศได้ 4 รายการ คว้าไปได้ 3 แชมป์ ซึ่งทั้งหมดเป็นรายการ เวิลด์ ทัวร์ ระดับ ซูเปอร์ 750 หนึ่งในนั้นคือการเอาชนะ กุลวุฒิ ของไทย ได้ในศึกเฟรนช์ โอเพ่น เมื่อเดือนมีนาคม ส่วนรองแชมป์ที่ได้ก็มาเลเซีย โอเพ่น ซึ่งเป็นรายการ เวิลด์ ทัวร์ ระดับ ซูเปอร์ 1000 เรียกได้ว่ามักจะทำผลงานได้ดีในรายการใหญ่ที่มีความกดดันในเกมสูง 

 

ดังนั้นปารีส 2024 ในมุมมองของเราขอยกให้นักตบวัย 28 ปี มีโอกาสประสบความสำเร็จมากที่สุด

 

 

ประเภทหญิงเดี่ยว : อัน เซยอง (เกาหลีใต้)

 

ย้อนกลับไปในโอลิมปิก โตเกียวเกมส์ 2020 อัน เซยอง ยังเป็นเพียงดาวรุ่งวัย 19 ปีที่เพิ่งก้าวขึ้นมาเทิร์นโปรได้ไม่นาน ทั้งประสบการณ์และความแข็งแกร่งยังอาจมีไม่มาก แต่ก็ทำผลงานไปได้ไกลถึงรอบก่อนรองชนะเลิศในโอลิมปิกหนแรกของตัวเอง

 

อย่างไรก็ตามนับตั้งแต่จบโอลิมปิกเกมส์เมื่อ 3 ปีก่อน อัน เซยอง สถาปนาตัวเองกลายเป็นมือระดับโลกแบบเต็มตัว คว้าแชมป์ใน เวิลด์ ทัวร์ ไปทั้งหมด 17 รายการ จากการผ่านเข้ารอบชิงชนะเลิศ 22 ครั้ง รวมถึงการคว้าแชมป์โลก และแชมป์เอเชียนเกมส์ในปี 2023 อีกด้วย 

 

ความยอดเยี่ยมไม่หมดเพียงเท่านี้ เธอใช้เวลาเพียง 5 ปี นับตั้งแต่เทิร์นโปรในปี 2019 กลายเป็นนักแบดมินตันหญิงเดี่ยวที่กวาดแชมป์ไปมากที่สุด 22 รายการ และยังผูกขาดครองมือ 1 ของโลกในประเภทหญิงเดี่ยวตั้งแต่เปิดสัปดาห์แรกของปี 2023 ยาวจนถึงปัจจุบัน

 

นอกจากนี้สถิติในรอบชิงชนะเลิศ 11 ครั้งหลังสุดเธอคว้าชัยชนะได้ 100 เปอร์เซ็นต์ และด้วยวัยเพียง 22 ปี ซึ่งถือเป็นช่วงขาขึ้นของนักแบด บวกกับสภาพร่างกายที่ฟิตกว่าใครเพื่อน รวม 4 ย่อหน้าที่กล่าวมานั้น เพียงพอหรือยังกับการถูกยกให้เป็นเต็ง 1 ในปารีส 2024

 

 

ประเภทชายคู่ : เหลียง เหว่ยเกง - หวัง ฉาง (จีน)

 

เหลียง เหว่ยเกง และ หวัง ฉาง แจ้งเกิดด้วยการสร้างปรากฎการณ์คว้าแชมป์เจแปน โอเพ่น 2022 ในขณะที่รั้งอันดับ 88 ของโลก เป็นผลงานสุดเซอร์ไพรส์ที่ไม่มีคาดคิดมาก่อนว่าทั้งคู่จะประเดิมคว้าแชมป์แรกด้วยรายการใหญ่ระดับ เวิลด์ ทัวร์ ซูเปอร์ 750 หลังจากนั้นพวกเขาใช้เวลาเพียงแค่ปีเดียวก็ไต่เต้าจนขึ้นเป็นมือ 1 ของโลกในประเภทชายคู่

 

อย่างไรก็ตามนับตั้งแต่เข้าปี 2024 ดูเหมือนคู่จากจีนคู่นี้จะลงแข่งขันรายการเวิลด์ ทัวร์ เฉพาะรายการบังคับในระดับ 750 ขึ้นไปเท่านั้น ซึ่งลงแข่งไปเพียง 5 รายการ เมื่อรวมกับรายการในนามทีมชาติอย่างชิงแชมป์เอเชีย และโธมัส คัพ เท่ากับว่าพวกเขาลงแข่งในปีนี้ไป 7 รายการ เฉลี่ยแล้วลงแข่งขัน 1 ทัวร์นาเมนต์ต่อเดือนเท่านั้น แต่กลับคว้าแชมป์มาเชยชมได้ 3 รายการ

 

เห็นได้ชัดว่าโฟกัสของทั้งคู่นั้นอยู่ที่การเตรียมตัวให้พร้อมสำหรับภารกิจพิชิตเหรียญทองในโอลิมปิกเกมส์ 2024 ครั้งนี้นั่นเอง แต่จะทำได้หรือไม่ เพราะยังมีก้างขวางคอชิ้นโตอย่างคู่ของ ซาวิไซราท ซานกิเร็ดดี้ กับ ชีราท เช็ตตี้ คู่มือ 1 ของโลกจากอินเดีย, คัง มิน ฮยุก กับ ซอ ซึง แจ คู่มือ 3 ของโลกและคู่แชมป์โลกล่าสุด 2023 รวมไปถึงคู่ของไทยอย่าง สุภัค จอมเกาะ กับ กิตตินุพงษ์ เกตุเรน ที่เคยพลิกล็อกเอาชนะคู่จีนมาแล้วในปีนี้ ในรายการ อินเดีย โอเพ่น 2024

 

 

ประเภทหญิงคู่ : เฉิน ชิงเฉิน - เจีย ยี่ฟาน (จีน)

 

ครองมือ 1 ของโลกร่วมกันมากกว่า 180 สัปดาห์ แถมยังไม่หล่นจากมือ 1 ของโลกเลยนับตั้งแต่ตุลาคม 2022 จับคู่คว้าแชมป์ร่วมกันมากกว่า 20 รายการ รวมถึงแชมป์โลก 4 สมัย แข็งแกร่งเกินต้านและแทบจะหาใครมาทัดเทียมได้ยากจริง ๆ 

 

สำหรับผลงานในปี 2024 ทั้งคู่ลงแข่งขันไปแค่ 6 ทัวร์นาเมนต์​ คว้าแชมป์ไปได้ 3 รายการ เหตุผลที่ลงสนามไม่เยอะเพราะพวกเธอนั้นให้ความสำคัญกับโอลิมปิกเกมส์เป็นลำดับแรก และอยู่ในขั้นตอนเตรียมความพร้อมเดียวแบบเดียวกับ เหลียง เหว่ยเกง - หวัง ฉาง ในประเภทชายคู่

 

ซึ่งในประเภทหญิงคู่ถือเป็นหนึ่งในอีเวนต์ที่จีนนั้นคาดหวังค่อนข้างสูง เพราะเว้นว่างจากการคว้าเหรียญทองโอลิมปิกมานานถึง 12 ปีเข้าไปแล้ว ครั้งสุดท้ายที่ได้เหรียญทองประเภทหญิงคู่คือโอลิมปิก 2012 ที่กรุงลอนดอน จากผลงานของ จ้าว หยุนเล่ย กับ เทียน ฉิง 

 

ขณะเดียวกัน เฉิน ชิงเฉิน และ เจีย ยี่ฟาน ต่างก็ต้องการที่จะลบฝันร้ายจาก โอลิมปิก ที่กรุงโตเกียว ซึ่งพวกเธอทำได้เพียงรองแชมป์

 

 

ประเภทคู่ผสม : เจิ้ง ซื่อเหว่ย - หวง ย่าฉง (จีน)

 

เป็นตัวเต็งจากจีนอีกหนึ่งประเภท ซึ่งก็ไม่เกินไปนักเมื่อเทียบกับผลงานของทั้งคู่คว้าแชมป์รายการอาชีพร่วมกันมากกว่า 40 รายการ คว้าแชมป์โลกคู่กัน 3 สมัย และรองแชมป์อีก 2 ครั้ง รวมถึงครองมือ 1 ของโลกคู่กันมากกว่า 200 สัปดาห์ นับตั้งแต่ปี 2018 

 

ปัจจุบันทั้งคู่ยังครองมือ 1 ของโลกมากตั้งแต่ธันวาคม 2022 และอยู่ในช่วงของการเตรียมตัวสำหรับโอลิมปิกเกมส์เช่นเดียวกับตัวเต็งคนอื่น ๆ จากจีน ซึ่งโอลิมปิกเกมส์ครั้งนี้เป็นครั้งที่ 2 ที่พวกเขาจับคู่กัน โดยโอลิมปิกที่โตเกียวคู่นี้ก็เป็นเต็ง 1 ของรายการแต่พลาดท่าแพ้ หวัง ยี่ ลู่กับ หวง ตงผิง เพื่อนร่วมชาติไปในรอบชิงชนะเลิศ 

 

แม้ว่าในครั้งนั้นเหรียญทองในอีเวนต์นี้จะเป็นของจีน แต่ในแง่ของผลงานส่วนตัวแล้ว เชื่อว่า เจิ้ง ซื่อเหว่ย และ หวง ย่าฉง ปรารถนาอยากจะคว้าเหรียญทองโอลิมปิกเกมส์ให้ได้สักครั้ง ซึ่งครั้งนี้แม้จะไม่ใช่งานง่าย แต่ยังเป็นอีกครั้งที่ทั้งคู่ได้รับการคาดหมายให้เป็นตัวเต็งที่จะคว้าเหรียญทองปารีส 2024 


stadium

author

ปวีน เทพพวงทอง

StadiumTH Content Creator / เชียร์หงส์แดง รักการเดินป่า เสพติดหมูกระทะ

Hatari
stadium olympic