stadium

5 เหตุการณ์สำคัญของกีฬาไทยในโอลิมปิก

7 กรกฎาคม 2567

ประเทศไทยส่งนักกีฬาเข้าร่วมการแข่งขันโอลิมปิกครั้งแรกในปี 1952 และมีส่วนร่วมกับการแข่งขันทุกครั้งนับตั้งแต่นั้น ยกเว้นแค่ในปี 1980 ที่มีการคว่ำบาตรสหภาพโซเวียตเจ้าภาพ จากกรณีรุกรานอัฟกานิสถาน

 

ถึงปัจจุบันนักกีฬาไทยคว้าไปแล้วทั้งหมด 35 เหรียญในโอลิมปิก โดยมาจาก 3 ชนิดกีฬาคือ มวยสากล 15 เหรียญ, ยกน้ำหนัก 14 เหรียญ และเทควันโด 6 เหรียญ ซึ่งเป็นเหรียญทอง 10 เหรียญมากที่สุดในบรรดาชาติภูมิภาคอาเซียน

 

แล้วนับตั้งแต่อดีตถึงปัจจุบันอะไรคือเหตุการณ์สำคัญของวงการกีฬาไทยในโอลิมปิก ติดตามได้ที่นี่

 

 

1952 เข้าร่วมการแข่งขันหนแรก

 

หลังจากที่คณะกรรมการโอลิมปิคแห่งประเทศไทยเริ่มก่อตั้งในปี 1948 และได้รับการรับรองในอีก 2 ปีต่อมา ทำให้ไทยสามารถส่งนักกีฬาเข้าร่วมการแข่งขันโอลิมปิกฤดูร้อนสมัยแรกได้ในปี 1952 ที่กรุงเฮลซิงกิ ประเทศฟินแลนด์

 

สำหรับโอลิมปิกครั้งนั้น ไทยส่งนักกีฬากรีฑาชายเข้าร่วมการแข่งขันทั้งหมด 8 คนพร้อมนักกีฬาสำรองอีก 3 คน ประกอบด้วย พงศ์อำมาตย์ อำมาตยกุล, กำธร สนิทวงศ์ ณ อยุธยา, สมภพ สวาทะนันท์, อรุณ แสนโกสิก, สอ้าน ชำนิการ, อดุลย์ วรรณสถิตย์, บุญภักดิ์ ขวัญเจริญ, ปัจจัย สมาหาร, บุญเติม พรรคพ่วง, พยนต์ มหาวัจน์ และสถิต เลี้ยงถนอม ซึ่งแม้ไม่ได้คว้าเหรียญรางวัล แต่ถือเป็นการเปิดหน้าประวัติศาสตร์ของวงการกีฬาไทยที่ได้เข้าร่วมมหกรรมกีฬาแห่งมวลมนุษยชาติ

 

 

1964 ส่งนักกีฬาหญิงหนแรก

 

ในโอลิมปิกเกมส์ปี 1964 ที่กรุงโตเกียวประเทศญี่ปุ่น นอกจากจะเป็นครั้งที่ประเทศไทยส่งนักกีฬาเข้าร่วมการแข่งขันมากที่สุดถึง 54 คน (เทียบเท่า ริโอ เกมส์ 2016) แล้ว ยังเป็นครั้งแรกที่ส่งนักกีฬาหญิงเข้าร่วมการแข่งขันอีกด้วย โดยจากนักกีฬาทั้งหมด 54 คน แบ่งเป็นนักกีฬาชาย 47 คน และนักกีฬาหญิง 7 คนประกอบด้วย บุษบง ยิ้มพลอย, กุศลวรรณ โสรัจจ์ (ไชยสาม), ปราณี กิตติพงษ์พิทยา, จินดา คล้ายใจ (จาฎามาระ), ปรียา เดชดำรง, ทิพาพรรณ ลีนะเสน และสำรวย จรางกูร ซึ่งเป็นนักกีฬากรีฑาทั้งหมด

 

 

1976 เหรียญแรกของไทยในโอลิมปิก

 

หลังจากส่งนักกีฬาเข้าร่วมการแข่งขันมาแล้ว 6 สมัย ในที่สุด พเยาว์ พูนธรัตน์ ก็สร้างประวัติศาสตร์เป็นนักกีฬาไทยคนแรกที่คว้าเหรียญโอลิมปิกได้สำเร็จ หลังจากได้เหรียญทองแดงในการแข่งขันมวยสากลสมัครเล่นรุ่นไลต์ฟลายเวต หรือน้ำหนักไม่เกิน 48 กก.ชาย ศึกโอลิมปิกเกมส์ปี 1976 ที่มอนทรีอัล ประเทศแคนาดา โดยครั้งนั้นไทยส่งนักกีฬาทั้งหมด 42 คน เป็นชาย 39 คน หญิง 3 คน ลงแข่ง 33 อีเวนต์จาก 11 ชนิดกีฬา

 

สำหรับ พเยาว์ พูนธรัตน์ คว้าเหรียญทองแดงไปครองหลังผ่านเข้าถึงรอบรองชนะเลิศ ก่อนแพ้ รี บยอง อุ๊ก จาก เกาหลีเหนือ ซึ่งเหรียญดังกล่าวทำให้ไทยเป็นชาติที่ 3 ของอาเซียนที่ได้เหรียญโอลิมปิกต่อจาก ฟิลิปปินส์ ที่ได้จากกีฬาว่ายน้ำในปี 1928 และสิงคโปร์ ที่ได้จากกีฬายกน้ำหนัก ในปี 1960

 

 

1996 เหรียญทองประวัติศาสตร์

 

นับจากวันที่ พเยาว์ พูนธรัตน์ คว้าเหรียญแรกให้กับไทยในปี 1976 ผ่านไป 20 ปี สมรักษ์ คำสิงห์ ก็ได้ชื่อว่าเป็นฮีโร่เหรียญทองโอลิมปิกคนแรกของประเทศ หลังจากเอาชนะ เซราฟิม โทโดรอฟ จาก บัลแกเรีย ในรอบชิงชนะเลิศมวยสากลสมัครเล่นรุ่นเฟเธอร์เวต์ 57 กก.ชาย ศึก แอตแลนตา เกมส์ ซึ่งในครั้งนั้น ฟลอยด์ เมย์เวทเธอร์ จูเนียร์ ยอดมวยระดับตำนานในปัจจุบัน ร่วมชกในรุ่นดังกล่าวด้วย แต่แพ้ โทโดรอฟ ในรอบรองชนะเลิศแบบค้านสายตา ได้แค่เหรียญทองแดงไปครอง

 

ขณะที่ สมรักษ์ คำสิงห์ เดินทางกลับประเทศไทยโดยได้รับการต้อนรับอย่างยิ่งใหญ่ ไม่มีใครในประเทศไม่รู้จักเขา และนับตั้งแต่วันนั้นถ้าพูดถึงนักกีฬาไทยในโอลิมปิก จะต้องมีชื่อของ สมรักษ์ คำสิงห์ อยู่ในความทรงจำของแฟนกีฬาไทยอยู่เสมอ

 

 

2004 ประสบความสำเร็จมากที่สุดพร้อมทองแรกของนักกีฬาหญิงไทย

 

หลังจากที่ สมรักษ์ คำสิงห์ คว้าเหรียญทองแรกในปี 1996 ตามด้วย วิจารณ์ พลฤทธิ์ ในปี 2000 ที่ซิดนีย์ พอปี 2004 ที่กรุงเอเธนส์ ถึงคราวนักกีฬาหญิงไทยสร้างประวัติศาสตร์บ้าง และเป็น "น้องอร สู้โว้ย" อุดมพร พลศักดิ์ ที่คว้าเหรียญทองจากกีฬายกน้ำหนักรุ่นไม่เกิน 53 กก.หญิง ซึ่งในครั้งนั้นไทยส่งนักกีฬาลงแข่งขันทั้งหมด 42 คนใน 13 ชนิดกีฬา

 

แม้จำนวนนักกีฬาจะน้อยกว่าที่ซิดนีย์ แต่ประสบความสำเร็จมากที่สุดจากการคว้าทั้งหมด 3 เหรียญทองจาก อุดมพร พลศักดิ์, ปวีณา ทองสุก (ยกน้ำหนัก) และ มนัส บุญจำนงค์ (มวยสากล) รวมทั้ง 1 เหรียญเงินจาก วรพจน์ เพชรขุ้ม (มวยสากล) และ 4 เหรียญทองแดงจาก อารีย์ วิรัฐถาวร, วันดี คำเอี่ยม (ยกน้ำหนัก) เยาวภา บุรพลชัย (เทควันโด) และ สุริยา ปราสาทหินพิมาย (มวยสากล) ซึ่งกีฬาเทควันโดไทยส่งแข่งเป็นครั้งแรก รวมทั้งหมดคือ 8 เหรียญมากที่สุดจนถึงปัจจุบัน

 

สำหรับ ปารีส 2024 ระหว่างวันที่ 26 กรกฎาคม - 11 สิงหาคม 2567 นี้ ไทยส่งนักกีฬาลงแข่งขันมากกว่า 50 คน ซึ่งน่าติดตามดูเหลือเกินว่าจะมีนักกีฬาคนไทยสร้างประวัติศาสตร์หน้าใหม่ให้กับวงการกีฬาไทยได้อีกหรือไม่ อย่าลืมตามลุ้นตามเชียร์ได้ที่ Stadium TH Home of the Olympics


stadium

author

ณัฐกร ทองนพเก้า

StadiumTH Content Creator

stadium olympic