stadium

อธิษฐ์ มิเคล โรมานิค : แรงลมแห่งความมุ่งมั่นพัดเรือใบสู่โอลิมปิก

11 กรกฎาคม 2567

ถ้าจะเรียกให้มันดูโรแมนติกหน่อย เราก็คงต้องบอกว่ามันคือพรหมลิขิต ที่ทำให้มิกกี้ได้รู้จักกับกีฬาเรือใบ เพราะนอกจากเขาจะใช้เวลาว่างไปกับการเล่นกีฬากับผองเพื่อนแล้ว มิกกี้มักจะถูกหนีบไปเที่ยวทะเลพัทยาพร้อมครอบครัวอยู่เป็นประจำ ซึ่งนั่นคือกลายเป็นจุดเริ่มต้นของการเดินทางอันแสนมหัศจรรย์

 

 

กรุงเทพ - พัทยา

 

อธิษฐ์ มิเคล โรมานิค หรือ มิกกี้ เป็นลูกครึ่ง-ไทยออสเตรเลีย ที่พูดไทยได้อย่างชัดถ้อยชัดคำ เพราะเกิดและเติบโตท่ามกลางชีวิตดี ๆ ที่ลงตัวในกรุงเทพมาโดยตลอด ทำให้การสื่อสารระหว่างมิกกี้และเราค่อนข้างเรียบง่ายเกินกว่าที่คาดไว้ตั้งแต่แรก
 

มิกกี้ ย้อนชีวิตในวัยเยาว์ให้เราฟังว่า ตัวเขาเป็นเด็กที่ชื่นชอบการเล่นกีฬาเป็นอย่างมาก ว่ายน้ำกับฟุตบอลคือสองกีฬาสุดโปรด

 

“ผมเริ่มเล่นกีฬาตอน 6-7 ขวบ เพราะคุณแม่คิดว่ากีฬาเป็นสิ่งที่ดีทำให้ลูกโตขึ้นมาอย่างมีคุณภาพ คุณแม่เป็นนักวิ่งชอบวิ่ง ส่วนคุณพ่อชอบเดินชมบรรยากาศ ไม่ค่อยชอบเล่นกีฬา แต่ตอนนั้นเป็นกิจกรรมสำหรับออกกำลังกายเฉย ๆ เล่นกับเพื่อนสนุกมาก”

 

อย่างไรก็ตาม ถ้าจะเรียกให้มันดูโรแมนติกหน่อย เราก็คงต้องบอกว่ามันคือพรหมลิขิตที่ทำให้มิกกี้ได้รู้จักกับกีฬาเรือใบ เพราะนอกจากเขาจะใช้เวลาว่างไปกับการเล่นกีฬากับผองเพื่อนแล้ว มิกกี้มักจะถูกหนีบไปเที่ยวทะเลพัทยาพร้อมครอบครัวอยู่เป็นประจำ ซึ่งนั่นคือกลายเป็นจุดเริ่มต้นของการเดินทางอันแสนมหัศจรรย์

 

“เด็ก ๆ บ้านผมเที่ยวพัทยาเยอะมาก เพราะพ่อกับแม่ชอบมาชมวิวทะเล ช่วงนั้นยังไม่ได้เล่นเรือใบนะครับ แต่ทุกครั้งที่ไปพัทยาผมก็จะเห็นแล้วว่ามันมีคนเล่นกีฬาชนิดนี้อยู่ในทะเล”

 

“แต่พออายุได้ 9 ขวบ คุณพ่อผมมีความคิดว่าคงเป็นไอเดียที่ดีมาก ๆ ถ้าหากส่งลูก ๆ ไปเรียนกีฬาเรือใบ เพราะเขาคิดว่ากีฬาจะทำให้ผมและน้องมีความรับผิดชอบ รวมถึงมีพัฒนาการในด้านต่าง ๆ ที่ดีขึ้นอีกด้วย เข้าไปใหม่ ๆ ก็ต้องเริ่มต้นจากพื้นฐาน มีโค้ชสอนวิธีการเล่น วิธีการอ่านลม แรก ๆ ก็ไม่ชอบครับเพราะมันยาก”

 

“ยอมรับเลยว่าช่วงแรกผมไม่ค่อยชอบเรือใบสักเท่าไหร่ ชอบไปเล่นน้ำ​ ไปวิ่งเล่นกับเพื่อน ๆ มากกว่า เวลาไปซ้อมก็อยากรีบ ๆ ซ้อมให้เสร็จแล้วขึ้นมาเล่นกับเพื่อน กินข้าว เล่นเกมส์ วิ่งไล่กันเล่นได้ทั้งคืนยังได้ เวลาไปแข่งก็ไม่ได้คิดอะไรมากเลย ไม่มีความคิดที่จะจริงจังเลยแม้แต่น้อย”

 

 

แรงบันดาลใจสู่ความฝัน

 

แต่จุดพลิกผันครั้งใหญ่ซึ่งเปลี่ยนแปลงเส้นทางการเติบโตของมิกกี้ไปโดยสิ้นเชิง เมื่อมิกกี้ตัดสินใจย้ายสถานที่ฝึกซ้อมจากสมาคมสโมสรเรือใบราชวรุณ ในพระบรมราชูปถัมภ์มาซ้อมที่สัตหีบแทน

 

“ตอนอายุ 14 ผมเปลี่ยนมาเล่นเรือประเภทเลเซอร์ หรือในปัจจุบันเรียก ILCA  ช่วงนั้นเรือใบไทยเรามีนักกีฬาโอลิมปิกหลายคน ซึ่งไอดอลผมคือ พี่ท็อป กีรติ บัวลง กับ พี่แบม กมลวรรณ​ จันทร์ยิ้ม ผมมองว่าพี่ ๆ ทั้งสองเขาเป็นฮีโร่เป็นไอดอลมานับตั้งแต่นั้น”

 

“ซึ่งเป็นช่วงเวลาเดียวกันกับตอนที่ผมเริ่มมองหาความก้าวหน้าในการเล่นกีฬา อยากเก่งมากขึ้น และ อยากติดทีมชาติไทย”

 

“จึงทำให้ผมย้ายไปซ้อมที่สัตหีบ”

 

“ตอนแรกเรามาในฐานะครอบครัวที่อยากเข้าร่วมการซ้อมที่สัตหีบ ก็เลยมาสมัครเป็นเมมเบอร์ของสมาคมกีฬาเรือใบแห่งประเทศไทย ตอนแรกผมได้เรือห่วยมากเลย แต่เราก็ยังมาซ้อมทุกอาทิตย์ ตั้งใจตลอดถึงแม้ว่าจะได้อุปกรณ์ไม่ดี”

 

“ที่นี่ผมได้เห็นพี่ท็อป (กีรติ บัวลง) พี่แบม (กมลวรรณ​ จันทร์ยิ้ม) สองไอดอลฝึกซ้อมทุกวันอย่างใกล้ชิด พี่ ๆ เขาขยันซ้อมมาก เก่งมาก ยิ่งใกล้ชิดยิ่งทำให้ผมก็อยากเป็นนักกีฬาทีมชาติ และวันนั้นเองที่ผมมีความฝันอยากไปโอลิมปิก”

 

 

เรียนรู้จากความผิดหวัง

 

ในช่วงแรกที่มิกกี้ก้าวขึ้นมาเป็นตัวแทนทีมชาติไทยถือว่าอับโชคพอสมควร เพราะทั้งซีเกมส์และเอเชียนเกมส์ที่อินโดนีเซียในเวลานั้น ไม่บรรจุอีเวนต์ที่มิกกี้ลง ทำให้เขาต้องอดทนเฝ้ารอโอกาสจนถึงการควอลิฟาย โอลิมปิกเกมส์ 2020 ซึ่งในช่วงเวลานั้นเองโลกก็ได้รับผลกระทบจากไวรัสโควิด-19 ระบาด การจะออกเดินทางไปแข่งขันในต่างประเทศ ถือเป็นเรื่องที่ทำได้ค่อนข้างยาก โอกาสแรกและโอกาสเดียวของมิกกี้ ณ วันนั้นก็คือโอลิมปิกเกมส์ 2020 รอบคัดเลือก โซนเอเชีย ที่ประเทศโอมาน

 

“โอลิมปิก 2020 ผมยังเป็นเพียงดาวรุ่ง แต่มุ่งมั่นฝึกซ้อมอย่างหนักเพื่อที่จะลองควอลิฟายให้ได้เป็นครั้งแรก ตอนนั้นมีผม พี่ท็อป ​และชูศิษฐ์ ปัญจมาลา ซ้อมร่วมกัน 3 คน เราเพื่อเป็นตัวแทนไปควอลิฟายในอีเวนต์เดียวกัน ช่วงนั้นโควิด-19 ระบาดหนัก ทำให้พวกเราพลาดการควอลิฟายไปหลายรายการ ทั้งชิงแชมป์โลกและชิงแชมป์เอเชีย จนกระทั่งรายการสุดท้ายของทวีปเอเชียที่เขาเปิดให้ควอลิฟายที่โอมาน”

 

“รายการนี้มีตั๋วให้ 2 ใบให้อันดับ 1-2 ซึ่งแมตช์นั้นขับเคี่ยวกันสนุกมาก มีทั้ง จีน อินเดีย ฮ่องกง สิงคโปร์ กลุ่มบรรดาตัวเต็ง​ที่ยังไม่ได้ควอลิฟาย โดยวันสุดท้ายของการแข่งขัน สิงคโปร์เขาได้ที่ 1 คว้าตั๋วไปแล้ว ทำให้เราต้องแย่งตั๋วอีกใบกับ จีน อินเดีย ฮ่องกง ซึ่งก่อนเริ่มวันสุดท้ายของเรา พี่ท็อป มีแต้มเท่ากับ 3 ประเทศนั้น ส่วนผมอยู่ที่ 6 เครียดมากเลยครับ เพราะถึงแม้โอกาสเราจะน้อยแต่ก็ต้องพยายามช่วยเพื่อให้นักกีฬาไทยได้โควตา แต่สุดท้ายอินเดียมาได้ลมชิพสุดท้ายทำให้เราแพ้ไปคะแนนเดียว”

 

“ตอนนั้นรู้สึกเศร้ามากที่เราไปไม่ถึงเป้าหมาย ตอนบินกลับไทยระหว่างที่กักตัวสองสัปดาห์​ ผมเอาแต่ก็คิดย้อนกลับไปถึงช่วงแข่งตลอด มันเศร้ามากที่ทำไม่สำเร็จ ผมนั่งเขียนข้อผิดพลาดต่าง ๆ ลงบนกระดาษว่ามีอะไรบ้างที่เราต้องปรับต้องแก้ ตอนนั้นอายุ 18-19 ปี ผมก็อาจจะยังไม่ใช่มือ 1 แต่ผมก็เขียนในสิ่งที่ต้องทำในอนาคตความยาว 3-4 หน้ากระดาษ พอพ้นกักตัวประมาณเดือนนึง ตัดสินใจเข้าไปคุยกับแม่ บอกแม่ว่าผมมีความฝัน ผมอยากไปโอลิมปิก 2024 อยากไปเก็บตัวซ้อมที่ต่างประเทศ เพื่อทำความฝันให้สำเร็จ”

 

  

สองมือสู้เพื่อเป้าหมาย

 

คุณแม่ของมิกกี้ตอบรับคำขอของเขาอย่างไม่ลังเล ผลักดัน ส่งเสริมและสนับสนุนทุกอย่างเต็มที่ ควักทุนตัวเองส่งมิกกี้ไปเก็บตัวฝึกฝนในทวีปยุโรป โดยมีสเปนเป็นจุดหมายปลายทาง เหตุเพราะสภาพแวดล้อมต่าง ๆ นั้นยอดเยี่ยมและเป็นศูนย์รวมของนักกีฬาระดับโลกในประเภท ILCA

 

ตลอดระยะเวลา 3 ปีที่มิกกี้ได้ซ้อมและแข่งขันในทวีปยุโรป ทำให้เขาคุ้นเคยและแข็งแกร่งขึ้นเมื่อเจอคลื่นลมอันรุนแรง ความเข้มข้นของการแข่งขันก็สูงมาก ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญที่ทำให้มิกกี้เติบโตและพัฒนาฝีมือจนสามารถคว้าตั๋วโอลิมปิกเกมส์ 2024 ได้สำเร็จ 

 

“การได้ซ้อมที่ต่างประเทศทำให้ผมได้พบบรรยากาศใหม่ ๆ ได้เจอคลื่นลมและกระแสน้ำหลากหลายรูปแบบ ไปที่ไหนก็มีคู่ซ้อม การได้ซ้อมที่นั่นจึงสำคัญ แล้วที่สเปนมีเรือใบ ILCA มากที่สุด บรรดานักกีฬาระดับท็อป 10 ของโลกต่างก็ไปซ้อมกันที่นั่น”

 

หลังจากนั้น มิกกี้ยังมีโอกาสได้ไปเก็บเกี่ยวประสบการณ์ในใหญ่อย่างศึกชิงแชมป์โลก รุ่นอายุไม่เกิน 21 ปี  และทำผลงานได้ดีมากคว้าอันดับ 10 ของการแข่งขัน ซึ่งมันสะท้อนผลลัพธ์จากสิ่งที่เขาทำได้เป็นอย่างดี หลังจากนั้นมิกกี้ก็ยังได้ไปซ้อมในที่ต่าง ๆ ทั่วแผ่นดินยุโรป

 

“ต่อมาผมได้ลงแข่งชิงแชมป์โลกที่เนเธอร์แลนด์​ ผมจบอันดับที่ 40 ซึ่งถือว่าประสบความสำเร็จแล้ว เพราะมันเป็นผลงานที่ดีที่สุดของนักกีฬาไทยที่เคยลงแข่งในรายการนี้เลย มันยิ่งช่วยเพิ่มความมั่นใจและทำให้ผมเชื่อว่าจะคว้าตั๋วโอลิมปิกครั้งนี้ได้แน่นอน” 

 

มิกกี้ คว้าตั๋วปารีส 2024 ได้จากการคว้าอันดับ 2 ในเอเชียนเกมส์ 2022 ที่ประเทศจีน โดยมีคะแนนตามหลังแชมป์เพียงแค่ 3 คะแนนถือว่าไม่ห่าง หลังจบแมตช์นั้นทีมงานทุกคนต่างพากันเข้ามาแสดงความยินดีกับมิกกี้ที่ทำได้สำเร็จ 

 

“มันเหมือนความฝันมากเลยครับ ถึงวันนี้ก็ยังไม่รู้ว่าผมฝันไปรึเปล่า มันมีความสุขมาก ๆ สุขแบบบอกไม่ถูก ไม่เคยรู้สึกถึงความสำเร็จเท่านี้มาก่อน ฝึกซ้อมมาตลอด 3 ปี โอ้โห (ลากเสียงยาววว) วันนี้ทำได้แล้วครับ ตอนกลับเข้าฝั่งคุณแม่วิ่งเข้ามากอด กระซิบบอกลูกทำได้แล้ว ผมนี่ร้องไห้ซาบซึ้งมากครับ จริง ๆ ก็ร้องไห้ตั้งแต่อยู่บนเรือตั้งแต่เข้าเส้นชัยแล้ว”

 

ในระหว่างนี้ก่อนที่โอลิมปิก 2024 จะเปิดฉากขึ้น มิกกี้ ใช้เวลาฝึกซ้อมอย่างหนัก 5 วันต่อสัปดาห์ เน้นไปที่การเสริมสร้างความแข็งแรง โดยเฉพาะ ฟิตเนส คาดิโอ ปั่นจักรยาน ตั้งแต่ 9.00 น. - 17.00 น. 

 

ทั้งหมดที่ทำมานั้น มิกกี้ ทิ้งท้ายไว้ว่า “โอลิมปิกของผมมันคือเป้าหมาย คือความฝัน เป็นรายการที่หลายคนไม่ได้มีโอกาสได้ทำ วันนี้ผมได้โอกาสแล้วต้องทำให้ดี ผมไม่ได้ไปปารีส 2024 เพื่อไปหาประสบการณ์ แต่ผมไปเพื่อทำผลงานให้ดีที่สุด”

 

สำหรับใครที่อยากติดตามเชียร์ “มิกกี้” อธิษฐ์ มิเคล โรมานิค จะลงแข่งขันกีฬาเรือใบ ประเภท ILCA 7 ระหว่างวันที่ 1-6 สิงหาคมนี้


stadium

author

ปวีน เทพพวงทอง

StadiumTH Content Creator / เชียร์หงส์แดง รักการเดินป่า เสพติดหมูกระทะ

Hatari
stadium olympic