11 กรกฎาคม 2567
คลื่นลมแรงในทะเลมักเป็นอุปสรรคสำหรับนักเดินเรือ ความอันตรายที่ยากยั่งถึงเป็นตัวฉุดรั้งให้เหล่านักเดินเรือบางคนต่างไปไม่ถึงฝั่งฝัน แต่ไม่ใช่กับ 'โซเฟีย เกล มอนโกเมอรี่' สาวน้อยลูกครึ่งไทย-อเมริกา นักกีฬาเรือใบทีมชาติไทยประเภท ILCA6 ด้วยความกล้าเธอท้าทายพลังบ้าคลั่งของกระแสคลื่นลมแรงด้วยเรือใบคู่ใจแล่นไปไกลถึงกรุงปารีส
ภายหลังจากที่ 'โซเฟีย' สามารถคว้าสิทธิ์ในการเข้าร่วมแข่งขันมหกรรมกีฬาโอลิมปิกได้สำเร็จ ทำให้การแล่นใบไปปารีสสำหรับเธอแล้วนั้นช่างมีความหมายเพราะนี่คือครั้งแรกที่เธอจะได้สัมผัสประสบการณ์การแข่งขันที่ยิ่งใหญ่ตามความฝันใฝ่มาตลอดช่วงชีวิต
จากเทควันโดสายดำสู่ท้องทะเล
โซเฟีย เกล มอนโกเมอรี่ สาวน้อยวัยน่ารักสดใสแม้ว่าเธอจะเป็นลูกครึ่งไทย-อเมริกา แต่ทว่าสามารถพูดไทยได้ชัดแจ๋วด้วยความที่เธอนั้นเติบโตและใช้ชีวิตอยู่ที่แผ่นดินไทยตั้งแต่แบเบาะ จดและจำวัฒนธรรมภาษาใช้สนทนาได้คล่องลิ้น
โซเฟีย เล่าว่า ช่วงวัยเด็กเธอชื่นชอบน้ำทะเลและคลื่นลม ด้วยเพราะครอบครัวพามาเล่นเรือที่พัทยาทุกสัปดาห์ ทำให้สิ่งที่เห็นติดตามาตั้งแต่เล็กคือทะเลสีครามและสายลม อีกทั้งคุณพ่อของเธอยังชื่นชอบการแล่นเรือใบมากเป็นพิเศษ นั่นจึงเปรียบเสมือนการส่งต่อผ่าน 'ดีเอ็นเอ' สู่รุ่นลูกไปโดยปริยาย
“ก่อนหน้าที่หนูจะรู้จักกับเรือใบ หนูเคยเล่นเทควันโดมาก่อนแต่รู้สึกว่ามันไม่ชอบ เพราะหนูรู้สึกว่าถ้าทำอะไรไม่เก่งหนูจะไม่ชอบ แต่เหมือนว่ามีเพื่อนเล่นแล้วบวกกับโดนบังคับก็เลยต้องเล่น พอเล่นไปได้ระยะนึงก็เริ่มชอบและเล่นมาจนถึงมัธยมจนสอบได้สายดำแต่มันก็เป็นแค่การเล่นเพื่อป้องกันตัวมากกว่าไม่ได้จริงจังอะไร”
โซเฟีย เล่าต่อว่า ด้วยความที่เธอชื่นชอบทะเลและคลื่นลม ต่อให้มีสายดำคาดเอวจากกีฬาเทควันโดก็ไม่อาจกระชากความเป็นตัวตนไปได้ เพราะในช่วงอายุ 8 ปีเธอได้สัมผัสกับเรือใบเป็นครั้งแรกแต่กลับรู้สึกผูกพันทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างเธอ เรือและทะเลกลายเป็นหนึ่งเดียวกัน
“กระแสลมและคลื่นทะเล เราต้องทำความเข้าใจกับสิ่งเหล่านี้ นี่คือสิ่งที่ทำให้หนูต้องเรียนรู้และรู้จักให้มากขึ้น ถามว่าถ้าเปรียบเทียบว่าหนูเป็นเหมือนอะไรในทะเลก็คงจะเป็นคลื่นเพราะว่าหนูชอบมันที่สุด เหตุผลเพราะว่ามันทำให้เรือของเราแล่นไปได้เร็วที่สุด เสมือนเป็นแรงผลักดันเราอยู่ตลอดเวลา”
จากคู่ซ้อมสู่ตัวจริงทีมชาติ
โซเฟียใช้เวลาฝึกฝนและเรียนรู้วิธีการควบคุมเรือใบไปพร้อมกับทำความเข้าใจคลื่นลมในทะเลมาเป็นแรมปี ผ่านการควบคุมและกำหนดแบบแผนการซ้อมโดยคุณพ่อพร้อมกับได้รับการอนุเคราะห์จากสโมสรเรือใบราชวรุณในการฝึกปรือฝีมือการบังคับเรือที่ถูกต้อง กระทั่งอายุ 13 ปีเธอก็ก้าวขึ้นมาติดทีมชาติไทยได้สำเร็จ นับเป็นก้าวแรกและก้าวย่างสำคัญอย่างยิ่งสำหรับโซเฟีย
“หนูเริ่มหันมาจริงจังกับเรือใบในช่วงที่เป็นคู่ซ้อมให้กับพี่แบม (กมลวรรณ จันทร์ยิ้ม อดีตนักกีฬาเรือใบ) ตอนที่พี่แบมได้ไปโอลิมปิก 2016 กับ 2020 และมีโอกาสได้ไปเก็บตัวฝึกซ้อมที่ต่างประเทศ มันจึงเริ่มซึมซับและได้เห็นลู่ทางแล้วว่าเราทำได้นะ จึงหันมาเอาดีทางกีฬาชนิดนี้จนมีโอกาสได้รับเลือกเป็นตัวแทนทีมชาติไทยและลงทำการแข่งขันในรายการต่าง ๆ มาเรื่อย ๆ ถามว่าในตอนนั้นหนูรู้สึกยังไงก็บอกได้แค่ว่าหนูเต็มที่กับมันมาก ๆ”
จากผลงานที่เข้าตาทำให้ทางสมาคมกีฬาแข่งเรือใบแห่งประเทศไทยฯ เล็งเห็นความสามารถของโซเฟีย และเพื่อเป็นการต่อยอดพร้อมกับพัฒนานักกีฬาทำให้โซเฟียถูกผลักดันให้เข้าร่วมแข่งขันในรายการต่างประเทศมากขึ้น และนั่นจึงเสมือนห้องเรียนขนาดมหึมาที่พร้อมให้เธอได้เรียนรู้
“การไปแข่งที่ต่างประเทศมันทำให้หนูรู้เลยว่าคู่แข่งมีความแข็งแกร่งขนาดไหน โดยเฉพาะชาติยุโรปอย่างเดนมาร์กหรือเนเธอร์แลนด์พวกนี้เขาแข็งแรงมากเมื่อเทียบกับนักกีฬาชาวไทยเพราะเมื่อไหร่ที่เราพลาดเพียงนิดเดียวเท่ากับว่าเขาจะทิ้งเราไปไกลมาก ๆ ไม่เหมือนกับบ้านเราที่อาจจะพลิกกลับมาได้แต่พวกนั้นเป็นไปได้ยากมาก”
โซเฟียเพิ่มเติมว่า นอกจากประจันหน้ากับคู่แข่งที่แข็งแกร่งขึ้นแล้วยังมีเรื่องของกระแสลมที่พัดโหมและคลื่นทะเลที่ซัดกระหน่ำ มันคือความท้าทายที่แปลกแตกต่างไปจากท้องทะเลไทยที่มักจะนิ่งสงบ เธอยอมรับว่าทะเลในต่างประเทศนั้นมันทำให้ไม่สามารถควบคุมเรือใบให้เป็นดั่งใจถึงขนาดที่ในบางรายการเรือคู่ใจของเธอต้องล่มตั้งแต่ยังไม่เริ่มแข่งขัน
แต่เธอยอมรับว่านั่นคือประสบการณ์ที่แสนวิเศษและล้ำค่าเพื่อนำไปพัฒนาต่อยอดทักษะการคุมเรือให้ดียิ่งขึ้น
จากชายฝั่งไทยสู่ทะเลไกลที่ปารีส
อย่างที่ได้กล่าวไว้ข้างต้น โซเฟีย สามารถคว้าตั๋วโอลิมปิกมาให้กับทัพนักกีฬาไทยอีกหนึ่งใบในการมุ่งไปสู่มหานครปารีส เป็นความสำเร็จจากการแข่งขันเรือใบ รายการ Asian Sailing Championships & Asian Continental Olympic Qualifier for Paris 2024 ที่จัดขึ้นเมื่อปลายปี 2023 ที่พัทยาประเทศไทย ซึ่งเธอทำสกอร์รวมจบอันดับที่ 4 ในตารางคะแนนรวม
แต่เหนือสิ่งอื่นใดความฝันของเธอเป็นจริงขึ้นมาแล้วในครั้งนี้ 'โอลิมปิก' คือจุดสูงสุดของนักกีฬาเช่นกันกับโซเฟียและสำคัญไปกว่านั้นนี่คือมหกรรมกีฬาของมวลมนุษยชาติที่เธอจะมีโอกาสได้สัมผัสเป็นครั้งแรกของชีวิต
“หนูไม่รู้จะพูดยังไง มันทั้งดีใจและตื่นเต้น เพราะก่อนแข่งรอบควอลิฟายหนูตั้งเป้าว่าต้องคว้าตั๋วโอลิมปิกมาให้ได้ ซึ่งยอมรับว่ากดดันพอสมควรเพราะในช่วงของการคัดเลือก แต้มหนูห่างจากอันดับที่หนึ่งถึง 12 แต้ม แต่ท้ายที่สุดก็สามารถคว้าตั๋วโอลิมปิกมาได้ มันรู้สึกมีความสุขมาก ๆ มันเป็นความฝันของหนู จำได้ว่าวันนั้นหนูโผกอดทุกคนและร้องไห้แต่มันเป็นความรู้สึกที่พิเศษมาก”
ไม่ใช่เรื่องแปลกที่โซเฟียจะตั้งความหวังว่าจะต้องพาเรือคู่ใจไปโอลิมปิกครั้งนี้ให้ได้ เธอบอกว่ามันไม่ใช่เรื่องง่ายเลยที่จะก้าวมาถึงจุดนี้ ทางเลือกมีมากมายสำหรับเด็กสาววัยกระเตาะแต่เธอยอมสละทุกอย่างเพื่อให้ได้สิทธิ์โอลิมปิกนี้มาครอง แต่บทสรุปสุดท้ายก็สามารถทำได้ด้วยความตั้งใจจริง
“ช่วงแรกของการเก็บตัวฝึกซ้อมในช่วงนั้นหนูต้องทำการดรอปเรียนเอาไว้ก่อน (ปัจจุบันโซเฟียศึกษาอยู่ที่มหาวิทยาลัยฮาวาร์ด สาขาฟิสิกส์ ประเทศสหรัฐอเมริกา) มันเหมือนเป็นการตัดสินใจที่ต้องเสี่ยงเหมือนทุบหม้อข้าวตัวเอง อันที่จริงแล้วตัวหนูเองก็ไม่ได้อยากที่จะดรอปเรียนด้วยซ้ำแต่คุณพ่อเป็นคนที่บอกว่าถ้าอยากไปก็ต้องกล้าลงทุน เสียดายที่สุดคือการที่เราดรอปเรียนไปแล้วก็จะเสียกลุ่มเพื่อนที่เรารู้จักกันมาแต่ในเมื่อเราตัดสินใจไปแล้วหนูก็อยากจะทำให้ดีที่สุด”
สำหรับโอลิมปิกครั้งนี้ โซเฟียยอมรับว่าไม่ได้หวังถึงการคว้าเหรียญรางวัล เพียงแต่จะขอทำผลงานออกมาให้ดีที่สุด โดยเธอตั้งเป้าหมายไว้ว่าขอทำอันดับให้ติด 1 ใน 20 อันดับแรกให้ได้
“การที่หนูได้ไปโอลิมปิกครั้งนี้ต้องขอขอบคุณโค้ชและทีมงานสตาฟทุกคนที่คอยช่วยเหลือมาตลอด รวมถึงคุณพ่อและคุณแม่ถ้าไม่มีพวกเขาเหล่านี้หนูก็คงมาไม่ถึงจุดนี้ แต่ถ้าสมมติว่าได้เหรียญทองขึ้นมาจริง ๆ หนูก็ตอบไม่ถูกว่าจะทำตัวยังไง ก่อนอื่นก็อาจจะกลับบ้านมาหาพ่อและแม่แล้วบอกกับพวกเขาว่า ดูซิหนูทำได้แล้ว” โซเฟีย ทิ้งท้าย
TAG ที่เกี่ยวข้อง