stadium

รัชนก อินทนนท์ การต่อสู้เพื่อเหรียญโอลิมปิก เป้าหมายที่ยังไม่สำเร็จ

12 กรกฎาคม 2567

ถ้านับช่วงเวลาการแข่งขันโอลิมปิกเกมส์ 4 สมัย จะเท่ากับ 16 ปี เมื่อเทียบกับนักกีฬาคนหนึ่งแล้ว เรียกได้ว่าแทบเป็นทั้งชีวิต ซึ่ง "เมย์" รัชนก อินทนนท์ นักแบดมินตันหญิงที่ประสบความสำเร็จมากที่สุดคนหนึ่งของไทย กำลังอยู่บนเส้นทางนั้น

 

"เมย์" หรือที่แฟนกีฬาไทยเรียกติดปากว่า "น้องเมย์" ด้วยความเคยชินที่เห็นความสำเร็จมาตั้งแต่เด็ก คว้าแชมป์รายการอาชีพมาไม่น้อยกว่า 20 รายการ บวกกับแชมป์โลกและแชมป์เอเชียอย่างละ 1 สมัย อย่างไรก็ตาม กับโอลิมปิกที่เข้าร่วมมาแล้ว 3 ครั้ง เธอยังไปไม่ถึงเป้าหมายสูงสุดในชีวิตคือการคว้าเหรียญมาคล้องคอ 

 

แล้วในการลงแข่งโอลิมปิกครั้งที่ 4 ในชีวิต เธอมีความตั้งใจอย่างไร และมองอนาคตของตัวเองแบบไหน ติดตามได้ที่นี่

 

 

ชื่อกระฉ่อนจากแชมป์เยาวชนโลก 3 สมัยซ้อน

 

ก่อนจะพูดถึงโอลิมปิกครั้งนี้ ต้องย้อนความชีวิตของเธอสักเล็กน้อย เพราะอย่างที่ทราบกันดีว่า น้องเมย์คือนักกีฬาแบดมินตันที่อายุน้อยที่สุดเท่าที่แวดวงลูกขนไก่เคยมีมา ด้วยความอัจฉริยะในกีฬาชนิดนี้ เมื่อผนวกเข้ากับความกระหายในชัยชนะทำให้ ‘รัชนก อินทนนท์’ สามารถคว้าแชมป์แบดมินตันเยาวชนชิงแชมป์โลก 3 สมัยซ้อน ปี 2009-2011 อย่างน่าเหลือเชื่อ

 

“การคว้าแชมป์เยาวชนโลกทำให้เมย์ภูมิใจมาก เพราะจากเด็กคนหนึ่งที่ไม่ได้คาดหวังอะไร แต่ทำหน้าที่ในการเป็นเยาวชนทีมชาติได้ดีด้วยการคว้าแชมป์เยาวชนโลก นอกจากนั้นรายการนี้ยังเป็นหนึ่งบันไดที่ทำให้ประสบความสำเร็จในเวลาต่อมาอีกด้วย" เมย์ พูดถึงความรู้สึกตอนที่ได้แชมป์เยาวชนโลก

 

 

เด็ก​ 17 กับโอลิมปิกครั้งแรก

 

แจ้งเกิดจากแชมป์เยาวชนโลก 3 ปีซ้อน ต่อเนื่องถึงการได้มีโอกาสเข้าร่วมโอลิมปิกเกมส์ 2012 'ลอนดอนเกมส์' มหกรรมกีฬาในฝันของนักกีฬาทุกคนบนโลก ซึ่งเธอทำได้ครั้งแรกด้วยวัยเพียง 17 ปีเท่านั้น

 

“ความรู้สึกตอนที่ไปแข่งขันกีฬาโอลิมปิก ตอนนั้นหนูอายุ 17 ปี ความรู้สึกมันเป็นอะไรที่ตื่นเต้นมากๆ ด้วยความที่หนูไม่เคยเจอผู้คนในสนามเยอะแยะแบบนี้มาก่อน และด้วยความที่ยังเป็นเด็ก ก็เลยงงๆ อยู่บ้าง แต่ก่อนหน้าที่จะเข้ามาเล่นรอบสุดท้ายที่ลอนดอน มันเป็นปีที่เหนื่อยมากๆ กับการลงแข่งเพื่อเก็บคะแนน ในปีนั้นเมย์ต้องลงทำการแข่งขันมากกว่า 20 รายการ เพื่อทำคะแนนให้ได้ไปแข่งโอลิมปิก แต่พอได้ไปก็ไม่ได้คาดหวังว่าจะได้เหรียญรางวัลเพราะรู้ตัวว่าตัวเองยังใหม่มากๆ กับรายการนี้ แต่เมย์ก็พยายามเล่นให้เป็นตัวของตัวเองมากที่สุดเพราะต้องการลบคำสบประมาทจากใครบางคนด้วย”

 

แม้จะยุติเส้นทางไว้ที่รอบ 8 คนสุดท้าย แต่ก็ไม่ใช่เรื่องน่าแปลกเพราะในปีนั้น มีนักกีฬาแบดมินตันที่เก่งและพร้อมกว่าเธออยู่มาก แม้กระทั่ง ไท่ จื่อ อิง เพื่อนร่วมรุ่น ที่ทุกวันนี้มีอันดับโลกสูงกว่ายังตกรอบก่อนเธอด้วยซ้ำ

 

 

ประสบการณ์สร้างความสำเร็จ

 

การได้ลงแข่งโอลิมปิกเกมส์ 2012 ทำให้เธอเติบโตขึ้นไม่น้อย เพราะได้ประสบการณ์จากเวทีใหญ่ที่สุดในชีวิต และปีถัดมาเธอก็ได้ก้าวขึ้นสู่จุดสูงสุดด้วยการคว้าแชมป์โลก 2013 หลังจากปราบ ลี เสี่ยว เร่ย แชมป์โอลิมปิก 2012 ที่กำลังท็อปฟอร์ม แบบเหนือความคาดหมาย พร้อมจารึกสถิติเป็นนักกีฬาอายุน้อยสุดในประวัติศาสตร์ที่คว้าแชมป์โลกได้ด้วยวัยเพียง 18 ปี 6 เดือน 6 วัน 

 

"แชมป์โลกปี 2013 คือแชมป์ที่เมย์ภูมิใจที่สุดในชีวิต ตอนนั้นไม่คิดเลยว่าจะได้ เพราะเราไม่เคยเข้าชิงเลยไม่กดดันบวกกับคนที่เราเจอเขาค่อนข้างเครียดเพราะเล่นในบ้านตัวเอง" น้องเมย์ ย้อนความจำไปเมื่อ 11 ปีที่แล้ว 

 

หลังขึ้นถึงยอดเขา รัชนก ยังคงประสบความสำเร็จต่อเนื่อง ปี 2015 ย้ำแค้น ลี เสี่ยว เร่ย คว้าเหรียญทองในศึกชิงแชมป์เอเชียสมัยแรก และหากนับตั้งแต่จุดเริ่มต้นจนถึงตอนนี้เธอคว้าแชมป์ไปแล้ว 26 รายการ และเคยขึ้นมือ 1 ของโลกในปี 2016

 

 

ปีที่ยากลำบากจนเกือบถอดใจ

 

สำหรับนักกีฬาทุกคนย่อมมีขวบปีที่ยากลำบาก ซึ่งกับ รัชนก อินทนนท์ แล้ว ช่วงเวลาในอาชีพที่ผ่านมายาวนาน ย่อมทำให้เจอประสบการณ์แบบนี้มาแล้วหลายครั้ง แต่ด้วยความเป็นนักสู้บวกกับความห่วงใยของคนในครอบครัวทำให้เธอผ่านมันมาได้ แต่มาถึงในปี 2024 ด้วยอายุที่เพิ่มมากขึ้น และร่างกายที่กรำศึกหนักมานาน น้องเมย์ต้องเจอกับช่วงฟอร์มแย่แบบติด ๆ กันจนเริ่มท้อถึงขั้นโพสต์ระบายความรู้สึกในโซเชียลเน็ตเวิร์ก พูดถึงโอลิมปิกว่า ปารีส 2024 อาจเป็นครั้งสุดท้ายของตัวเอง แต่สุดท้ายเธอก็หาวิธีกลับขึ้นมายืนหยัดได้อีกครั้ง

 

"เรื่องโอลิมปิกตอนนั้นเราคิดแบบนั้น แต่ตอนนี้เปลี่ยนความคิดแล้ว ตอนนั้นเราท้อ รู้สึกยอมแพ้ ที่บอกว่าอาจจะเป็นครั้งสุดท้ายเพราะไม่รู้ว่าอีก 4 ปี เราจะอยู่ในฟอร์มที่ดีได้มั้ย ดังนั้นเลยตอบได้แค่ว่า ตอนนี้จะทำตรงนี้ในปีนี้ให้ดีก่อน แต่ถ้าประสบความสำเร็จก็อาจจะหายไปพักผ่อนสักระยะ"

 

"ก่อนหน้านี้เราไม่เคยแพ้สามรายการติด ซึ่งมันเป็นรอบแรก เลยรู้สึกว่าตัวเองดีไม่พอ แต่ก็ปลุกใจตัวเองขึ้นมาได้ เพราะหลังจากรายการนั้นเราก็ไปเปิดหูเปิดตา ไปดูธรรมชาติของสวิตเซอร์แลนด์ ได้ผ่อนคลาย ทำให้เหมือนได้รีบูต ทำให้เรายังรู้สึกมั่นใจในตัวเอง รู้สึกว่าสามารถกลับมาได้ แล้วก็ทำผลงานได้ดีในอาทิตย์ถัดไป"

 

 

โอลิมปิก เป้าหมายสุดท้ายที่ต้องใส่ให้สุด

 

เป้าหมายสูงสุดที่เธอยังไปไม่ถึงสักทีนั่นคือการคว้าเหรียญโอลิมปิก หลังจากผ่านไปเล่นมาแล้ว 3 สมัย และผลงานดีที่สุดคือเข้าถึงรอบก่อนรองชนะเลิศในลอนดอน 2012 และ โตเกียว 2020 อย่างไรก็ตาม เธอยังไม่ยอมแพ้ พร้อมด้วยทัศนคติที่โตขึ้นตามวัย และเป้าหมายสำหรับ ปารีส 2024 คือมันควรถึงเวลาของเธอเสียที

 

“จากครั้งแรกที่ลงเล่นในโอลิมปิก 2012 ตอนนั้นไม่ได้กดดันอะไรมากถือว่าเล่นด้วยความสนุก ส่วนครั้งที่สองในปี 2016 เป็นโอลิมปิกที่เราคาดหวังมากขึ้น จนกลายเป็นแรงกดดันตัวเองมากเกินไปจนเล่นไม่ออก และครั้งที่สามในปี 2020 แม้จะไม่ได้เหรียญ แต่ก็พอใจกับผลงานตัวเองที่สู้ได้ดีขึ้น รับแรงกดดันได้มากขึ้น ส่วนครั้งนี้จะเป็นครั้งที่ 4 ของเมย์ มันทำให้หนูเกิดความคาดหวังว่าจะคว้าเหรียญใดเหรียญหนึ่งให้กับตัวเอง หนูต้องพร้อมให้มากที่สุดในโอลิมปิกครั้งนี้”

 

จากช่วงชีวิตที่ผ่านมา "เมย์" รัชนก อินทนนท์ เป็นตัวอย่างที่ดีของความอดทนที่ช่วยให้ไปถึงฝั่งฝัน เธอไม่เคยหลงตัวเองว่าประสบความสำเร็จหรือขึ้นไปถึงจุดสูงสุดของโลกมาแล้ว แต่ความตั้งใจคือทำทุกวันให้ดีที่สุด ซึ่งเราก็หวังว่าวันที่ดีที่สุดของเธอจะมาถึงในอีกไม่ช้า

 

"ชีวิตของเมย์ยังไม่ได้โรยด้วยกลีบกุหลาบ เพราะเจอคู่ต่อสู้เยอะ บางทีไม่ใช่แค่คู่แข่งแต่เป็นตัวเราเองด้วยที่ไม่สามารถทำผลงานออกมาได้ดี จนรู้สึกอยากเลิกเล่น ซึ่งต้องขอบคุณตัวเองตั้งแต่เด็กที่ผ่านมา ที่อดทนมาถึงขนาดนี้ ส่งผลให้เมย์ตอนนี้ยังสู้ต่อไป และต้องขอบคุณสปอนเซอร์ที่ผลักดัน แฟนกีฬาที่ยังเชื่อมั่น เชื่อในวันที่เราล้ม คอยยินดี และแสดงความดีใจกับเราในวันที่ประสบความสำเร็จ"


stadium

author

StadiumTh Team Content

StadiumTH Content Creator

stadium olympic