stadium

"เฟรม" ธนาคาร ไชยยาสมบัติ กับความท้าทายที่ไม่มีวันสิ้นสุด

5 กรกฎาคม 2567

“ความท้าทาย” เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นได้ในทุกๆวัน เช่นเดียวกับ “เฟรม” ธนาคาร ไชยยาสมบัติ เด็กหนุ่มวัย 24 ปี ที่กว่าจะประสบความสําเร็จ ต้องเผชิญกับหลากหลายอุปสรรค ก่อนจะก้าวขึ้นสู่นักกีฬาจักรยานทีมชาติไทย

และในที่สุดความฝันก็เป็นจริง วันนี้เขาคือ “นักกีฬาโอลิมปิก” อย่างเต็มตัว
 


ความท้าทายในวัยเด็ก

ธนาคาร ไชยยาสมบัติ เริ่มต้นหัดปั่นจักรยาน โดยได้รับแรงบันดาลใจมาจากคุณพ่อที่เป็นนักปั่นจักรยานเสือภูเขา เฟรมเล่าให้ฟังว่าทุกๆเย็น จะเห็นคุณพ่อกลับมาที่บ้านพร้อมกับสภาพเปื้อนโคลนเละทั้งตัว หรือบางวันก็จะมีแผลถลอกตามร่างกาย ทำให้ตนเองเคยแอบตั้งคำถามในใจว่า ทำไมถึงได้แผลกลับบ้านแทบทุกวัน

แต่จุดนี้เอง “เฟรม” ได้สัมผัสถึงความสนุก ความตั้งใจการปั่นจักรยานของคุณพ่อ กลายเป็นจุดเริ่มต้นทำให้เด็กหนุ่มจากจังหวัดเชียงราย ขอไปปั่นกับคุณพ่อด้วย 

“ตอนเด็ก ผมเห็นคุณพ่อปั่นจักรยานเสือภูเขา ทุกๆเย็นแกจะกลับมาพร้อมสภาพเปื้อนโคลน หรือบางวันก็มีแผลถลอกเต็มตัว ผมเคยสงสัยเหมือนกันว่าเค้าไปทำอะไรมา”

“แต่สิ่งที่ผมสัมผัสได้ คือ พ่อยังสนุกกับการปั่นเสมอ มันเริ่มซึมซับไปทีละนิด จนสุดท้าย เฟรม ขอพ่อไปด้วย พอไปครั้งแรก ผมเข้าใจทันทีเลยว่า ทำไมพ่อถึงรักกีฬาจักรยาน” 
 
แม้ช่วงชีวิตวัยเด็ก เฟรม จะเป็นคนที่ตัวเล็กมาก จึงมีอุปสรรคอย่างยิ่งสำหรับหาไซส์จักรยาน แต่คุณพ่อไม่ย่อท้อในการเลือกสิ่งที่ดีที่สุด เพื่อสานฝันให้ลูกชายเป็นจริง

“เฟรม ตัวเล็กมาก ทำให้มีปัญหาการหาไซส์จักรยาน พ่อพยายามหาจักรยานที่เล็กที่สุด ขนาดปรับเบาะลงสุด ขาก็ยังแตะพื้นไม่ถึง ปั่นครั้งแรกก็รู้สึกดีนะครับ ได้ปลดปล่อยตัวเอง รู้สึกเป็นอิสระมาก” 
 


ความท้าทายสู่การเป็น “นักกีฬา” 


เมื่อ “เฟรม” เข้าสู่วงการจักรยาน คุณพ่อได้เข้มงวดการฝึกซ้อมอย่างจริงจัง โดยเฉพาะการปั่นขึ้นเขา ที่ไม่ใช่แค่การซ้อมทั่วๆไป แต่เป็นการจับเวลาภายใต้เงื่อนไขเดียว คือ เวลาต้องดีขึ้นกว่าเดิมทุกๆวัน

คุณพ่อของเฟรม มักพูดเสมอว่า อยากเห็นลูกชายทำเวลาดีขึ้น ไม่อยากให้คิดว่าปั่นเพื่อจบการแข่งขันเท่านั้น เพราะเป้าหมาย คือ อยากให้ได้สัมผัสความรู้สึกของการเป็น “ผู้ชนะ” 

หลังจากที่ ธนาคาร ไชยยาสมบัติ เริ่มมีทักษะมากขึ้น ทางครอบครัวได้ส่งลูกไปแข่งในรุ่นเด็กโต เพื่อสะสมประสบการณ์ และแล้วสิ่งที่รอคอยก็มาถึง “เฟรม” คว้าแชมป์เป็นครั้งแรก ตอนอายุ 11 ขวบ ในการแข่งขันประจำปี ของสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี หรือ สมเด็จย่า ซึ่งความพิเศษมากกว่าการคว้าแชมป์ มันเป็นการลงแข่งรุ่นอายุ 15 ปี ทั้งที่ตอนนั้นมีอายุเพียง 11 ปี 

“แชมป์แรกของเฟรม มาตอนอายุ 11 ขวบครับ เป็นงานปั่นจักรยานของสมเด็จย่า แต่ผมลงแข่งรุ่น 15 ปี ความท้าทายต้องไปเจอรุ่นพี่ที่ตัวใหญ่กว่า เก่งกว่า ตอนนั้นไม่ได้คาดหวังกับผลการแข่งขัน แต่สุดท้ายเราได้แชมป์ แถมเป็นแชมป์แรก ดีใจมากๆ ได้สัมผัสความรู้สึกของการเป็นผู้ชนะจริงๆ” 
 

เข้าสู่อายุ 15 ปี “เฟรม” ที่ปั่นจักรยานเสือภูเขาอยู่ คุณพ่อเล็งเห็นว่า สามารถปั่นจักรยานเสือหมอบได้ จึงขอคำปรึกษากับ ”โค้ชเปี๊ยก” ไพโรจน์ อินต๊ะปัญญา ซึ่งเป็นเพื่อนสนิท และคำตอบที่ได้มา คือ หากเฟรมต้องการประสบความสำเร็จ ไปได้ไกลในเส้นทางนี้ ต้องขี่เสือหมอบเท่านั้น 

สุดท้ายแล้ว “โค้ชเปี๊ยก” ตัดสินใจสอนเด็กหนุ่มจากอำเภอแม่สายทันที 

“โค้ชเปี๊ยก เข้ามาสอนผมให้ปั่นเสือหมอบ แกบอกว่าที่เชียงรายมีทีมจังหวัด มีกลุ่มรุ่นพี่ที่ใส่เสื้อชมพู ที่ข้างหลังเขียนว่า “เชียงราย” ยิ่งเป็นความท้าทายให้ผมอยากประสบความสำเร็จ” 

ธนาคาร อธิบายไว้ว่า จักรยานเสือภูเขา มีข้อดีในเรื่องเทคนิค และ พละกำลัง ยิ่งวันที่ปั่นแรงที่สุด จะสามารถแซงคู่แข่งได้แบบสบายๆ แต่สำหรับจักรยานเสือหมอบ มีรายละเอียดเรื่องความเป็นทีมเวิร์คมากขึ้น มีรายละเอียดเยอะขึ้น ช่วงแรกที่ตนเองย้ายมาปั่นเสือหมอบ รู้สึกไม่ค่อยชินเท่าไหร่ แต่โชคดีที่ได้ โค้ชเปี๊ยก ประกบสอนอย่างใกล้ชิด
 


“ทีมชาติไทย” ความท้าทายครั้งใหม่

ผลงานแรกของ ธนาคาร ไชยยาสมบัติ หลังได้ ”โค้ชเปี๊ยก” เข้ามาดูแลอย่างเต็มตัว คือ การคว้าอันดับ 3 ในการแข่งขันกีฬาเยาวชนแห่งชาติ ที่จังหวัดจันทบุรี ซึ่งเกินความคาดหมายมากๆ แม้จะไม่เคยมีประสบการณ์ และ ไม่ได้ถูกวางให้เป็นตัวเต็ง แต่การได้ขึ้นมายืนบนโพเดียม ถือเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญครั้งสำคัญในชีวิต เมื่อมีทีมงานสต๊าฟโค้ชของทีมชาติไทย มาร่วมชมการแข่งขันครั้งนี้ด้วย 

“ผมได้อันดับ 3 กีฬาเยาวชนแห่งชาติ นับว่าช็อคมากแล้ว แต่ที่ช็อคมากยิ่งกว่า มีทีมงานสต๊าฟโค้ชทีมชาติไทย มาดูการแข่งขัน และได้สอบถามว่า เด็กเชียงรายคนนี้คือใคร? กลายเป็นจุดเริ่มที่ทำให้ติดทีมชาติไทย” 

ดูเหมือนการได้อันดับ 3 ทำให้ “เฟรม” มีความมั่นใจขึ้นอย่างเห็นได้ชัด กล้าเล่น กล้าตัดสินใจ ก่อนจะคว้าแชมป์ในรายการชิงแชมป์ประเทศไทย รุ่นเยาวชน เป็นดับเบิ้ลแชมป์ประจำสนาม ส่วนประสบการณ์ครั้งแรกในนามทีมชาติไทย ได้ไปเก็บตัวที่ประเทศเกาหลีใต้ ที่ศูนย์ฝึก “World Cycling Centre” ตอนอายุ 17 ปี ซึ่ง เฟรมยอมรับว่า ตื่นเต้นจนทำอะไรไม่ถูก

ทัวร์นาเมนต์แรกของ “เฟรม” กับทีมชาติไทย เป็นรายการชิงแชมป์โลก ประเภทลู่ ที่ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ เขาเล่าว่า มันคือความรู้สึกที่ไม่มีวันลืม เต็มไปด้วยความตื่นเต้นมหาศาล 

“นี่คือรายการชิงแชมป์โลกครั้งแรก ทำตัวไม่ถูกเลย ผมลืมเบอร์ไว้ที่ห้องพัก ต้องรีบกลับไปเอา ดีที่ยังทันเวลา เป็นสิ่งที่จดจำมาถึงวันนี้ว่า การเตรียมตัวก่อนแข่งสำคัญมาก ต้องรอบคอบ เตรียมทุกอย่างให้พร้อม ทั้งหมวก แว่นตา เสื้อ เบอร์ เข็มกลัดติดเบอร์ ถุงเท้า รองเท้า”

แม้สุดท้ายแล้ว “เฟรม” จะปั่นเข้าเส้นชัย และ เวลารวมตามหลังผู้นำค่อนข้างมาก แต่มันกลายเป็นแรงผลักดันชั้นดี ที่ทำให้เขาเพิ่มความพยายามมากกว่าเก่า ได้ประสบการณ์สุดล้ำค่า โดยเฉพาะการแข่งขันระดับยุโรป กับ ระดับเอเชีย ที่แตกต่างอย่างมหาศาล ซึ่งนับตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา เขาก็โลดแล่นอยู่ในเส้นทางทีมชาติไทย จนถึงปัจจุบัน 
 


ความท้าทายกับการปั่นสองล้อ


“เฟรม” เล่าว่า กีฬาจักรยาน เป็นการแข่งขันประเภททีมที่เต็มไปด้วยความท้าทาย ภาพของจักรยานประเภทถนนโรดเรซ หากลงไปแข่งคนเดียวโดยไม่มีทีม แทบไม่มีทางชนะได้เลย เพราะมันแข่งแบบระยะไกล ใช้เวลาอย่างน้อย 4-5 ชั่วโมง 

ฉะนั้นความเป็นทีมเวิร์ค จึงมีความสำคัญอย่างมาก ไม่ว่าจะเป็นตำแหน่ง Domestic ที่มีหน้าที่ เตรียมเสบียง ล้อ อะไหล่ ขึ้นมาให้นักปั่นที่มีความหวัง หรือตำแหน่ง Pacer ซึ่งจะคอยช่วยบังลมให้ หรือที่รู้จักกันในชื่อ หัวลาก


กีฬาจักรยานในมุมมองของ ธนาคาร ไชยยาสมบัติ สามารถเปลี่ยนแปลงได้ตลอดเวลา ไม่ว่าจะเป็นการแข่งขัน กฏ กติกาต่างๆ หรือแม้กระทั่งคู่แข่งหน้าใหม่ ที่พร้อมขึ้นมาเสมอ อย่างไรก็ตาม มันคือความสุข บนความท้าทายที่บอกตัวเองไว้ว่า จะต้องทำให้ดีขึ้นทุกๆวัน มีวินัยกับการซ้อม เรียนรู้ข้อผิดพลาดเพื่อแก้ไขในวันพรุ่งนี้

 

“ผมตั้งใจทุกการซ้อม เพราะผมอยากชนะ การปั่นจักรยาน มีคนแข่ง 100 คน แต่ต้องการผู้ชนะแค่คนเดียว มันท้าทายกว่าหลายๆกีฬา มีปัจจัยต่างๆมากมาย คนที่แข็งแรงสุด ไม่ได้การันตีว่า คุณจะเป็นผู้ชนะ นี่แหละความท้าทายที่แท้จริง” 
 


ความท้าทายที่สุดในชีวิต “โอลิมปิก” 

ความฝันที่อยากไปโอลิมปิกของ เฟรม เกิดขึ้นตอนอายุ 17 ปี เมื่อติดทีมชาติไทยครั้งแรก เขาใช้เวลาเฝ้ารอมานานกว่า 7 ปี ก่อนประสบความสำเร็จคว้าตั๋วมาครองในที่สุด
 
หากพูดในมุมความรู้สึก อาจจะดูเร็วเกินไป แต่ถ้าพูดถึงด้านความพร้อม หนุ่มวัย 24 ปีจากแม่สาย มองว่าการได้โควต้าลุยโอลิมปิกที่กรุงปารีส มาในช่วงเวลาที่เหมาะสม ทั้งสภาพร่างกาย สภาพจิตใจ ส่วนความท้าทายของตัวเองในเวลานี้ มีความพร้อมมาก
 
“ตอนติดทีมชาติครั้งแรกอายุ 17 ปี ฝันของเฟรม คือ อยากไปโอลิมปิกสักครั้งในชีวิต ผมชอบตั้งเป้าหมายที่ใหญ่ไว้ มันท้าทายกับตัวเอง และ วงการจักรยานไทย แม้จะดูยากในสายตาหลายๆคน แต่ผมอยากทำให้มันเป็นจริง”

“1-2 ปีที่ผ่านมา สมาคมมีเป้าหมายเดียวกัน ต้องการผลักดันนักกีฬาไทยไปโอลิมปิก กลายเป็นผมตั้งใจมากกว่าเดิมอีก อยากเก็บแต้มให้ได้มากที่สุด”

ช่วงระหว่างการฝึกซ้อมที่อำเภอปากช่อง จังหวัดนครราชสีมา “โค้ชตั้ม” (พ.อ.อ.วิสุทธิ์ กสิยะพัท) ได้บอกให้เฟรม หยุดซ้อมทันที พร้อมได้แจ้งข่าวสำคัญบางอย่าง ซึ่งโค้ชตั้มบอกว่า ได้ประชุมกับทางสมาคมกีฬาจักรยานแห่งประเทศไทยแล้ว เฟรม ได้รับเลือกไปโอลิมปิก ที่ฝรั่งเศส 

ช่วงเวลานั้นเจ้าตัวยังคงอึ้งกับสิ่งที่เกิดขึ้น แต่อีกความรู้สึกมันดีใจที่สุดในชีวิต จนกลั้นน้ำตาไว้ไม่อยู่ และหลังจากถึงห้องพัก ได้โทรศัพท์บอกครอบครัวเป็นอันดับแรก ทุกคนต่างดีใจกับความสำเร็จครั้งนี้มากๆ 


“แล้วโอลิมปิก กับ ธนาคาร ไชยยาสมบัติ มีความหมายแค่ไหน?”

เฟรมตอบด้วยความภาคภูมิใจว่า มันคือจุดสูงสุดของนักกีฬา โอลิมปิกมีความหมายสำหรับผมที่สุดในฐานะนักกีฬาคนนึง การจะได้เป็นนักกีฬาโอลิมปิก ไม่ใช่เรื่องง่ายเลย ต้องอดทนฝึกซ้อมอย่างหนัก แลกมาด้วยความเจ็บปวด 

โอลิมปิกมันคือความท้าทาย และ กดดันที่สุดในชีวิต ต้องสู้กับนักกีฬาชั้นนำของโลกที่เก่งที่สุด ตั๋วโอลิมปิกใบนี้ เป็นตั๋วที่แบกความหวังคนไทยทุกคน รวมถึงสมาคม ส่วนเส้นทางการแข่งขัน มีระยะทาง 280 กิโลเมตร บอกได้คำเดียวว่า โหดสมชื่อกับโอลิมปิกจริงๆ 
 


ความท้าทายต่อจากนี้
 

มหกรรมโอลิมปิก ถือเป็นจุดสูงสุดของนักกีฬาทุกคนบนโลกใบนี้ แต่ความท้าทายหลังจากนี้ เฟรม อยากพาตัวเองไปโลดแล่นเวทีระดับยุโรป ตนเองเชื่อว่า การไปโอลิมปิกครั้งนี้ จะเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญพลิกหน้าประวัติศาสตร์ให้กับวงการจักรยาน การที่นักปั่นไทย ผ่านสนามหฤโหดที่ชื่อว่า “โอลิมปิก” จะเป็นใบเบิกทางต่อยอดให้รุ่นน้องด้วย 

ธนาคาร ไชยยาสมบัติ ต้องต่อสู้กับตัวเอง สภาพแวดล้อม และคู่ต้อสู้ แน่นอนมันส่งผลถึงความเหนื่อยล้า โดยเฉพาะสภาพอากาศปัจจุบันที่ค่อนข้างร้อน เสียเหงื่อค่อนข้างมาก แต่เฟรมบอกว่า หนึ่งในตัวช่วยสำคัญ ที่ขับเคลื่อนเอาชนะความท้าทาย ก้าวข้ามทุกขีดจำกัด คือ ความสดชื่นของเครื่องดื่มเกลือแร่สปอนเซอร์ ที่นอกจากจะเติมความสดชื่นได้ทันทีแล้ว ยังได้พลังงานได้ชดเชยเหงื่อที่เสียไป ช่วยให้พร้อมไปต่อได้ทั้งในระหว่างซ้อมและระหว่างแข่งขัน
 

“ความท้าทายต่อจากนี้ มันไม่มีวันจบ นี่แหละเสน่ห์กีฬาจักรยาน ตราบใดที่ผมยังมีแรงปั่น ผมจะทุ่มเทพลังกาย พลังใจ ใส่สุดตัว จนกว่าวันนึงร่างกายจะบอกว่าไม่ไหวแล้ว ผมอยากขอบคุณทุกๆกำลังใจที่ส่งมาถึงผม เฟรมสัญญาว่าโอลิมปิกครั้งนี้จะทำให้ดีที่สุด เพื่อตัวเอง เพื่อครอบครัว เพื่อสมาคม และ เพื่อคนไทยทุกคน”

#เชียร์ไทยเชียร์ให้สุดใจ #สดชื่นไปต่อขั้นสุด #SponsorThailand


stadium

author

"เจมส์จินโญ่" ธัมมสาร อ่อนเกิดแก้ว

StadiumTH Content Creator / รักเชลซี พิคานย่า และ ทุกอย่างที่เป็นบราซิล

stadium olympic